โดดเดี่ยวมาตั้งแต่เกิด

ความฝันของคน GEN Z
ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ | บรรณาธิการบริหาร Mutual

การต้องเข้าสู่สนามแข่งขันตั้งแต่เด็ก ติวเพื่อสอบเข้าเรียนชั้นอนุบาล คือต้นทางความโดดเดี่ยวของคน Generation เคว้ง เมื่อมีการแข่งขัน ก็มีการแพ้ชนะ และแน่นอนว่าพื้นที่ของผู้ชนะมีน้อยกว่าผู้แพ้เสมอ สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ จำนวนผู้แพ้มีมากขึ้นเรื่อย ๆ

บทบาทของการเป็นสื่อที่นำเสนอเนื้อหาเพื่อความแตกต่างหลากหลาย และหลายครั้งก็มีความเกี่ยวข้องกับเด็กและครอบครัว ทำให้ ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ บรรณาธิการบริหาร Mutual มีโอกาสได้มองเห็นความเปลี่ยนแปลงสำคัญของเด็ก ๆ ก่อนจะก้าวเข้าสู่ Gen Z

เธอมองว่าเวลาตั้งคำถามกับความฝันของคนGen Z อาจเป็นปลายทาง เพราะสิ่งที่สำคัญคือระหว่างทางของพวกเขามันไม่แข็งแรง และถูกเตะตัดตอนอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นที่มาของการอธิบายสถานการณ์ที่คนรุ่นใหม่กำลังพบเจอได้ด้วยคำว่า L O S T ในความหมายที่ต่างออกไป

ทิพย์พิมล อธิบายธรรมชาติพฤติกรรมของคน Gen Z ผ่านคำว่า  “L O S T” คือ Lonely, Overload, Suffer และ Target โดยคำเหล่านี้บ่งบอกถึงพฤติกรรมและสังคมของคน Gen Z โดยยกตัวอย่างประสบการณ์ของตนเมื่อ 2 ปีที่แล้ว มีโอกาสสัมภาษณ์งานเด็กที่จบจากคณะสื่อสารมวลชน จากมหาวิทยาลัยอันดับต้น ๆ ของประเทศ แต่การพูดและตอบคำถามได้ไม่คล่อง ถามคำตอบคำ กระทั่งสุดท้ายถามเขาว่า มีอะไรอยากจะถามกลับไหม เขาไม่ได้ถาม แต่บอกเราว่าทำไมเขาถึงไม่ค่อยพูด

“เขาบอกว่าที่เห็นเขาพูดน้อย ตะกุกตะกัก ไม่กล้าสบตา เพราะว่าที่ผ่านมาตั้งแต่อนุบาล ประถม มัธยม ไม่เคยมีใครเปิดโอกาสให้เขาตั้งคำถาม หน้าที่เดียวคือการฟัง ที่น่ากลัวกว่าความโดดเดี่ยวคือผลพวงของความโดดเดี่ยว” โดยทิพย์พิมลมองว่า มีผลมาจากหลักสูตรการเรียนของไทยที่ฝึกให้เด็กฟังมากกว่าตั้งคำถาม 

ส่วน Overload คือ การแบกของเด็กรุ่นนี้ อย่างน้อยมีอยู่สองเรื่องคือความฝันความหวังของพ่อแม่ ที่ส่งต่อความฝันของตัวเองให้ลูกโดยไม่ถามว่าเขาต้องการหรือเปล่า และอีกเรื่องคือการแบกความหวังของตัวเอง เพราะเมื่อใดก็ตามที่เขาทำไม่สำเร็จ มันจะกดดันกับตัวเองมากกว่า ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัวเพราะอาจทำให้เขาสูญเสียความมั่นใจในตัวเองและไม่กล้าทำอะไรเลย

ส่วน Suffer ในส่วนของสุขภาพจิต ที่แสดงออกมาเป็นตัวเลขเลยว่ากลุ่มที่มีปัญหาโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นมาก จิตแพทย์ที่มีก็ต้องดูแลผู้ป่วยในสัดส่วนที่เยอะ ผู้ที่ต้องการพบแพทย์ต้องรอคิวข้ามปี อย่างช่วงต้นปีที่ผ่านมามีข่าวว่าโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติคิวยาวไปถึงตุลาคมปี 2567 สะท้อนว่าแม้มีเงินก็ใช่ว่าจะรักษาได้ ในเมื่อเราเจอทั้งความโดดเดี่ยว การแบกรับและการทนทุกข์ทรมานแบบนี้ส่งผลให้คนเราไม่มีกำลังเหลือพอให้มองหาเป้าหมาย

ขณะเดียวกัน คนรุ่นใหม่ไม่กล้าวางแผนระยะยาว หรือ Target นั่นเพราะเมื่อพวกเขาเริ่มทำงาน ไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะคอนโดมิเนียมหรือบ้านที่ติดรถไฟฟ้ากันทุกคน หลายคนจำเป็นต้องวางแผนการเลือกที่อยู่อาศัยและการเดินทางเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ยังไม่นับอุปสรรคอื่น ๆ ระหว่างการเดินทาง ฝนตก น้ำท่วม ขนส่งสาธารณะไม่เอื้อให้พวกเขาเดินทางกลับบ้านได้

จากปัญหาที่กล่าวมา ทิพย์พิมล มองว่าทางแก้ปัญหา หรือทางออกสามารถใช้คำว่า L O S T อธิบายได้เช่นเดียวกัน เพียงแต่เปลี่ยนเป็น Love, Opportunity, Self และ Team เพราะเชื่อว่าการสร้างความรัก และการให้โอกาส ถือเป็นอีกหนึ่งความหวังของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเริ่มต้นได้จากความรักของครอบครัว เพราะเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุด ครอบครัวต้องพยายามเข้าใจเขาให้มากขึ้น เคารพในความคิดเคารพในความฝันของเขา เชื่อว่าคน ๆ หนึ่งถ้ามี Passion ได้ทำในสิ่งที่ชอบ จะสามารถไปตามความฝัน ณ ตอนนั้นของเขาได้ Passion ไม่ใช่สิ่งที่แน่นอน มีได้ หมดได้ และเปลี่ยนได้ เพียงแต่ผู้ปกครองจะต้องให้โอกาสเขา ไม่รีบตัดสินหรือตัดความมั่นใจ ไม่ว่าจะเป็นลูกหรือคนที่มีความคิดต่างจากเราก็ตาม  

“ไม่ต้องบอกหรอกว่า ฉันอาบน้ำร้อนมาก่อน ฉันผ่านประสบการณ์มาก่อน น้ำร้อนของเราสู้ของเด็กสมัยนี้ไม่ได้ ไม่ต้องเปิดเครื่องทำน้ำอุ่นก็ร้อนมากอยู่แล้ว อย่าเอาประสบการณ์ของเราเปรียบเทียบกับของเด็กสมัยนี้”

เธอบอกอีกว่า การที่คนรุ่นใหม่ ได้มีตัวตนในสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลาย สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นพลัง โดยไม่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองเป็นแกะดำ นี่คือสิ่งที่เด็ก ๆ จะเห็นได้เองหากเราให้คุณค่าเรื่องความเห็นต่าง ซึ่งการสร้างทีมจะไปหักล้างความโดดเดี่ยวที่ติดตัวมากับคน Gen Z

บรรณาธิการบริหาร Mutual มองว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จริง หากประชาชนช่วยเหลือกันเอง รวมถึงกลไกภาครัฐเองที่ต้องเข้ามาช่วย ซึ่งหน้าที่ของผู้ใหญ่ก็คือต้องช่วยกันประคับประคองให้ไปต่อ เพราะเธอเชื่อว่าถ้าทุกคนได้เริ่มต้น ด้วยต้นทุนที่เท่ากัน ยกตัวอย่างงานเขียนของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” เพราะหากแม่ได้รับการดูแลตั้งแต่เด็กอยู่ในครรภ์ เมื่อเกิดออกมาก็ได้รับการศึกษาที่เหมาะสม เท่าเทียม ทั่วถึง เจ็บป่วยก็ได้รับการรักษาอย่างไม่แบ่งแยก สุดท้าย บำนาญชราภาพ คือ จะมีปลายทางให้ทุกคนรู้สึกปลอดภัย นั่นหมายความว่า หากคน ๆ หนึ่งรู้สึกปลอดภัย มีความมั่นคงแข็งแกร่งในตัวเอง ก็จะมีแรงไปผลิตสิ่งใหม่ ตามหาความฝันได้ด้วยตัวเอง โดยที่ผู้ใหญ่ไม่ต้องไปสร้างความฝันให้พวกเขา เพียงแต่ทำปัจจุบันและวางอนาคตให้เพียงพอต่อการสร้างความฝันของคนรุ่นนี้ก็พอ


หมายเหตุ "Lost & Found: ตามหาความฝันที่หล่นหายของคน GEN Z" เป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากการนำเสนอซีรีส์ชุด #Generationเคว้ง ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง The Active และ The MATTER เพื่อนำเสนอปัญหาที่คนรุ่นใหม่กำลังเผชิญอยู่

ชม เวทีเสวนา "Lost & Found: ตามหาความฝันที่หล่นหายของคน GEN Z" | 22 เม.ย. 66

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์