นักเศรษฐศาสตร์แนะรัฐผลักดัน “ผ้าอนามัย” เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน

ติงทัศนคติรัฐ-สะท้อนความก้าวหน้าของสังคมไทย เสนอดึงสัดส่วนผู้กำหนดนโยบายที่เข้าใจผู้หญิง ช่วยกระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบาย ทำให้การเรียกร้องสิทธิ ไม่ใช่เรื่องลำบาก

ช่วงวันสตรีสากล 8 มีนาคม 2565 ไม่เพียงข้อเรียกร้องของแรงงานกลุ่มสตรีเท่านั้น การผลักดันให้ “ผ้าอนามัย เป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานของสังคมไทย” ก็ยังเป็นประเด็นหลักที่ถูกพูดถึง อย่างใน “นิทรรศกี : เพื่อผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า” ก็มีทั้งการแสดงเชิงสัญลักษณ์ งานแสดงศิลปะ และค่าใช้จ่ายที่สตรีต้องเสียไปในละเดือนจำนวนไม่น้อย ผ้าอนามัยยังถือเป็นสินค้าที่มีต้นทุนสูง มีภาษีที่ต้องจ่าย เทียบเท่ากับภาษีอุปโภค-บริโภค

The Active พูดคุยประเด็นนี้อีกครั้ง กับ ผศ. เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู อาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย คารลอสที่สาม แห่งกรุดมาดริด (Universidad Carlos III de Madrid) ประเทศสเปน ซึ่งพูดถึงประเด็น “ผ้าอนามัย” ที่ควรจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้หญิงมานานแล้ว โดยการผลักดันนโยบาย ผ้าอนามัยเป็นสิทธิ ไม่ใช่แค่มิติการแก้ปัญหาการซึมเปื้อน แต่สะท้อนทัศนคติของรัฐ ที่ควรมองเรื่องนี้อย่างเท่าเทียมไม่ต่างกับสิทธิด้านอื่นๆในสังคม

“ผ้าอนามัยเป็นสิทธิ การมีประจำเดือนโดยเฉพาะกับเด็กเล็กๆ ที่อยู่ในวัยเรียน ถ้าพวกเขาต้องขาดเรียน หรือใช้ชีวิตตามปกติไม่ได้ เพียงเพราะไม่มีผ้าอนามัย สิ่งนี้สะท้อนว่า การลงทุนของรัฐ มีผลกระทบวงกว้างมากกว่าแค่ การช่วยไม่ให้มันซึมเปื้อน…”

ทำไมไทยผลักดัน ผ้าอนามัย เป็นสิทธิไม่สำเร็จ?

ผศ.เนื้อแพร อธิบายว่า ถ้าเราพูดกันตามหลักเศรษฐศาสตร์ เรื่องผ้าอนามัย ต้องมีค่าใช้จ่ายในการผลิต ไม่มีประเทศไหนที่เริ่มต้นด้วยการให้ผ้าอนามัยฟรี ส่วนมากเกิดจากการรณรงค์เพื่อสิทธิของผู้หญิงทั้งสิ้น ด้วยเหตุผลว่ามันคือสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ผู้หญิงไม่ได้ร้องขอให้เกิดขึ้น

ดังนั้นเหตุผลที่ประเทศไทยยังไม่มีผ้าอนามัยฟรี แสดงว่าสังคมไทยอาจจะยังตื่นตัวไม่เพียงพอ โดยเฉพาะฝั่งนโยบาย ที่ควรเห็นว่า ผ้าอนามัย คือ อีกหนึ่งสิทธิที่ผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ควรได้รับ หากเริ่มปรับความคิดว่า ผ้าอนามัยเป็นสิทธิที่ควรจะได้ เหมือนสิทธิการเรียนหนังสือ ถ้าทำได้การผลักดันเชิงนโยบายก็จะง่ายขึ้น

“ถามว่า ควรจะมีผ้าอนามัยฟรี อย่างเดียวเลยหรือไม่ ก็คงจะไม่ใช่ มันก็ควรจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น ถ้าประชาชนเรียกหา หรือ ต้องการผ้าอนามัย ก็ควรจะได้

แต่ถ้าอยากได้สิ่งที่ดีกว่า และประชาชนมีความสามารถจะซื้อได้ก็ควรเป็นทางเลือก แบบนี้ก็จะถือว่าได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย

คล้ายๆ กับสิทธิการเลือกที่เรียนที่ดีให้กับลูก และสิทธิการเรียนฟรี ก็ต้องมีด้วย ซึ่งสิ่งสำคัญ คือ รัฐควรจะปรับวิธีคิด รองรับเรื่องให้ทุกคนเข้าถึงได้ และมีโอกาสเลือกด้วย”

ประเทศก้าวหน้า มองสิทธิผู้หญิงเป็นเรื่องสำคัญ

อ.เนื้อแพร เล่าต่อว่า ในหลายประเทศที่มีความก้าวหน้าในสิทธิผู้หญิง ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่ต้องยอมรับว่าแต่ละประเทศเข้าใจถึงสิทธิผู้หญิงต่างกัน เช่นกันถ้าประเทศไทย คิดว่าเราอยากเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วก็ต้องปรับวิธีคิด

“ถ้าพ่อบ้านยังอายที่จะซื้อผ้าอนามัย มีวิธีคิดว่าผู้หญิงต้องอยู่กับบ้าน เรียนน้อย หรือ เวลามีประจำเดือน เด็กเล็กต้องขาดเรียน หยุดใช้ชีวิตตามปกติ เพียงเพราะเข้าไม่ถึงผ้าอนามัย ก็ยังถือว่า ประเทศไทยไม่ก้าวหน้า…แม้จะบอกว่าเรามีการศึกษา และการทำงานที่เท่าเทียม”

วิธีคิด ความเข้าใจผู้หญิงจากระดับนโยบายสำคัญต่อการผลักดันให้เกิด “สิทธิ”

อาจารย์เล่าต่อว่า หลายครั้งเป็นการวางนโยบาย มาจากประสบการณ์ส่วนตัว ดังนั้นถ้าเป็นผู้วางเป็นผู้ชายก็มีโอกาสที่จะเข้าไม่ถึงความจำเป็นการใช้ผ้าอนามัยของผู้หญิง ถ้าผู้ชายหลายคน คิดว่าเป็นสิ่งน่าอาย เขาก็คงไม่เข้าใจว่ามันคือความจำเป็น และสิทธิขั้นพื้นฐาน

“หากผู้วางนโยบาย มีสัดส่วนของคนที่เข้าถึง-เข้าใจความรู้สึกผู้หญิงทำให้เกิดการ ขับเคลื่อนนโยบาย และทำให้การเรียกร้องสิทธิ ไม่ใช่เรื่องลำบาก

ถ้าเราบอกว่ารัฐ ไม่มีสิทธิ์ยุ่งเกี่ยวในการตัดสินใจเรื่องอวัยวะของคน เราต้องถามว่า ทำไมรัฐจึงมีนโยบายที่อยากให้คนมีลูก เพราะทุกอย่าง คือ ระบบสืบพันธ์ การมีประจำเดือนเช่นกัน อาจจะไม่ต้องฟรี แต่ต้องเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานให้ประชาชนเข้าถึงได้”

ข้อเสนอ เชิงนโยบาย ผลักดันร่วมจึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลง

ผศ.เนื้อแพร่ ระบุว่า การยกระดับเรื่องนี้ให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน รัฐสามาถทำได้หลายอย่าง เช่น สร้างตู้ผ้าอนามัย ให้เด็กหญิงสามารถเข้าถึงได้ การกระจายงบประมาณให้ครัวเรือน ลักษณะคล้ายคูปองให้ใช้จ่ายกับเรื่องนี้ เพื่อเลือกซื้อผ้าอนามัยได้ อีกอย่างที่ทำได้ คือ การควบคุมราคาไม่ให้สูงเกินไป เพราะต้องไม่ลืมว่า ผ้าอนามัยมีค่าโฆษณาสูงมาก หากรัฐผ่านกลไกส่วนนี้จะช่วยลดภาระไม่ให้ตกอยู่ที่ผู้บริโภคมากจนเกินไป

ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่า สังคมไทยมี ผู้หญิง 51% ของประชากร ถ้าพรรคการเมืองคิดว่าเห็นความจำเป็น คิดว่าคนที่ลงเสียงเป็น 51% ก็น่าจะเห็นประโยชน์ของผู้ให้คะแนนเสียง อาจทำให้ทุกส่วนตื่นตัวมากขึ้น และมีส่วนช่วยทำให้ นโยบายเกิดเร็ว

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน