ปักหมุด สถาปนาพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมชาวเลแห่งแรก

ทวงสัญญารัฐบาล เร่งผลักดันร่างกม.คุ้มครองชาติพันธุ์ ผวจ.พังงา ยัน บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ สร้างรูปธรรมพื้นที่ต้นแบบคุ้มครองทางวัฒนธรรมชาวเล ชุมชนทับตะวัน-บ้านไร่ สร้างความเข้มแข็งชุมชนชาติพันธุ์มีส่วนร่วมการพัฒนาด้านต่าง ๆ

วันนี้ (26 พ.ย.65) ในงานรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล ครั้งที่ 12 “พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์กับความยั่งยืนในการพัฒนา (SDG)  ที่จัดขึ้น ณ ชุมชนชาวเลทับตะวัน-บนไร่ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา  โดยเครือข่ายชาวเลอันดามัน (มอแกน มอแกลน อูรักลาโว้ย) มูลนิธิชุมชนไท ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ( องค์การมหาชน ) และภาคีเครือข่าย  

โดยไฮไลต์สำคัญของการจัดกิจกรรมในวันนี้ เนื่อง หาญทะเล ผู้นำจิตวิญญานชาวเล ได้ทำพิธีบอกกล่าวศาลพ่อตาสามพัน ซึ่งเป็นบรรพชนสูงสุดที่ชาวเลมอแกลนให้ความเคารพ จากนั้นบูชาเสาจิตวิญญาณโดยการตั้งหมากพลู เครื่องเซ่นที่โคนเสาหน่ามะ แล้วนำกัลปังหาปักที่เสาหมุด โดยตามความเชื่อ กัลปังหาเป็นสิ่งที่จะคุ้มครองสิ่งชั่วร้าย ชาวเลได้นำ ข้าว แร่ดีบุก หอย ต้นไม้ ดอกไม้ วางลง เพื่อสื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ที่ชาวเลอยากให้มีตลอดไป 

จากนั้น ​เอกรัตน์ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา, ศศิฑอณร์ สุวรรณมณี  หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม, นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร องค์การมหาชน, เรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ, ตัวแทนหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และ ลาภ หาญทะเล ตัวแทนเครือข่ายชาวเล ร่วมกันปักหมุด ลงนามประกาศสถาปนาพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมชาวเลแห่งแรกชุมชนทับตะวัน-บนไร่ หน้าศูนย์วัฒนธรรมบ้านทับตะวัน ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา สะท้อนความร่วมมือของการผลักดันการคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและการเป็นหุ้นส่วนของการร่วมพัฒนาประเทศของชาวเล

อรวรรณ หาญทะเล  เป็นตัวแทนชุมชนชาวเลบ้านทับตะวัน– บนไร่  อ่านประกาศสถาปนาเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลทับตะวัน-บนไร่  พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ลำดับที่ 14 ซึ่งถือเป็นแห่งแรกของชาวเล ว่า ในฐานะชุมชนชาติพันธุ์ดั้งเดิม ผู้ร่วมสร้างแผ่นดินสยาม และมีเจตนารมณ์มุ่งมั่นจะร่วมเป็นหุ้นส่วนพัฒนาประเทศไทย ขอประกาศแสดงตนในฐานะชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 70 ที่รัฐพึงต้องส่งเสริมและให้ความคุ้มครองให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี  และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจอย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน และในฐานะชาวเล พวกเราชาวมอแกลนบ้านทับตะวัน – บนไร่ ยังได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิต ภายใต้แนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553

พวกเรามีความพร้อมและยึดมั่นในหลัก 3 ประการของเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ คือ ความภาคภูมิใจใน  อัตลักษณ์ความเป็นชาติพันธุ์และเชื่อมั่นในวิถีวัฒนธรรมมอแกลน ตามหลัก “สิทธิทางวัฒนธรรม”  ยืนยัน “ความเป็นชุมชนดั้งเดิม” ที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินบรรพบุรุษชาวมอแกลนบ้านทับตะวัน – บนไร่ มาอย่างต่อเนื่อง ตามหลัก “สิทธิชุมชนท้องถิ่น” และยึดหลักการบริหารจัดการพื้นที่แบบมีส่วนร่วมเพื่อประโยชน์ใช้และรักษาทรัพยากรอย่างสมดุลและยั่งยืน

“พวกเราขอประกาศยืนยันกับบรรพบุรุษและผู้มีเกียรติทุกท่าน ณ ที่นี่ว่า  พื้นที่แห่งนี้ เป็นดินแดนแห่งจิตวิญญาณของชุมชนชาวมอแกลนบ้านทับตะวัน – บนไร่ ที่บรรพบุรุษของเราได้ร่วมกันปกป้องดูแลรักษามาเป็นเวลาช้านาน กว่า 13 ชั่วอายุคน เราขอยืนยันว่าจะสืบทอดมรดกวัฒนธรรม ‘ความเป็นมอแกลน’ และรักษาแผ่นดินมาตุภูมิแห่งนี้ไว้เป็นสมบัติของลูกหลานชาวมอแกลนบ้านทับตะวัน – บนไร่ สืบไป” 

อรวรรณ หาญทะเล ตัวแทนชุมชนชาวเลทับตะวัน-บนไร่

ในคำประกาศ ยังระบุว่า ชาวชุมชนมอแกลนบ้านทับตะวัน – บนไร่ ได้แสดงให้เห็นว่า ดินแดนที่ร่วมกันปกป้องแห่งนี้ เป็นดินแดน “ศักดิ์สิทธิ์” ที่ทำให้พวกเรามี “ศักดิ์ศรี” ใน “ความเป็นมอแกลน” มี “ศักยภาพ” เป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน จึงขอประกาศให้ชุมชนชาวมอแกลนบ้านทับตะวัน – บนไร่ เป็น “เขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ลำดับที่ 14” ตามมติคณะรัฐมนตรี 2 มิถุนายน 2553 และขอให้สักขีพยานที่อยู่พร้อมกัน ณ ที่นี้ร่วมลงนามรับรองคำประกาศนี้ เพื่อเป็นประจักษ์พยานที่จะคุ้มครองสิทธิของชุมชนชาวมอแกลนบ้านทับตะวัน – บนไร่สืบไป

สร้างรูปธรรมพื้นที่ต้นแบบคุ้มครองทางวัฒนธรรมชาวเล 

เอกรัตน์ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา กล่าวว่า การขับเคลื่อนเรื่องนี้ มี 2 ระดับ คือระดับชาติและระดับพื้นที่ โดนระดับชาติเป็นไปตามไปตามมติ ครม. 2 มิถุนายน  2553 แนวนโยบายคุ้มครองวิถีชีวิตชาวเล ซึ่งระดับพื้นที่ต้องบูรณาการร่วมกัน

“เพราะว่าเรื่องการดูแลกลุ่มชาติพันธุ์มีความเกี่ยวโยงหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย เรื่องที่ทำกิน พื้นที่จิตวิญญาน วิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ โดยระดับจังหวัดเรามีวัฒนธรรมจังหวัด ทสจ. ทรัพยากรทะเลชายฝั่งพมจ. อปท. ตรงนี้ต้องมีการประชุมกัน ซึ่งได้จัดการประชุมกันอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ต้องดูแลทุกเรื่องต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน ต้องคอยติดตาม และลงมาให้กำลังใจบ่อย ๆ มีการส่งตรวจการบ้านความคืบหน้ากันเรื่อย ๆ“ 

เอกรัตน์ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา

ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา กล่าวเพิ่มเติมว่า หากพื้นที่มีความพร้อมในการจัดทำโครงการในลักษณะนี้เป็นยุทธศาสตร์จังหวัดก็สามารถนำเข้าสู่แผนพัฒนาจังหวัดได้เลย โดยสามารถอนุมัติงบประมาณมาดำเนินการได้ ซึ่งพื้นที่ทับตะวันถือเป็นพื้นที่นำร่อง หากพื้นที่อื่น ๆ เช่นชาวเลชุมชนพระทอง ชาวเลเกาะสุรินทร์มีความพร้อม ก็สามารถดำเนินการผลักดันต่อไปได้ 

ทวงสัญญารัฐบาล เร่งผลักดันร่างกม.คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ 

นฤมล อรุโณทัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กล่าวว่า ชุมชนชาวเลมีเครือข่ายที่กว้างขวาง และองค์กรเราเป็นสายวิชาการที่พร้อมส่งเสริมการเรียนรู้ของชุมชนและการนิยามความรู้ที่มีอยู่ในชุมชนที่เกิดคุณค่าและความรู้ โดยคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ทำวิจัยด้านภาษาของมอแกลน รวมถึงวิถีชีวิตวัฒนธรรมชาวเล ชาวเลเข้าใจ รู้คุณค่าและศักดิ์ศรีของตนเอง   ทั้งนี้ ปัญหาต่าง ๆ ของชาวเลถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งในระดับนโยบายและพื้นที่ รวมถึงการถูกลิดรอนสิทธิ  ดังนั้นสิ่งสำคัญควรตั้งคำถามไปยังระดับนโยบายที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องและตรงจุดที่สุด โดยการไม่ออกนโยบายมากดทับชาวเลและกลุ่มชาติพันธุ์อีก 

ซ้าย : นฤมล อรุโณทัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขวา : เตือนใจ ดีเทศน์ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

เตือนใจ ดีเทศน์ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เสนอให้มีการเชิญภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง กระทรวงท่องเที่ยว สมาคมท่องเที่ยว ซึ่งในนโยบายระดับโลกได้วางไว้เกี่ยวกับเรื่อง ธุรกิจกับสิทธิมนุษชน เพื่อให้เกิดการเจรจาและแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด และเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่หลายฝ่ายร่วมกันผลักดันและรัฐบาลควรเร่งผลักดันกลไกดังกล่าว ที่แสดงให้เห็นถึงทิศทางการแก้ปัญหา และสิทธิของกลุ่มชาติพันธ์ุ ทั้งด้านที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน และความเสมอภาคไม่ถูกเลือกปฏิบัติ  

นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ชุมชนชาวเลทับตะวัน-บนไร่ เป็นชุมชนที่มีความพร้อมของการเป็นพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมมากแห่งหนึ่ง แม้จะมีปัญหาความท้าทายข้อจำกัดโดยเฉพาะเรื่องปัญหาที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย แต่พวกเขาพยายามต่อสู้ ดึงศักยภาพความเข้มแข็งของเครือข่ายเจรจาต่อรองให้เกิดการประนีประนอมในพื้นที่ และยกศักยภาพของวิถีชีวิตวัฒนธรรม บนหลักภูมินิเวศ ของการใช้ชีวิตสอดคล้องกับธรรมชาติดูแลจัดการอย่างยั่งยืน สร้างเศรษฐกิจชุมชน ทำกองทุนคลังอาหารเพื่อรับมือภัยพิบัติวิกฤตต่าง ๆ แต่พวกเขาจะมีความเข้มแข็งมากขึ้น หากได้รับการหนุนเสริมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ภายใต้พื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรม และไม่ใช่แค่การประกาศจะต้องมีการติดตามความคืบหน้า หรือการส่งการบ้านการดำเนินงานตรงนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ยังเห็นว่า กลไกสำคัญที่หนุนเสริมให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้รับการคุ้มครองทางวิถีวัฒนธรรมและการเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ คือรัฐบาลต้องเร่งผลักดันร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิและวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ 

“ยังคงคาดหวังกับห้วงเวลาที่เหลือของรัฐบาล เพราะรัฐบาลได้ประกาศยุทศาสตร์และนโยบายที่จะส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์เอาไว้ ดังนั้นตรงนี้จึงเป็นเหมือนเครดิตและคำสัญญาที่รัฐบาลจะดำเนินการ ซึ่งหวังว่าการผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวจะเกิดขึ้นในรัฐบาลนี้ เพื่อจะเป็นของขวัญให้กับประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีอยู่กว่า 9 ล้านคนทั่วประเทศ“ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ