รับมือหนี้ ช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น

อัตราดอกเบี้ยส่งผลและส่งผ่านต่อระบบเศรษฐกิจ ดอกเบี้ยต่ำเปรียบเสมือนน้ำมันหล่อเลื่อน กระตุ้นให้เกิดการกู้เงิน มีความร่ำรวยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย แย่งกันซื้อจนสินค้าราคาขึ้น และเกิดเป็นภาวะ “เงินเฟ้อ” การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ร้อนแรงจนเกินไป จึงเป็นอันตรายต่อเสถียรภาพทางการเงินในระบบเศรษฐกิจ การปรับขึ้นดอกเบี้ยเปรียบเสมือนการแตะเบรกให้เครื่องยนต์ชะลอตัวลง เพื่อความปลอดภัย 

ในช่วงวิกฤตโควิด-19 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตัดสินใจลดดอกเบี้ยและคงไว้ที่ระดับต่ำเป็นเวลานานกว่า 2 ปี เพื่อประคับประคองให้เศรษฐกิจค่อย ๆ ฟื้นตัว จนเมื่อสถานการณ์การระบาดเริ่มดีขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว เป็นปัจจัยข้อแรกที่ทำให้ กนง. เห็นว่ามีความจำเป็นต้องขึ้นปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย  

ปี 2566 กนง. ปรับดอกเบี้ยนโยบายมาแล้วถึง 4 ครั้ง และคาดว่าในการประชุม กนง. ครั้งที่ 5 วันที่ 27 กันยายน 2566 จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้ง สู่ระดับ Terminal rate ที่ 2.5% และคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับดังกล่าว

แต่หากดูตัวเลขจีดีพี ซึ่งสะท้อนการเติบโตทางเศรษฐกิจกลับพบว่า ปี 2566 จีดีพีอาจโตไม่ถึง 3% และหากดูที่อัตราเงินเฟ้อก็พบว่าเริ่มลดลง จากไตรมาสแรกของปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ 3.9% ลงมาอยูที่ 1.1% ในไตรมาสสอง ของปี 2566

เหลือก็แต่เพียงค่าเงินบาทที่ยังอ่อนค่าอยู่ที่ 34 บาท ต่อดอลลาร์ ซึ่งควรจะอยู่ที่ 30 บาทต่อดอลลาร์ สิ่งนี้เป็นปัจจัยที่ กนง. เห็นควรว่ายังต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง เพื่อป้องกันเงินทุนไหลออก 

ดอกเบี้ยขาขึ้น

แต่ท่ามกลางระดับหนี้ครัวเรือนไทยที่สูงมาก คิดเป็น 90% ของจีดีพี จากที่ควรจะอยู่ที่ไม่เกิน 80% ของจีดีพี ซึ่งตัวเลขหนี้ครัวเรือนดีดขึ้นหลังธนาคารแห่งประเทศไทยมีการปรับข้อมูลหนี้ครัวเรือนให้ครอบคลุมมากขึ้นโดยนำหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ราว 4.8 แสนล้านบาท และหนี้สหกรณ์บางส่วน 2.65 แสนล้านบาท รวมไปถึงหนี้การเคหะแห่งชาติ เข้ามารวมอยู่ในหนี้ครัวเรือน ทำให้เห็นภาพหนี้ครัวเรือนที่สะท้อนความเป็นจริงมากขึ้นอยู่ที่ประมาณ​ 17.62 ล้านล้านบาท 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการขึ้นดอกเบี้ยนั้น ส่งผ่านไปยัง “หนี้ครัวเรือน” ของประชาชนให้ต้องแบกรับต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นเช่นกัน จนอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิด “หนี้เสีย” หรือหนี้ที่ผู้กู้ผิดชำระและไม่ได้ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งแนวโน้ม “หนี้เสียของหนี้ครัวเรือน” ก็มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยไตรมาส 4 ปี 2565 อยู่ที่ 9.8 แสนล้านบาท  ไตรมาสหนึ่ง ปี 2566 อยู่ที่ 9.5 แสนล้านบาท และล่าสุด ไตรมาสสอง ปี 2566 หนี้เสียหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 1.03 ล้านล้านบาท 

ในก้อนหนี้เสียครัวเรือนจำนวน 1.03 ล้านล้านบาท Top 5 หนี้ที่ผิดชำระและไม่ได้ชำระมากที่สุด อันดับ 1 หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล  2.5 แสนล้านบาท อันดับ 2 หนี้กู้ซื้อรถยนต์  2 แสนล้านบาท  อันดับ 3  หนี้กู้ซื้อบ้านที่อยู่ อาศัย 1.8 แสนล้านบาท  อันดับ 4 หนี้เกษตร 7.2 หมื่นล้านบาท อันดับ 5   บัตรเครดิต 5.6 หมื่นล้านบาท 

ที่น่าเป็นห่วงคือ “หนี้เสียรถยนต์” ที่พุ่งไม่หยุด เสี่ยงที่ประชาชนจะถูกยึดรถยนต์สูงถึง 1 ล้านคันในเดือนตุลาคม 2566 และ “หนี้กู้ซื้อบ้าน” เป็นหนี้เสียที่มากที่สุดตามมาเป็นอันดับ 3

“รศ.อนุสรณ์ ธรรมใจ” อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบธนาคารแห่งประเทศไทย มองว่า ระดับหนี้เสียที่เพิ่มสูงขึ้นคงไม่ใช่ปัจจัยที่ กนง. จะนำพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย แม้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชาชนต้องแบกรับต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น จากการที่ธนาคารพาณิชย์ขยับดอกเบี้ยขึ้นตาม จนอาจมีประชาชนบางส่วนที่ตัดใจ ไม่ผ่อนชำระต่อกลายเป็นหนี้เสีย 

ขณะที่ “นณริฏ พิศลยบุตร” นักวิชาการอาวุโสสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) บอกว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารพาณิชย์ไม่จำเป็นต้องปรับตามก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะปรับดอกเบี้ยขึ้นตาม กนง. อีกด้านส่งผลดีต่อผู้ที่มีเงินออม ขณะที่คนเสียประโยชน์ก็คือผู้กู้ ซึ่งคนไทยกู้เยอะ

หากดูเฉพาะสัญญาเงินกู้ซื้อบ้าน ต้องดูว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบไหน หากเป็นแบบคงที่ (Fixed Rate) ลูกหนี้กลุ่มนี้จะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากยังคงถูกคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไปตามสัญญา แต่หากเป็น สัญญาเงินกู้อัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว (Floating Rate) กลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบ เนื่องจากค่างวดที่ชำระในแต่ละเดือนจะมีภาระดอกเบี้ยเพิ่มมากขึ้น หากจ่ายค่างวดบ้านเป็นจำนวนเงินเท่ากันทุกเดือน เมื่อดอกเบี้ยสูงขึ้นก็จะเหลือเงินมาตัดชำระเงินต้นได้น้อยลง

“เวลาที่เราจะกู้อะไรก็ตาม เรารู้อยู่แล้วว่าดอกเบี้ยเท่าไหร่ มันเป็นปรากฎการณ์ปกติ เราต้องคิดไว้ก่อนอยู่แล้วว่าเป็นความเสี่ยงที่ต้องยอมรับ ฉะนั้นกลุ่มที่น่ากังวลคือกลุ่มที่ธุรกิจไม่ได้ดังหวังอาจเป็นหนี้ที่อาจจะสูญ ส่วนกลุ่มที่คิดจะผ่อนมีกลไกการช่วยเหลืออยู่ เช่นการปรับโครงสร้าง หรือหนี้บางส่วนพอจะลดดอกเบี้ยได้ มีคลินิกแก้หนี้ ย้ำว่าสัญญาการกู้คือเต็มใจทำกันทั้ง 2 ฝ่าย”

นณริฏ

ใครที่อยากลดภาระดอกเบี้ยเงินกู้ อยากชวนมาลองทำตามวิธีดังนี้ 

  1. หยุดก่อหนี้

การก่อหนี้ไม่ใช่รายรับ แต่เป็นรายจ่าย จ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย หากคิดจะก่อหนี้เพิ่ม ให้คิดถึงเงินสำรองที่มี หากเรามีเงินสำรองที่น้อยกว่าหนี้ที่กำลังจะก่อให้หยุดความคิดที่จะก่อหนี้โดยทันที เพราะหากวันใดวันหนึ่งเราเกิดปัญหาที่ต้องใช้เงินอย่างกะทันหัน แล้วต้องจ่ายหนี้ไปพร้อม ๆ กันด้วย การไม่มีหนี้นั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

2. ลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้

การลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้จะช่วยให้เรามีเงินคงเหลือในแต่ละเดือนเพิ่มมากขึ้น (เงินคงเหลือ = รายรับ – รายจ่าย – ภาระผ่อนหนี้) พอมีเงินเหลือมากขึ้น เราก็สามารถนำเงินที่มีไปโปะหนี้เพิ่มเพื่อปลดหนี้ให้เร็วขึ้น และยังช่วยให้ประหยัดดอกเบี้ยที่เราต้องจ่ายอีกด้วย

3. เจรจาขอลดดอกเบี้ย และ Refinance

การเจรจาต่อรองขอลดดอกเบี้ยกับเจ้าหนี้เป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้และควรทำโดยเฉพาะหนี้บ้านส่วนใหญ่จะมีอัตราดอกเบี้ย 2 ช่วง คือ ดอกเบี้ยต่ำในช่วงแรกเพื่อจูงใจลูกค้า และมักจะเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่ ดังนั้น ใครมีสินเชื่อบ้านอย่ารอช้า รีบดูสัญญาว่าใกล้ช่วงที่ดอกเบี้ยกำลังจะหมดโปรโมชันหรือถูกปรับขึ้นหรือยัง ถ้าใกล้แล้ว อย่าลืมไปยื่นเรื่องเจรจาขอลดดอกเบี้ย โดยขอแนะนำว่า ควรเตรียมตัวอย่างน้อย 1 เดือนก่อนที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในสัญญาจะปรับเป็นแบบลอยตัว ซึ่งเราสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สถาบันการเงินที่ใช้บริการว่าต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง เพื่อประกอบการยื่นเรื่องให้สถาบันการเงินพิจารณา

ถัดมาก็คือ refinance ไปยังธนาคารอื่นที่ให้อัตราดอกเบี้ยถูกกว่าธนาคารที่เราใช้บริการอยู่ อย่างไรก็ดี ก่อนจะ refinance อย่าลืมคำนึงถึงต้นทุนแฝงต่าง ๆ ด้วยว่าคุ้มกับการ refinance หรือไม่ เช่น ค่าเบี้ยปรับชำระก่อนครบกำหนด (prepayment fee) ค่าประเมินราคาหลักทรัพย์ ค่าธรรมเนียมจดจำนอง หากใครที่ต้องการ refinance และกำลังมองหาเงื่อนไขที่ดีกว่าสถาบันการเงินที่ใช้อยู่เดิม

การเจรจาขอลดดอกเบี้ยและการ refinance จะช่วยให้เราประหยัดดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย และชำระเป็นเงินต้นในแต่ละเดือนได้มากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้เราปลดหนี้ได้เร็วขึ้นด้วย

นโยบาย หรือ มาตรการรองรับ ดอกเบี้ยขาขึ้นจากรัฐ

นอกจากการรับมือดอกเบี้ยด้วยตัวเองแล้ว รัฐยังมีหน้าที่ที่ต้องมีนโยบาย หรือออกมาตรการช่วยผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยด้วย ซึ่งก็มาหลายทาง เช่นนโยบาย “พักชำระหนี้” แต่นโยบายนี้ต้องรอรัฐบาลใหม่เข้ามาตัดสินใจดำเนินการ ซึ่งต้องพักทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยไปพร้อม ๆ กัน มักรองรับกลุ่มหนี้เกษตรกรแต่มาตรการรองรับที่มีมาอยู่แล้วคือ “คลินิกแก้หนี้” เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ชำระหนี้ไม่ไหว ช่วยเจรจากับธนาคาร หรือ สถานบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ ทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ และรวมหนี้อยู่ในที่เดียว ผ่อนแต่ละงวดน้อยลง แต่ขยายเวลาผ่อนชำระหนี้ให้นานขึ้น ช่วยวางแผนการเงินให้มีเงินใช้หนี้ในจำนวนที่เหมาะสม และยังเหลือเงินใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ต้องกู้เพิ่ม

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์