พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตชาวเลแห่งแรก ความยั่งยืนในการพัฒนา

ความหวัง ความร่วมมือ และความยั่งยืนในการพัฒนา

เครือข่ายชาวเลอันดามัน (มอแกน มอแกลน อูรักลาโว้ย) มูลนิธิชุมชนไท ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และภาคีเครือข่าย จัดงานรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล ครั้งที่ 12 ร่วมกันสถาปนาประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลชุมชนทับตะวัน-บนไร่ จ.พังงา กับความยั่งยืนในการพัฒนา (SDG) เพื่อเสริมความเข้มแข็งเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ร่วมกันขับเคลื่อนการแก้ปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ในระดับนโยบายและกฎหมาย

กิจกรรมช่วงหนึ่ง ตัวแทนหน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่มีบทบาทหน้าสำคัญในการสนับสนุนคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ภายใต้มติ ครม. 2 มิถุนายน 2553 เรื่องแนวนโยบายในการคุ้มครองวิถีชีวิตชาวเล ได้ร่วมกันสถานปนาเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรม รวมทั้งกล่าวถึงแนวทางในการสนับสนุนคุ้มครองวิถีชีวิต ดึงศักยภาพด้านต่าง ๆ ให้ชาวเลมีความเข้มแข็ง พร้อมเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาประเทศ

The Active รวบรวมคำมั่นสัญญาที่จะขับเคลื่อนสนับสนุนพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมชาวเล รวมถึงความคิดเห็นต่อการผลักดันให้เรื่องนี้เดินหน้าต่อ เพื่อเกิดความก้าวหน้าและรูปธรรมที่แท้จริง


กันตพงศ์ รังษีสว่าง ผู้ตรวจราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า หลักสำคัญคือการพัฒนาสังคมให้เกิดความมั่นคงของมนุษย์ในทุกมิติ ความจริงมีหลายมิติมากในการดูแลให้สอดคล้องกับ SDG หรือการพัฒนาที่ยั่งยืน สอดคล้องกับการพัฒนาสังคมที่แท้จริง

โดย พม. ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนกลุ่มเปราะบาง รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ ใน 5 มิติ ทั้งในเรื่องของสุขภาพ, การศึกษา, อาชีพ รายได้, ที่อยู่อาศัย และการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการของรัฐ

ส่วนเรื่องการศึกษา แม้กระทรวง พม. ไม่ได้ทำเรื่องนี้เป็นหลัก แต่ถือเป็นเครือข่ายการทำงาน เป็นผู้สนับสนุน หรือมีส่วนร่วมในการที่จะ ขับเคลื่อนเรื่องนี้ร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง โดยใช้ข้อมูลของ TPMAP เป็นฐาน เป็นแนวทางในการค้นหากลุ่มคนที่เดือดร้อน ยากจนยากลำบาก เข้ามาสู่การช่วยเหลือดูแล

และหลักคิดการให้ประชาชนในพื้นที่ ไม่ว่าเป็นกลุ่มเปราะบาง หรือกลุ่มชาติพันธุ์ได้รวมกลุ่มกัน และหยิบปัญหาของตัวเองขึ้นมา ออกแบบหาวิธีแก้ปัญหาโดยตัวเขาเอง เป็นหลักคิดที่กระทรวง พม. สนับสนุนมาอยู่แล้ว โดยผ่านสถาบันองค์กรพัฒนาชุมชน ที่เราให้ภาคประชาชน ขบวนองค์กรชุมชน ได้มาร่วมกันออกแบบที่จะดูแลแก้ปัญหาของตนเอง โดย พอ. ทำหน้าที่สนับสนุน หลักคิดดังกล่าว ถูกถ่ายทอดอยู่ในกฎหมายฉบับหนึ่งที่เรียกว่า พระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ.2546 ด้วย ดังนั้น กระทรวง พม. สนับสนุนแน่นอน

“หลักคิดให้ประชาชน รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ได้รวมกลุ่มหยิบปัญหาของตัวเองขึ้นมาออกแบบ เพื่อหาวิธีแก้ปัญหา อันนี้เป็นหลักคิดที่กระทรวง พม. สนับสนุนมาตลอดอยู่แล้ว และพร้อมเดินหน้าผลักดันให้กลุ่มชาติพันธุ์และชาวเล เข้าถึงการพัฒนา 5 มิติ พร้อมบูรณาความร่วมมือหน่วยงาน กระทรวงต่าง ๆ”

ศศิฑอณร์ สุวรรณมณี หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า โดยภารกิจของกระทรวงฯ และนโยบายของ รมว.กระทรวงวัฒนธรรม ได้ให้ความสำคัญในเรื่องชาติพันธุ์ วิถีชีวิต ของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยที่มีความหลากหลาย โดยหลักสำคัญกระทรวงฯ มีศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ที่สนับสนุนในเรื่องการดูแลผลักดันกฎหมายและการคุ้มครองชาติพันธุ์

ส่วนภารกิจนอกเหนือจากการดูแลชุมชนหรือผลักดันด้านกฎหมายแล้ว จะมีเรื่องการสืบสานการรักษาและต่อยอดให้วิถีชีวิตชาติพันธุ์ ได้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืน สามารถนำทุนที่มีในพื้นที่ ซึ่งเป็นอัตลักษณ์สำคัญ ที่ทุกคนต้องไม่หลงลืม ต้องภาคภูมิใจและรักในอัตลักษณ์ของตัวเอง และนอกเหนือจากการสนับสนุนสืบสานรักษาให้คงอยู่แล้ว ยังมีการพัฒนาต่อยอดให้การนำทุนอัตลักษณ์เหล่านี้ ไปเสริมในเรื่องการนำมาซึ่งรายได้ เสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตในอีกหลากหลายด้าน

กระทรวงวัฒนธรรมพยายามผลักดันให้สิ่งเหล่านี้ เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้วยกันเอง และที่สำคัญที่สุด หน่วยงานภาครัฐเองไม่สามารถดำเนินการได้ ไม่ว่าจะผลักดันทางสังคมและเศรษฐกิจ รวมถึงการคุ้มครองด้านกฎหมาย เกิดความร่วมมือกับคนในพื้นที่ ซึ่งเป็นเจ้าของวัฒนธรรมเอง ซึ่งเป็นหลักในการทำงานด้านวัฒนธรรม

“ภาครัฐเอง โดยรัฐบาล กระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เชื่อว่าทุกฝ่ายจะร่วมกันผลักดันให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องประชาชน ไม่ว่าเป็นชาติพันธุ์ไหน คิดว่าต้องเกิดผลแน่นอน ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมก็ติดตามเรื่ิองนี้ตลอด ติดตามทุกเดือนว่าเป็นอย่างไรบ้าง มีอะไรประเด็นอะไรติดขัด ก็พร้อมที่จะผลักดันให้เกิดผลในทางปฏิบัติ”

เอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา กล่าวว่า การขับเคลื่อนเรื่องการคุ้มครองวิถีชีวิตวัฒนธรรมชาติพันธุ์รวมถึงชาวเล มี 2 ระดับ คือ ระดับชาติและระดับพื้นที่ โดนระดับชาติเป็นไปตามไปตามมติ ครม. 2 มิถุนายน  2553 แนวนโยบายคุ้มครองวิถีชีวิตชาวเล ซึ่งระดับพื้นที่ต้องบูรณาการร่วมกัน

เพราะการดูแลกลุ่มชาติพันธุ์มีความเกี่ยวโยงหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย เรื่องที่ทำกิน พื้นที่จิตวิญญาน วิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรมต่าง ๆ โดยระดับจังหวัด มีวัฒนธรรมจังหวัด มีสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ทรัพยากรทะเลชายฝั่ง สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ร่วมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เหล่านี้ต้องมีการประชุมกัน ซึ่งได้จัดการประชุมกันอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ต้องดูแลทุกเรื่องต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน ต้องคอยติดตาม และลงมาให้กำลังใจบ่อย ๆ มีการส่งตรวจการบ้านถึงความคืบหน้ากันเรื่อย ๆ

“การดูแลกลุ่มชาติพันธุ์มีความเกี่ยวโยงหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย เรื่องที่ทำกิน พื้นที่จิตวิญญาน วิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรมต่าง ๆ โดยระดับจังหวัดเรามีหลายหน่วยงาน ตรงนี้ต้องมีการประชุมกันต่อเนื่ิอง ต้องดูแลทุกเรื่อง ต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน ต้องคอยติดตาม และลงมาให้กำลังใจบ่อย ๆ มีการส่งตรวจการบ้านถึงความคืบหน้ากันเรื่อย ๆ“

ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา กล่าวเพิ่มเติมว่า หากพื้นที่มีความพร้อมในการจัดทำโครงการในลักษณะนี้เป็นยุทธศาสตร์จังหวัดก็สามารถนำเข้าสู่แผนพัฒนาจังหวัดได้เลย โดยสามารถอนุมัติงบประมาณมาดำเนินการได้ ซึ่งพื้นที่ทับตะวันถือเป็นพื้นที่นำร่อง หากพื้นที่อื่นๆ เช่นชาวเลชุมชนพระทอง ชาวเลเกาะสุรินทร์มีความพร้อม ก็สามารถดำเนินการผลักดันต่อไปได้

บัณฑิต มั่นคง ผู้ชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า ส่วนงานที่สอดคล้องกับการทำงานของ สช. คือเรื่องความเหลื่อมล้ำในมิติสุขภาพ จากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้เห็นปัญหาชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งมีข้อจำกัดด้านกลไกต่าง ๆ จึงมีความยินดีและความพร้อมที่จะเป็นทางผ่านเพื่อให้พี่น้องชาติพันธุ์ รวมถึงชาวเล ทำนโยบายของตัวเอง โดยใช้กระบวนการนโยบายสาธารณะได้ มีกลไกหรือเครื่องมือที่สำคัญ คือ เรื่องของข้อตกลงร่วม หรือ ธรรมนูญชุมชน และหากเป็นไปได้ขอให้ทุกคนร่วมออกแบบ เพื่อการประสานความร่วมมือกับภาคีในระดับพื้นที่ โดยมุ่งหวังให้ความร่วมมือทั้งภาคประชาชน นักวิชากรและ หน่วยงานต่าง ๆ

“หน่วยงาน สปสช. มีช่องว่างของกลุ่มคนในการเข้าไม่ถึงสิทธิการบริการด้านสุขภาพ กว่า 4-5 แสนคน ซึ่งในนั้นก็รวมไปถึงกลุ่มชาวเลด้วย ซึ่งสุขภาพถือเป็นความสำคัญที่สุด หน่วยงานขับเคลื่อนในมิติสุขภาพมีหลายหน่วยงานเช่น อบต. สช. สสส.”

อรวรรณ หาญทะเล ตัวแทนชุมชนชาวเลมอแกลนทับตะวัน-บนไร่ กล่าวว่า ลูกหลานของมอแกลน เกิดที่ชุมชนทับตะวัน คนเฒ่าคนแก่ได้เล่าว่า พ่อตาสามพัน บรรพชนของชนเผ่ามอแกลน มี 25 ชุมชน ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ มีคำบอกเล่าถึงศาลพ่อตาสามพัน ว่า ถ้าพวกเราทำอะไรไม่ว่าที่ลับถึงที่สว่าง ถ้าทำไม่ดีก็จะถูกเปิดเผยออกมา ทำให้ทุกคนไม่กล้าที่จะทำผิด และได้นำมาใช้เป็นกติกาของชุมชนในหมู่บ้านก่อนการส่งต่อให้ระบบกฎหมายบ้านเมืองกำหนด

ในพื้นที่ตรงนี้ เดิมเคยมีเสือ มีควายป่า เป็นพื้นที่ปลูกข้าวไร่ ทำนาอย่างปกติสุข ต่อมามีการขยายพื้นที่ป่าไม้ มีการทำเหมืองแร่ มาเบียดขับชาวเลออกไป เมื่อหมดสัมปทาน พวกเราก็กลับเข้ามาอยู่ ต่อมาได้ประกาศให้มีการสัมปทานในทะเลอีก เป็นการทำลายทรัพยากรทางทะเล เช่น ปะการัง ซึ่งเดิมสามารถหากินได้ในบริเวณใกล้ ๆ ฝั่ง เรามีคำสอนปลูกฝังเรื่องการรักษาทรัพยากรทางทะเล หากินแบบ ทะเลหมุนเวียน ในพื้นที่ยังมีต้นมะขามต้นใหญ่อยู่ ซึ่งชาวเลไม่ได้มีการตัดทิ้ง โดยสุดท้ายต้นมะขามได้เป็นพยานทางวัตถุ ว่าชาวเลได้อยู่มาก่อนเพราะชาวเลเป็นผู้ปลูกต้นไม้และต้นมะขามไว้

ปัจจุบันในหมู่มีบ้านยายลาภ หาญทะเล ที่ยังไม่ได้รับเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่อยู่อาศัย โดยยึดหลักการวางเสาเอกที่จะต้องอยู่ที่เดิม ไม่เคลื่อนที่ไปไหน และทรัพยากรธรรมชาติที่ดินเป็นของทุกคน ไม่ได้เป็นของส่วนบุคคลคนใดคนหนึ่ง จึงไม่ยอมรับเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน นี่เป็นคำถามว่าจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านเราอยู่ได้อย่างยั่งยืน

“ข้อเสนอเพื่อให้เกิดความยั่งยืน คือการให้ชาวเลสามารถเข้าใช้พื้นที่เดิมในการดำรงชีวิตและวัฒนธรรม เช่น พื้นที่จอดเรือ พื้นที่สุสาน พื้นที่เก็บของป่าเพื่อการดำรงชีวิต พื้นที่ทำกิน  พื้นที่วัฒนธรรม พื้นที่จิตวิญญาณ ยังคงอยู่ พวกเราก็สามารถที่จะร่วมกันพัฒนาพื้นที่สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ เป็นแหล่งเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ“

ชาวเล

นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ชุมชนชาวเลทับตะวัน-บนไร่ เป็นชุมชนที่มีความพร้อมของการเป็นพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมมากแห่งหนึ่ง แม้จะมีปัญหาความท้าทายข้อจำกัด โดยเฉพาะเรื่องปัญหาที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย แต่พวกเขาพยายามต่อสู้ ดึงศักยภาพความเข้มแข็งของเครือข่าย เจรจาต่อรองให้เกิดการประนีประนอมในพื้นที่ และยกศักยภาพของวิถีชีวิตวัฒนธรรม บนหลักภูมินิเวศของการใช้ชีวิตสอดคล้องกับธรรมชาติดูแลจัดการอย่างยั่งยืน สร้างเศรษฐกิจชุมชน ทำกองทุนคลังอาหารเพื่อรับมือภัยพิบัติวิกฤตต่าง ๆ 

แต่พวกเขาจะมีความเข้มแข็งมากขึ้น หากได้รับการหนุนเสริมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ภายใต้พื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรม และไม่ใช่แค่การประกาศจะต้องมีการติดตามความคืบหน้า หรือการส่งการบ้านการดำเนินงานตรงนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ยังเห็นว่า กลไกสำคัญที่หนุนเสริมให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้รับการคุ้มครองทางวิถีวัฒนธรรมและการเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ คือรัฐบาลต้องเร่งผลักดันร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิและวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยคาดหวังกับห้วงเวลาที่เหลือของรัฐบาล เพราะรัฐบาลได้ประกาศยุทธศาสตร์และนโยบายที่จะส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์เอาไว้ ดังนั้น ตรงนี้จึงเป็นเหมือนเครดิตและคำสัญญาที่รัฐบาลจะดำเนินการ ซึ่งหวังว่าการผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวจะเกิดขึ้นในรัฐบาลนี้

“ต้องไม่ใช่แค่ร่วมประกาศพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมแล้วจบไป แต่จะต้องมีการติดตามความคืบหน้า หรือการส่งการบ้าน การดำเนินงานตรงนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ยังเห็นว่า กลไกสำคัญที่หนุนเสริมให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้รับการคุ้มครองทางวิถีวัฒนธรรมและการเข้าถึงสิทธิต่างๆ คือรัฐบาลต้องเร่งผลักดันร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิและวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์”


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์