ประชาธิปไตยในโรงเรียน สร้างพลเรียน สู่พลเมือง

สำรวจการเลือกตั้งในรั้วโรงเรียนไทย

แม้พรรคก้าวไกลจะชนะการเลือกตั้ง แต่เส้นทางสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 กลับยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน กระตุ้นให้สังคมออกมาร่วมตั้งคำถามถึงความเป็นประชาธิปไตยผ่านรัฐธรรมนูญปัจจุบันว่ามีอยู่มากน้อยแค่ไหน และชวนให้มองย้อนกลับไปถึงรากฐานความเป็นประชาธิปไตย ที่ว่ากันว่าเริ่มต้นตั้งแต่ในรั้วโรงเรียน

The Active ชวนย้อนมองประชาธิปไตยในรั้วโรงเรียน ที่เป็นเหมือนภาพจำลองของสังคม ว่าการเลือกตั้งของเยาวชนไทย สามารถบ่มเพาะความเป็นประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน

ทั้งนี้ พบว่าจากผลสำรวจความคิดเห็นของนักเรียนในโรงเรียนมัธยมทั่วประเทศ จำนวน 351 คน พบว่า นักเรียนไทย กว่าร้อยละ 95 อยู่ในโรงเรียนที่มีการเลือกตั้ง และอีกร้อยละ 5 ไม่มีการเลือกตั้งในโรงเรียน หากพิจารณาในรายละเอียด จากนักเรียนที่อยู่ในโรงเรียนที่มีการเลือกตั้งเป็นโดยคำนวณเป็นสัดส่วนจากจำนวน 100 คน จะมีถึง 90 คนที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในโรงเรียนครบทุกครั้งด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป

หากคิดเป็นสัดส่วนจะพบว่า จากนักเรียนที่อยู่ในโรงเรียนที่มีการเลือกตัั้ง 100 คน 45 คน รู้ว่าเป็นสิทธิ หน้าที่ของพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตย

“เพราะเรามีสิทธิที่จะเลือก หากพวกเขาปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่ดี เราก็มีสิทธิที่จะไม่เห็นด้วยหรือแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่”

“ถึงเราไม่รู้ว่าเลือกไปแล้วคนที่เราเลือกจะได้เป็นสภาฯไหม แต่อย่างน้อยก็ได้ใช้สิทธิ์ของตัวเองเลือกคนที่ดีที่สุดสำหรับเรา”

14 คน อยากให้ โรงเรียนพัฒนา/เปลี่ยนแปลง อยากเลือกผู้แทนที่ชอบ พรรคที่ใช่

“อยากเห็นนโยบายที่ดี ตอบสนองความต้องการของนักเรียนเพื่อพัฒนาโรงเรียนหรือยกเลิกกฎบางกฎที่ไม่สมควร”

13 คน โดนบังคับ เป็นกฎ เป็นคะแนน

“หากนักเรียนไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จะไม่ผ่านวิชาทักษะชีวิตและติด มผ.”

ส่วนที่เหลืออีก 18 คน ให้เหตุผลที่แตกต่างกันไป เช่น เลือกเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในโรงเรียน, เลือกเพราะรู้ว่าการเลือกตั้งมีผลต่อแนวทางกิจกรรมในโรงเรียน, เลือกเพราะว่าง, เลือกใช้สิทธิเฉย ๆ ไม่ได้มีเหตุผลใดเป็นสำคัญ, และบางคนไม่ได้ให้เหตุผลใดใดตอบกลับมา

ในส่วนของ 10 คน ที่ใช้สิทธิไม่ครบทุกครั้งหรือไม่ไปเลย มีเหตุผลที่แตกต่างกันไป ดังนี้

2.5 คน ไม่ว่าง ป่วย

2 คน รู้สึกไม่มีประโยชน์ เลือกตั้งไปก็ไร้ค่า เป็นพิธีลวง

“เราใช้สิทธิไปถึงไงคณะกรรมการเก่าก็คัดเด็กที่เขาต้องการเอง”

“โรงเรียนเราไม่แฟร์ตรงที่ให้เพื่อนเลือกผู้เข้ารอบลงสมัครประธานนักเรียนแต่จริง ๆ ล็อกคนไว้อยู่แล้ว และให้เลือกเพื่อเป็นพิธีเท่านั้น”

2 คน ไม่มีสิทธิลงคะแนนเสียง

1 คน ไม่ทราบว่ามี, ข้อมูลไม่พอ, ลืม, ขี้เกียจ

และ 2.5 คนที่เหลือไม่ได้ระบุเหตุผล

จากผลสำรวจความคิดเห็นจากนักเรียนในโรงเรียนมัธยมฯ ทั่วประเทศ 373 คน มีนักเรียนร้อยละ 40 ไม่ทราบเนื้อหาในธรรมนูญนักเรียน ของตัวเอง อีกร้อยละ 36 ไม่รู้จักว่ามีธรรมนูญโรงเรียนด้วยซ้ำ เท่ากับว่า 3 ใน 4 ของนักเรียนไทยไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยที่ไม่รู้แม้แต่บทบาท อำนาจ และหน้าที่ของตัวเอง

ธรรมนูญนักเรียน คือ บทบัญญัติของโรงเรียนที่มีเนื้อหาระบุถึงสิทธิ เสรีภาพ บทบาท หน้าที่ ข้อตกลงเพื่อการอาศัยอยู่ร่วมกัน ตลอดจนแนวทางการดำเนินงานของผู้แทนนักเรียน ตามหลักการแล้วธรรมนูญต้องร่างร่วมกันระหว่างโรงเรียน นักเรียน ชุมชน และต้องผ่านการลงมติจากประชาคมในโรงเรียนทุกฝ่าย

“แต่ธรรมนูญนักเรียนส่วนมากกลับถูกเขียนด้วยผู้ใหญ่… ยังไม่นับโรงเรียนที่ไม่มีธรรมนูญด้วยซ้ำซึ่งมีเยอะมาก”

ครูทิว-ธนวรรธน์ สุวรรณปาล
ครูกลุ่มสาระสังคมศึกษา และอดีตหัวหน้างานส่งเสริมประชาธิปไตยในโรงเรียน

ธรรมนูญนักเรียนเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดในการวัดผลความเป็นประชาธิปไตยในโรงเรียน เพราะเป็นรากฐานของรูปแบบการเลือกตั้งว่าจะมีลักษณะอย่างไร และโครงสร้างสภานักเรียนจะมีหน้าตาอย่างไร แต่โรงเรียนส่วนใหญ่มักให้นักเรียนมีส่วนร่วมเฉพาะ ‘การเลือกตั้ง’ ซึ่งเป็นเพียงเปลือกนอกของประชาธิปไตย ไม่ได้อนุญาตให้เด็กเข้าไปมีส่วนร่วมกับกระบวนการการออกแบบกฎ กติการ่วมกัน

The Active ชวนสำรวจหน้าตาของธรรมนูญนักเรียนทั้ง 3 รูปแบบจาก 3 ที่มา ทั้งนี้รูปแบบของธรรมนูญนักเรียนควรออกแบบโดยประชาคมในโรงเรียนนั้น ๆ เพราะบริบทของสังคมและสภาพพื้นที่ที่แตกต่างกันไป ไม่จำเป็นต้องยึดโยงแนวทางใดเป็นที่ตั้ง ตราบเท่าที่เนื้อหาภายในธรรมนูญนั้นสอดคล้องกับหลักการขั้นพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย เช่น หลักเสรีภาพ หลักเสมอภาค หลักนิติรัฐ เป็นต้น

จากคู่มือสภานักเรียนของ สพฐ. ได้ระบุบทบาทหน้าที่ของสภานักเรียนไว้หลายประการ ทาง The Active ได้จัดกลุ่มบทบาทหน้าที่เหล่านั้นออกมาเป็น 5 ด้าน ได้แก่ ปกป้องคุ้มครองสิทธินักเรียน, เป็นกระบอกเสียงให้นักเรียน, ทำตามนโยบายที่หาเสียง, ส่งเสริมคุณภาพชีวิต และ แก้ไขปัญหาวัฒนธรรมอำนาจนิยม พบว่าบทบาทที่ได้คะแนนความพึงพอใจน้อยที่สุดคือ การแก้ไขปัญหาวัฒนธรรมอำนาจนิยมในโรงเรียน ซึ่งสอดคล้องกับสถิติการกดขี่ข่มเหงในโรงเรียนที่ทาง The Active ได้สำรวจมา อ้างอิงกรมสุขภาพจิต ในปี 2563 นักเรียนไทยถูกบูลลี่ 6 แสนคน (40% ของนักเรียนทั้งหมด)

ผลสำรวจความคิดเห็นจากแบบสอบถามนักเรียนในระดับมัธยมฯ ทั่วประเทศ 373 คน พบว่า 6 ใน 10 ของนักเรียนไทยถูกกดขี่ในโรงเรียน โดยมีถึงร้อยละ 86.4 ที่ถูกกดขี่จากครู อาจารย์ รองลงมาอยู่ที่ร้อยละ 53.9 ที่ถูกกดขี่จากรุ่นพี่ และอีกร้อยละ 37.3 และ 13.6 ที่ถูกกดขี่จากเพื่อนและสมาชิกสภานักเรียนตามลำดับ

จากผลสำรวจความคิดเห็นจากนักเรียนในโรงเรียนมัธยมทั่วประเทศที่มีการเลือกตั้ง 351 คน โดยสามารถเลือกตอบได้หลายข้อ นักเรียนไทยส่วนใหญ่ต่างมองเห็นสภานักเรียนในฝันไปในทิศทางเดียวกันว่า อยากให้สภาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและรักษาไว้ซึ่งหลักการทางประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน อันดับ 1 ร้อยละ 85 อยากให้สภาเป็นกระบอกเสียงให้กับเพื่อนนักเรียน (397 จาก 351 คน) อันดับ 2 ร้อยละ 76 อยากให้สภาฯ ปกป้องดูแลสิทธิเสรีภาพเพื่อนนักเรียน (258 จาก 351 คน) และอันดับ 3 ร้อยละ 56 อยากให้สภาฯ ส่งเสริม อันดับ 3 ดำเนินโครงการด้านกิจกรรมให้มากขึ้น (197 จาก 351 คน)

และอับดับอื่น ๆ ดังนี้ ร้อยละ 48 (169 จาก 351 คน) เปิดโอกาสเสนอแนะให้แก้หลักสูตร ร้อยละ 31 (108 จาก 351 คน) ส่งเสริมกิจกรรมชุมนุม ร้อยละ 30 (106 จาก 351 คน) ดำเนินโครงการด้านวิชาการ ร้อยละ 28 (97 จาก 351 คน) เป็นแบบอย่างในการทำความดี ร้อยละ 26 (91 จาก 351 คน) จัดกิจกรรมแนะแนวและต่อยอดอาชีพ ร้อยละ 26 (91 จาก 351 คน) คุมกฎระเบียบความเรียบร้อย ร้อยละ 23 (79 จาก 351 คน) จัดกิจกรรมพัฒนาชุมชนใกล้เคียง ร้อยละ 10 (35 จาก 351 คน) สืบสานวัฒนธรรม อัตลักษณ์ของชาติ

ยังมีเรื่องราวชวนคิด ตั้งคำถามและหาคำตอบเกี่ยวกับการสร้างพลเรียนสู่พลเมืองอีกจำนวนมากทาง The Active เชิญชวนผู้อ่านร่วมทำความเข้าใจแนวทางการส่งเสริมกิจกรรมสภานักเรียนและการสร้างประชาธิปไตยในโรงเรียน ผ่านการเรียนรู้นิทรรศการออนไลน์ผ่าน Interactive Website ตาม QR Code ด้านบน

Author

Alternative Text
AUTHOR

พีรดนย์ ภาคีเนตร

บัณฑิตจบใหม่คณะสื่อสารฯ ผู้เฝ้าหาเรื่องตลกขบขันในชีวิต แต่พบว่าสิ่งที่ตลกที่สุดคือชีวิตเราเอง

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์