นักวิชาการแนะ ลด VAT ผ้าอนามัย เพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการสุขอนามัยของรัฐ

‘ผศ.ปีดิเทพ’ เจ้าของงานวิจัย “ภาษีผ้าอนามัย ความท้าทายด้านสิทธิสตรี” ชี้ ผ้าอนามัย ควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน รับรองผ่าน “กฎหมายและนโยบายสาธารณะ” ช่วยลดเหลื่อมล้ำ ขจัด #ความยากจนประจำเดือน กลุ่มคนจน

วันนี้ (8 มี.ค. 2565) ผศ.ปีดิเทพ อยู่ยืนยง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจ้าของงานวิจัย “ภาษีผ้าอนามัย ความท้าทายด้านสิทธิสตรี” เปิดเผยกับ The Active ในวันสตรีสากล 8 มี.ค. ว่า จุดเริ่มต้นของการทำวิจัยชิ้นนี้จุดประกายขึ้นจากการเห็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำร่องนโยบาย “ตั้งจุดบริการผ้าอนามัยฟรี” ได้สำเร็จ จึงพยายามสำรวจข้อมูลด้านมาตรการทางกฎหมาย และนโยบายของหลายประเทศ เพื่อดูว่ามีประเทศใดบ้างที่ให้ความสำคัญกับ “ผลิตภัณฑ์สุขอนามัยประจำเดือน ซึ่งรวมถึงผ้าอนามัยด้วย”

สิ่งที่ค้นพบสำคัญของงานวิจัยคือ “ภาวะขาดแคลนประจำเดือน” บ้างก็เรียกทับศัพท์ว่าเป็น “ความยากจนประจำเดือน” เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าถึงผลิตภัณฑ์ประจำเดือนได้ โดยเฉพาะเด็กและสตรียากจน ตกงาน ขาดแคลนทุนทรัพย์ ก็จะไม่มีรายได้มากพอจะซื้อหาผ้าอนามัย ที่ผ่านมามีหลายประเทศพยายามส่งเสริมเด็กและสตรีวัยเจริญพันธุ์ให้เข้าถึงผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ในขณะที่ประเทศไทยยังคงเก็บภาษีผ้าอนามัยอยู่ที่ 7% ซึ่งเท่ากับภาษีมูลค่าของสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป

ผศ.ปีดิเทพ ย้ำว่า งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับทุนจาก สถาบันพระปกเกล้า ศึกษาเฉพาะนักเรียนหญิงใน จ.เชียงใหม่ หวังจะใช้เป็นข้อมูลทางวิชาการเพื่อผลักดันไปถึงมาตรการทางกฎหมาย และนโยบายที่รัฐไทยให้รับรอง “ผ้าอนามัย” เป็นสิทธิด้านสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน ที่ทุกคนพึงได้รับ

ผ้าอนามัย สิทธิขั้นพื้นฐาน กับการรับรองเป็น “กฎหมายและนโยบายสาธารณะ”

หากพูดถึง สิทธิ์ หรือ สิ่งที่ถูกรับรองเป็นกฎหมายหรือให้การคุ้มครอง จะพบว่า หลายประเทศกำหนดเรื่องนี้ไว้เป็นกฎหมาย และนโยบายสาธารณะส่งเสริมให้เด็กและสตรี เข้าถึงผลิตภัณฑ์สุขอนามัยประจำเดือน โดยไม่ให้ข้อจำกัดด้านรายได้มาเป็นอุปสรรค หรือ ตัดโอกาสของพลเมือง เช่น สกอตแลนด์ ที่เริ่มมีจุดแจกผ้าอนามัยฉุกเฉิน สนับสนุนให้สถาบันการศึกษาแจกผ้าอนามัยฟรี และยังออกกฎหมายฉบับล่าสุดในปี 2564 เป็น พ.ร.บ.ฯ ที่กำหนดให้โรงเรียนทั่วประเทศของรัฐ แจกผ้าอนามัยแบบให้เปล่า ขณะที่บางประเทศก็ให้ความสำคัญกับกลุ่มสตรีวัยทำงาน เช่น แคนาดา ที่มีมาตรการทางกฎหมายกำหนดให้ นายจ้างจัดจุดบริการผ้าอนามัย และมีห้องน้ำที่ถูกสุขอนามัยรองรับสตรีวัยทำงาน ซึ่งถือเป็นแรงงานอีกกลุ่มสำคัญของเมือง และยังพบด้วยว่ามีอีกหลายประเทศ ที่ยกเลิกเก็บภาษีผ้าอนามัยแล้วเพราะมองเห็นเรื่องนี้เป็น สิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง

มองย้อนกลับมาที่ ประเทศไทย ยังมีภาระจ่ายภาษีอยู่ที่ 7% เท่ากับ ภาษีมูลค่าของสินค้าอุปโภค-บริโภคทั่วไป ขณะที่ผ้าอนามัยบ้างประเภท เช่น ผ้าอนามัยแบบสอด ก็มีราคาที่แพงกว่าผ้าอนามัยแบบปกติ ผศ.ปีดิเทพ ย้ำว่าการลดภาษีเป็นนโยบายที่ส่งผลสะเทือนในวงกว้างได้ รวมถึงมาตรการทางกฎหมายที่จะช่วยจูงใจ เปลี่ยนพฤติกรรมให้ผู้บริโภคกล้าตัดสินใจ และสร้างโอกาสให้กับกลุ่มคนจนมีรายได้น้อย

ผ้าอนามัยฟรี ลดความเหลื่อมล้ำ ขจัดความยากจนประจำเดือน

การลดภาษีผ้าอนามัย และการแจกผ้าอนามัยฟรี สำหรับบางประเทศเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาต่อสู้กันอย่างยาวนาน อย่างสกอตแลนด์ ก็มีบรรดา ส.ส.หญิง พยายามแก้ปัญหาเรื่องนี้มานานนับสิบปีแล้ว เพราะหลายประเทศมีความเชื่อว่านี่คือนโยบายที่ช่วยขจัดความเหลื่อมล้ำได้ เพราะคนที่มีรายได้ดี ก็มีโอกาสที่จะเลือกซื้อผ้าอนามัยคุณภาพดีและราคาแพงมากกว่า ตรงกันข้ามกับกลุ่มคนยากจน สตรีขาดแคลนทุนทรัพย์ที่อาจจะต้องเจอกับปัญหา ความยากจนประจำเดือน แทน

ผศ.ปีดิเทพ อธิบายว่า “ความยากจนรายเดือน” เป็นเรื่องของเงินในกระเป๋า คนที่มีเงินไม่เพียงพอ ฐานะยากจน ก็ไม่สามารถเข้าถึงผ้าอนามัยคุณภาพดีได้ ขณะที่ในหลายประเทศกำหนดนโยบาย ส่งเสริม สนับสนุนเด็ก และสตรีวัยเจริญพันธ์ เข้าถึงผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ โดยรับรองเรื่องนี้ให้เป็นสิทธิทางกฎหมาย หรือคุ้มครองเอาไว้ และไม่ยอมให้ฐานะทางการเงินกลายเป็นอุปสรรคการเข้าถึงสุขภาวะขั้นพื้นฐานได้ โดยมีข้อเสนอให้ ภาครัฐแจกผ้าอนามัย และให้หน่วยงานที่ผูกพันกับเด็กและสตรี อย่างสถาบันการศึกษาฯ ส่งเสริมให้สตรีและเด็กเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น

“สถานการณ์โควิด-19 หลายครอบครัวตกงาน ข้าวยังหากินยาก หากเงินไม่พอ จะมีเงินไปซื้อ “ผ้าอนามัย” หรือครับ? มันเป็นสิ่งจำเป็นของทุกครอบครัว โดยเฉพาะเด็กที่ขาดทุนทรัพย์ สตรีที่ตกงาน รัฐควรโอบอุ้ม หรือ ออกกฎหมาย นโยบายคุ้มครองสิทธิ์คนเหล่านี้ จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้

หากรัฐส่งเสริมให้เขามีผ้าอนามัยใช้ทุกเดือน คุณภาพชีวิตกลุ่มคนยากจน สตรีขาดแคลนทุนทรัพย์ ก็จะได้รับโอกาสที่ดีขึ้น
ภารกิจของรัฐ ถ้าตอบสนองปัญหาสาธารณสุข Public health รัฐพึงทำอยู่แล้ว”


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน