เมื่อ ‘เสียงที่ไม่เคยมีใครได้ยิน’ จากชาติพันธุ์ ลือลั่นทั่วสยาม

ศิลปินนับสิบชีวิต ร่วมการแสดงผสมผสานทางดนตรี ระหว่างศิลปินชาติพันธุ์และศิลปินรุ่นใหม่ สะท้อนความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว ภายในงาน “เสียงชาติพันธุ์ลือลั่นทั่วสยาม” ซึ่งจัดขึ้นที่สยามสแควร์ เมื่อวันที่ 16-17 มี.ค. ที่ผ่านมา

การผสมผสานทางดนตรีครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่งพร้อมรับสิ่งใหม่ต่อยอดศักยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ และศิลปินคนรุ่นใหม่ที่มองเห็นคุณค่าศักยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ ช่วยให้ เสียงที่ไม่เคยมีใครได้ยินมาก่อน กลายเป็นที่สนใจจากคนทั่วไปและรับรู้การมีตัวตนของพวกเขามากขึ้น ในจังหวะเวลาเดียวกับที่สภาฯกำลังพิจารณาเดินหน้าผลักดันกฎหมายชาติพันธุ์

อ.ชิ – สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ศิลปินชาวปกาเกอะญอ

เสียงดนตรีชาติพันธุ์เป็นเหมือน ‘Voices of powerless’ หรือ ‘เสียงของคนไร้พลัง’การได้มาเล่นใจกลางเมืองใหญ่อย่างสยามสแควร์ครั้งนี้จึงท้าทายมาก เพราะนี่คือการสอดแทรกเสียงดนตรีชาติพันธุ์ท่ามกลางที่ที่เต็มไปด้วยเสียงกระแสหลักดังอยู่เต็มไปหมด

การร่วมเล่นกับนักดนตรีในเมืองครั้งนี้ เราต้องปรับจูนเพลงกันทั้งสองฝ่าย ทั้งกับนักร้องในเมือง หรือคนคุมเสียง เพราะคนเมืองอาจคุ้นชินกับเสียงดนตรีแบบอิเล็กทรอนิกส์มากกว่าเสียงดนตรีแบบชนเผ่า ต่างฝ่ายต่างต้องปรับแก้บทเพลงเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของกันและกันให้ได้

“ผมได้เล่นคู่กับ Jayrun และ Sir Poppa แรปเปอร์ชื่อดัง เราผสมเอาอักขระแบบบทกวีโบราณของปกาเกอะญอที่เรียกว่า ‘ธา’ มาใส่เข้าไปในทำนองแรปของเขา ซึ่งเขาก็ยินดีมาก ผลออกมาคือมันสนุกมาก และคิดว่าจะทำงานร่วมกันต่อด้วย เราคิดว่าเวทีแบบนี้แหละคือการเปิดพื้นที่ให้เรียนรู้นและกันอย่างแท้จริง”

“ถ้าเปรียบเทียบเหมือนบ้าน ผมต้องรีโนเวทบ้านให้เขาเข้ามาอยู่ได้ ในขณะที่เมื่อเราเข้าไปอยู่ในบทเพลงของเขาแล้ว เราจะอยู่อย่างไรไม่ให้ไปทำลายข้าวของหรือแย่งห้องนอนเขา นี่คือการต้องปรับจูนกันทั้ง 2  ฝ่าย การเล่นดนตรีครั้งนี้จึงเป็นเหมือนการเปิดพื้นที่ให้แก่กันโดยไม่มีใครยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง เพราะเราทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีศักดิ์เท่าเทียม” 

เราคงไม่สามารถเข้าใจภาษาและความคิดของอีกฝ่ายได้ทั้งหมดในช่วงเวลาสั้น ๆ แต่เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา หากเราลงทุนเรื่องเวลาให้แก่กันแล้ว มันทำให้เราต่างได้เปิดใจยอมรับความแตกต่างหลากหลายแก่กันได้ไม่น้อย

YourMOOD หรือ บอย สุรัตน์ รุ่งพิทธิกุล 

เจ้าของเพลงดังอย่าง “ลาก่อน”

“นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้ลองเล่น ‘เตหน่ากู’ พิณโบราณของชาวปกาเกอะญอ ยิ่งตอนได้ฟังที่พี่น้องชาติพันธุ์เล่นแล้วยิ่ง หลงสเหน่ห์ ผมโดนมนต์สะกดเข้าอย่างจัง มันทำให้ผมรู้สึกเหมือนเข้าไปอยู่ในบทเพลงนั้นจริง ๆ “

เราเคยเล่นแต่ดนตรีร่วมสมัย ไม่เคยได้ร่วมงานกับพี่น้องชาติพันธุ์มาก่อน พอวันนี้ได้มาเล่นด้วยกันแล้วเหมือนเป็นดนตรีมิติใหม่ นี่คือเสียงดนตรีที่เราไม่เคยได้ยินมาก่อน แต่มันอบอุ่น และเติมเต็มหัวใจมาก ๆ

“หลังจบงานนี้ไป ผมจะกลับไปหัดเล่น ‘เตนากู’ ด้วยนะ ในอนาคต ผมอยากนำดนตรีชาติพันธุ์มาเล่นผสมผสานกับดนตรีของตัวเอง มันทั้งมีสเน่ห์ น่าสนใจ และน่าจะไปได้ไกลระดับโลกเลย งานวันนี้ทำให้ผมเชื่อว่าโลกของดนตรีไม่มีขอบเขตอีกแล้ว”

โหยงหมั่ว (Yoov Muas)’ ศิลปินป๊อปชาวม้ง

“เพลงของผมเป็นภาษาม้งล้วน ๆ ตอนแรกก็กังวลว่าพอแปลเป็นภาษาไทยเพื่อร้องด้วยกันจะยากหรือเปล่า เพราะภาษาม้งค่อนข้างยาว เมื่อแปลไทยแล้วจะสั้น แต่น้อง ๆ วง Proud ก็ทำได้ดีมาก”

ในเพลงท่อนหนึ่งของผม ในภาษาม้งมีความหมายประมาณว่า ‘กฎหมายของม้งห้ามให้เรารักกัน’ เพราะชาวเผ่าม้งมีกฎว่าถ้าแซ่ (นามสกุล) เดียวกัน ห้ามแต่งงานกัน เหมือนเป็นรักต้องห้าม แต่พอแปลเป็นภาษาไทยแล้วค่อนข้างยาก แต่น้อง ๆ วง Proud แปลออกมาว่า ‘ชะตาลิขิตจากฟ้าห้ามให้เรารักกัน’ ผมว่ามันไพเราะและตรงตามความหมายมาก ๆ จนเชื่อว่าอุปสรรคทางภาษาไม่ใช่เรื่องยากเลย แต่ปรับจูนกันได้

“งานวันนี้มันทำให้ผมประทับใจมากว่า ภาษาม้งของเราได้ถูกถ่ายทอดและแปลออกมาเป็นภาษาไทย ด้วยนักร้องชื่อดังรุ่นใหม่ที่ร้องเพลงของเรากลางสยามสแควร์ ที่ ๆ ผมเชื่อว่า คนเดินผ่านไปมาจะคงแทบไม่มีใครเคยได้ยินภาษาม้งด้วยซ้ำ แต่วันนี้ ภาษาม้งของเรามาอยู่ใจกลางเมืองแล้ว”

Proud (พราว) วง cover รุ่นใหม่

“ที่ผ่านมาเราเคยรู้จักชาติพันธุ์ม้งแค่ในแบบเรียน หรือเห็นภาพนักท่องเที่ยวใส่ชุดม้งในโซเชียลมีเดีย แต่เราไม่เคยรู้จักวัฒนธรรมหรือภาษาเขามาก่อนเลย 

“พอรู้ว่าต้องมาร่วมงานกับ ‘โหยงหมั่ว (Yoov Muas)’ ศิลปินป๊อปชาวม้ง ก็กังวลเหมือนกัน เพราะเรารู้สึกห่างกับเขามาก ไม่รู้ว่าจะสื่อสารกับเขายังไง แต่จริง ๆ แล้วไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย 

“พี่ ‘โหยงหมั่ว’ เป็นนักร้องน่ารักมาก เขาทันสมัย และใช้ภาษาไทยได้ดีมาก เขาคอยแปลภาษาม้งให้เราเข้าใจ มันทำให้ลดความกังวลใจไปได้มากแม้จะไม่เคยรู้จักภาษาม้งมาก่อนเลย

“เราพบว่า ภาษาม้ง เป็นภาษาที่เพราะ มีความหมายลึกซึ้ง และบางคำแปลไม่ได้ในภาษาไทย พอรู้ความหมายแล้ว มันยิ่งทำให้เราอินกับเพลงเขามากขึ้น ว่ามันสวยงามเพียงใด

“การร่วมงานครั้งนี้ทำให้เรารู้ว่า แม้เราจะต่างภาษา ต่างวัฒนธรรมกัน แต่นี่ไม่ได้เป็นอุปสรรค พวกเราพยายามทำความเข้าใจกันและกัน เชื่อมกันด้วยความรู้สึกผ่านท่วงทำนองเพลง และนี่ทำให้เราเชื่อว่า ‘ดนตรี’ คือภาษาสากล

คณะพรสวรรค์ รองเง็งเกาะสิเหร่ จ.ภูเก็ต

พวกเราคือชาวเลที่เป็นชนกลุ่มน้อยอุรักลาโวยจ น้อยคนที่จะรู้จักพวกเรา หรือภาษาที่เราใช้ แต่วันนี้เราดีใจมากที่ได้นำ รองเง็งพื้นบ้านมาแสดงที่เมืองหลวง เราเชื่อว่าคงไม่ค่อยมีใครเข้าใจภาษามาลายูที่เราร้องออกไปเท่าไหร่ แต่อย่างน้อย คนเดินผ่านไปผ่านมาก็คงสะดุดหูบ้าง เราอยากให้คนกรุงเทพฯ ได้ยินเสียงเพลงของพวกเรา ให้รู้ว่าในประเทศนี้ยังมีพวกเราชนกลุ่มน้อยอุรักลาโวยจอยู่นะ

“ครั้งนี้ เราได้เล่นร่วมกับวงออเคสตร้า ตอนแรกกังวลใจมากว่าจะเข้ากันได้ไหม เพราะเขาเป็นดนตรีฝรั่ง ส่วนเราคือดนตรีพื้นบ้าน แต่พอได้ซ้อมกัน ได้จูนดนตรีกัน การปรับจูนและพูดคุยกันมันทำให้เราเล่นด้วยกันได้โดยที่เราไม่เสียอัตลักษณ์ความเป็นเพลงพื้นบ้านไปเลย และมันทำให้สายตาเรามองเพลงสากลเปลี่ยนไปเลย จากที่เป็นเรื่องไกลตัว ตอนนี้กลายเป็นสิ่งแปลกใหม่และใกล้ตัวมากกว่าที่คิด”

Queen on Street  หรือ เฟี้ยท ศิลปินรุ่นใหม่สายสตรีท วัย 14 ปี

เจ้าของฉายา ราชินีแห่งท้องถนนภูเก็ต

เราเล่นดนตรีแนวป็อปร็อกมาตั้งแต่เด็ก ตอนนี้จะเล่นคู่กับคุณพ่อประจำที่ถนนบางลา ป่าตอง จ.ภูเก็ต แต่กลับไม่เคยได้ยินดนตรีพื้นบ้านอย่าง ’รองเง็ง’ มาก่อนเลยทั้งที่อยู่ภูเก็ตเหมือนกัน

ตอนลองฟังเพลงเขาครั้งแรก รู้สึกแปลกหูมาก เพราะเราไม่เคยได้ยินการร้องเพลงภาษามาลายูมาก่อน แต่ถึงแม้จะแปลไม่ออก แต่เราสัมผัสได้ถึงเสน่ห์ในภาษาถิ่นที่มีเอกลักษณ์สูงมากจริง ๆ 

“พอถึงวันที่ต้องมาเล่นดนตรีร่วมกับ ‘คณะรองเง็ง’ ความกังวลใจทั้งหมดของเราหายไปเลย พวกพี่เขาน่ารักมาก และดนตรีป็อปร็อกของเรามันก็ผสมผสานเข้ากันได้กับดนตรีไทยได้ง่ายอย่างเหลือเชื่อ

มันสนุก ท้าทาย และช่วยเปิดโลกให้เราว่า ในโลกใบนี้มันยังมีเสียงอีกหลายแบบในโลก และยังมีดนตรีอีกมากมายที่เรายังไม่เคยได้ยิน

ถ้าปีหน้ามีโอกาส ขอมาใหม่แน่นอน เพราะวันนี้เราเชื่อแล้วว่า โลกของดนตรีไม่มีคำว่าเป็นไปไม่ได้

วงดาราอัง 

อ.ฝาง จังหวัดเชียงใหม่

“ปกติเราจะเล่นดนตรีกันในชุมชน ไม่ค่อยมีคนรู้จักดนตรีดาราอังของเผ่าเราเท่าไหร่ คนจะมาเห็นก็ตามงานเทศกาลเท่านั้น แต่ครั้งนี้ดนตรีพื้นบ้านของเราได้เล่นคู่กับวงออเคสตร้า เป็นสิ่งที่เราภูมิใจมากที่ได้มาเล่นกับวงดนตรีสากลที่ใหญ่ขนาดนี้ มันทำให้รู้สึกเท่าเทียม”

ตอนแรกรู้สึกท้าทายมาก คิดว่าเราไม่น่าจะเล่นด้วยได้ เพราะเขาคือเครื่องดนตรีฝรั่ง ส่วนเราเป็นดนตรีพื้นเมือง แต่พอมาเล่นด้วยกันจริง ๆ เขาเก่งมากที่เล่นเพลงของเรา ต่อโน๊ตตามเราได้หมดเลย ยิ่งรู้สึกภูมิใจและดีใจเข้าไปอีก

ผมเล่นดนตรีในวงดาราอังมา 15 ปีแล้ว ทุกครั้งที่ได้เชิญไปออกงานเป็นความภูมิใจเสมอ และไม่ได้เกิดแค่กับคนเล่นดนตรีอย่างเรานะ แต่เป็นพี่น้องชนเผ่าในชุมชนด้วย พอพวกเขารู้ว่าจะมาออกงานคู่กับวงดนตรีสากลที่กรุงเทพฯ ในงานใหญ่ขนาดนี้ พวกเราก็ได้รับกำลังใจจากคนทั้งหมู่บ้านเลย ตอนนี้คนทางบ้านก็ติดตามดูอยู่

“เพลงวงดาราอังดั้งเดิมจะเกี่ยวกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม การแต่งกาย และภาษา โดยใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้านอย่าง ฉาบ กลอง และดิ่ง ตอนนี้เราแต่งเพลงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยปรับเนื้อหาให้เข้ากับคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่นิทานน่าเบื่อเหมือนแต่ก่อน เราอยากให้เด็กรุ่นใหม่อยากเข้ามาสืบทอดมากขึ้นจะได้ไม่สูญหายไป เพราะนี่คือความภูมิใจของพวกเราจริง ๆ”

TU Symphony Orchestra, TUSO 

วงดุริยางค์สากลแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ตอนที่แม่หลวงอามีมะ ร้องเพลงขึ้นมา มันเพราะมากจนเราขนลุก เราไม่เคยได้ยินเสียงหรือท่วงทำนองแบบนี้มาก่อน ยิ่งพอได้ผสานเสียงร้องและเครื่องดนตรีพื้นบ้านลีซูเข้ากับออเคสตร้า มันยิ่งไพเราะและเป็นธรรมชาติ มันยิ่งทำให้เรารู้ว่า เพลงคือภาษากล ไม่ว่าจะเป็นดนตรีพื้นบ้านหรือออเคสตร้าก็ต่างมีเอกลักษณ์ น่าดึงดูดคนละแบบ

“เราคุ้นเคยแต่กับการเล่นในวงดุริยางค์ที่เป็นดนตรีวงใหญ่ แต่พอมาร่วมเล่นกับวงลีซูวันนี้แล้ว มันให้ความรู้สึกเหมือนเรากำลังเล่นดนตรีกันอยู่ในบ้านกับครอบครัวเล็ก ๆ ที่อบอุ่น ที่มีเรื่องเล่า วิถีชีวิต”

“พวกเราเป็นเด็กเมือง รู้จักชนเผ่าลีซูก็แต่ชื่อ แต่เจอพ่อหลวง-แม่หลวงแล้ว พวกเขาเป็นกันเองมาก และยิ่งได้มาเห็นวัฒนธรรมที่ไม่เคยเห็นมาก่อนผ่านบทเพลง มันทำให้อยากรู้จักเขามากไปกว่านี้อีก ตอนนี้อยากไปเที่ยวบ้านเขาแล้ว”

วงดนตรีพื้นเมืองชนเผ่าลีซู 

แม่หลวงอาหมี่ และ พ่อหลวงอาหลู่ แห่งบ้านขุนแจ๋ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่

พวกเราไม่ใช่นักดนตรีมืออาชีพ เราฟังดนตรีไม่ออก ไม่รู้จักตัวโน๊ต ได้แต่เล่นไปถามวิถีชนเผ่า และไม่ค่อยได้มากรุงเทพฯด้วยซ้ำ

แต่งานนี้ เขาให้เรามาเล่นกับวงดนตรีสากล ถึงสำเนียงดนตรีไม่คุ้นเลย แต่ดีใจมากที่เสียงเล็ก ๆ ของพวกเรามันดังขึ้นมาแล้ว

“น้อง ๆ วง TUSO เขาปรับตัวเข้าหาเรามาก มันรู้สึกอบอุ่น อิ่มเอมใจ เหมือนได้ร้องรำ เล่นดนตรีกับลูกหลาน ถ้าปีหน้ายังมาไหว จะมาอีกแน่นอน”

Jayrun x Sir Poppa 

แร็พเปอร์แห่งยุค

ก่อนหน้านี้ พวกเราไม่เคยฟังภาษาปกาเกอะญอมาก่อนเลย ตอนซ้อมพยายามถาม อ.ชิ ตลอดว่าคำไหนแปลว่าอะไร แต่พอมาเล่นจริงแล้ว เรากลับข้ามเรื่องความหมายของภาษาไปเลย เพราะเสียงเพลงของเขามันมีเสน่ห์ น่ารัก ดึงเราให้เข้าไปสู่บรรยากาศและความรู้สึกมากกว่า

“ถึงภาษาเราจะต่างกัน แต่ท่วงทำนองที่ อ.ชิร้องออกมา มันคล้ายท่อนแร็ปอยู่มาก พอมาเล่นด้วยกัน เพลงมันก็ไปด้วยกันได้อย่างไม่น่าเชื่อ มันเหมือนเราคุยกันด้วยภาษาดนตรี และไม่มีกำแพงทางภาษากั้นอีกต่อไปแล้ว จนเกิดเป็นการสร้างดนตรีรูปแบบใหม่ ๆ ออกมาได้”

จากเดิมที่เราไม่เคยรู้เรื่องชาติพันธุ์เลย แต่พอมาเจอ อ.ชิ มาเล่นดนตรีร่วมกับเขา ฟังเพลงของเขา มันทำให้เราคุ้นเคยมากขึ้น ตอนนี้รู้สึกว่าอยากไปเที่ยว ไปเล่นดนตรีที่บ้านเขาเลย

ตอนหลับตาฟังเพลงของเขาแล้ว รู้สึกเหมือนนั่งอยู่บนดอย อากาศเย็น 8 องศาเซลเซียส แบบนั้นเลย ถึงแปลความหมายไม่ออก แต่เรารู้สึกได้ถึง vibe แบบธรรมชาติ มันสวยงาม ผ่อนคลาย และมีเอกลักษณ์มาก ไม่เคยเห็นจากที่ไหนมาก่อนเลย

Author

Alternative Text
AUTHOR

ปุณยอาภา ศรีคิรินทร์

Transmedia Journalist

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

อภิวรรณ หวังเจริญไพศาล