แม้ว่าใคร ๆ จะมองว่าอาชีพไรเดอร์ หรือแรงงานแพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่ขนส่งสินค้าจากออเดอร์ออนไลน์ เป็นอาชีพอิสระ ที่ไม่มีเจ้านาย แต่ที่จริงแล้วเงื่อนไขการทำงานจากนโยบายของแพลตฟอร์มเอง เป็นตัวบังคับวิถีการทำงานของไรเดอร์อย่างปฏิเสธไม่ได้ ทั้งยังต้องเผชิญความเสี่ยงมากมาย จนทำให้เกิดการเรียกร้องความเป็นธรรมของสหภาพไรเดอร์ในพื้นที่ 20 จังหวัดทั่วประเทศ
ในระยะแรก ๆ ไรเดอร์หน้าใหม่จะได้รับการจัดสรรงานและค่าตอบแทนสูง จนหลายคนมองว่าเป็นทางเลือกอาชีพใหม่ การสำรวจของ ศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า 87% ของไรเดอร์ในกลุ่มตัวอย่าง เลือกทำอาชีพนี้เป็นงานประจำ เท่ากับสถานะของงานไม่ใช่แค่อาชีพเสริมอีกต่อไป
หากดูจากรายได้เฉลี่ยของกลุ่มตัวอย่างที่พบ ส่วนใหญ่อยู่ที่ 10,001-20,000 บาท สูงพอ ๆ กับเงินเดือนพนักงานประจำในหลายตำแหน่ง แต่ก็พบว่าไรเดอร์ส่วนใหญ่ทำงาน 41-60 ชั่วโมง/สัปดาห์ ซึ่งเกินเวลาจากมาตรฐานการทำงานทั่วไป
ขณะที่นโยบายของหลายบริษัท ยังปรับลดราคาค่ารอบของไรเดอร์ ลดลง ราว 10-30% ทั่วประเทศ เท่ากับว่าหากจะได้เงินเท่าเดิมหรือสูงขึ้น ก็ต้องทำงานมากขึ้นอีก
การวิ่งรอบเพื่อสะสมแต้มและค่าตอบแทน ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไรเดอร์ต้องเผชิญปัญหาหน้างานมากมาย ประสบการณ์ทำงานของกลุ่มตัวอย่างพบว่า 39% เจอปัญหาแอปพลิเคชันค้าง ทำให้เสียงาน 28% ติดต่อลูกค้าไม่ได้ 53% รออาหารนานเกิน 40 นาที ซึ่งมีผลทำให้ไรเดอร์ถูกพิจารณาความพึงพอใจ และส่งผลต่อรายได้
การทำงานที่เร่งรีบบนท้องถนน ต้องเผชิญแดด ลม ฝน เพื่อส่งของให้ลูกค้าในเวลาอันจำกัด ทำให้ไรเดอร์ 33% เจ็บป่วยจากการทำงาน และอีก 39% ประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน ด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยังทำให้ไรเดอร์ทุกคนเสี่ยงติดโควิด-19 เพราะต้องปฏิสัมพันธ์กับร้านค้าและลูกค้า โดยที่ทั้งไรเดอร์ทุกคนไม่มีสวัสดิการหลักประกันสุขภาพจากบริษัท ส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้รับวัคซีน
นอกจากนี้ยังพบปัญหาที่เกิดขึ้นกับไรเดอร์ในด้านอื่น ๆ เช่น ปัญหาระบบ GPS ในแอปพลิเคชัน ไม่ตรงกับกูเกิลแมพ ระบบแอดมินร้องเรียนของแอปพลิเคชันทำงานไม่มีประสิทธิภาพ และยังมีการปิดกั้นการรับงานอย่างไม่สมเหตุสมผล ทำให้ไรเดอร์จำนวนมาก ร่วมกับ สหภาพไรเดอร์ เดินหน้าชุมนุมเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในหลายจังหวัดทั่วประเทศรวมกว่า 20 จังหวัด เพื่อกดดันให้บริษัทแพลตฟอร์มเห็นความสำคัญของสวัสดิการและสวัสดิภาพแรงงาน
พร้อมกันนี้ ทั้งไรเดอร์และแรงงานแพลตฟอร์มอีกหลายอาชีพ พร้อมตัวแทนสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ยื่นข้อเรียกร้องดังกล่าวถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในเดือนมิถุนายน 2564 คือ
- ยกเลิกการปรับลดค่ารอบ คืนราคาเดิม
- พิจารณาการรับไรเดอร์หน้าใหม่
- ให้สิทธิ์การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ฟรี
- สิทธิการได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพสูง
- ให้เงินเยียวยาแรงงานแพลตฟอร์มสำหรับช่วงวิกฤตโรคระบาด
- ร่างกฎหมายใหม่เพื่อส่งเสริมสวัสดิการแรงงานแพลตฟอร์ม
แต่ข้อเรียกร้องทั้งหมดยังไม่ถูกนำมาแก้ไข และกลุ่มไรเดอร์ยังคงเดินหน้าเคลื่อนไหวต่อเนื่องในหลายรูปแบบ ทั้งกิจกรรมบนท้องถนน และในสื่อสังคมออนไลน์