เดินหน้าขยาย “โมเดลคลองเตย” จัดการโรคระบาดในชุมชน

สรุปการสนทนา “โควิด-19 รุกคลองเตย: ช่วยชีวิต ปิดจุดเสี่ยง ครั้งที่ 2” ชู​ “ศูนย์พักคอยวัดสะพาน​” จุดเด่นคุมโรคระบาดชุมชน เปิดแผนชุมชนจัดการตนเองกู้วิกฤต เร่งถอดบทเรียน ขยายต้นแบบสู่พื้นที่อื่น

สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2564 ซึ่งนับเป็นวันที่ 14 หลังพบผู้ติดเชื้อคนแรกภายในชุมชน “คลองเตย” กรุงเทพมหานคร ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น จาก 193 คน เมื่อวันที่ 3 พ.ค. เป็น 221 คน ในวันถัดมา ทั้งจากการตรวจคัดกรองเชิงรุก และผลการตรวจจากระบบบริการ ขณะที่ภาพรวมของการติดเชื้อทั้งเขตคลองเตยอยู่ที่ราว 300 คน

ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้วันเดียวกันนี้ เป็นวันแรกของการระดมฉีดวัคซีนให้กับคนในชุมชน 1,000 คน ซึ่งเป็นวัคซีนเข็มแรกในพื้นที่เสี่ยง “ชุมชนคลองเตย” แห่งนี้ ก่อนที่จะเพิ่มจำนวนในวันรุ่งขึ้นอีก 3,000 โดส หวังให้วัคซีนเป็นตัวช่วยสกัดการระบาด

The Active จัดเวทีสาธารณะออนไลน์ “โควิด-19 รุกคลองเตย: ช่วยชีวิต ปิดจุดเสี่ยง ครั้งที่ 2” เพื่อติดตามสถานการณ์การระบาดในพื้นที่ พร้อมถอดบทเรียนระบบการจัดการวิกฤตสุขภาพโดยชุมชน หลังพบว่าชุมชนเมืองและชุมชนแออัดหลายแห่งในกรุงเทพฯ ได้กลายเป็นคลัสเตอร์การระบาดใหม่ ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ

อรวรรณ สุขโข ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส และทีมงานของ The Active ที่เกาะติดสถานการณ์การระบาดภายในชุมชนตั้งแต่ช่วงแรก ได้สรุปสถานการณ์ภายในชุมชน ทั้งรูปแบบการอยู่อาศัยของประชาชนในชุมชนที่แออัด และความคืบหน้าของการจัดวางระบบให้ความช่วยเหลือของชุมชนและองค์กรที่เกี่ยวข้องก่อนหน้านี้ ทั้งการจัดตั้งศูนย์พักคอยผู้ติดเชื้อ ศูนย์พักฟื้น และความช่วยเหลือเฉพาะหน้าเร่งด่วนเพื่อบรรเทาผลกระทบระหว่างการกักตัวเพื่อควบคุมโรค เช่น ถุงยังชีพ อาหาร อุปกรณ์ป้องกันโรคระบาด และเงินบริจาค

ความร่วมมือที่เกิดขึ้น เป็นการร่วมแรงแข่งกับเวลา ดังที่ เพ็ญวดี แสงจันทร์ ผู้จัดการมูลนิธิดวงประทีป กล่าวว่า ขณะนี้ชุมชนคลองเตยได้รับการสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายเป็นจำนวนมาก ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ บุคลากรทางการแพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ ฯลฯ เข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ในชุมชนมีกำลังใจในการทำงานเป็นอย่างมาก โดยขณะนี้ได้ร่วมกันจัดตั้ง “ศูนย์พักคอยรอการส่งต่อ” ที่วัดสะพาน แขวงพระโขนง ซึ่งเป็นความร่วมมือของชุมชนกับการสนับสนุนจากภาคีภายนอก เพื่อแยกผู้ที่ติดเชื้อจากครัวเรือนออกมาให้การดูแล และประสานหาเตียง โดยศูนย์ฯ นี้รองรับผู้ติดเชื้อได้ประมาณ 50 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถประสานเตียงให้ได้ภายใน 24 ชั่วโมง

ขณะเดียวกัน บางส่วนก็ยังพบปัญหาระหว่างทาง รวมถึงการจัดการและข้อสนับสนุน

นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ผอ.สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า บทบาทสำคัญของศูนย์พักคอยฯ มีด้วยกัน 2 ประการ ได้แก่ 1. การตัดวงจรการระบาดในชุมชน ด้วยการแยกตัวผู้ติดเชื้อออกมาดูแลที่ศูนย์พักคอยฯ 2. การอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจำนวนมากออกจากชุมชนไปยังโรงพยาบาล ซึ่งรถพยาบาลหรือรถขนาดใหญ่สามารถเข้ามารับที่ศูนย์ฯ ได้ทันที

อย่างไรก็ตาม ด้วยบริบทของคลองเตยมีความสลับซับซ้อนเป็นอย่างมาก ฉะนั้นการจัดการจำเป็นต้องครอบคลุม 4 มิติ ได้แก่ 1. กลุ่มผู้ที่ติดเชื้อ ซึ่งชุมชนได้วางระบบการส่งตัวออกมายังศูนย์พักคอยฯ เพื่อตัดวงจรการระบาด และวางระบบการประสานโรงพยาบาลไว้แล้ว 2. กลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ตรงนี้ต้องทำให้เกิด “การควบคุมพื้นที่โดยชุมชน” เพื่อจำกัดการเคลื่อนที่ในชุมชน โดยใช้คอนเซ็ปต์ Community Quarantine (CQ) 3. ผู้ที่ยังอยู่ในชุมชน จำเป็นต้องดูและทั้งการแพทย์ การป้องกันโรค อาหาร อาชีพ ฯลฯ และ 4. ผู้ป่วยที่กลับมาจากโรงพยาบาล

เร่งถอดบทเรียน ขยายต้นแบบไปสู่พื้นที่อื่น

นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า กรณีที่ผู้ป่วยกลับจากการรักษาที่โรงพยาบาล อาจมีหลายกรณีที่ผู้ป่วยยังไม่สะดวกหรือไม่สามารถกลับเข้าไปบ้านได้ทันที จำเป็นต้องมี “ศูนย์พักฟื้นชุมชน” ขึ้นมาทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วย หลังได้รับการรักษาต่อไปอีกระยะหนึ่ง

จากคลองเตยโมเดล เราจะเห็นได้ว่ามีแนวคิดที่ชัดเจนแล้วว่า 1. ในทางการแพทย์ เราต้องการตัดวงจรการระบาด แต่การตัดวงจรให้สำเร็จได้นั้น ยังต้องอาศัยภาคสังคมเข้ามามีส่วนร่วมด้วย 2. แม้ในบางพื้นที่จะยังไม่มีเคสผู้ป่วย แต่ก็ได้รับผลกระทบทางสังคมไปแล้ว ฉะนั้นการช่วยเหลืออย่างรอบด้านจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำควบคู่กันไป

นพ.ปรีดา กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่จำเป็นต้องทำต่อจากนี้ คือการสรุปบทเรียนของคลองเตยโมเดลให้เร็วที่สุด จากนั้นก็ขยายโมเดลต้นแบบนี้ออกไปในพื้นที่ต่าง ๆ โดยผู้ที่มีความสำคัญในการจัดการคือคณะกรรมการชุมชน ที่ต้องดูแลใน 4 ด้าน คือ ประสานทางการแพทย์ ประสานอาหาร ประสานอาชีพ และประสานการสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจกับชุมชน

“ที่สำคัญคือภาครัฐต้องหนุนช่วยคือการปรับแก้ระเบียบของภาครัฐ เพื่อเปิดช่องให้ชุมชนได้มีส่วนจัดการตัวเอง และเข้ามาเชื่อมต่อกับภาครัฐในการทำงานร่วมกันต่อไป”

เสนอพักหนี้บ้าน ขออาหาร-อุปกรณ์ป้องกันโรค

วรรณา แก้วชาติ เครือข่ายสลัมสี่ภาค กล่าวว่า สถานการณ์ในพื้นที่อื่น ๆ ที่เครือข่ายทำงาน แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะไม่รุนแรงเท่าคลองเตย แต่ด้านอื่น ๆ ก็มีความคล้ายคลึงกัน เช่น สมาชิกในชุมชนตกงาน ขาดรายได้ ขาดอาหาร อุปกรณ์ป้องกันโรคมีไม่เพียงพอ แต่ในแง่ของความเดือดร้อนที่ต้องการการสนับสนุน คือ การแบ่งเบาหนี้สิน การพักชำระหนี้ โดยเฉพาะค่าบ้าน-ค่าที่ดิน เช่น โครงการบ้านมั่นคง ในขณะนี้ก็มีการเจรจาเพื่อขอพักชำระหนี้อยู่

นอกจากเรื่องพักชำระหนี้แล้ว สมาชิกในเครือข่ายอยากได้รับการสนับสนุนเรื่องการส่งเสริมป้องกันโรค การคัดกรองโรค วัคซีน ซึ่งจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มีบัตรประชาชน หรือไม่มีบัตรประชาชนก็ตาม เพราะจะช่วยให้คนทั้งประเทศปลอดภัย

ด้าน จันทิมา ลังประเสริฐ เครือข่ายบ้านมั่นคง กล่าวว่า สมาชิกเครือข่ายบ้านมั่นคงทั่วประเทศมีมากกว่า 400 กลุ่ม โดยการระบาดในระลอก 1-2 ไม่เคยมีผู้ติดเชื้อเลย แต่รอบปัจจุบันได้พบผู้ติดเชื้อแล้ว ซึ่งในตอนแรกที่มีผู้ติดเชื้อเกิดความตื่นตระหนักกันมาก มีการวิ่งเข้าบ้านเพราะทำอะไรไม่ถูก จนกระทั่งผ่านไป 3 ชั่วโมง จึงมีการประสานกับศูนย์สาธารณสุขในพื้นที่เข้ามาช่วยเหลือ

เธอกล่าวต่อไปว่า ขณะนี้เครือข่ายได้ปรับตัวและมีระบบให้ความช่วยเหลือกัน แต่ด้วยทุกคนเป็นผู้มีรายได้น้อย เป็นคนยากจน จึงสายป่านสั้น เงินกองกลางของเครือข่ายที่มีอยู่ก็มีไม่มาก ฉะนั้นการดูแลผู้ที่กักตัว ผู้ที่กลับมาจากโรงพยาบาล จึงต้องการการสนับสนุน โดยเฉพาะเรื่องวัตถุดิบสำหรับปรุงอาหาร ยารักษาโรคเบื้องต้น รวมทั้งเจลล้างมือ หน้ากากอนามัย ฯลฯ ที่สำคัญคือการสนับสนุนองค์ความรู้ในการตั้งศูนย์ในชุมชนเพื่อดูแลผู้กลับมาจากโรงพยาบาล

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active

Alternative Text
visual note taking

ลลิตา วิจิตอมรวงษ์

เปลี่ยนเนื้อหาเข้าใจยาก ให้เป็นภาพเข้าใจง่าย เจ้าของเพจ Mis.lalita รักธรรมชาติ และชอบฟังเพลง