โค้งสุดท้าย ก่อนถึงวันเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ไทยพีบีเอส ร่วมกับเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ จัด “มหกรรมปลุกกรุงเทพฯ เปลี่ยนเมืองใหญ่ เลือกตั้งผู้ว่าฯ 65”
ช่วงบ่ายของวันที่ 16 พฤษภาคม เครือข่ายภาคประชาชนมากกว่า 80 องค์กร มารวมตัวกันที่ ไทยพีบีเอส ถ.วิภาวดีรังสิต ขณะที่บางส่วนก็ทำกิจกรรม เชื่อมร้อยผู้คนในเมือง หวังเป็นตัวกลางช่วยส่งเสียงจากกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย เพื่อรวบรวมเป็นข้อเสนอนโยบายถึงว่าที่ผู้ว่าฯ คนใหม่
อ่านเพิ่ม
เปิด “สมุดปกขาว” ข้อเสนอนโยบายภาคประชน ถึงผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.
BKK First voter “เดินเมือง” สำรวจปัญหา พิสูจน์ 350 บาท/วันใน กทม. พอใช้ ?
“การเมืองดีเพราะมีส่วนร่วมจากประชาชน” คือกิจกรรม Bangkok Active Forum ครั้งที่ 6 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนการประชันวิสัยทัศน์ของแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. เวทีสาธารณะ ทำหน้าที่ประมวลผลการจัดทำ “สมุดปกขาว: ข้อเสนอนโยบายภาคประชาชน” ซึ่งรวบรวมจากกิจกรรมของเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ตลอดสองเดือน และร่วมหาฉันทามติในการร่วมคิด ร่วมตรวจสอบ และมองความเป็นไปได้เชิงนโยบาย มุ่งให้อำนาจกับประชาชน แม้จะผ่านพ้นวันเลือกตั้ง 22 พฤษภาคม ไปแล้วก็ตาม
สำหรับผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่เข้าร่วมการประชันวิสัยทัศน์ในช่วงเย็น คือ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล หมายเลข 1 สกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 3 สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ หมายเลข 4 รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 7 และ น.ต. ศิธา ทิวารี ผู้สมัครจากพรรคไทยสร้างไทย หมายเลข 11 ส่วน พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง และ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ปฏิเสธการเข้าร่วมการแสดงวิสัยทัศน์ดังกล่าว
เวทีแสดงวิสัยทัศน์ของไทยพีบีเอส แบ่งคำถามออกเป็น 3 ชุด ชุดแรก คือ คำถามถึงอนาคตของกรุงเทพมหานคร ชุดที่สอง คือ คำถามจากภาคประชาชน ซึ่งมี 6 คำถาม และชุดสุดท้าย คือ คำถามจากโซเชียลมีเดีย
อ่านเพิ่ม
อะไรหนักใจที่สุด? ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.
1 คำจาก "ปลุกกรุงเทพฯ" ปัญหาคนกรุงถึงผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.
สำหรับคำถามชุดที่สอง ที่มาจากภาคประชาชน ผ่านการกลั่นกรองหลังจัดกิจกรรม Bangkok Active Forum: ฟังเสียงกรุงเทพฯ ทั้ง 6 ครั้ง รวมถึงเวทีย่อยที่เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ จัดเชิงประเด็นอีก รวมแล้วมากกว่า 10 เวที โดยทั้ง 6 คำถาม ผู้สมัครแต่ละคนมีสิทธิเลือกเพียง 3 คำถามเท่านั้น ดังนั้น การเลือกว่าจะตอบคำถามใด จึงสะท้อนประเด็นปัญหาที่ผู้สมัครแต่ละคนให้ความสำคัญ
The Active สรุปเนื้อหาการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้สมัครทั้ง 5 คน ในรูปแบบ Visual Note เพื่อเป็นตัวช่วยตัดสินใจในโค้งสุดท้ายนี้
เมืองน่าอยู่ คือ เมืองที่ยุติธรรม
และผู้ว่าฯ กทม. ต้องปลดล็อกตัวเอง
คำถามแรกที่ วิโรจน์ เลือก คือคำถามจากเมืองน่าอยู่และเมืองปลอดภัย ที่ถามถึง Mind Set หรือวิธีคิดของ ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่กับความหลากหลายของประชากรกรุงเทพฯ เขาบอกว่า เมืองน่าอยู่เป็นเมืองที่ยุติธรรม ไม่ได้อยู่ในระบบนิเวศเห็นแก่ตัวและต้องทนเห็นคนตัวใหญ่เอาเปรียบ ซึ่งเมืองนี้ไม่ได้ขาดภาคีเครือข่าย แต่ขาดงบประมาณ โดยทุกคนต้องร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน
“แม้จะมีข้อจำกัดต่างกัน แต่กลับพบว่าคนตัวใหญ่ได้รับบริการวีไอพี หลบเลี่ยงภาษี เช่น ที่ดิน ภาษีป้าย จะทำให้มีรายได้เพียงพอในการปรับปรุงสวัสดิการ และสวัสดิภาพของทุกคน”
เขายังพูดถึงนโยบายรถเมล์ชานต่ำที่อุดหนุนตั๋วรถเมล์ ด้วยงบฯ 700 ล้านบาท วัคซีนปอดอักเสบ 400 ล้านบาท อุดหนุนผู้สูงอายุ-เด็กเล็ก-คนพิการใช้งบฯ รวม 8,000 ล้านบาท สิ่งสำคัญคือแก้กติกาให้เป็นธรรม เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของทุกคน
“ที่สำคัญ กลไกข้อบัญญัติอาคารสูง ต้องดำเนินการสาธารณูปโภคสำหรับผู้พิการ ภารกิจนี้ไม่ใช่แค่ผู้ว่าฯ แต่ต้องเป็น ส.ก. ด้วย”
ต่อคำถามเรื่องเมืองเป็นธรรม ว่า คนจนเมือง จะมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงอย่างไร วิโรจน์ ยกตัวอย่างในต่างประเทศว่า หากจะสร้างคอนโดมิเนียมหรูและมีความสูง จะต้องจัดสรรพื้นที่ไว้แปลงหนึ่ง สำหรับสร้างที่พักให้คนที่ซื้อได้ด้วย หรือการสร้างอาคารสูง จะต้องจัดสรรพื้นที่ทำศูนย์อาหาร ซึ่งเป็นสิทธิของการอยู่ในเมือง
“สิ่งสำคัญ คือ แก้ข้อบัญญัติหรือกติกาการสร้างอาคาร เป็นภารกิจผู้ว่าฯ และ ส.ก. ให้คนทำงานมีสิทธิอยู่ในเมือง เนื่องจากรายได้ไม่เพียงพอค่าใช้จ่าย ค่าบ้าน ค่ารถ”
วิโรจน์ยังเสนอให้นำงบประมาณ จากการเก็บภาษีมาใช้และจัดให้คนทำงานได้มีที่อยู่อาศัยในเมือง รวมทั้งมีรถเมล์วิ่งผ่านที่พัก เพราะที่พักสวัสดิการทหารยังอยู่ในเมือง เขาบอกว่า ผู้ว่าฯ กทม. ต้องใช้กฎหมายผังเมืองเฉพาะ และทำงานกับการเมืองภาพใหญ่ ในการผลักดันค่ายทหารออกไปอยู่นอกเมือง เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยและสวนสาธารณะให้คนที่ทำงานในกรุงเทพฯ จริง ๆ
“ค่ายทหารมีความจำเป็นอะไรต้องอยู่ในเมือง แต่คนที่ทำงานในเมืองนี่สิ มีความจำเป็นต้องอยู่ในเมือง”
สำหรับคำถามที่ 3 ที่เขาเลือก คือ โครงสร้างการบริหาร กทม. ที่จะทำให้นโยบายของผู้สมัครมีผลเป็นรูปธรรม เขาระบุว่า คำว่า ติดล็อก คือ ล็อกตัวเอง กับ ล็อกราชการรวมศูนย์ ซึ่งผู้ว่าฯ กทม. จะต้องแก้ปัญหาล็อกตัวเองก่อน พรรคก้าวไกลไม่ได้ต้องการแค่เปลี่ยนคนในเกมเดิม แต่เราต้องการเปลี่ยนเกม โดยต้องการยกระดับการหารายได้ ด้วยการจัดเก็บภาษีที่ดินจากคนตัวใหญ่ที่เอาเปรียบ ภาษีป้ายจากนายทุนบิลบอร์ด ค่าขยะจากนายห้างใหญ่ที่จ่ายถูกมาก ซึ่ง ส.ก.ของก้าวไกล กล้าที่จะแก้ข้อบัญญัติ
“การจัดงบฯ ต้องไม่ใช่ให้กับนายทุน ผู้รับเหมา ทำโครงการอุโมงค์ยักษ์ แต่ต้องกระจายไปใช้ในระบบระบายน้ำ การสร้างเขื่อน และบำรุงรักษาสถานีสูบน้ำ ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง”
ทุกอย่างขึ้นกับ ส.ก. ในการอนุมัติงบฯ ซึ่งผู้ว่าฯ เดิม ๆ มักใช้ส่วนนี้เป็นข้ออ้าง และปล่อยให้ติดปัญหานั้น ๆ หากแก้ไม่ได้ต้องผลักดันเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ส่วนความโปร่งใสนั้น จะต้องมีคณะกรรมการ 1 ชุด ดูแลป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชัน ทบทวนกฎระเบียบที่ล้าสมัย เพื่อไม่ให้ข้าราชการนำปัญหาขั้นตอนมากมายและล้าหลัง ไปเรียกรับผลประโยชน์ พร้อมยืนยันว่าจะทำเป็นเรื่องแรกหากได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.
ถ้ามีผู้ว่าฯ ชื่อ สกลธี…
กรุงเทพฯ จะเป็นเมืองที่ตอบโจทย์คนทุกเพศทุกวัย
สำหรับคำถามเมืองน่าอยู่และเมืองปลอดภัย สกลธี กล่าวว่า มีความเชื่อว่าเมืองคือคน คนคือเมือง นโยบายจึงจะตอบโจทย์ตั้งแต่เกิดยันคนสูงอายุ รวมทั้งคนพิการ คนทุกเพศทุกวัยต้องเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ บางจุดมีการอยู่แบบแออัด จึงต้องการพื้นที่สีเขียว
เขาบอกว่ากลุ่มคนพิการทั้งหมดต้องทำให้เป็นกระบวนการเดียวกัน ก่อนหน้านี้เคยพูดคุยกับกลุ่มคนพิการจึงทราบว่า เขาไม่ได้ต้องการเงินที่พิเศษไปกว่าคนอื่น แต่ต้องการอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี และสิ่งที่อยากให้เกิดอารยสถาปัตย์ ซึ่งต้องทำให้เป็นยูนิเวอร์แซลในพื้นที่สาธารณะ ตัวจุดเปราะบางทางต่างระดับ ต้องทำให้เป็นระดับเดียวกัน ขนส่งสาธารณะต้องเป็นมิตรกับคนพิการและทุกเพศทุกวัย
“คนที่ไม่เคยเป็น จะไม่รู้ความรู้สึก ต้องเอาหัวใจของคนทุกเพศทุกวัยมาใส่ในการวางแผนงบฯ และนโยบายของ กทม.”
ขณะที่คำถามเรื่องเมืองสุขภาพ สกลธี ตั้งเป้าพัฒนาศูนย์สาธารณสุข กทม. เป็น รพ. โดยกล่าวว่า สาธารณสุขเป็นนโยบายหนึ่งที่ต้องเกิดขึ้นในยุคของผู้ว่าฯ ชื่อสกลธี จากที่เรามีศูนย์สาธารณสุข 69 ศูนย์ ใน 50 เขตของ กทม. แต่จะทำอย่างไรให้กระจายงบฯ ให้ถึงศูนย์ฯ เหมือนโรงพยาบาลประจำเขต ทำให้คนในชุมชนไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ต้องหาเงินมาใส่ตรงนี้
“ใน 2 ปีแรกของสกลธี จะทำให้ศูนย์ฯ 69 แห่ง เป็นโรงพยาบาลประจำเขตให้ได้ ใช้ริสแบนด์มาดูแลกลุ่มคนสูงอายุและใช้ระบบเทเลเมดิซีน (Telemedicine) เพื่อลดการเดินทาง”
ส่วนคำถามเรื่อง โครงสร้างการบริหาร กทม. เขาบอกว่า ผู้ว่าฯ กทม. ต้องทำงานประสานหลายหน้า เพราะเคยเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. มา 4 ปี เห็นปัญหามาก ๆ เพราะผู้ว่าฯ ไม่ได้มีอำนาจเต็ม เช่น ปัญหาจราจร มีอำนาจแค่ขีดสี ตีเส้น ตั้งสัญญาณ แต่คนใช้คือตำรวจ ส่วนถนนขับไปเจอ ถ.วิภาวดีรังสิต ก็เป็นของกรมทางหลวง แต่เวลามีปัญหากลายเป็น กทม. ไม่แก้ปัญหาอะไร
สกลธี กล่าวอีกว่า สิ่งที่ติดล็อกคือกฎหมาย เพราะมีข้อบัญญัติที่ล็อกอยู่ เงินของ กทม. จะลงได้เฉพาะในที่เอกชนเท่านั้น เช่น ถนนน้ำท่วมหน้าบ้านมาเป็น 10 ปี เงิน กทม. เอามาลงไม่ได้ แต่ผู้ว่าฯ สกลธี จะเป็นคนแรกที่จะแก้ข้อบัญญัติให้เอาเงินมาแก้ปัญหา ให้ชาวกรุงเทพฯ ในทุกตารางนิ้ว
เขาบอกว่า พยายามขายนโยบายมาตลอด จะเป็นคนแรกที่หาเงินเป็นและใช้เงินเป็น เงินที่ได้อุดหนุน 8 หมื่นล้านบาท หลังจากหักค่าใช้จ่ายในแต่ละเขตจะเหลือแค่หลักหมื่นล้านเท่านั้น ไม่พอใช้กับ 50 เขต
“อุปสรรคคือไม่มีคนคิดที่จะหาไปทำตรงนั้น เพราะถ้าหาเงินมาจะเป็นภาระ”
ตั้งเป้าเทคโนโลยีทันสมัยพัฒนาคนเมือง
เข้าถึงข้อมูล ลดอาชญากรรม
สุชัชวีร์ ตอบคำถามแรกจากเมืองน่าอยู่ว่า วิธีที่ดีที่สุดคือ “เข้าใจ” และ “เข้าถึง” คือต้องเข้าใจว่าคนพิการไม่ต้องการอะไรมากกว่าคนอื่น โดยเมืองนี้ต้องดูแลทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นคนพิการ คนสูงอายุ เด็ก ผู้หญิง เรื่องการเข้าถึงทางกายภาพของคนพิการที่ผ่านมาพยายามผลักดันมากที่สุดเรื่องหนึ่ง ซึ่งในฐานะวิศวกรเขามีมาตรฐานโลกว่าต้องทำอย่างไรให้คนเข้าถึงได้ แต่ที่ผ่านมาก็ยังทำได้ไม่เต็มที่ หากได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะนำความรู้ความเข้าใจมาทำให้ฟุตปาทกรุงเทพฯ มีมาตรฐานสากล ในส่วนของ “การเข้าถึง” คนพิการต้องได้รับการดูแล การเรียนรู้มีโอกาสการศึกษาไม่น้อยกว่าคนอื่น ไปจนถึงเรื่องการดูแลรักษาพยาบาลที่พยายามยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง และ โรงพยาบาล 11 แห่ง ที่จะดูแลคนพิการและสูงอายุได้ทั้งหมด
ขณะที่คำถามเรื่องเมืองสุขภาพ สุชัชวีร์ ตอบว่าสิ่งแรกที่จะทำ คือ เมื่อเป็นผู้ว่าฯ กทม. จะลงไปดูแล กำชับการทำงานเรื่องโควิด-19 เพราะกำลังจะเปิดเมือง เปิดประเทศ วันนี้จุดอ่อนคือระบบราชการ ในเวลา 90 วันแรก จะไปปรับตรงนี้ โดยเฉพาะจุดอ่อนเรื่องความลักลั่น ที่สุดท้ายแล้วศูนย์การสาธารณสุขชุมชน ศูนย์การสาธารณสุข กทม. เป็นเพียงพื้นที่ส่งต่ออย่างเดียว ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องเงิน แต่เป็นเรื่องการวางแผน
“ใครจะไปรู้โรคอุบัติใหม่อาจจะกลับมาก็ได้ จะใช้วิกฤตเป็นโอกาสในการเตรียมความพร้อมสำหรับในอนาคต”
ขณะที่ระยะถัดมา ภายใน 6 เดือน เขาบอกว่าศูนย์บริการสาธารณสุขจะมีหมอ อาคารตอนนี้พร้อมแล้ว โดยเติมหมอลงไป ให้หมอ 3 วันต่อสัปดาห์ และมีนักกายภาพบำบัด นักจิตบำบัด ในระยะยาว กทม. จะดูแลครบถ้วน โรงพยาบาล กทม. ทั้ง 11 แห่ง จะยกระดับเป็นโรงพยาบาลที่มีผู้เชี่ยวชาญ เพื่อลดความแออัดในการให้บริการ และยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุขอีก 69 แห่ง เมื่อมีหมอก็จะมีเครื่องมือแพทย์
“ผมรู้ว่าจะต้องทำอย่างไร ระบบทุกอย่างจะออนไลน์หมด และดูแลยามฉุกเฉินได้ และ 4 ปีเครือข่ายโรงพยาบาลทั้ง 80 แห่งจะเชื่อมโยงทุกโรงพยาบลใน กทม. ระบบโรงพยาบาลใน กทม. จะไร้รอยต่อให้เหมือนกับเมืองหลวงในประเทศต่าง ๆ”
ส่วนคำถามเรื่องเมืองทันสมัย Civic Tech และ Gov Tech กับการพัฒนาทักษะดิจิทัลให้คนกรุงเทพฯ สุชัชวีร์ เป็นเพียงคนเดียวที่เลือกตอบคำถามนี้ เขาบอกว่า คาดหวังเรื่องนี้จากผู้ว่าฯ ที่ชื่อ สุชัชวีร์ ได้เลย ซึ่งวิสัยทัศน์ชัดเจน เพราะต้องการเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองสวัสดิการที่ทันสมัย ต้นแบบของอาเซียน มีความเชื่อว่า เราเสียโอกาสมามากแล้ว ในการใช้เทคโนโลยีบริการประชาชนและจะหยุดปัญหาซ้ำซาก
“จุดกำเนิดคือ คนกรุงเทพฯ ต้องได้ใช้อินเทอร์เน็ตฟรี เพราะลดค่าใช้จ่ายและสร้างโอกาสในการเปลี่ยนแปลง ต้องการส่งสัญญาณว่า รัฐรู้แค่ไหนประชาชนรู้แค่นั้น บอกให้ชัดว่า สนับสนุนการทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่คนที่สนใจเทคโนโลยี”
สุชัชวีร์กล่าวต่อว่า เทคโนโลยีที่จะเอามาใช้คือ กล้อง CCTV ไวไฟ ที่เชื่อมโยงกับอินเทอร์เน็ตฟรี ซึ่งเคยนำไปใช้แล้วที่ชุมชนพิพัฒน์ 2 เขตบางรัก อีกเทคโนโลยีต้องมีคือ คนไม่จำเป็นต้องไปเขตอีกต่อไป คือ ลดเวลา ช่วยประหยัดงบประมาณ ลดปัญหาการคอร์รัปชันในการขออนุญาตต่าง ๆ จะค่อย ๆ หายไป เพราะจะเห็นฟุตพรินท์ทุกอย่าง
นอกจากนี้ การติดตามข้อร้องเรียนจะเห็นขั้นตอนทั้งหมด หรือ ปัญหาการสร้างตึกผิดที่จะไม่เกิดขึ้นเพราะเทคโนโลยีจะล็อกห้ามไว้การใช้ดุลพินิจจะหายไป ตั้งใจจะใช้เทคโนโลยีในการเปลี่ยนเมือง ยกระดับชีวิตคนกรุงเทพฯ ให้โปร่งใส เท่าเทียมกัน
ย้ำแนวคิดกระจายอำนาจ จัดสรรงบฯ กทม.
สุขภาพ ต้อง “สร้าง นำ ซ่อม”
รสนา เลือกตอบคำถามเรื่องเมืองสุขภาพ เมืองเป็นธรรม และเมืองมีส่วนร่วม เธอบอกว่าเรื่องสุขภาพจะต้องทำให้เกิด “สร้าง นำ ซ่อม” การจะมีสุขภาพดี ต้องมีความรับผิดชอบต่อตัวเองด้วย มีอาหารที่ปลอดภัย โดยจะสนับสนุนให้มีการกินอาหารที่เป็นอินทรีย์ ใช้พื้นที่ว่างในกรุงเทพฯ ส่งเสริมให้คนทำ Urban Farming ในลักษณะที่เป็นเกษตรธรรมชาติมากขึ้น
เธอบอกอีกว่า เวลาเจ็บป่วย 80% เป็นโรคที่เราดูแลกันเองได้ ดูแลตัวเองได้ ฉะนั้น จะสนับสนุนให้องค์กรต่าง ๆ ในภาคประชาสังคมได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ให้ความรู้กับประชาชนในการดูแลโรค
ส่วน 69 ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. จะต้องมีการพัฒนา ให้แต่ละเขตมีโรงพยาบาล โดยทั้ง 69 ศูนย์ ควรมีการส่งเสริมให้ทำงานทั้ง 24 ชั่วโมง ส่งเสริม อสส. กทม. และเครือข่ายภาคประชาชน เข้ามามีส่วนร่วม ทำให้คนเหล่านั้นมีความรู้ ในการช่วยกันดูแลกัน
ในส่วนของ โรงพยาบาล กทม. จะทำให้มีการเชื่อมประสาน ดึงคนที่มีวิชาชีพที่เกษียณแล้วเข้ามามีส่วนร่วม เช่น หมอ พยาบาล นักการสาธารณสุข
ส่วนประเด็นคนจนเมือง ที่เน้นไปที่ปัญหาที่อยู่อาศัย รสนา กล่าวว่า คนจนเมืองเป็นคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งที่เป็นแรงงานสร้างความร่ำรวยให้กับเมือง แต่รัฐไม่ให้ความสนใจเรื่องความเป็นอยู่ของพวกเขา ยกตัวอย่างเรื่องชุมชนแออัดที่คลองเตย ซึ่งเป็นมหากาพย์ พยายามไล่พวกเขาไปหาที่อยู่ใหม่ แต่แก้ไขมา 30 ปีก็ยังเป็นปัญหา ทั้งนี้ รัฐควรยอมให้มีพื้นที่สำหรับประชาชน ที่มีส่วนสร้างเมือง ทำไมรัฐสามารถให้พื้นที่กับนายทุน เจ้าสัว เช่าที่ดิน 50-90 ปี ทำไมไม่สามารถทำให้ประชาชนคนจนเหล่านี้ ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ จะเข้าไปร่วมกับคนจนเมือง เจรจากับเจ้าของพื้นที่ทำให้คนจนเมืองได้มีที่อยู่อาศัย
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่พวกเขายังไม่มีที่อยู่อาศัย กทม. มีหน้าที่ ต้องจัดสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้พวกเขา ที่ผ่านมาจะอ้างว่ามีการบุกรุก ทำให้บางพื้นที่ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ ต้องใช้น้ำไฟ แพงว่าที่อื่น ซึ่งอันนี้ไม่เป็นธรรม กทม. ต้องเข้าไปจัดการเรื่องนี้ รวมไปถึงดูแลการศึกษาของเด็กที่อยู่ในชุมชนเหล่านั้น ซึ่งครอบครัวที่ยากจนมีโอกาสที่เด็กจะหลุดจากระบบการศึกษา ซึ่งเด็กเยาวชนมีความสำคัญต้องเข้าไปช่วยเหลือ ช่วยให้ได้เรียนฟรีร้อยเปอร์เซ็นต์ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ครอบครัวได้มีที่ทำมาหากินและมีเงินกู้ เล็ก ๆ ให้เขาสามารถกู้ยืมเงินไม่ต้องไปเจอหนี้นอกระบบ
สำหรับประเด็นตัวชี้วัดการมีส่วนร่วม รสนา กล่าวว่า การบริหารงานท้องถิ่นเป็นงานที่ได้รับการกระจายอำนาจ ซึ่งสามารถทำงานร่วมกับประชาชน และเป็นจุดเริ่มต้นการสร้างประชาธิปไตยทางตรง หรือแบบปรึกษาหารือ ส่วนตัวมีนโยบายกระจายงบฯ เขตละ 50 ล้านบาท ซึ่งหลายคนคิดว่า กทม. ควรเริ่มต้นเลือก ผอ.เขต แต่กฎหมายยังไม่เปิดช่อง
ตนจะใช้นโยบายกระจายงบฯ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมทำในสิ่งที่สนใจ เช่น สิ่งแวดล้อม พื้นที่สีเขียว สาธารณสุข อีกทั้ง ผอ.เขตต้องดำเนินการร่วมกับประชาชน ดึงจุดเด่นของแต่ละเขต และให้ประชาชนประเมิน ผอ.เขต รวมทั้งผู้ว่าฯ กทม.
เริ่มต้นจะทำให้ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครหลังเก่า ที่เสาชิงช้า เป็นพื้นที่ของประชาชน พื้นที่คนรุ่นใหม่ ในการจัดการประชุม สร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ห้องสมุด ถือเป็นจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยทางตรง หรือประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม
ปลื้มคำแนะเครือข่าย “ไม่ต้องทำเองทุกอย่าง”
ดัน บล็อกเชน แก้ปัญหาเมือง
ศิธา ให้ความสำคัญกับ เมืองน่าอยู่ เมืองปลอดภัย เมืองเป็นธรรม และเมืองมีส่วนร่วม เขากล่าวว่า ความไม่เท่าเทียมไม่ได้เน้นแค่ผู้พิการ แต่ยังรวมถึงคนที่มีอัตลักษณ์แตกต่าง ที่จะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยจะต้องมีการกำหนดนโยบายและงบประมาณ ให้คนกลุ่มนี้ ให้เข้าถึงบริการต่าง ๆ เพราะเงินภาษีต้องใช้กับทุกคนไม่ได้บอกว่าต้องใช้กับคนเพศอะไร พิการหรือไม่พิการ สำหรับเรื่องของผู้หญิงมีภาคประชาชนปักหมุดจุดเสี่ยงแต่ภาครัฐไม่เคยเข้าไปดูทั้งที่สามารถแก้ไขด้วยเงินจุดละไม่ถึงหนึ่งหมื่นบาท รวมทั้งต้องกลับมาดู LGBQT+ ในเรื่องสวัสดิการของคนกลุ่มนี้ โดยสรุปคือจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ส่วนเรื่องเมืองเป็นธรรม เขาบอกว่า ปัญหาคนไร้บ้านมีความรุนแรงยิ่งกว่าคนที่อยู่ในชุมชนแออัด ซึ่งทางกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ไปสำรวจร้อยคนว่าหากมีที่ให้อยู่ มีอาหารให้กินจะไปอยู่หรือไม่ โดยพบว่ามีคนที่อยากไปอยู่แค่สองสามคน ซึ่งเขาไม่ใช่คนอินดี้ แต่คนเราต้องมีทั้งชีวิตและชีวา คนไร้บ้านไม่ได้ต้องการเป็นขอทาน เขาต้องการของาน ไม่ได้อยากขอเงิน อย่างมูลนิธิกระจกเงาที่ทำโครงการ “จ้างวานข้า” เพื่อจ้างงานคนเหล่านี้ ถือเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ภาครัฐต้องนำองค์กรเหล่านี้เข้ามาช่วยเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ
ขณะที่เรื่องชุมชนแออัด ส่วนตัวเคยไปนอนกับชาวบ้านที่ถูกไฟไหม้คลองเตย ปูผ้ายางนอนใต้ทางด่วนเดือนครึ่ง รับรู้ความรู้สึกของพวกเขา ทำให้เห็นว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกต้อง ที่ไปไล่รื้อบ้านเขา บางคนต้องย้ายไปอยู่ที่ มีนบุรี หนองจอก ทั้งที่ต้องทำงานในเมือง สิ่งที่ไม่มีใครมองเห็นคือพวกเขาเป็นแรงงานที่ไม่มีใครอยากทำ ค่าแรงต่ำ การแก้ไขสามารถทำได้ เช่น คลองเตยที่ดินส่วนใหญ่เป็นของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ประมาณ 2,000 ไร่ ใช้ประโยชน์ไม่ได้ เพราะมีชุมชนแออัด สามารถจัดสรรใหม่ให้พวกเขาไปรวมกันได้ ในเนื้อที่ 500 ไร่ ยังมีที่เหลืออีกพันกว่าไร่ หากพัฒนาก็จะมีมูลค่ายิ่งกว่าถนนสุขุมวิท เพราะเป็นที่สวยติดแม่น้ำ คนจนก็จะอยู่ในเมืองได้ เพราะเขาเป็นแรงานในเมือง
“ผมยืนยันว่าคนจนในเมือง จำเป็นต้องอยู่ในเมือง”
สำหรับประเด็นการมีส่วนร่วม ศิธา ระบุว่า ภาครัฐและ กทม. ทำงานเหมือนกรรไกรที่คมด้านบนด้านเดียวมาตลอด มีเพียงงบประมาณและนโยบาย ไม่เคยรับฟังเสียงจากประชาชน จึงต้องรับกรรไกรจากด้านล่างให้มีความคมด้วย
เขาบอกว่า เห็นด้วยกับเครือข่ายภาคประชาชนที่บอกว่า “คุณไม่ต้องทำเองทุกอย่างก็ได้” เพราะมีประชาชน มีเครือข่าย มีอาสาสมัครมากมายที่พร้อมจะพัฒนาให้บ้านเมืองดีขึ้น จึงจะดำเนินการ 2 ส่วน คือ ออฟไลน์ ให้มีสภาชุมชน ทุกคนมีส่วนร่วมทั้งหมด กิจกรรมต่าง ๆ คนต่างจังหวัดก็ต้องมีส่วนร่วมได้
“ออนไลน์” ผมจะสร้างระบบ Decentralized autonomous organization (DAO) ให้คนที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้น ๆ เข้าไปใช้งานได้ ทั้งการโหวต จัดสรรงบประมาณ โยกย้ายข้าราชการ และส่งเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ หากทำได้เช่นนี้ ผมเชื่อว่าประเทศเราจะเจริญมากกว่านี้เยอะ”