เทียบนโยบาย “สนับสนุนเด็กเล็ก” มีผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. คนไหนเสนออะไรบ้าง ?

ท่ามกลางสนาม เลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) และ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ที่กำลังหาเสียงกันอย่างเข้มข้นเพื่อดึงดูดความสนใจประชาชนช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเข้าคูหา 22 พ.ค. 2565

“การพัฒนาทุนมนุษย์ช่วงปฐมวัย” เป็นหนึ่งในนโยบายที่ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หลายคนให้ความสำคัญ เพื่อชูวิสัยทัศน์การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของคนเมือง

The Active ชวนดูนโยบาย “สนับสนุนเด็กเล็ก” ที่มีผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พูดถึง 8 คน จากที่เหลือทั้งหมด 30 คน ลองมาดูกันว่า มีผู้สมัครคนไหนเสนออะไรบ้าง ?

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร เบอร์ 1

ภายใต้สโลแกน “เมืองที่คนเท่ากัน” ของ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ได้นำเสนอเพิ่มค่าเลี้ยงดูเด็กเล็กวัย 0-6 ปี ที่รัฐบาลช่วยค่าเลี้ยงดูเฉพาะเด็กจากครอบครัวยากจนคนละ 600 บาท/เดือน ให้เด็ก กทม. วัย 0-6 ปีทุกคน ได้ค่าเลี้ยงดูคนละ 1,200 บาท/เดือน โดยสวัสดิการนี้จะจัดสรรจากงบประมาณผ่านการเก็บภาษีที่ดิน

เพิ่มจำนวนศูนย์รับเลี้ยงเด็ก เพื่อลดภาระผู้ปกครองและแก้ปัญหาพื้นที่ขาดแคลนศูนย์รับเลี้ยงที่ทำให้ผู้ปกครองต้องเดินทางฝากเด็กไกลบ้าน เป็นอีกนโยบายที่ วิโรจน์ นำเสนอ และจะพัฒนาศูนย์เด็กเล็กในสังกัด กทม. ที่มีอยู่แล้ว 291 แห่งให้มีคุณภาพ โดยจะลงทุนอัปเกรดศูนย์ละ 5 ล้านบาท เพื่อทำคุณภาพให้เท่าเอกชน และจะจัดงบฯ ลงทุนให้ศูนย์ละ 5 ล้านบาทตลอด 4 ปี

นอกจากนี้เขาจะเพิ่มสวัสดิการให้ครูผู้ดูแลเด็ก ที่ปัจจุบันถูกจ้างในฐานะ “อาสาสมัคร” และต่อสัญญากับสำนักงานเขตแบบปีต่อปี ไม่มีสถานะแม้กระทั่ง “ลูกจ้างชั่วคราว” ที่ให้เงินเดือนตามวุฒิ คือ ม.6 หรือ ปวช. 8,600 บาท อนุปริญญา หรือ ปวส. 10,000 บาท และปริญญาตรี 15,000 บาท ไม่มีปรับขึ้นเงินเดือนตลอดอายุการทำงาน ไม่มีปิดเทอม และหากลาหยุดงานถูกหักค่าจ้างรายวัน ไปเป็นการทำ “สัญญาจ้างประจำ” ให้กับครูและพี่เลี้ยงประจำศูนย์ รวมทั้งจะเพิ่มการจ้างครูสำหรับเด็กพิเศษที่พัฒนาการช้า

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ เบอร์ 4

ภายใต้สโลแกน “เปลี่ยนกรุงเทพฯ เราทำได้” ของ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ได้นำเสนอนโยบาย “เพิ่มเงินอุดหนุนเด็ก 1-6 ปี” เดือนละ 600 บาท ให้เด็ก กทม. ทุกคน จากเดิมที่รัฐบาลให้เงินอุดหนุนเพียงแค่บางคน

นโยบายต่อมา คือ “ตรวจสุขภาพเด็กฟรี พร้อมกับฉีดวัคซีนฟรี” 8 ชนิดที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ เพิ่มเติมวัคซีนป้องกันอีสุกอีใส วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 3 โรคสำคัญที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตจำนวนมากและจะเป็นอันตรายมากขึ้นเมื่อติดโรคตอนเป็นผู้ใหญ่

“อาหารดี มีคุณภาพ” เป็นอีกนโยบายที่ สุชัชวีร์ จะเพิ่มค่าอาหารในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนจากวันละ 20 บาท เป็น 40 บาท ให้เด็กได้รับประทานอาหารที่ดี เพียงพอ และเติบโตได้สมวัย

รสนา โตสิตระกูล เบอร์ 7

ภายใต้สโลแกน “ต้องหยุดโกง กรุงเทพฯ เปลี่ยนแน่” ของ รสนา โตสิตระกูล นำเสนอนโยบาย “สนับสนุนแม่และเด็กเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ” เธอระบุข้อมูลจากการลงพื้นที่ชุมชน พบว่ามีเด็กเล็กในครอบครัวรายได้น้อยจำนวนมากต้องดื่มนมข้นหวานแทนนมแม่และนมผงที่มีคุณค่าทางโภชนาการ การทำให้แม่และเด็กทุกคนมีโอกาสเท่ากัน เป็นสิ่งที่เธอเสนอว่าจะทำให้เกิดขึ้นจริง

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เบอร์ 8

ภายใต้สโลแกน “กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” ของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้นำเสนอนโยบายในมิติ “เรียนดี” โดยจะเพิ่มการจัดตั้งศูนย์ดูแลเด็กอ่อนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโดยเฉพาะศูนย์ขนาดเล็กในชุมชน ศูนย์บริการตามแหล่งงานให้มีความครอบคลุมกับความต้องการ, เพิ่มการบริการและขยายการดูแลให้ครอบคลุมเด็กเริ่มตั้งแต่ 3 เดือน หรือ 6 เดือน โดยในช่วง 3-6 เดือนจะเป็นการสนับสนุนให้แม่นำบุตรมาเลี้ยงที่ศูนย์และเป็นการช่วยดูแลไปพร้อมกัน เนื่องจากในช่วงนี้ยังเป็นช่วงที่นมแม่มีความสำคัญต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตของเด็ก ส่วนช่วงอายุ 6 เดือน ถึง 2 ขวบครึ่ง จะเป็นการฝากรับเลี้ยงตั้งแต่ 7-8 โมงเช้า จนถึง 5-6 โมงเย็น และไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับการดูแลเด็กอ่อน เพื่อให้สอดคล้องกับเวลาเข้างานและเลิกงานของผู้ปกครองในพื้นที่ รวมถึงแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองเด็กอ่อน, เพิ่มหนังสือและจัดหาหนังสือดี มีคุณภาพ เหมาะสมสำหรับเด็ก 3 ถึง 6 เดือน ถึง 3 ปี (กรมอนามัยได้มีการคัดสรรนิทานที่เหมาะสำหรับเด็กอายุ 0 – 3 ปี จำนวน 100 เรื่อง) โดยให้มีเพียงพอต่อเด็กในการดูแลอย่างน้อยเด็ก 1 คนต้องมีหนังสือ 3 เล่ม ให้สามารถยืมกลับบ้านหรืออ่านที่ศูนย์ฯ ได้

ด้านบุคลากร ชัชชาติ จะเพิ่มบุคลากรและค่าตอบแทน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดูแลเด็กเล็ก กทม. โดยจะร่วมมือกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาและอบรมบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในการดูแลเด็กเล็ก เด็กอ่อน และเสริมความเชี่ยวชาญในการใช้หนังสือเพื่อพัฒนาเด็กให้เหมาะสมตามช่วงวัย พร้อมกับปรับค่าตอบแทนบุคลากรตามการฝึกฝนให้เหมาะสมกับค่าครองชีพและสอดคล้องกับค่าตอบแทนของตลาด

ด้านโภชนาการ ชัชชาติ จะเพิ่มค่าอาหารสำหรับเด็กอ่อนและเด็กเล็ก จาก 20 บาท/วัน เป็น 40 บาท/วัน เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับค่าอาหารของระดับอนุบาล-มัธยมของโรงเรียนในสังกัด กทม.

ด้านการส่งเสริมการเรียนรู้ ชัชชาติ จะปรับหลักสูตรเน้นให้เด็กทำเป็น เล่นเป็น เรียนรู้เป็น สำหรับเด็กช่วง 0-8 ปี เข้ามาเป็นส่วนประกอบหลักในการดูแลเด็กทั้งในศูนย์ดูแลเด็กอ่อน เด็กเล็ก อนุบาล ในสังกัด กทม. ในโรงเรียนประถมโดยเฉพาะในช่วง ป.1-2 ควบคู่ไปกับการเรียนเนื้อหาวิชาการ โดยมีหลักการ เช่น 1. ตั้งคำถามแทนตอบคำถาม 2. ทำแทนการเรียนอย่างเดียว 3. วางแผนการทำงาน (วางแผนการทำอาหาร / วางแผนการเที่ยว) 4. ท้าทาย ลองผิดลองถูก 5. ทบทวนประสบการณ์ สรุปบทเรียน

น.ต. ศิธา ทิวารี เบอร์ 11

ภายใต้สโลแกน “ผมจะทำสิ่งที่ผู้ว่าฯ กทม. ไม่เคยทำ” ของ น.ต. ศิธา ทิวารี นำเสนอว่าจะเป็นผู้ว่าฯ กทม. ที่ลงทุนกับการศึกษามากที่สุด ด้วยการปรับสัดส่วนงบฯ ประมาณให้กับการพัฒนาระบบการศึกษาในสังกัด กทม. มากขึ้น โดยมีเป้าหมายจะสร้างความเสมอภาคก่อนสร้างความเป็นเลิศ เพื่อทำโรงเรียนดีใกล้บ้าน โดยในส่วนของการสนับสนุนเด็กเล็ก จะเพิ่มการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ให้มีการกระจายทั่วถึงแทบทุกชุมชน เพิ่มบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านการศึกษาปฐมวัย โดยจะใช้หลักสูตรการศึกษาที่ทันโลก ส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ที่นำไปสู่ความสามารถในการประกอบอาชีพเมื่อโตขึ้น ให้ความสำคัญกับโภชนาการเด็ก ยกระดับมาตรฐานศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้มีความปลอดภัย และเพิ่มพื้นที่ออกกำลังกายในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน

พล.อ.ต. ทูตปรีชา เลิศสันทัดวาที เบอร์ 15

ภายใต้สโลแกน “เมตตากรุงเทพฯ เมืองที่น่าอยู่ สู่เศรษฐกิจดี ผู้คนมั่งมี การจราจรดีปลอดภัย ได้สุขภาพใหม่เมื่อมาเยือน” ของ พล.อ.ต.ทูตปรีชา เลิศสันทัดวาที ได้นำเสนอนโยบายแก้ปัญหาการศึกษา โดยจะให้มีการเรียน 5-7 ภาษา เริ่มจากเด็กก่อนวัยเรียน ซึ่งมีความสามารถพูดภาษาได้อย่างง่ายและรวดเร็วโดยใช้อาสาสมัครที่ขอไปทางสถานทูตแต่ละประเทศ จัดให้มีการทดสอบความถนัดเด็กแต่ละคนว่าถนัดทางด้านใด และส่งเสริมด้านนั้น สนับสนุนการใช้สารอารหารบำรุงสมองเด็ก เพื่อทำให้เด็กท้ายแถวมีสมาธิดีขึ้น จากการศึกษางานวิจัยที่สหรัฐอเมริกา

สุมนา พันธุ์ไพโรจน์ เบอร์ 18

ภายใต้สโลแกน “พูดจริงทำจริง จริงจังจริงใจ และ พัฒนาคน พัฒนาเมือง” ของ สุมนา พันธุ์ไพโรจน์ นำเสนอนโยบายเริ่มให้เรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่ชั้นเด็กเล็ก

วรัญชัย โชคชนะ เบอร์ 22

ภายใต้สโลแกน “4 ดี และ 7 ส. เปลี่ยนแปลง กทม.” ของ วรัญชัย โชคชนะ ได้นำเสนอนโยบาย 4 ดี คือ เกิดดี กินดี อยู่ดี ตายดี และนโยบาย 7 ส. คือ สะอาด สะดวก สะบาย สดชื่น สวยงาม สงบ และสว่าง สำหรับการสนับสนุนเด็กเล็กอยู่ในนโยบาย “เกิดดี” คือการคลอดฟรี และ “กินดี” คือเด็กได้รับอาหารและนมมีคุณภาพ ทั่วถึง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์