เมื่อแหล่งรายได้หลักของผู้สูงอายุไม่ได้มาจากลูกหลานอีกต่อไป…

: สังคมสูงวัย กับปากท้องยุคโควิด-19

การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 จะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับผู้สูงอายุจำนวนมากที่ก้าวเข้าสู่วัยเกษียณอายุ บางคนต้องยุติชีวิตการทำงาน ขณะที่บางคนยังต้องใช้แรงแลกเงิน หาเลี้ยงปากท้องอยู่

แต่ก็มีอีกจำนวนไม่น้อย ที่แม้จะมีศักยภาพ มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง แต่ตลาดแรงงานก็ไม่ต้อนรับพวกเขาอีกต่อไป…

ปี 2563 ไทยมีแรงงานผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไปที่ยังทำงานได้ 4.63 ล้านคน มากกว่าแรงงานวัยเยาวชน อายุ 15-24 ปี ซึ่งอยู่ที่ 3.83 ล้านคน

แต่โควิด-19 กำลังทำให้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ต้องถูกลดชั่วโมงการทำงาน ลดรายได้ เลิกจ้าง หรือหยุดการค้าขายไปอย่างเงียบ ๆ โดยเฉพาะผู้สูงอายุสำรอง ที่มีความเสี่ยงตกงานถาวรแม้สถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลาย

ผู้สูงอายุไทยมีรายได้หลักจากเบี้ยยังชีพ การทำงาน และลูกหลานเลี้ยงดู

ข้อมูลจาก การสำรวจผลกระทบของการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ต่อประชากรสูงอายุในประเทศไทย (COVID-19 and older persons: Evidence from the survey in Thailand) ที่สำรวจในเดือนกรกฎาคม 2563 โดยความร่วมมือระหว่าง กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA ) ประจำประเทศไทย และวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า ผู้สูงอายุที่ทำแบบสำรวจ ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจมากกว่าด้านสุขภาพ โดยผู้สูงอายุประมาณ 1 ใน 3 ระบุว่า มีรายได้ไม่เพียงพอในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และสัดส่วนของผู้สูงอายุที่มีรายได้หลักจากการทำงาน ลดจากร้อยละ 40 เหลือเพียงร้อยละ 22 เท่านั้น

จากกลุ่มเป้าหมาย 1,230 คน พบว่า พวกเขาต้องสูญเสียอาชีพ พื้นที่ค้าขาย หรือถูกปรับลดเงินเดือน โดยผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองประสบปัญหาเกี่ยวกับการทำงานมากกว่าผู้สูงอายุในเขตชนบท นอกจากนี้ ผู้สูงอายุยังมีรายได้จากการทำงาน ลูก และดอกเบี้ยเงินออม ลดลงในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 อีกด้วย

แน่นอนว่า แม้ในช่วงปกติผู้สูงอายุจำนวนมากต้องกระเสือกกระสนในการใช้ชีวิต แต่การระบาดของโควิด-19 ได้ทำให้ผลกระทบรุนแรงขึ้น

หากดูข้อมูลแหล่งรายได้หลักของผู้สูงอายุในช่วงการระบาดโควิด-19 จะเห็นได้ว่า แม้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจะมีจำนวนไม่มาก หากเทียบกับเงินสวัสดิการยามเกษียณของหลายประเทศ แต่ในยามนี้ กลับเป็นแหล่งรายได้หลักของพวกเขา จะเห็นได้ว่าหากเป็นผู้สูงอายุไม่ว่าจะช่วงวัยไหน เพศใด อาศัยอยู่ในเขตเมืองหรือชนบท พวกเขามีแหล่งรายได้หลักมาจากแหล่งเดียวกัน คือ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากรัฐบาล

แต่ที่น่าสนใจกว่านั้น คือ แหล่งรายได้หลักที่รองลงมาจากการสำรวจในกลุ่มเป้าหมาย พบว่า ผู้สูงอายุจำนวนมากยังคงมีรายได้หลักจากการทำงานและลูกหลาน นั่นหมายความว่า การยังคงมีอาชีพหรือมีงานทำ ที่หมายถึงตัวผู้สูงอายุเองและลูกหลาน ย่อมส่งผลต่อรายได้ของผู้สูงอายุโดยตรง

นอกจากนั้น ข้อมูลที่น่าสนใจในส่วนแหล่งรายได้จากการทำงานของผู้สูงอายุ ระหว่างเพศหญิงและเพศชาย เมื่อเปรียบเทียบเป็นสัดส่วนกับแหล่งรายได้อื่น พบว่า ผู้สูงอายุหญิงกลับมีรายได้จากการทำงานมากกว่าผู้สูงอายุชายถึง 10 เท่า กล่าวคือ ผู้สูงอายุชายพึ่งพารายได้จากการทำงานเพียงร้อยละ 2.7 แต่ผู้สูงอายุหญิงมีรายได้จากการทำงานมากถึงร้อยละ 26.1

ขณะที่ผู้สูงอายุชายมีแหล่งรายได้หลักอยู่ที่เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมากถึงร้อยละ 72.1 ขณะที่ผู้สูงอายุหญิงพึ่งพารายได้จากส่วนนี้ร้อยละ 54.9

ส่วนผู้ตอบแบบสอบถามที่อาศัยในเขตเมือง มีเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นแหล่งรายได้หลักมากที่สุด รองลงมาคือเงินจากลูกหลาน

ขณะที่ผู้สูงอายุในชนบท ก็มีรายได้หลักจากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเช่นกัน แต่กลับมีรายได้จากการทำงานรองลงมา อาจสวนทางกับภาพจำที่ว่า ผู้สูงอายุในชนบทรอเพียงการพึ่งพาเงินจากลูกหลาน แต่พวกเขากลับมีรายได้จากการทำงานเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า เมื่อมีรายได้จากรัฐ พวกเขาก็พึ่งพาลูกหลานน้อยลง โดยเฉพาะในช่วงที่ทุกช่วงวัยกำลังประสบปัญหาด้านรายได้จากภาวะโรคระบาด

‘ศ.วิพรรณ ประจวบเหมาะ’ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า นโยบายและมาตรการที่รัฐนำมาใช้เพื่อช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 อาจต้องคำนึงถึงประชากรสูงอายุที่ยังต้องการทำงานและพึ่งพารายได้จากการทำงานในการดำรงชีวิต โดยการสร้างหลักประกันทางเศรษฐกิจเพื่อคุ้มครองผู้สูงอายุจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องเชิงนโยบายในหลายระดับ เพื่อที่จะให้แน่ใจว่าผู้สูงอายุได้รับความคุ้มครองในช่วงเวลาวิกฤตด้วยเช่นกัน

ด้าน วาสนา อิ่มเอม หัวหน้าสำนักงาน UNFPA กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย ย้ำว่า เช่นเดียวกับสมาชิกอื่น ๆ ในสังคม ผู้สูงอายุมีสิทธิตามสิทธิมนุษยธรรมทุกเรื่อง รวมถึงในช่วงเวลาระบาดใหญ่โควิด-19 นี้ด้วย ไม่ควรคิดว่าการดูแลเอาใจใส่ผู้สูงอายุเป็นภาระ เพราะผู้สูงอายุเป็นทรัพยากรบุคคลที่สร้างคุณค่าและมรดกทางสังคม การดูแลเอาใจใส่ผู้สูงอายุจึงควรมาจากการมีส่วนร่วมของสมาชิกในกลุ่มต่าง ๆ ของครอบครัวและสังคมภายใต้แนวทาง “สังคมอารีจากคนหลากหลายรุ่น” (intergenerational society) โดยแนวทางนี้ จะเปิดโอกาสให้คนรุ่นเด็ก วัยรุ่น วัยทำงานและวัยสูงอายุเอง ได้มีโอกาสช่วยกันเติมเต็มบทบาทในการดูแลผู้สูงอายุและดูแลซึ่งกันและกัน และยังเป็นแนวทางที่สนับสนุนการพัฒนาด้านสังคมและเศรษฐกิจสู่สังคมที่ยั่งยืนภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลังอีกด้วย

ผู้สูงอายุอเมริกันพึ่งพารายได้จากประกันสังคม สินทรัพย์ และเงินบำนาญมากที่สุด

ข้อมูลจาก ศูนย์สิทธิประโยชน์แห่งบำนาญ สหรัฐอเมริกา (Pension Rights Center) ระบุว่า ปัจจุบัน ชาวอเมริกันสูงอายุ (65 ปีขึ้นไป) มีรายได้จากหลายแหล่ง โดยส่วนใหญ่ได้รับรายได้จากโครงการประกันสังคม (Social Security) รวมถึงแหล่งรายได้อื่น ๆ คือ การลงทุนและสินทรัพย์อื่น ๆ เงินบำนาญและการวางแผนเกษียณอายุอื่น ๆ รายได้จากการทำงาน และมีผู้สูงอายุส่วนน้อยที่ได้จากโครงการการช่วยเหลือสาธารณะ (สาธารณะกุศล) ต่าง ๆ และโครงการสวัสดิการของทหารผ่านศึก

โดยข้อมูลจาก Pension Rights Center ยังชี้อีกว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุรายบุคคล และครัวเรือนผู้สูงอายุ (คู่สามีภรรยา) มีแหล่งรายได้ต่าง ๆ ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน

สำหรับโครงการประกันสังคม หรือ Social Security คือผลประโยชน์ที่รัฐบาลสหรัฐฯ จัดตั้งขึ้นสำหรับผู้ทำงาน ให้ได้รับผลประโยชน์เมื่อถึงเวลาเกษียณ หรือเงินบำนาญ ที่รัฐบาลหักภาษีรายได้ โดยส่วนหนึ่งจะเป็นเงินสะสมเข้ากองทุนประกันสังคม เงินนี้คือเงินสะสมของแต่ละบุคคล เมื่อทำงานมาแล้วอย่างน้อย 10 ปี และเมื่อถึงวัยเกษียณ พวกเขาจะได้รับบำนาญเป็นรายเดือน มากน้อยแล้วแต่เงินสะสมที่หักไว้

เงินประกันสังคมไม่ได้จ่ายเพียงบุคคลที่ทำงานเท่านั้น คู่สมรส (สามี หรือ ภรรยา) หรือบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (ต่ำกว่า 18 ปี) ก็รับได้ หากคนทำงานในครอบครัว หรือหัวหน้าครอบครัวเสียชีวิต บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะรับได้ทันที สามีหรือภรรยา จะรับได้ต่อเมื่อตนเองอายุอย่างน้อย 60 ปี หรือหากสามี (หรือภรรยา) กำลังอยู่ระหว่างรับเงินเกษียณอยู่แล้ว สามารถเปลี่ยนไปรับเงินเกษียณของสามี (หรือภรรยา) ได้ ถ้าเห็นว่าเป็นจำนวนเงินมากกว่า


อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active