กระจายอำนาจ กระจายศักยภาพ ดูแลเด็กเล็กถ้วนหน้า

แม้ตัวเลขงานวิจัยชี้ชัดว่า การลงทุนในเด็กเล็ก 1 บาท จะได้ผลตอบแทนคืนกลับมา 7-9 บาท โดยเฉพาะประเทศไทย ที่เด็กส่วนใหญ่กว่า 70% อยู่ในครอบครัวยากจน ทำให้ “ยิ่งลงทุนยิ่งคุ้มค่า” แต่ปัจจุบันการลงทุนกับเด็กเล็กของไทยอยู่ที่เพียง 0.25% ของจีดีพีเท่านั้น ต่ำกว่าเส้นที่องค์การยูนิเซฟขีดไว้ให้แต่ละประเทศควรลงทุนกับเด็กเล็ก ซึ่งอยู่ที่ 1% ของจีดีพี

นอกจากข้อเสนอเรื่องเงินอุดหนุนถ้วนหน้าตั้งแต่แม่ตั้งครรภ์ไปจนถึงอายุ 6 ปี ยังมีปัจจัยอื่นในระบบนิเวศที่ต้องดูแล “เด็กเล็ก” ไปพร้อมกัน ทั้งเรื่องสุขภาพ โภชนาการ การศึกษา รวมถึงศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งหน่วยงานที่ใกล้ชิดชุมชนและเข้าถึงการดูแลเด็กมากที่สุดคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ด้วยข้อจำกัดด้านระเบียบ และข้อกำหนดต่าง ๆ ทำให้ท้องถิ่นไม่สามารถใช้อำนาจหน้าที่ จัดสรรงบประมาณ และบุคลากร เพื่อดูแลเด็กเล็กในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

The Active ชวนหาคำตอบของการผลักดันสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า พร้อมข้อเสนอ “กระจายอำนาจ” เพื่อกระจายโอกาสให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแลเด็กเล็กได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ จากวงเสวนา “แนวคิด หลักการ สวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าและการกระจายอำนาจ” ในเวที Policy Forum ครั้งที่ 4 จัดโดยไทยพีบีเอส ร่วมกับคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าเพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน และเครือข่าย 450 องค์กร

“กระจายอำนาจ” ปลดล็อกให้ท้องถิ่นพัฒนาสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า รองรับอนาคตเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

ความสำคัญเรื่องของสวัสดิการเด็กเล็กไม่ใช่แค่เรื่องของสิทธิ และความเป็นธรรมเท่านั้น แต่ ศาสตราจารย์ผาสุก  พงษ์ไพจิตร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ให้เห็นถึงมิติของการลงทุนเพื่อรองรับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคต ทำให้เด็กวัยรากฐาน 0-6 ปี เติบโตเป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพ เพราะปัจจุบัน ไทยกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านเศรษฐกิจและโครงสร้างประชากร จากเดิมที่มีอัตราการเกิดสูง และใช้คนจำนวนมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม แต่วันนี้อัตราการเจริญพันธุ์ลดลงมาอยู่ที่เพียง 1.1% นำไปสู่ปัญหา “ขาดแคลนแรงงาน” ประกอบกับปัญหาทรัพยากรของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ แร่ธาตุ ที่ดิน ทรัพยากรทางทะเล ที่ลดน้อยถอยลงจากการถูกใช้ไปอย่างหมดเปลือง ซ้ำยังเกิดปัญหามลพิษใหม่ ๆ ต่อเนื่อง ขณะเดียวกันการสนับสนุนด้านเงินทุนและเทคโนโลยีจากนานาประเทศที่ไทยเคยได้รับในยุคสงครามเย็นก็ถูกเคลื่อนย้ายไปยังประเทศเพื่อนบ้านแทน ทั้งหมดคือเหตุผลว่าทำไมประเทศไทยจึงจำเป็นต้องหันมาให้ความสำคัญกับการทำนุบำรุง “ทรัพยากรมนุษย์” ที่มีอยู่โดยเฉพาะ “กลุ่มเด็กเล็ก” ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในอนาคต หากไม่เร่งทำตั้งแต่วันนี้ สังคมไทยจะเผชิญปัญหาไม่สิ้นสุด และพัฒนาไม่ทันเพื่อนบ้าน ที่สำคัญคือต้องปรับวิธีคิดเพื่อเอื้อต่อการสร้างครอบครัวและการมีลูกที่ไม่ใช่แค่นโยบายเพิ่มการเกิด แต่ต้อง

  1. “เน้นที่คุณภาพ” ไม่ใช่ที่ปริมาณ เช่น การให้โภชนาการที่ดีต้องเริ่มตั้งแต่แม่ตั้งครรภ์ และเงินอุดหนุนเด็กเล็ก 0-6 ปีถ้วนหน้าเพื่อให้ครอบคลุม ไม่ตกหล่น
  2. ต้องให้ความสำคัญกับผู้หญิงมากขึ้น นอกจากบทบาทความเป็นแม่แล้ว ยังมีประเด็นเรื่องความเท่าเทียม และโอกาสในการใช้ศักยภาพทั้งในเรื่องของการงานและการช่วยเข้ามาดูแลลูก
  3. การกระจายอำนาจ เพื่อแก้ปัญหาอำนาจรัฐที่ถูกรวมศูนย์และใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ เพราะส่วนกลางไม่รู้เรื่องของคนท้องถิ่น และขาดความกระตือรือร้นในการหาวิธีใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพเพื่อประโยชน์ของคนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง

ศ.ผาสุก ยังชี้ให้เห็นประโยชน์จากการให้โอกาสกลุ่มแรงงานอพยพและลูก ๆ กลุ่มเด็กพลัดถิ่น ที่เข้ามาเป็นแรงงานในบ้านเราอย่างไม่ขาดสาย จะช่วยลดปัญหาขาดแคลนแรงงานโดยที่รัฐบาลไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูตั้งแต่เกิด และไม่ต้องแสวงหาแรงงานจากแดนไกล ดังนั้น ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อแรงงานอพยพ โดยมองว่าเป็น “ทรัพย์” สามารถช่วยเสริมเศรษฐกิจและมีส่วนร่วมในด้านต่าง ๆ โดยให้ความเป็นพลเมืองรวมถึงการจ่ายภาษีด้วย 

แต่การผลักดันสวัสดิการเด็กเล็กก็อาจไม่ง่ายนัก เพราะที่ผ่านมาสังคมไทยหวนกลับไปอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ที่แข็งแรง ดังนั้น การผลักดันให้เป็นจริงได้อยู่ที่การเจรจากับผู้มีอำนาจ แบบ “ยื่นหมู ยื่นแมว” เอาคะแนนเสียงแลกกับนโยบายที่เป็นประโยชน์กับประชาชน เพราะหากผู้กุมอำนาจบริหารในปัจจุบันอยากมีอนาคตทางการเมืองต่อไป ก็ต้องให้ความสำคัญกับข้อเรียกร้องเรื่องสวัสดิการต่าง ๆ เพราะวันนี้การทำการเมืองใช้ระบบอุปถัมภ์ไม่พอต้องยึดโยงกับความพึงพอใจของประชาชนเป็นหลัก

ด้านผู้บริหารท้องถิ่นอย่าง พงษ์ศักดิ์  ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา มองว่าการให้ความสำคัญกับเด็กเล็ก เชื่อมโยงกับมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน แต่นักการเมืองมักมองไม่เห็นเพราะเป็นการลงทุนที่ต้องใช้เวลา แต่หากมีการกระจายอำนาจมากขึ้น อย่างน้อยก็จะช่วย “ปลดล็อก” ข้อจำกัด ให้ท้องถิ่นสามารถจัดหางบประมาณเอง จากปัจจุบันที่รายได้มาจากไม่กี่ทาง เช่นการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งก่อสร้าง, ส่วนแบ่งจากการเก็บภาษีของรัฐบาล และเงินอุดหนุน แต่การดำเนินการเชิงพาณิชย์เพื่อหารายได้ทำได้เพียงบางอย่างเท่านั้น จึงเห็นว่าต้องทบทวนระเบียบเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของเทศบาลที่ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 เพื่อปรับให้สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน

ทุกวันนี้ศูนย์เด็กเล็ก ของเทศบาลนครยะลารับดูแลเด็กตั้งแต่อายุ 2 ปี แต่ยังมีช่องว่างเนื่องจากงบประมาณที่รัฐบาลให้มาเพื่อดูแลเด็กวัย 3-5 ปี ทำให้ต้องใช้งบฯ ท้องถิ่นมาถัวเฉลี่ยเป็นค่าอาหารกลางวัน และเพิ่มอาหารเช้าให้กับเด็กทุกคนด้วย แต่กลายเป็นปัญหาเพราะถูกตรวจสอบการใช้งบฯ และถูกตีกรอบให้คัดกรองสำหรับเด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการเท่านั้น หรือแม้แต่การซื้อนมแจกเด็กเพิ่มจากงบประมาณที่มีให้เพียง 260 วันต่อปีก็ทำไม่ได้  ซึ่งหากระเบียบต่าง ๆ มี “ความยืดหยุ่น” มากขึ้นจะช่วยให้ท้องถิ่นดูแลเด็กเล็กได้ดีและทั่วถึง  

ขณะเดียวกัน ก็ควร “ปลดล็อก” นิยามศูนย์เด็กเล็ก จากเดิมที่รองรับเด็กวัย 3-5 ปี ขยายเป็น 2-5 ปี เพื่อให้ได้งบฯ อุดหนุนมาทำงานมากขึ้น และที่สำคัญ ต้องปรับวิธีคิดจาก “การสงเคราะห์” เป็นครั้งคราว มาเป็น “การพัฒนา” ให้ดูแลได้ต่อเนื่อง โดยกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถออกเป็นระเบียบ เสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกระจายอำนาจเพื่อพิจารณาต่อยอดไปเป็นระบบสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า เป็นการจูงใจให้คนมีบุตรเพิ่มมากขึ้นด้วย    

5 ข้อเสนอ ถึงรัฐบาล เดินหน้าสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า

เสียงสะท้อนถึงข้อจำกัดของท้องถิ่น และประเด็นการกระจายอำนาจเพื่อขับเคลื่อนสวัสดิการเด็กเล็ก สอดคล้องกับข้อเสนอจากคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าเพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน 450 องค์กร ที่ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และพรคคการเมืองต่าง ๆ ทั้งในรัฐบาลและฝ่ายค้าน มีใจความสำคัญ คือ

  • ขอให้มีมติ ครม. ให้เงินอุดหนุนถ้วนหน้ากับเด็กทุกคนที่เกิดบนผืนแผ่นดินไทย ตั้งแต่แม่ตั้งครรภ์ จนถึงอายุ 6 ปี คนละ 3,000 บาท/เดือน
  • ขอให้มีมติ ครม. ขยายสิทธิลาคลอดเป็น 180 วัน เพิ่มระยะเวลาให้พ่อแม่ได้เลี้ยงดูลูกอย่างใกล้ชิด และเชื่อมต่อไปศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้รับเด็กเล็กตั้งแต่ 6 เดือน
  • ขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้มีจำนวนมากพอ กระจายตัวใกล้บ้านและที่ทำงาน รับเด็กเล็กตั้งแต่ 6 เดือนให้มีรูปแบบหลากหลาย ยืดหยุ่นเวลา เปิด-ปิด ให้สอดคล้องบริบทพื้นที่และวิถีชีวิตการทำงานของพ่อแม่ ผู้ปกครอง
  • ขอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่จัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สนับสนุนงบประมาณและบุคลากร ให้ศูนย์เด็กเล็กที่ยังไม่สามารถขึ้นทะเบียนจัดตั้งให้สามารถดำเนินการได้ตามมาตรฐาน
  • สนับสนุนให้มีนโยบายกระจายอำนาจอย่างจริงจังให้กับ อปท. โดยจัดสรรงบประมาณ บุคลากร และกำหนดอำนาจหน้าที่ในการดูแลศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาลให้มีคุณภาพมากขึ้น

ผศ.สุนี ไชยรส คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าเพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน ให้เหตุผลว่าไทยรับรองอนุสัญญาสิทธิเด็กแต่ยังไม่นำมาสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง ที่ผ่านมาสวัสดิการถ้วนหน้ามีอยู่แค่ในระบบประกันสังคม ที่ให้สิทธิลาคลอด 90 วันและมีเงินสงเคราะห์บุตร ครอบคลุมจำนวนคนแค่ 11 ล้านคน  ขณะที่คนวัยทำงานอีกกว่า 20 ล้านคนยังอยู่นอกสิทธิ

ขณะที่เงินอุดหนุนเด็กเล็กเดือนละ 600 บาท ให้กับเด็ก 0-6 จำนวน 9 หมื่นคน ในปี 2559 และขยับมาเป็น 2.3 แสนคนในปัจจุบัน  แต่ถ้าขยับเป็นการอุดหนุนถ้วนหน้าคลอบคลุมเด็ก 4.3 ล้านคน จะใช้เงินเพิ่มขึ้นจาก 3.4 หมื่นล้านบาท เป็น 1.5 แสนล้านล้านบาท ซึ่งไม่เกิน 1% ของจีดีพี 

ปัจจุบันสวัสดิการถ้วนหน้า ครอบคลุมเกือบทุกช่วงวัย ทั้งเบี้ยผู้สูงอายุ เบี้ยคนพิการ สิทธิบัตรทอง หรือเรียนฟรี 12 ปี ขาดก็แต่เพียง “เด็กเล็ก” ซึ่งทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า และสำคัญ จำเป็นต่อโจทย์ในอนาคตแต่ยังไม่ถูกขับเคลื่อนให้เป็นสวัสดิการถ้วนหน้าให้เป็นจริง

เด็กเล็ก

เพื่อไทย – ก้าวไกล – ประชาชาติ กับแนวทางพัฒนานโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า

ทพญ.ศรีญาดา  ปาลิมาพันธ์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย พูดถึงนโยบายพรรคที่เน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไปด้วยกัน  ในยุคของพรรคไทยรักไทยมีการก่อตั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อดูแลเด็ก สตรี คนพิการและคนชรา ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อพรรคได้เป็นรัฐบาลก็มีเป้าหมายคือการช่วยให้คนจนก้าวข้ามเส้นความยากจนแล้วจึงขยับไปทำสวัสดิการถ้วนหน้า แต่ทั้งสองครั้งก็สะดุดหยุดลงที่การรัฐประหาร

มาครั้งนี้รัฐบาลเพื่อไทยมุ่งเป้าไปที่ความเข้มแข็งของครัวเรือนผ่านนโยบาย 1 ครอบครัว 1 Soft Power เมื่อครอบครัวเข้มแข็ง อยู่ดีกินดี ก็จะช่วยให้อีกหลายปัญหาคลี่คลาย และรัฐจะจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น ซึ่งจะสามารถนำภาษีมาจัดสวัสดิการถ้วนหน้าให้ครอบคลุม แต่เมื่อมีคำถามถึงความเป็นไปได้ในการผลักดันสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าในรัฐบาลนี้ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทยบอกว่า ที่ผ่านมามีการเพิ่มจำนวนศูนย์เด็กเล็ก จาก 600 แห่งในปี 2544 วันนี้เพิ่มขึ้นมาเป็น 5 หมื่นแห่ง หลังมีการกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น สะท้อนให้เห็นว่าการลงทุนกับเด็กเล็ก อาจไม่ใช่แค่การเอาเงินไปใส่กระเป๋า แต่สามารถลงทุนผ่านโครงสร้างพื้นฐานก็ได้ ส่วนเรื่องเงินอุดหนุน 600 บาทถ้วนหน้า จะขอนำกลับไปหารือภายในพรรค เพื่อดูความเป็นไปได้ในการผลักดันต่อไป  

ด้าน พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และหัวหน้าพรรคประชาชาติ ยืนยันว่าพรรคยึดมั่นหลักการประชาธิปไตยหลักนิติธรรม ส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรม กระจายอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่น สร้างรัฐสวัสดิการตั้งแต่แม่ตั้งครรภ์ จนถึงเสียชีวิต เช่น เงินอุดหนุน 4,500 บาทต่อเดือน ตั้งแม่เริ่มตั้งครรภ์ ไปถึงอายุ 7 ปี  แต่สถานะวันนี้ พรรคประชาชาติเป็นพรรคร่วมรัฐบาล จะพยายามผลักดันเรื่องงบประมาณเด็กถ้วนหน้าโดยประสานข้อเสนอถึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมยอมรับว่ามีเสียงน้อยในสภาฯ ต้องจับมือกับพรรคที่มีอุดมการณ์ร่วมกัน ส่วนนโยบายส่งเสริมการมีบุตร หรือส่งเสริมการเจริญพันธุ์มีความจำเป็น แต่ต้องเอื้อให้พ่อแม่พร้อมในการสร้างครอบครัวและมีลูกได้ และสุดท้าย การปลดล็อก เพื่อกระจายอำนาจ นอกจากจะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถพัฒนาการจัดการสวัสดิการเด็กเล็กได้ดีมากขึ้นแล้ว ยังจะแก้ปัญหาการรวมศูนย์อำนาจที่ยึดระบบราชการเป็นใหญ่ รวมถึงปัญหาระบบการผูกขาดและปัญหาธรรมาภิบาลไปพร้อมกันด้วย 

ขณะที่ ณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เห็นว่าการมองเรื่องเงินอุดหนุนเด็กเล็ก ไม่ใช่แค่ถ้วนหน้าหรือไม่ หรือจำนวนเท่าไหร่ แต่คำที่ใหญ่กว่านั้นคือ “ระบบคุ้มครองเด็ก” เช่นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ต้องตอบโจทย์เงื่อนไขความจำเป็นแต่ละครอบครัวที่ไม่เหมือนกัน  ซึ่งทางพรรคก้าวไกล  จะใช้บทบาทของฝ่ายค้าน ขับเคลื่อนผ่านกลไกคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อดึงเรื่องนี้ขึ้นมาพูดอีกครั้ง เพราะสวัสดิการโดยรัฐไม่เหมือนกับสิทธิ และการลงทุนกับเด็กต้องมองเป็นการลงทุนเพื่ออนาคต   

ส่วนประเด็นเรื่องการเสนองบประมาณ โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชัดเจนว่าเมื่อเข้าสู่การพิจารณา สส. จะแปรญัตติเพิ่มงบประมาณไม่ได้ ดังนั้น เมื่องบประมาณยังไม่เข้าสู่การพิจารณา ยังมีเวลาที่ พม. สามารถปรับแต่งงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ และสุดท้าย คือ การใช้กลไกสภาฯ ในการตรวจสอบ ติดตามรวมถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจในฐานะฝ่ายค้าน

แต่ในสถานะและบทบาททางการเมืองที่ต่างกัน ทั้ง 3 พรรค ยังมีประเด็นที่เห็นร่วมกัน คือเรื่องของผลักดันสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าให้เกิดขึ้นจริง เป็นเงื่อนไขที่อยู่ในการเมืองหลังเลือกตั้ง ซึ่งจะดำเนินการให้เกิดขึ้นได้เร็วนั้นไม่ง่าย แต่ก็ยังไม่ปิดโอกาสหากมีการขับเคลื่อนต่อเนื่องให้ทุกฝ่ายเห็นตรงกันถึงความสำคัญของการลงทุนกับเด็กเล็กแบบ “ถ้วนหน้า” ซึ่งรอไม่ได้ และจะเกิดประโยชน์และความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยในอนาคต


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active