ผ้าอนามัย สิทธิขั้นพื้นฐาน นโยบายหยุดความจนประจำเดือน

“ผ้าอนามัยคือปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับผู้มีประจำเดือนทุกคน และเป็นภาระค่าใช้จ่ายอาจส่งผลให้เกิดปัญหาที่เรียกว่า ความจนประจำเดือน (period poverty) เช่น มีเงินไม่พอซื้อ เข้าถึงได้แต่ไม่เพียงพอ ไปจนถึงการใช้งานอย่างไม่เหมาะสม เช่น เปลี่ยนผ้าอนามัยน้อยครั้ง หรือใช้วัสดุอื่นที่ไม่เหมาะสมแทน จึงอาจเสี่ยงติดเชื้อและมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาได้ เพื่อแบ่งเบาภาระของผู้มีประจำเดือนและครอบครัวและลดความเสี่ยงของปัญหาอื่น ๆ ที่อาจตามมา พวกเรามีนโยบายที่จะนำร่องจัดหาผ้าอนามัยให้กับนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม.”

นี่คือถ้อยคำสนับสนุนการเข้าถึงผ้าอนามัยฟรีของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งโพสต์เฟซบุ๊กบอกเล่าความคืบหน้าของนโยบายนำร่องผ้าอนามัยฟรี หลังจาก พงษ์จักรินทร์ ถาวรพงษ์ ผู้อำนวยการเขตบางขุนเทียน ขานรับด้วยการแจกผ้าอนามัยฟรีให้กับ 16 โรงเรียนในสังกัด กทม. เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับนักเรียนกว่า 2,000 คน พร้อมชูโมเดลให้เทศกิจแบ่งรางวัลนำจับคนขี่รถบนทางเท้าเพื่อบริจาคซื้อผ้าอนามัยร่วมโครงการ

นำร่องผ้าอนามัยฟรี คือ 1 ในนโยบาย 200+ ข้อ ที่ ชัชชาติ ให้รายละเอียดผ่านเว็บไซต์ว่า ผ้าอนามัย คือปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับผู้มีประจำเดือนทุกคน โดยมีข้อมูลพบว่าในแต่ละเดือนผู้มีประจำเดือนมีค่าใช้จ่ายในการซื้อผ้าอนามัยอยู่ที่ราว 80-150 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็นจำนวนผ้าอนามัยประมาณ 20 แผ่นต่อเดือน ซึ่งเขามองว่าภาระในการจัดหาผ้าอนามัยจำนวนนี้อาจส่งผลให้เกิดปัญหาที่เรียกว่า ความจนประจำเดือน หรือ Period Poverty ขึ้นได้

ในเว็บไซต์ระบุว่า Period poverty หมายถึง ความไม่สามารถในการเข้าถึงผ้าอนามัย เช่น ไม่สามารถซื้อได้ เข้าถึงได้แต่ไม่เพียงพอ ไปจนถึงการใช้งานอย่างไม่เหมาะสม เช่น เปลี่ยนผ้าอนามัยน้อยครั้ง หรือใช้วัสดุอื่นที่ไม่เหมาะสมแทน จึงอาจเสี่ยงติดเชื้อและมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาได้ นอกจากนี้การศึกษาในต่างประเทศเกี่ยวกับ Period poverty หลายชิ้นสะท้อนว่า การขาดแคลนผ้าอนามัยส่งผลต่อการขาดเรียนหรือขาดงานด้วย ด้านผลการสำรวจของ BMC Women’s Health ที่ทำการศึกษากับกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา พบว่าผู้ที่ประสบปัญหา Period poverty มีแนวโน้มที่จะมีภาวะซึมเศร้าระดับปานกลางจนถึงรุนแรงมากกว่ากลุ่มที่ไม่เคยประสบปัญหาเลย

ดังนั้น เพื่อแบ่งเบาภาระของผู้มีประจำเดือนและครอบครัวและลดความเสี่ยงของปัญหาอื่น ๆ ที่อาจตามมา ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จึงมีนโยบายนำร่องจัดหาผ้าอนามัยให้กับนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม. โดยจะจัดจุดจัดวางในห้องน้ำของโรงเรียนหรือไว้ที่ห้องพยาบาลเพื่อให้เข้าถึงได้สะดวกและสอดคล้องกับความจำเป็น โดยจะประเมินประสิทธิภาพถึงวิธีการแจกและตัวเลือกผ้าอนามัยที่ตอบสนองต่อผู้ใช้งาน ก่อนจะพิจารณาขยายผลให้ครอบคลุมทุกกลุ่มผู้มีประจำเดือนต่อไป ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มแล้วที่เขตบางขุนเทียน

ว่าด้วยเรื่อง ผ้าอนามัยกับสิทธิขั้นพื้นฐาน ย้อนไปในช่วงวันสตรีสากล 8 มีนาคมที่ผ่านมา The Active ได้นำเสนอบทสัมภาษณ์ ผศ.เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยคารลอสที่สาม แห่งกรุดมาดริด ประเทศสเปน (Universidad Carlos III de Madrid) ซึ่งพูดถึงประเด็น ผ้าอนามัย ควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้หญิงมานานแล้ว โดยได้กล่าวว่า การผลักดันนโยบายผ้าอนามัยฟรี เป็นการสะท้อนถึงทัศนคติของภาครัฐและความก้าวหน้าของสังคมไทยในการสนับสนุนปัจจัยพื้นฐานสำหรับผู้มีประจำเดือน สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของเครือข่ายแรงงานในวันสตรีสากลปีนี้

“ผ้าอนามัยเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน การมีประจำเดือนโดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในวัยเรียน ถ้าต้องขาดเรียน หรือใช้ชีวิตตามปกติไม่ได้เพียงเพราะไม่มีผ้าอนามัย สิ่งนี้สะท้อนว่าการลงทุนของรัฐมีผลกระทบวงกว้างมากกว่าแค่การช่วยไม่ให้ซึมเปื้อน”

ผศ.เนื้อแพร อธิบายว่า ตามหลักเศรษฐศาสตร์ ผ้าอนามัย มีค่าใช้จ่ายในการผลิต จึงไม่มีประเทศไหนเริ่มต้นแจกผ้าอนามัยฟรีโดยไม่ผ่านการเรียกร้อง ส่วนมากเกิดจากการรณรงค์เพื่อสิทธิสตรี ด้วยเหตุผลว่าประจำเดือนคือสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และการที่ประเทศไทยยังไม่มีสวัสดิการผ้าอนามัยฟรี แสดงว่าสังคมไทยยังตื่นตัวไม่มากพอ โดยเฉพาะฝั่งนโยบายที่ควรเห็นว่าผ้าอนามัยคืออีกหนึ่งสิทธิที่ผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ควรได้รับ ซึ่งหากเริ่มปรับความคิดว่าผ้าอนามัยเป็นสิทธิที่ควรได้รับเหมือนสิทธิด้านการศึกษา การผลักดันเชิงนโยบายจะง่ายขึ้น

“ถามว่าควรจะมีผ้าอนามัยฟรีอย่างเดียวเลยหรือไม่ ก็คงจะไม่ใช่ แต่ควรจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น ถ้าประชาชนเรียกหาหรือต้องการผ้าอนามัยก็ควรจะได้ แต่ถ้าอยากได้สิ่งที่ดีกว่าและประชาชนมีความสามารถจะซื้อได้ก็ควรเป็นทางเลือก แบบนี้ก็จะถือว่าได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย คล้าย ๆ กับสิทธิการเลือกโรงเรียนที่ดีให้ลูกและสิทธิการเรียนฟรีก็ต้องมีด้วย สิ่งสำคัญคือรัฐควรจะปรับวิธีคิดรองรับให้ทุกคนเข้าถึงได้ และมีโอกาสเลือกด้วย”

ผศ.เนื้อแพร กล่าวต่อไปว่า ในหลายประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านสิทธิสตรีจะให้ความสำคัญกับสวัสดิการผ้าอนามัยฟรี สำหรับประเทศไทยการจะยกระดับเรื่องนี้ให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน รัฐบาลสามารถทำได้หลายวิธี เช่น สร้างตู้ผ้าอนามัยให้ผู้มีประจำเดือนสามารถเข้าถึงได้ การกระจายงบประมาณให้ครัวเรือนในลักษณะคูปองให้นำไปเลือกซื้อผ้าอนามัย และการควบคุมราคาไม่ให้สูงเกินไป

ทั้งนี้ หลังจาก ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้โพสต์เฟซบุ๊กบอกเล่าความคืบหน้าของนโยบายนำร่องผ้าอนามัยฟรีใน กทม. มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นต้องการให้สวัสดิการนี้เป็นนโยบายระดับชาติจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม The Active เคยเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับค่าแรงขั้นต่ำกับความสามารถเข้าถึงผ้าอนามัยของผู้หญิง พบว่า ตลอดช่วงชีวิตของผู้หญิงจะมีรอบเดือน 358 รอบ ใช้ผ้าอนามัย 9,120 ชิ้น คิดเป็นเงินราว 58,271 บาท ซึ่งหลายประเทศเก็บภาษีผ้าอนามัยต่ำกว่าสินค้าทั่วไป แต่ไทยยังเก็บภาษี 7% เท่ากัน ทำให้มีผู้หญิงจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงผ้าอนามัย

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

ชาลี คงเปี่ยม