โอกาสการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยและบ้านของคน GEN Z
วรดร เลิศรัตน์ | นักวิจัยนโยบายสาธารณะ 101PUB
เมื่อโครงสร้างประเทศไทยอาจไม่อนุญาตให้คนรุ่นใหม่ทำตามความฝันได้อย่างปลอดภัย สังคมคาดหวังให้พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่ต้องแบกรับคนอีกหลายรุ่น แต่กลับไม่มีหลักประกันความมั่นคงของชีวิต แม้กระทั่งโอกาสของการมีหน้าที่การงานที่ดี มีเงินเดือนสูง ที่กระจุกตัวอยู่เพียงแค่ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร
หลายคนต้องดิ้นรนพาตัวเองออกจากบ้านมาทำงาน แถมยังต้องจ่ายค่าเดินทางและค่าที่อยู่อาศัยสวนทางกับรายได้ ยังไม่นับว่าบางคนต้องเจียดเงินจากค่าใช้จ่ายเหล่านี้กลับไปให้ครอบครัว ดังนั้น ความฝันที่จะเก็บเงินซื้อบ้าน หรือผ่อนรถเป็นของตัวเอง แทบจะเป็นศูนย์
วรดร เลิศรัตน์ นักวิจัยนโยบายสาธารณะ 101 PUB พูดถึง ชีวิตห้องเล็กในเมืองใหญ่ คนรุ่นใหม่กับการเป็นเจ้าของพื้นที่ 24 ตร.ม. ซึ่งเป็นประเด็นต่อเนื่องจากซีรีส์ชุด #Generationเคว้ง โดยเฉพาะในประเด็น โอกาสการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยของคน GEN Z เขาเล่าถึงปัญหาที่อยู่อาศัยว่า คนรุ่นใหม่จำนวนมากรู้สึกว่าตัวเองยังตามหาความฝันไม่เจอ ซึ่งส่วนที่เป็นปัญหามักเชื่อมโยงไปที่เรื่องงาน ที่อาจไม่เอื้อหรือเปิดโอกาสให้พวกเขาสามารถทำตามฝันได้เท่าที่ควร อีกทั้งปัจจุบันงานและโอกาสต่าง ๆ กระจุกตัวอยู่เพียงในพื้นที่เมืองอย่างกรุงเทพมหานคร และหากปัจจัยพื้นฐานอย่างบ้าน คนรุ่นใหม่ไม่สามารถที่จะคว้ามันได้ ความฝันอื่น ๆ ก็ยากตามไปด้วย
วรดร กล่าวต่อไปว่าตอนนี้คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองกำลังเผชิญความท้าทายในการเข้าถึง “บ้านที่ดี” เป็นอย่างมาก “บ้านที่ดี” ในที่นี้ วรดร หมายถึงบ้านที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสมและมีคุณภาพ อยู่ในทำเลที่เอื้อต่อการใช้ชีวิต อยู่ในระดับค่าใช้จ่ายที่สอดคล้องกับรายได้ รวมถึงสามารถอยู่อาศัยได้อย่างมั่นคง
การทำงานในเมือง หากได้เงินเดือนประมาณ 20,000 บาท/เดือน ถือเป็นรายได้ต่อหัวของครัวเรือน 30% ที่รวยที่สุดในกรุงเทพฯ เพราะฉะนั้น ถ้าคนที่อยู่ในกลุ่มรายได้ 30% แรกของกรุงเทพฯ ยังไม่สามารถที่จะมีบ้านที่ใกล้ที่ทำงานและเดินทางสะดวกได้ แน่นอนว่าคนที่รายได้น้อยยิ่งกว่า ยิ่งต้องเผชิญกับข้อจำกัด
จากการสำรวจของโครงการวิจัยภายใต้องค์การสหประชาชาติ พบว่าทุกวันนี้ประชากรเมืองทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดรวมกันเกือบ 3 แสนครัวเรือน ยังต้องอาศัยอยู่ในที่อยู่อาศัยไม่ได้มาตรฐาน หมายถึงที่อยู่อาศัยที่เข้าไม่ถึงแม้กระทั่งน้ำสะอาด ระบบสุขาภิบาล ระบบส้วมที่ดี แออัดคับแคบ ไม่แข็งแรงทนทาน หรือเสี่ยงที่จะถูกไล่รื้อ
“ปัญหาและความท้าทายที่เกิดขึ้น เกิดจากระดับค่าใช้จ่ายด้านบ้านที่สูงมาก จริง ๆ แม้กระทรวง พม. เคยตั้งเกณฑ์เอาไว้ว่าระดับค่าใช้จ่ายเรื่องบ้านไม่ควรเกิน 15% – 20% ของรายได้ต่อครัวเรือน แต่ทุกวันนี้ระดับค่าใช้จ่ายเรื่องบ้านในกรุงเทพฯ สูงเกินไป สำหรับครัวเรือน ค่าใช้จ่ายเรื่องบ้าน โตเร็วกว่าค่าจ้าง”
วรดร กล่าวว่า ตัวเลขข้างต้น สวนทางกับค่าจ้างแรงงานที่ลดลงประมาณ 6% สถานการณ์แบบนี้ทำให้คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะเข้าถึงบ้านยากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีลักษณะเมืองมีความเจริญแบบกระจุกตัว ดังนั้น คนรุ่นใหม่จำเป็นที่จะต้องมาอยู่ในพื้นที่เมือง เพื่อหาที่เรียน ที่ทำงาน สร้างเนื้อสร้างตัว เพื่อที่จะสร้างครอบครัวให้มีโอกาสดี ๆ ต่อไป แต่ถ้าเขาไม่สามารถที่จะเข้าถึงที่บ้านในพื้นที่นี้ได้แล้ว ความฝันอื่น ๆ ก็จะหลุดลอยไป
นักวิจัยนโยบายสาธารณะ 101 PUB เผยผลสำรวจเยาวชนในประเทศไทยกว่า 2 หมื่นคน พบว่า กลุ่มที่อายุ 15-18 ปี เกินครึ่งบอกว่าการมีบ้านเป็นความฝันที่สำคัญมาก ๆ สำหรับเขา แต่เมื่อขยับขึ้นมา 23-25 ปี จะเหลือแค่ครึ่งเดียวที่บอกว่าการมีบ้านเป็นความฝันสำคัญสำหรับเขา นั่นอาจเพราะว่าเขาพบกับความเป็นจริงที่ว่าราคาบ้านพุ่งขึ้น เขารู้สึกว่าความฝันเรื่องบ้านเป็นไปไม่ได้ เป็นความฝันที่ยาก เรื่องบ้านกลายเป็นโจทย์ที่เกินเอื้อมกับเยาวชนมาก ๆ เด็กที่ฝันอยากจะมีบ้านในประเทศไทย จึงมีน้อยกว่าเยาวชนที่ฝันอยากจะย้ายประเทศเสียอีก
หากจะช่วยให้เยาวชนหลุดพ้นจากการติดลบแบบนี้ เพื่อให้พวกเขาเติมเต็มความฝันของตัวเองได้ วรดร กล่าวว่า เป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลจะต้องทำ ซึ่งรัฐบาลต้องตั้งหลักและทำความเข้าใจว่าการมีบ้านที่ดีเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานและเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะเข้ามาสนับสนุนให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เพราะที่ผ่านมา โจทย์นโยบายเรื่องบ้านของรัฐไทย มักจะตีโจทย์ที่กรรมสิทธิ์ คือทำอย่างไรที่จะทำให้ครัวเรือนสามารถที่จะซื้อบ้านแบบที่มีโฉนดเป็นของตัวเองได้ ซึ่งไม่ตอบโจทย์ เพราะหลายคนต้องโยกย้ายไปทำงานในพื้นที่อื่น ๆ ฉะนั้นการถือครองกรรมสิทธิ์มันเริ่มไม่ตอบโจทย์กับคนรุ่นใหม่ เพราะคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนงานมากขึ้น มีความเปลี่ยนแปลงในชีวิตมากขึ้น และบ้านที่เน้นสำหรับขาย อาจไม่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่หรือคนที่ต้องเปลี่ยนงานไปตามฤดูกาล
“เราจึงต้องปรับโจทย์ตรงนี้ก่อน ว่าหากรัฐไทยต้องการจะสนับสนุนให้คนมีบ้านที่ดี ไม่ใช่สนับสนุนให้คนมีโฉนด นโยบายเรื่องบ้านในอดีตจะเห็นได้เลยว่ามีเยอะมาก อย่างเรื่องการควบคุมค่าเช่า ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่รัฐทำได้”
หลายคนบอกว่าการเช่าหมายถึงการทำให้ชีวิตไม่มีความมั่นคง แต่จริง ๆ แล้วเราสามารถออกแบบให้การเช่ามั่นคงได้ อยู่ที่เงื่อนไข แต่ประเทศไทยอาจจะเคยชินเพราะรัฐไม่เคยเข้ามาคุ้มครองเงื่อนไขเหล่านี้และปล่อยทุกอย่างเป็นไปตามสำนวน “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” ที่จริงแล้วมองว่ามันทำให้มั่นคงได้
เขายกตัวอย่างกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งเป็นเมืองที่คนมีความสุขที่สุดในโลก พบว่า คนเกือบ 50% อยู่ในบ้านเช่าภายใต้การควบคุมของรัฐ จึงมองว่าเราสามารถปรับได้ ควบคุมค่าเช่าได้ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องดำเนินไปพร้อมกับนโยบายเรื่องที่ดินเรื่องภาษีและเรื่องผังเมืองมากขึ้น ซึ่งจะแก้ปัญหาอื่น ๆ ตามไปด้วย
วรดร กล่าวทิ้งท้ายว่า ประเทศไทย ไม่เคยชูนโยบายเรื่องที่อยู่อาศัยเป็นวาระนโยบายใหญ่มานานมากแล้ว ทั้ง ๆ ที่เป็นปัญหาใหญ่มาก เพราะเป็นปัจจัย 4 ถึงอย่างนั้น ประเด็นนี้ก็ไม่ได้ถูกให้ความสนใจ และไม่ได้ถูกมองว่ารัฐจะต้องเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้เพื่อให้เป็นสวัสดิการสำหรับคนส่วนมาก แต่รัฐมักทำให้เป็นเรื่องสังคมสงเคราะห์สำหรับคนบางกลุ่มเท่านั้น
กระทั่งปัจจุบันนโยบายของรัฐยังไม่ตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการของคนรุ่นใหม่เท่าที่ควร คำถามคือ นักการเมืองแต่ละพรรคมีข้อเสนออย่างไรที่จะเพิ่มการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ในกระบวนการนโยบายอย่างมีความหมายมากขึ้น เชื่อว่าไม่สามารถออกแบบนโยบายที่ตอบสนองต่อปัญหาตอบสนองต่อปัญหาของคนรุ่นใหม่ได้เลยหากไม่ให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการอย่างแท้จริง อันนี้น่าจะเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับการแก้ไขปัญหาให้คนรุ่นใหม่
หมายเหตุ "Lost & Found: ตามหาความฝันที่หล่นหายของคน GEN Z" เป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากการนำเสนอซีรีส์ชุด #Generationเคว้ง ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง The Active และ The MATTER เพื่อนำเสนอปัญหาที่คนรุ่นใหม่กำลังเผชิญอยู่ ชม เวทีเสวนา "Lost & Found: ตามหาความฝันที่หล่นหายของคน GEN Z" | 22 เม.ย. 66