ปรับสูตร คำนวณหนี้ กยศ. ดียังไง? ใครได้ประโยชน์บ้าง?

ภายหลัง กิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ร่วมประชุมตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2566 ตามคำสั่งของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนหลังจากตลาดหุ้นปรับตัวลดลง และหนี้ครัวเรือนสูงเกิน 90% ของ GDP พร้อมบอกความจำเป็นที่รัฐบาลต้องเร่งสะสางหนี้ แต่ต้องดำเนินการภายใต้กฎหมายที่กำหนดไว้ ทั้งหนี้ตำรวจ หนี้ครู หนี้ข้าราชการ ตลอดจนหนี้ในกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)

ในการหารือเพื่อแก้หนี้ กยศ. ภาครัฐจะดำเนินการตาม พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ฉบับใหม่ ที่มีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2566 โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำกว่าเดิม และเอื้อให้คำนวณหนี้ใหม่ด้วย ทางหน่วยงานคาดว่าจะช่วยลดภาระหนี้ของผู้กู้ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

  • อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไม่เกิน 1% ต่อปี (จากแต่เดิมอยู่ที่ 1% ต่อปี)
  • กรณีผิดนัดชำระลดอัตราเบี้ยปรับเหลือไม่เกิน 0.5% ต่อปี (จากแต่เดิมอยู่ที่ 7.5% ต่อปี)
  • ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันในทุกกรณี
  • เพิ่มให้มีการกู้เรียนในหลักสูตรระยะสั้น และให้ทุนการศึกษา
  • ปรับลำดับการตัดชำระหนี้ใหม่ โดยจะหักต้นเงินเฉพาะส่วนที่ครบกำหนดก่อน ตามมาด้วยดอกเบี้ย และเงินค่าปรับตามลำดับ
  • เพิ่มจำนวนงวดชำระเป็น รายเดือน, รายไตรมาส และรายปี (จากแต่เดิมมีเฉพาะงวดชำระรายปี)
  • ช่วยเหลือผู้กู้ยืมเงินที่อยู่ระหว่างดำเนินคดีหรืออยู่ระหว่างการบังคับคดีให้สามารถผ่อนผันการชำระเงินคืน ปรับโครงสร้างหนี้ หรือแปลงหนี้ใหม่ ตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกองทุนกำหนด

จากการสัมภาษณ์กลุ่มผู้กู้ กยศ. บางส่วนสะท้อนว่า ถ้ามาตรการปรับโครงสร้างหนี้ดังกล่าวสามารถทำได้จริง จะเป็นการผ่อนเบาภาระหนี้ของผู้กู้ โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานจบใหม่ หรือ First Jobber ที่ต้องใช้เวลาตั้งตัวก่อนเริ่มชีวิตวัยทำงาน อย่างการเพิ่มตัวเลือกให้สามารถผ่อนจ่ายเป็นรายเดือน หรือรายไตรมาส ก็จะช่วยลดขนาดเงินก้อนที่ต้องจ่ายเป็นรายปี และทำให้สามารถปลดหนี้ได้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น

ด้าน เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า การปรับลำดับหักเงินชำระหนี้ จะช่วยให้ผู้กู้ปลดหนี้ได้เร็วมากขึ้น จากแต่เดิมที่หักเงินค่าปรับก่อน ทำให้เงินต้นยังอยู่ และดอกเบี้ยพอกไปเรื่อย ๆ ย้ำสังคมต้องมองใหม่ว่า ไม่มีใครอยากเป็นหนี้ แต่สำหรับบางคนมีภาระหนี้เกินรับไหว ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ตนเชื่อว่า ถ้าปรับโครงสร้างหนี้ให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น อีกสักระยะหนึ่งหลังปรับมาตรการ คนจะกลับมาจ่ายหนี้มากขึ้น ขณะเดียวกันกองทุนก็จะได้รับการชำระหนี้เพื่อไปหมุนในกองทุนต่อไป

“ยิ่งต้นลด ดอกก็ลด ยิ่งทำให้ภาระในอนาคตที่จะผ่อนน้อยลง เพราะปกติการผ่อนกับ กยศ. เป็นขั้นบันได ถ้าจ่ายไม่ครบ ขั้นบันไดจะยิ่งสูง การจ่ายแล้วไปหักเงินต้นก่อนมันจะยิ่งไปลดฐาน ทำให้เงินที่ต้องจ่ายแต่ละงวดลดต่ำลงไปด้วย …ถ้าจูงใจให้คนมาจ่ายหนี้ได้มากขึ้น ค่าใช้จ่ายเพื่อติดตามหนี้ก็จะลดลง และกองทุนจะก็ได้รับการชำระหนี้มากขึ้น”

เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว
หนี้ กยศ.

จากการให้สัมภาษณ์ของคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ระบุว่า การปรับโครงสร้างนี้จะสร้างผลโดยตรงกับลูกหนี้ทุกกลุ่ม อาทิ กลุ่มลูกหนี้ที่กำลังผ่อนอยู่ เมื่อคำนวณใหม่จะพบว่ายอดหนี้ลดลง หรือบางกลุ่มยอดหนี้อาจลดลงจนปิดยอดได้เลย ส่วนคนที่ปิดยอดหนี้ไปแล้ว จะถูกคำนวณใหม่เพื่อดำเนินการให้ถูกต้อง แต่ทั้งนี้ต้องรอการประกาศรายละเอียดอย่างเป็นทางการอีกทีหนึ่ง

กิตติรัตน์ เผยว่า ตามมาตรการของ กยศ. ฉบับเดิม ทำให้ผู้กู้พบกับความยากลำบากในการชำระคืนเงินกู้ แต่ตามกฎหมายฉบับใหม่จะมีการคิดอัตราดอกเบี้ยและคำนวณเบี้ยปรับใหม่ให้ลดลงกว่าเดิมมาก ซึ่งจะส่งให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้คืนได้มากขึ้น ในส่วนของลูกหนี้ กยศ. ที่ชำระคืนครบแล้ว ถ้า กยศ. พบว่ามีการส่งชำระไว้เกินจากที่คำนวณใหม่ กยศ. ก็จะคืนเงินให้ด้วย ยิ่งไปกว่านั้น หลังปรับโครงสร้างหนี้มูลหนี้ที่เหลือค้างใน กยศ. จะเหลือประมาณ 50% เท่านั้น

“วันนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งวันที่มีความสำคัญ จึงอยากให้สถาบันการศึกษา ผู้กู้ และผู้ค้ำประกัน ได้ทราบข่าวดีนี้ กยศ.พร้อมจะทำงานกับพวกท่าน ช่วยทำให้ภาระหนี้ลดลง นี่ถือว่าเป็นข่าวดีที่สุดในรอบปี”

กิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
หนี้ กยศ.

ข้อมูลจากกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2566 เปิดเผยว่า ตั้งแต่ก่อตั้งกองทุนจนถึงปัจจุบัน กองทุนมีผู้กู้ยืมทั้งสิ้น 6.7 ล้านคน และมีจำนวนมูลหนี้ทั้งสิ้นราว 7 แสนล้านบาท โดยปิดบัญชีหรือปลดหนี้ไปแล้ว 1.8 ล้านคน (คิดเป็นมูลหนี้ราว 3 แสนล้านบาท) ส่วนลูกหนี้อีกราว 4.9 ล้านคน แบ่งเป็น 1) ลูกหนี้ที่เรียนอยู่ (ยังไม่ต้องจ่ายหนี้) ราว 1.3 ล้านคน 2) ลูกหนี้ที่กำลังชำระหนี้อีก 3.5 ล้านคน และ 3) ลูกหนี้ที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพอีกราว 7 หมื่นคน รวมมูลหนี้ของลูกหนี้กลุ่มนี้ทั้งสิ้นราว 4 แสนล้านบาท เหล่านี้คือจำนวนของลูกหนี้ที่จะได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่

ด้าน ลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า  การคำนวณจะมีการสร้างซอฟแวร์แบบง่าย ๆ ซึ่งสามารถคำนวณด้วยมือให้ก่อน โดยกลุ่มลูกหนี้ที่ต้องปรับโครงสร้างหนี้โดยเร่งด่วนมีอยู่ 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มลูกหนี้ที่ถูกฟ้องและอยู่ในการดูแลของกรมบังคับคดี 46,000 คน และ 2) กลุ่มลูกหนี้ที่จะหมดอายุความใน มีนาคม 2567 โดยทางหน่วยงานจะดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้กลุ่มที่ 1) ให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้ โดยถือเป็นของขวัญปีใหม่อีกด้วย

เกียรติอนันต์ เปิดเผยว่าในปี 2566 นี้มีผู้กู้ยืมเงินจำนวน 636,455 คน ประกอบด้วย ผู้กู้รายเก่า จำนวน 450,934 คน รายใหม่ จำนวน 185,521 คน โดยจำนวนผู้กู้ที่เพิ่มขึ้นมาจากค่านิยมของการเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา สังคมเชื่อว่าการมีวุฒิปริญญาจะทำให้หางานและเงินได้ง่ายกว่า เกียรติอนันต์ชี้ว่า ค่านิยมนี้ไม่ถูกต้องเสมอไป เพราะมหาวิทยาลัยเปิดสอนในสายสังคมวิทยามากยิ่งขึ้น มีบัณฑิตงานสายนี้จบมากขึ้น แต่กลับไม่ได้เป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้จบมาไม่สามารถเลือกงานได้มาก และค่าตอบแทนไม่สูง จึงนำไปสู่การมีภาระหนี้เพิ่มมากขึ้น จนทำให้เห็นกรณีขาดส่งงวดอยู่บ่อย ๆ

แม้ว่าทางคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อยจะให้คำสัญญาว่าจะชะลอการอายัดทรัพย์ของกลุ่มลูกหนี้ที่ถูกบังคับคดี แต่ทางกลุ่มผู้กู้กยศ. ที่ถูกบังคับคดีได้รวมตัวกันออกมาเปิดเผยว่าพวกตนยังถูกบังคับคดีต่อเนื่อง หากไม่อยากให้ทรัพย์ที่ถูกยึดขายทอดตลาด ต้องแจ้งความประสงค์กับทางกรมบังคับคดีภายใน 60 วันหลังมีหนังสือยึดทรัพย์ ทั้งนี้ ลูกหนี้ต้องดำเนินการจ่ายค่าธรรมเนียม 2% ของราคาประเมินทรัพย์เพื่อขอแจ้งถอนการอายัดอีกด้วย

ทาง วิชญาภรณ์ เอ้งเหมาะ หนึ่งในผู้กู้กยศ. ที่ถูกบังคับคดี และเป็นหนึ่งกลุ่มลูกหนี้ที่จะได้รับการปรับหนี้เป็นกลุ่มแรก ได้ออกมาเปิดเผยว่า เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาตนถูกแจ้งอายัดที่ดิน 2 แปลง จึงรีบไปแจ้งของดการขายทอดตลาดไว้ โดยต้องยอมจ่ายค่าธรรมเนียมราวหนึ่งหมื่นกว่าบาทซึ่งคิดเป็น 2% ของราคาประเมินที่ดินแปลงหนึ่งที่ตนถืออยู่ร่วมกับญาติพี่น้อง ขณะที่อีกแปลงหนึ่งยังไม่ได้ขอแจ้งถอนซึ่งเป็นของตัวเอง ทางหน่วยงานต้นสังกัดได้เสนอให้ตนทยอยจ่ายหนี้ เดือนละ 33,000 บาท 36 เดือน คิดเป็นหนี้คงค้างราวหนึ่งล้านบาท (เป็นเบี้ยปรับไปแล้ว 4.8 แสน) ซึ่งวิชญาภรณ์ ย้ำว่าตนไม่มีเงินจ่ายได้เพียงพอ และตั้งใจจะขายที่ดินแปลงที่มีอยู่เพื่อแบ่งขายใช้หนี้ กยศ แต่ก็ยังติดอายัดกับหน่วยงาน และอยู่ในสภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก

ภายหลังที่ทราบข่าวว่าจะมีการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ซึ่งตนเป็นกลุ่มแรก วิชญาภรณ์จึงรีบติดต่อทุกหน่วยงานเพื่อขอความช่วยเหลือ ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2566 กลับได้รับการชี้แจงจาก กยศ. ว่า การปรับหนี้จะยังไม่ถูกดำเนินการในเร็ว ๆ นี้ หากต้องการปิดบัญชีต้องจ่ายเต็มจำนวนทั้งเงินต้น ดอกเบี้ย และค่าปรับรวมกันราวหนึ่งล้านบาท โดยจะมี SMS แจ้งรายละเอียดการปรับโครงสร้างหนี้ให้ทราบ ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสาร โดยวิชญาภรณ์ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่า 2 ม.ค. 2567 อาจเริ่มมีการส่ง Link ให้ลงทะเบียนเพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ ระวังอย่าให้พลาดโอกาส

“เราไม่ต้องการจะหนีหนี้ กองทุนนี้ให้โอกาสเราเรียน เราก็ต้องใช้คืน แต่ด้วยเบี้ยปรับจำนวนมหาศาลมากขนาดนี้ ก็ไม่รู้จะหาเงินจากไหน แล้วพอประกาศอย่าง แต่การกระทำอีกอย่าง ก็ไม่ชัดเจน เราอยากรีบจ่ายหนี้ให้หมดไวที่สุด …พอต้องรอประกาศจากหน่วยงาน แต่ว่าดอกเบี้ยก็ยังหมุนต่อ และเราไม่รู้เลยว่าที่จะได้ปรับหนี้ จะได้ปรับจริงไหม”

วิชญาภรณ์ เอ้งเหมาะ

พัทธนันท์ สุนทรพจน์ แอดมินกลุ่มลูกหนี้กยศ. พร้อมสู้เพื่อความยุติธรรม ได้ออกมาชี้แจงว่า ยังมีลูกหนี้อีกมากที่โดนกระทำในทำนองเดียวกัน คือ อาจขาดการสื่อสารกับทางกยศ. ตกหล่นข้อมูลบางประการ จนทำให้หนี้สินพอกโดยไม่ได้ตั้งใจ ตนเชื่อว่าไม่มีลูกหนี้คนไหนอยากเป็นหนี้ ทุกคนล้วนพยายามส่งจ่ายให้ไม่ขาดตอน แต่พอถูกดำเนินคดีความหรือเข้าขั้นตอนการไกล่เกลี่ย กลายเป็นว่าถูกเพิ่มหนี้เข้าไปอีก หรือแนวทางการปรับลำดับการหักหนี้ที่จะหักเงินต้นก่อน ไม่ได้ช่วยให้ดอกเบี้ยลดลง เพราะดอกเบี้ยคำนวณตามเงินต้นแรกเริ่ม พอเป็นแบบนี้ ลูกหนี้ก็ไม่สามารถหาเงินมากลบหนี้ได้ทัน

พัทธนันท์ ย้ำว่า กยศ. ต้องสื่อสารกับประชาชนมากกว่านี้ ยังมีลูกหนี้จำนวนไม่น้อยที่มีโรคร้ายแรง ต้องนอนติดเตียงไปทำงานไม่ได้ แต่ต้องหาเงินมาจ่าย ไม่อย่างนั้นจะถูกยึดบ้านหรือสินทรัพย์ เพื่อนผู้กู้ยืมบางรายก็เลือกจบชีวิตตัวเองลง ทั้งนี้ตนก็เชื่อว่าหลักการของกองทุนกู้ยืมนี้ เป็นไปเพื่อการสร้างอนาคต และสร้างโอกาสการศึกษาให้ผู้ขาดแคลน แต่หน่วยงานเอง จำเป็นต้องให้ข้อมูลแก่ผู้กู้ให้รอบด้าน ก่อนตัดสินใจกู้ รวมถึงการติดตามช่วยเหลือหลังจบการศึกษา เพราะบางทีการกู้ก็ไม่ใช่ทางออกเดียวของการสร้างโอกาสทางการศึกษาของทุกคน

ล่าสุด ทางกลุ่มลูกหนี้ กยศ. พร้อมสู้เพื่อความยุติธรรม ได้มีการเคลื่อนไหวไปยังสำนักงาน กยศ. เพื่อขอการชี้แจง และทำความเข้าใจร่วมกันว่าแนวทางของ กยศ. จะคืนความชอบธรรมให้ผู้กู้ทุกรายได้อย่างไร แต่ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนมากพอ และเตรียมรวมรวมรายชื่อยื่นถอดถอนผู้จัดการกองทุน กยศ. หลังสมัยประชุมรัฐสภาเปิดต่อนายกรัฐมนตรีในวันที่ 12 ธ.ค. 2566


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

พีรดนย์ ภาคีเนตร

บัณฑิตจบใหม่คณะสื่อสารฯ ผู้เฝ้าหาเรื่องตลกขบขันในชีวิต แต่พบว่าสิ่งที่ตลกที่สุดคือชีวิตเราเอง

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์