3 ชั่วโมงกับกิจกรรมเก็บขยะ เชียงใหม่ – ชลบุรี เราเจออะไรบ้าง? เมื่อกรีนพีซ ประเทศไทย สำรวจแบรนด์ขยะในสิ่งแวดล้อม
กรีนพีซ ประเทศไทย นำเสนอผลการตรวจสอบแบรนด์จากขยะพลาสติก (brand audit) ประจำปี 2563 พบขยะพลาสติกนับหมื่นชิ้น ถูกทิ้งในสิ่งแวดล้อม จัดลำดับแบรนด์สินค้าที่พบจากขยะพลาสติก 5 อันดับแรก ได้แก่ บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ กลุ่มบริษัทดัชมิลล์ โอสถสภา กลุ่มธุรกิจ TCP และ แลคตาซอย ตามลำดับ
กรีนพีซ หวังส่งต่อข้อมูลกระตุ้นให้ผู้ผลิตคำนึงถึงความรับผิดชอบทางสิ่งแวดล้อม การขับเคลื่อนนวัตกรรมของบรรจุภัณฑ์และการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
2563 นับเป็นปีที่ 3 ของ กรีนพีซ ประเทศไทย กับการชวนอาสาสมัครกว่า 70 คน ร่วมเก็บและตรวจสอบขยะพลาสติกที่จังหวัดชลบุรีและจังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมง สำหรับการลงพื้นที่เก็บขยะของทั้งสองจังหวัด สามารถเก็บรวบรวมขยะพลาสติกได้ทั้งหมด 13,001 ชิ้น จัดประเภทตามการใช้งานได้ ดังนี้
10 อันดับขยะพลาสติกที่ชลบุรี
- ถุงขนมกรุบกรอบ 991 ชิ้น
- เศษพลาสติก 691 ชิ้น
- ขวดพลาสติก 672 ชิ้น
- ถุงแกง 580 ชิ้น
- ฉลาก 479 ชิ้น
- แก้ว/ถ้วยโยเกิร์ต 305 ชิ้น
- พลาสติกใต้ฝาขวด 247 ชิ้น
- ฝาขวดเครื่องดื่ม 240 ชิ้น
- กล่องเครื่องดื่ม 209 ชิ้น
- ถุงหูหิ้ว 79 ชิ้น และ ขยะอื่น ๆ รวม 195 ชิ้น
10 อันดับขยะพลาสติกที่เชียงใหม่
- ถุงหูหิ้ว 2568 ชิ้น
- ถุงขนมกรุบกรอบ 1,108 ชิ้น
- หลอดน้ำดื่ม 1,063 ชิ้น
- ฝาขวดเครื่องดื่ม 524 ชิ้น
- ภาชนะใส่อาหาร 474 ชิ้น
- ขวดพลาสติก 465 ชิ้น
- กล่องเครื่องดื่ม 461 ชิ้น
- ฉลาก 416 ชิ้น
- แก้ว/ถ้วยโยเกิร์ต 387 ชิ้น
- พลาสติกใต้ฝาขวด 341 ชิ้น และ ขยะอื่น ๆ รวม 3,074 ชิ้น
ขยะทั้ง 13,001 ชิ้น สามารถจัดลำดับผลิตภัณฑ์พลาสติก ได้แก่ 1. บรรจุภัณฑ์อาหาร 8,489 ชิ้น 2. ผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน 3,273 ชิ้น 3. อื่น ๆ ที่ไม่รวมอยู่ในหมวด เช่น ของเล่น ฯลฯ 800 ชิ้น 4. ของใช้ส่วนตัว 339 ชิ้น 5. อุปกรณ์สำหรับสูบบุหรี่ 61 ชิ้น 6. อุปกรณ์หีบห่อสินค้า 36 ชิ้น
ส่วนประเภทพลาสติกที่พบตกค้างในสิ่งแวดล้อมมากที่สุด คือ 1. พลาสติกอื่น ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วยพลาสติกหลายชั้น (Multi Layer) หรือมีส่วนผสมของพลาสติกมากกว่า 1 ชนิด 3,763 ชิ้น 2. โพลีเอทิลีนความหนาแน่นสูง (HDPE) 2,740 ชิ้น 3. โพลีโพพีลีน (PP) 1,851ชิ้น 4. พอลิเอทิลีน เทเรฟทาเลต (PET) 1,686 ชิ้น 5. พลาสติกชนิด LDPE (Low Density Polyethylene) 1,573 ชิ้น 6. พลาสติกพีวีซี (PVC) 746 ชิ้น และพลาสติกพอลิสไตรีน (PS) 643 ชิ้น
เมื่อจัดประเภทตามกลุ่มบริษัทต้นทางการผลิต พบว่า 5 อันดับบริษัทที่พบมากที่สุด ได้แก่ 1. เครือเจริญโภคภัณฑ์ 493 ชิ้น 2. ดัชมิลล์ 464 ชิ้น 3. โอสถสภา 315 ชิ้น 4. กลุ่มธุรกิจ TCP 264 ชิ้น 5. แลคตาซอย 216 ชิ้น
การตรวจสอบแบรนด์ (Brand Audit) เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ร่วมกันของเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนในนาม Break Free From Plastic ที่เกิดขึ้นใน 55 ประเทศทั่วโลก เพื่อสำรวจว่าพบขยะพลาสติกจากแบรนด์ใดมากที่สุดที่ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม โดยอาสาสมัครนำขยะพลาสติกที่เก็บได้มาตรวจสอบแบรนด์สินค้าและประเภทของขยะพลาสติก ที่เก็บได้จาก 55 ประเทศ โดยพบว่าขยะจากผู้ผลิตแบรนด์ 3 อันดับแรกที่พบมากที่สุด ได้แก่ โคคา-โคล่า, เป๊ปซี่โค และเนสท์เล่
ทั้งนี้ เพื่อชี้ให้เห็นถึงผลกระทบจากการขาดความรับผิดชอบของผู้ผลิตในการจัดการพลาสติกจากผลิตภัณฑ์ของตัวเองตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะภาคการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค หรือ Fast Moving Consumer Goods (FMCG) กรีนพีซฯ จึงเรียกร้องไปยังภาครัฐ รวมถึงภาคธุรกิจ บริษัทต่างๆ ให้นำหลักการการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต หรือ Extended Producer Responsibility (EPR) และแผนงานลดรอยเท้าพลาสติก (plastic footprint) มาใช้ในประเทศไทย เพื่อการยุติการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ล้นเกินที่ออกแบบให้ใช้ครั้งเดียวทิ้งและกลายเป็นมลพิษในสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมมิติดังต่อไปนี้
- มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้โดยตรวจวัดและรายงานถึงปริมาณและชนิดของพลาสติกที่ใช้ การใช้ซ้ำ การนำกลับมาใช้ใหม่ การลดใช้และการกำจัดพลาสติกอย่างสม่ำเสมอทุกปีโดยหน่วยงานที่เป็นอิสระ
- จัดทำนโยบายลดพลาสติกและแผนการเปลี่ยนผ่านโดยประกาศเจตนารมย์ที่จะลดรอยเท้าพลาสติก (plastic footprint) จัดทำแผนการเปลี่ยนผ่านจากพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งไปสู่บรรจุภัณฑ์ที่สามารถใช้ซ้ำและ ระบบใหม่ในการกระจายสินค้า และเผยแพร่แผนดังกล่าวให้ชัดเจน โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีกรอบเวลากำหนดชัดเจน และเกณฑ์วัดเปรียบเทียบเพื่อที่จะติดตามความก้าวหน้าต่อสาธารณชนและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดในห่วงโซ่อุปทานของตน
- ลดละเลิกบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยเริ่มจากการกำจัดพลาสติกที่ไม่จำเป็นและสร้างปัญหาและกำหนดวันที่บรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งจะไม่ถูกนำมาใช้ในธุรกิจอีกต่อ ลงทุนกับระบบใช้ซ้ำและระบบกระจายสินค้าแบบใหม่
- ขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตต่อทั้งวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์รวมถึงจัดให้มีการเฝ้าติดตามและจัดการผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและทางสังคมต่อชุมชนท้องถิ่น และกำหนดให้ “ขยะในทะเล” เป็นส่วนหนึ่งในปัจจัยที่ใช้ในการประเมินวงจรชีวิตและการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมของสินค้าทั้งหมด
สำหรับหลักการการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต หรือ Extended Producer Responsibility (EPR) คือ หลักการที่ขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตไปยังช่วงต่าง ๆ ของวงจรชีวิตบรรจุภัณฑ์ เป็นแนวทางให้ผู้ผลิตคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบ กระจายสินค้า การรับคืน การเก็บรวบรวม การใช้ซ้ำ การนำกลับมาใหม่ และการบำบัด ดังตัวอย่างต่อไปนี้
- การออกแบบบรรจุภัณฑ์ บริษัทผลิตเครื่องดื่มออกแบบขวดน้ำอะไรไร้ฉลาก โดยใช้วิธีพิมพ์ฉลากเป็นลายนูนแทน ซึ่งช่วยลดพลาสติกจากฉลากลงได้
- การจัดเก็บระบบเรียกคืน ตั้งจุดรับคืนบรรจุภัณฑ์ตามแหล่งชุมชนที่หลากหลายและทั่วถึง เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย เช่น ผู้ผลิตเครื่องดื่มที่จุดรับคืนบรรจุภัณฑ์ของตนเองตามห้างสรรพสินค้า
- ระบบมัดจำขวด เช่น ผู้บริโภคซื้อเครื่องดื่มแล้วนำขวดบรรจุภัณฑ์มาคืน จะได้รับเงินคืนตามจำนวนที่ตกลงไว้
- การกระจายสินค้า ใช้ระบบการคืนบรรจุภัณฑ์ เช่น บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มใช้ขวดแบบใช้ซ้ำ ส่งเครื่องดื่มให้แก่ลูกค้า เมื่อดื่มเสร็จแล้วพนักงานจะรับไปทำความสะอาด แล้วนำขวดกลับมาใช้ใหม่ ซุปเปอร์มาร์เก็ตมีพื้นที่ขายสินค้าแบบรีฟิว ให้ลูกค้านำภาชนะมาใส่สินค้าเองได้
แนวคิดการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR) จะเกิดขึ้นได้ ถ้าหากมี…
- กฎหมายการจัดการมลพิษพลาสติก ที่ระบุขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตไปยังช่วงต่าง ๆ ของวงจรชีวิตของบรรจุภัณฑ์
- ความร่วมมือจากเจ้าของผลิตภัณฑ์ ในการริเริ่มนำหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตมาใช้โดยสมัครใจ
- ผู้บริโภคร่วมเรียกร้องให้ภาครัฐและผู้ผลิตนำหลักการ EPR มาใช้อย่างจริงจัง