เสียงสะท้อนในเวทีฟังเสียงกรุงเทพฯ ครั้งที่ 2 “เมืองปลอดภัย” ที่เครือข่ายปลุกปรุงเทพฯ กว่า 80 องค์กร ร่วมตกผลึกผ่านกิจกรรม และวงสนทนาเพื่อออกแบบเชิงนโยบายให้ถึงมือผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.
“ความปลอดภัยในกลุ่มเปราะบาง” เช่น เด็ก ผู้หญิง คนพิการ LGBTIQN+ ดำเนินกิจกรรมโดยที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิง และความเป็นธรรมทางเพศ เปิดวงสนทนาด้วยกิจกรรม “สอยดาว” โดยดาวแต่ละดวงจะแทนปัญหาในมิติต่าง ๆ เช่น ปัญหาการคุกคามทางเพศในพื้นที่สาธารณะ โดยเฉพาะแบบสอบถามที่ผู้หญิงร้อยละ 80 บอกว่าเคยเกิดขึ้นกับพวกเธอ แต่เวลาไปร้องเรียนหน่วยงานของ กทม. เหยื่อต้องเป็นฝ่ายหาหลักฐานเอง ไม่ลงตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุ จึงเสนอให้ กทม. มีระบบรับแจ้งเหตุที่เป็นธรรมต่อผู้เสียหาย
ขณะที่ปัญหาของกลุ่ม LGBTIQN+ ยังพบการกีดกันกันในสังคม อาชีพ พวกเขาเสนอให้บรรจุนโยบายเรื่องความหลากหลายทางเพศเข้าไปอยู่ในองค์กรรัฐ กลไกบริการสุขภาพกลุ่มเฉพาะ รวมถึงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้คนพิการเดินทางคนเดียวได้อย่างปลอดภัย ไร้รอยต่อ
จิตติมา ภาณุเตชะ ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิง และความเป็นธรรมทางเพศ หนึ่งในผู้นำกิจกรรม กล่าวว่า เวทีวันนี้ ช่วยตกผลึกข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริง เพราะเมืองปลอดภัยไม่ได้หมายถึงเพียงถนนหนทาง หรือ ไฟฟ้าส่องสว่าง แต่หมายถึงความรู้สึกในการใช้ชีวิตของผู้คน ซึ่งต้องอาศัยผู้บริหารเมืองที่ทำงานร่วมกับภาคประชาชน
“ถ้าเราจะบริหารและนำพาเมืองให้ไปสู่เมืองที่เราบอกว่าเป็นเมืองแห่งสุขภาวะ เมืองที่ปลอดภัย เมืองที่จะพัฒนาผู้คน โดยเฉพาะในมิติเรื่องของคุณภาพชีวิต คิดว่าคงจะละเลยเสียงเหล่านี้ไม่ได้ คงจะต้องนำไปสู่การวางยุทธศาสตร์และวางกลไก งที่จะสนับสนุนให้กลุ่มคนเล็กคนน้อยที่อาศัยอยู่ในเมือง แต่ไม่ใช่ปัญหาเล็กปัญหาน้อย ได้มีกระบวนการที่จะส่งเสียง ตรวจสอบการทำงานของคนที่จะเข้ามาเป็นผู้บริหารได้ตลอดการทำงาน ไม่ใช่แค่ฟังในเฉพาะช่วงที่เสนอนโยบายเท่านั้น”
จิตติมา ภาณุเตชะ
“อาหารปลอดภัย” เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ ThaiPAN ชวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมปลูกผักแบบรู้ที่มา ไปจนถึงการสร้างพื้นที่อาหารที่ปลอดภัย เนื่องจากบทเรียนในสถานการณ์โควิด-19 ที่คนเมืองเข้าไม่ถึงอาหาร จึงเสนอให้ผู้ว่าฯ กทม. คนต่อไป มีนโยบายทำให้เมืองผลิตอาหารได้เอง รักษาพื้นที่ผลิตอาหารให้ได้มากที่สุด ส่งเสริมให้ชุมชนเปลี่ยนขยะเป็นปุ๋ยอินทรีย์ มีระบบเฝ้าระวังวัตถุดิบและอาหารก่อนที่จะเข้ามาในเมือง และสร้างให้เกิดระบบการเชื่อมโยงอาหารปลอดภัย เช่น ในศูนย์เด็กเล็ก โรงพยาบาล ตลาดนัดสีเขียว โดยต้องสนับสนุนเม็ดเงินมากพอที่จะซื้ออาหารปลอดภัยเพื่อรองรับวิกฤตในอนาคต
“ความปลอดภัยชุมชน ผังเมือง ถนน การเดินทาง” บอกสิ่งที่ฝันผ่านบัตรคำขนาดใหญ่ ตั้งแต่ปัญหาโครงสร้างขั้นพื้นฐาน อย่าง ไฟฟ้าส่องสว่าง ปัญหาทางม้าลายที่ไม่ปลอดภัย ที่ดินรกร้างในเมืองที่กลายเป็นพื้นที่เปลี่ยว ไปจนถึงปัญหาในชุมชนแออัดที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ กทม. เครือข่ายเสนอให้ กทม. เร่งสนับสนุนระบบอุปกรณ์ป้องกันอัคคีภัยในชุมชนแออัด และตัวแทนคนรุ่นใหม่ขอเปลี่ยนพื้นที่รกร้างเป็นพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงได้ ใช้ทำกิจกรรมเพื่อสังคม ประชาธิปไตย