ชีวิตคนมีหนี้! กับดักวงจรความยากจน

ปี 2565 รัฐบาลประกาศให้เป็น “ปีแห่งการแก้หนี้ครัวเรือน” โดยตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 89.3 เมื่อเทียบกับต่างประเทศ โดยไทยมีระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงถึงอันดับที่ 12 จาก 70 ประเทศทั่วโลกและสูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชียรองจากประเทศเกาหลีใต้ แต่สำหรับชีวิตคนไทยที่เป็นหนี้ เวลานี้เปรียบเหมือนกับดักหนี้ที่ยากจะหลุดออกจากวงจรได้ง่าย ๆ

“Policy Forum สู่ทางออกแก้หนี้แก้จนไทย” เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ที่ผ่านมา มีทั้งนักวิชาการ นักวิจัย ภาครัฐ และภาคประชาสังคม รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เปิดพื้นที่ระดมความคิดเห็น รวมถึงบทเรียนจากการปฏิบัติการของชุมชน เพื่อต่อยอดหาทางออกเชิงนโยบาย พบว่า ปัญหาหนี้สินคือเรื่องสำคัญที่ทำให้ประชาชนอยู่ในวังวนของความจน การพูดคุยในช่วง Roundtable Discussion  สู่ปฏิบัติการแก้หนี้ แก้จนไทย ได้รับความร่วมมือจากกรณีศึกษาปัญหาหนี้ในแบบต่าง ๆ มาสะท้อนมุมมองต่อการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายที่ตรงจุด

หนี้ 1

กรณีศึกษาปัญหาหนี้เกษตรกร

รสสุคนธ์ งามจั่นศรี เกษตรกร อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา อายุ 54 ปี มีนาข้าวและบ้านอยู่ในพื้นที่รับน้ำในทุ่งบางบาล ต้องเผชิญปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งเป็นประจำ เมื่อปี 2564 ก็ถูกน้ำท่วม รวมถึงปี 2565 น้ำท่วมหนัก ทำให้บ้านและพืชสวน เช่น กล้วย ตะไคร้ พืชผักสวนครัว พืชยืนต้นบางส่วน เสียหายทั้งหมด หลังจากกู้ยืมเงินเพิ่มมาอีก 50,000 บาท

“เริ่มก่อหนี้มาตั้งแต่ปี 2552 จากที่เคยเป็นหนี้อยู่ประมาณห้าหมื่นบาท แต่ปัจจุบันหนี้ไม่เคยลดลง รวม ๆ แล้วมีหนี้สินมากกว่าห้าแสนบาท โดยเป็นหนี้ ธ.ก.ส. ห้าแสนห้า หนี้สะสมที่นำของไปจำนำกว่าสองแสนบาท หนี้กองทุนหมู่บ้านกว่าห้าหมื่นบาท และหนี้สินจากการหยิบยืมคนอื่นอีกกว่าห้าหมื่นบาท”

สาเหตุที่ทำให้เป็นหนี้เพิ่มสูงขึ้น มาจากผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย จากภาวะความเสี่ยงภัยพิบัติด้านน้ำเกือบทุกปีในพื้นที่รับน้ำ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บางปีต้องพบกับแมลงศัตรูพืชรบกวน ขณะที่ต้นทุนการผลิตก็สูง จากที่มาของค่าปุ๋ยค่ายามีราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่นโยบายการชำระหนี้กับธนาคารก็ไม่เอื้อต่อการปลดหนี้ได้ทั้งหมด เช่น การมีนโยบายพักต้นแต่ไม่พักดอก จึงทำให้เกิดการหมุนเงินจากการหยิบยืม การกู้หนี้ก้อนเดิมเพิ่มวงเงิน หรือจำนำทอง เพื่อเอาเงินไปปิดดอกให้กับธนาคาร นอกจากนี้เธอยังสะท้อนว่า หากมีนโยบายช่วยเหลือพักต้นพักดอกก็จะทำให้มีเวลาหาเงินลดหนี้ได้เร็ว ซึ่งจะทำให้ลืมตาอ้าปากได้

ปัจจุบันได้เข้าโครงการพักชำระหนี้ ธ.ก.ส. ซึ่งจะพักได้แค่เงินต้น และเข้าร่วมโครงการประกันรายได้ผลผลิต หากไม่ใช่ฤดูทำนา จะทำอาชีพรับจ้างทั่วไป ขณะที่ทุกวันนี้ยังต้องหมุนเงินเพื่อจ่ายดอกเบี้ยที่เดินทุกวัน

สำหรับคำแนะนำของ สมจิต คงทน ผู้อำนวยการมูลนิธิชีวิตไท หลังรับฟังกรณีปัญหาหนี้สินของเกษตรกรดังกล่าว มองว่าปัจจัยสำคัญของการเกิดหนี้ซ้ำซากคือการเป็นพื้นที่รับน้ำ เกษตรกรในพื้นที่ต้องรวมกลุ่มกันแล้วดูว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือใคร หากเป็นกรมชลประทานหรือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องดูมาตรการแก้ไขและเยียวยาปัญหาแบบพื้นที่เฉพาะ รวมถึงดูศักยภาพของเกษตรกรแต่ละรายว่าสามารถส่งเสริมอาชีพอื่น ๆ อย่างไรได้บ้างเพื่อเพิ่มรายได้ นอกจากนี้ ยังต้องนำหนี้แต่ละก้อนมาดูรายละเอียดว่าส่วนไหนคือก้อนที่เร่งด่วนที่สุด ขณะที่เจ้าหนี้อย่างสถาบันการเงินต่าง ๆควรปรับเงื่อนไขให้สอดคล้องกับเกษตรกร เช่น การชำระหนี้สินให้ตรงกับฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิต

ด้าน สุปรียา พิพัฒน์มโนมัย กรรมการธนาคารออมสิน และ ที่ปรึกษา ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) ที่ร่วมรับฟังปัญหาดังกล่าว ระบุว่า แนวทางที่เหมาะสมคือการปรับโครงสร้างหนี้ คือ นำเงินต้นมารวมกันจัดการให้เป็นก้อนเดียว เพราะเมื่อฟังจากรายละเอียดแล้วพบว่า การกู้เงินต่อเนื่องมานานนับสิบปี มีหนี้หลายก้อน เมื่อชำระต้นและดอกเบี้ย เกษตรกรไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นการชำระหนี้ของก้อนไหน วิธีการนี้จะทำให้วางแผนการจัดการทางการเงินได้ว่าความสามารถในการชำระหนี้มีเท่าไหร่ ให้ธนาคารกำหนดความสามารถในการชำระหนี้ได้ตรงตามศักยภาพของลูกหนี้

ส่วน ดร.ขจร ธนะแพสย์ คณะกรรมการแก้หนี้รายย่อยของรัฐบาล ธปท. ระบุว่า สินเชื่อที่ผ่านมา ออกแบบตามใจเจ้าหนี้มากกว่าการมองที่ศักยภาพลูกหนี้ อย่างเกษตรกรรายนี้ พบข้อมูลว่า ภายใน 1 ปี เกษตรกร 1 คน มีเจ้าหนี้หลายราย เช่น ธ.ก.ส. กองทุนหมู่บ้าน หนี้เช่าซื้อ สหกรณ์การเกษตร กองทุนกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี หนี้นอกระบบ ฯลฯ สะท้อนว่าสัญญาการจ่ายหนี้สิน ไม่ได้อยู่ในวิสัยที่เกษตรกรจะจ่ายไหว และส่วนใหญ่เป็นการจ่ายดอกเบี้ยที่ไม่ได้ลดเงินต้น การเรียกเก็บหนี้ลักษณะนี้จะนำมาสู่ “สถานการณ์ตกเขียว” คือ การปล่อยหนี้นอกระบบ เพื่อนำไปโปะหนี้ ดร.ขจร ยังระบุอีกว่า ปัญหาหนี้ไม่ได้เกิดจากพฤติกรรมลูกหนี้เท่านั้น หากกติกาการปล่อยสินเชื่อไม่เป็นธรรม ก็ไม่สามารถแก้หนี้ได้ จึงต้องย้ำกับเจ้าหนี้ด้วยว่า ควรออกแบบสินเชื่อที่อยู่ในวิสัยที่เกษตรกรจะชำระได้


หนี้ 2

กรณีศึกษาปัญหาหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล

พรลภัส หรือ “บอล” พนักงานเอกชนในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บัญชี อายุ 50 ปี เป็นมนุษย์เงินเดือนที่ใช้เงินแบบเดือนชนเดือน มีรายได้เกือบ 50,000 บาท แต่เป็นหนี้สินรวมกับสามีมากกว่า 2 ล้านบาท หนี้สินที่เกิดขึ้นเริ่มต้นจากความต้องการซื้อสังคมที่ดีให้กับลูก ๆ 2 คน ได้เข้าโรงเรียนที่ดี และมีโอกาสดี ๆ ในชีวิต

พรลภัส เล่าว่า หลังจากมีลูก 2 คน อยากให้ได้เข้าโรงเรียนที่ดี แต่เวลาผ่านไปค่าเทอมเพิ่มจาก 20,000 บาท เป็น 60,000 บาท/เทอม ทำให้เธอมีหนี้สินจากการเปิดบัตรเครดิตเพื่อหมุนเงิน โดยยอมรับว่าในช่วงแรกยังจ่ายบัตรเครดิตเต็มจำนวน จากนั้นหนี้สินเริ่มก่อตัวอย่างรวดเร็วเมื่อเธอเลือกชำระค่าบัตรเครดิตขั้นต่ำ และมีบัตรเครดิตมากถึง 7 ใบในเวลาอันรวดเร็ว โดยย้ำว่าการที่เธอมีเครดิต มีเงินเดือน ทำให้เธอกลายเป็นคนที่เข้าถึงสินเชื่อง่าย แต่ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ทัน

“สุดท้าย ตัดสินใจย้ายโรงเรียนลูก ๆ และลดค่าเทอมได้มากกว่า 40,000 บาท แต่ก็ยังมีหนี้สินที่เกิดจากคนในครอบครัว ทำให้ต้องเข้าหาสินเชื่อเพิ่ม และปิดบัตรเครดิตเกือบทั้งหมดด้วยวิธีการจำนองบ้าน ตอนนี้เข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้และสามารถลดดอกเบี้ยได้เกินครึ่ง”

เธอเล่าต่อว่า แต่กว่าจะเข้าโครงการได้ ก็มีเงื่อนไขที่ทำให้หลายคนไม่สามารถเข้าถึงคลินิกแก้หนี้ เช่น การต้องเป็นหนี้เสีย หรือเป็นลูกหนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วัน (NPL) ทำให้บางเคสจำใจยอมเป็นลูกหนี้ผิดนัดชำระ ด้วยคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ว่า “ต้องเบี้ยวหนี้” เพื่อขอเข้าโครงการ ซึ่งตัวแทน ธปท. ที่เข้าร่วมวงเสวนาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่หรือคอล เซ็นเตอร์ ควรให้ข้อมูลที่รอบด้านเพื่อให้ลูกหนี้สามารถประเมินข้อดีและข้อเสียของการเข้าร่วมโครงการฯ ก่อนตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมคลินิกแก้หนี้หรือไม่

ด้าน ดร.ขจร ยกตัวอย่างการปล่อยสินเชื่อที่ต้องคำนึงถึงศักยภาพการจ่ายหนี้ของลูกหนี้ เช่น บัตรเครดิต ที่ลูกหนี้ไม่สามารถจ่ายได้เต็มจำนวน หรือเริ่มจ่ายขั้นต่ำ ก็ควรแปลงหนี้บัตรเครดิต เป็นสินเชื่อที่มีระยะเวลา (Term Loan) เพราะบัตรเครดิต เหมาะสำหรับคนที่สามารถจ่ายได้เต็มจำนวน 100% การจ่ายขั้นต่ำจะเข้าสู่วังวนหนี้สินได้

สอดคล้องกับ ภูมิ วิสิฐนรภัทร จากบริษัท โนบูโร แพลตฟอร์ม จำกัด ที่เห็นด้วยกับการแก้ปัญหาหนี้โดยเริ่มจากเจ้าหนี้และสถาบันการเงินที่ออกแบบสินเชื่ออย่างเป็นธรรม เพราะหนี้สินที่พอกพูนมาจาก 2 ทาง คือ หนี้นอกระบบและหนี้ที่ถูกปล่อยค้างชำระ โดยไม่ว่าจะเลือกทางไหนก็จะจบที่ 3 ทาง คือ “หนี้ในระบบ นอกระบบ และค้างชำระ” สุดท้ายแล้ว กลุ่มนี้ก็จะถูกกันออกจากระบบสถาบันการเงิน


หนี้ 3

กรณีศึกษาปัญหาหนี้นอกระบบ

สงเมือง มูลมาตร เป็นชาว อ.กระนวน จ.ขอนแก่น เธอเป็นแม่ค้าหาบเร่แผงลอย ค้าขายในพื้นที่ที่มีรายได้ไม่แน่นอน เมื่อมีปัญหาด้านการเงิน จึงพยายามหาทางออกด้วยการกู้ยืมเพื่อแก้ปัญหา แต่พบว่าเมื่อกู้สินเชื่อในระบบมักกู้ไม่ได้เพราะรายได้ไม่มั่นคง จึงหันมาพึ่งพาการกู้นอกระบบในยามฉุกเฉิน

“การเป็นหนี้นอกระบบจะไม่มีความสุข น่ากลัวที่สุด เพราะหากหาเงินมาใช้ไม่ทัน มักถูกคนติดตามหนี้ด่าทอ และประจานให้อับอาย ซึ่งมีบางครั้งก็ถูกข่มขู่ด้วยอาวุธ”

สาเหตุหนี้ของสงเมืองมาจากการขายของแต่ละวันรายได้ไม่แน่นอน ประกอบกับมีค่าใช้จ่ายจากการส่งลูกเรียนหนังสือ 2 คน แม้ปัจจุบันลูกจะเรียนจบแล้วทั้งหมด แต่หนี้ไม่ได้ลดลง เนื่องจากยังคงมีค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน  

สำหรับหนี้นอกระบบที่กู้ยืมมา เป็นเงิน 40,000 บาท เป็นการนำโฉนดที่ดินไปจำนอง ดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาท นอกจากนี้ยังมีหนี้จากสินเชื่อส่วนบุคล 100,000 บาท และยังมีหนี้ที่ยืมจากพี่น้องที่รู้จักกัน สิ่งที่กระทบคือตอนนี้เจอปัญหาหนี้สินบางจำนวนเกิดขึ้นจากสัญญาไม่เป็นธรรมจากเจ้าหนี้นอกระบบ ซึ่งเคยถูกยึดที่ดินแล้ว 2 งาน การเป็นหนี้ทำให้สามีเครียดมาก หันไปดื่มสุราเพราะไม่มีทางออก โชคดีที่มีหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือ

ปัจจุบัน เข้าอบรมหาทางแก้หนี้ กับมูลนิธิสุภา วงค์เสนา เพื่อการปฏิรูปสิทธิลูกหนี้ การเพิ่มรายได้เพื่อแก้หนี้ที่ทำอยู่คือพยายามปลูกพืชผักสวนครัวขายหารายได้เสริม นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ยังแนะนำเพิ่มเติมว่าให้จัดสรรเงินบางส่วนไปซื้อสลากออมสิน เพื่อเป็นอีกช่องทางช่วยให้มีเงินออมและได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยอีกด้วย

กรณีนี้ ตัวแทนจากสถาบันการเงินอย่าง ธ.ก.ส. และ ธนาคารออมสิน ระบุว่า ยังเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือตามมาตรการสีฟ้าของ ธปท. หรือการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของลูกหนี้เป็นหลัก และสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ โดยมีการกำหนดเงื่อนไขในการช่วยลดภาระการจ่ายชำระหนี้ของลูกหนี้อย่างเหมาะสม ซึ่งแนวทางนี้ จะมากกว่าการขยายระยะเวลาการชำระหนี้เพียงอย่างเดียว


หนี้ 4

กรณีศึกษาปัญหาหนี้คนจนเมือง

วิมล ถวิลพงษ์ อายุ 53 ปี อาชีพรับจ้างทั่วไปอยู่ในกรุงเทพมหานคร พึ่งพารายได้หลักจากลูกสาวที่ทำงานบริษัท สาเหตุการเกิดหนี้สิน เริ่มต้นช่วงโควิด-19 เพราะรายได้หดหาย งานไม่มี เงินไม่มี ต้องจ่ายค่าอุปโภคบริโภค ซื้อของที่ต้องการ และเติมความฝันของตัวเองด้วยการเช่าที่ดินจากการเคหะแห่งชาติ เพื่อสร้างบ้านของตัวเอง แต่พบปัญหากู้ยืมจาก พอช. ราว 20,000-30,000 บาท มาสร้างบ้าน แต่เงินไม่เพียงพอ จึงไปกู้ยืมนอกระบบ 40,000 บาท และผ่อนรายวันดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 20 ต่อเดือน นอกจากนี้ ยังมีหนี้ธนาคาร หนี้บุตรสาว ฯลฯ

ปัจจุบันเธอทยอยจ่ายหนี้สินจนเกือบจะครบแล้ว แต่ปัญหาใหญ่มากที่สุดของ ไม่มีรายได้ การแก้ปัญหาความจน จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนมากกว่าการแก้ปัญหาหนี้สิน

กรณีนี้ ตัวแทนจาก ธ.ก.ส. และ ธนาคารออมสิน ให้คำแนะนำว่า ควรจัดการหนี้นอกระบบก่อน เพราะดอกเบี้ยสูง แต่เหลือยอดค้างชำระไม่มาก เพียงหมื่นกว่าบาท ส่วนข้อจำกัดที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้เพราะไม่มีอาชีพมั่นคง มีคำแนะนำว่า การที่วิมลสามารถเข้าถึงเงินกู้ตามมาตรการพิเศษในช่วงโควิด-19 และมีประวัติการชำระหนี้ที่ดี จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้วิมลใช้เพื่อเป็นหลักฐานในการเข้าถึงการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้หลังจากนี้

หนี้

ทั้งนี้ กิจกรรม Policy Forum สู่ทางออกการแก้หนี้แก้จนไทย เป็นความร่วมมือของ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.), หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS)


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน

Alternative Text
VISUAL NOTE TAKER

ลลิตา วิจิตอมรวงษ์

เปลี่ยนเนื้อหาเข้าใจยาก ให้เป็นภาพเข้าใจง่าย เจ้าของเพจ Mis.lalita รักธรรมชาติ และชอบฟังเพลง