หนทางสู่ ‘เมืองเป็นธรรม’ ที่ประชาชนเข้าถึงได้

ด้วยอำนาจและหน้าที่ ‘ผู้ว่าฯ กทม.’ ลดความเหลื่อมล้ำได้จริงหรือ ?

นิยามของ ‘เมืองเป็นธรรม’ ในมุมมองของแต่ละคน ถูกหยิบยกเป็นประเด็นสำคัญในการนำเสนอเป็นนโยบายประชาชน และแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์กับผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ในเวที Bangkok Active Forum หัวข้อ “เมืองเป็นธรรม” ที่ Thai PBS และเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ จัดขึ้น ถือเป็นเวทีที่ 4 เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายถึงผู้ว่าฯ กทม. คนต่อไป

The Active และเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ร่วมสรุปเนื้อหาในรูปแบบ Visual Note

“เด็กเป็นธรรม สุขภาพเป็นธรรม สวัสดิการเป็นธรรม”
3 ฐานคิดเมืองเป็นธรรม

เมืองเป็นธรรม แนวคิด

ปัญหาการเข้าถึงที่อยู่อาศัยของกลุ่มคนจนเมืองและผู้มีรายได้น้อย เป็นประเด็นสำคัญที่กระทบต่อความมั่นคงในชีวิตหลายยุคหลายสมัย แต่เครือข่ายภาคประชาชนบอกว่าแทบไม่มีผู้สมัครคนไหน ชูนโยบายเรื่องที่อยู่อาศัยเพื่อคนจนเมือง ในการเลือกตั้งครั้งนี้

คนจนเมือง เป็นฟันเฟืองสำคัญของการพัฒนาเมือง แต่ผู้คนจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงที่อยู่อาศัย เสี่ยงต่อการถูกไล่รื้อชุมชน จากโครงการพัฒนาภาครัฐ อีกทั้งยังมีชุมชนที่ไม่ได้จดทะเบียน เข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน หรืออาจสร้างภาระค่าใช้จ่ายให้กับคนจนมากขึ้น พวกเขาจึงอยากเห็นผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. แสดงความจริงใจแก้ปัญหา โดยเฉพาะการพัฒนาเมือง ที่ไม่จำกัดอยู่แค่การเช่าพื้นที่เป็นศูนย์การค้า หรือสวนสาธารณะ แต่ต้องทำให้เกิดความเป็นธรรมในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยด้วย ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องไปยังสวัสดิการเป็นธรรมด้านอื่น ๆ

ขณะที่ ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ มีการยกตัวอย่าง ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านสวัสดิการขั้นพื้นฐาน ที่ยังมีความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจน คนรวย เช่น การเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ ระบบประกันสังคม ผ่านการเล่น “เกมบำนาญ” ที่ชวนให้ผู้เล่นเข้าใจแนวคิดรัฐสวัสดิการ การมีหลักประกันความมั่นคงของประชาชน ผ่านการบริหารจัดการภาษี ที่ทำให้คนในชุมชนคลองเตยเห็นถึงปัญหา และสิทธิในการเรียกร้องคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า โดยยกตัวอย่างในวิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้เห็นว่ากรุงเทพฯ ต้องมีหน่วยบริการสุขภาพใกล้บ้าน เครือข่ายหลักประกันสุขภาพ จึงเสนอให้ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ ยกระดับคุณภาพศูนย์บริการสาธารณสุข เป็นโรงพยาบาลใกล้บ้าน

สวัสดิการเพื่อเด็กเล็ก ยังเป็นอีกฐานกิจกรรม ที่เครือข่ายภาคประชาชนชวนให้คิดถึงกลไกในฝันเพื่อนำไปสู่เมืองที่เด็กได้รับความเป็นธรรม โดยอยากเห็นทั้งทุกเขต ของ กทม. มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ที่มีคุณภาพ เพราะปัจจุบันมีเพียงการดำเนินการของเอกชน และมูลนิธิต่าง ๆ ซึ่งไม่ครอบคลุมทุกเขต รวมถึงผู้ว่าฯ กทม. ต้องสนุบสนุนเงินอุดหนุนเด็กเล็ก 0-6 ปี 600 บาทแบบถ้วนหน้า แทนในส่วนของรัฐบาล ซึ่งปัจจุบันยังพบว่ามีกว่า ร้อยละ 40 หรือ 6 หมื่นคน ที่ไม่เข้าเกณฑ์ ซึ่งทั้งสองข้อเสนอยังสัมพันธ์กับการช่วยลดภาระผู้ปกครอง ที่ต้องทำงานหาเช้ากินค่ำอีกด้วย

จากฐานคิดสู่ข้อเสนอนโยบาย “เมืองเป็นธรรม”

เมืองเป็นธรรม นโยบาย

“ขับคนจนออกจากเมือง พัฒนาเป็นศูนย์การค้า สวนสาธารณะ คือเมืองที่เป็นธรรมแล้วจริงหรือ” คือคำถามแรกจาก นุชนารถ แท่นทอง เครือข่ายสลัมสี่ภาค ที่ใช้เปิดการสนทนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับทีมผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.

ความไม่แน่นอนในที่อยู่อาศัย ยังส่งผลต่อการถูกไล่รื้อชุมชนเป็นลำดับแรก ๆ เมื่อมีนโยบายพัฒนาเมือง แต่ กทม. ไม่เคยมีแผนรองรับประชากรกลุ่มนี้ว่าต้องย้ายไปอยู่ที่ไหน เหมาะสมกับบริบททางสังคมหรือไม่ ผู้ว่าฯ กทม. ควรจะมีแนวคิดนำที่ดินมาเป็นที่อยู่อาศัยราคาถูก หรือให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงจริง ๆ

“การนำที่ดินของรัฐมาสร้างศูนย์การค้าแต่ไล่รื้อพวกเรา รวมถึงการให้สัปทานที่ดินระยะยาว 99 ปี แต่ไม่ได้คำนึงถึงพวกเราที่เป็นฐานเศรษฐกิจใหญ่ของประเทศ เมืองนี้ต้องเป็นธรรม เราเป็นแรงงานไม่ว่ายากดีมีจน ก็ต้องสามารถที่จะอยู่ในเมืองได้ ไม่ใช่ขับเราออกนอกเมือง แล้วเอาเรื่องรถไฟฟ้ามาบอกว่าไปกลับได้ ไม่จริงหรอกค่ะ ค่ารถไฟฟ้าอัตราเริ่มต้นก็กินค่าแรงเราไปครึ่งหนึ่งแล้ว”

สอดคล้องกับ นิมิตร์ เทียนอุดม เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ที่บอกว่า การไม่มีที่ดิน ไม่มีทะเบียนบ้าน ทำให้ประชาชนไม่รู้ว่าจะต้องไปใช้สิทธิรักษาที่ไหน เช่นเดียวกับประชากรแฝงที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ การจะมีหน่วยบริการสุขภาพดูแลยามเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ ยิ่งไม่ต้องพูดถึง จึงเสนอว่า หากยังไม่สามารถทำให้หลักประกันด้านรายได้เสมอทุกช่วงวัยได้ เบื้องต้นอยากเห็นเริ่มต้นในกลุ่มผู้สูงอายุ ว่าจะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุในกรุงเทพฯ มีข้าวกินครบ 3 มื้อ หรือพอกับเส้นความยากจนในปัจจุบัน ซึ่งปลายทางก็คือการเปลี่ยนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นบำนาญแห่งชาติ

แต่โจทย์สำคัญของ กทม. โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา คือ ระบบหลักประกันสุขภาพที่มีหน้าที่จ่ายแทนประชาชน แต่ปัญหาคือใน กทม. ไม่มีหน่วยบริการเพียงพอที่จะดูแลคนในพื้นที่ที่ใกล้ตัวที่สุด แต่ในกรณีที่เจ็บป่วยมีอาการรุนแรงศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกอบอุ่นดูแลไม่ได้ บางเขตไม่มีโรงพยาบาลที่มีศักยภาพพอ ต้องส่งต่อไปเขตอื่น ส่งผลให้เกินการรักษาที่ล่าช้า เพิ่มภาระให้กับโรงพยาบาลปลายทาง ไม่นับรวมบุคลากรทางการแพทย์ที่มีหน้าที่ บำบัด รักษา ฟื้นฟู ที่ไม่เพียงพอ

“หน่วยบริการสาธารณสุขใน กทม. มีศักยภาพสูงกว่า รพ.สต. ต่างจังหวัดขึ้นมานิดเดียว แต่พื้นที่ที่เขาอยู่มันคืออำเภอ ซึ่งบางเขตประชากรเราเยอะกว่าบางจังหวัดด้วยซ้ำ ด้วยขนาดของมวลปัญหาเหล่านี้ ทำให้คนกรุงเทพฯ เป็นผู้ด้อยโอกาสในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล มีคน มีระบบ มีคนพร้อมจ่ายเงินให้ แต่ไม่มีที่รักษา ผู้สมัครแต่ละท่านจะเอายังไงกับเรื่องนี้”

ปัญหาโควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้ผู้ปกครองหลายคนตกงาน ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเด็กอย่างรุนแรง เพราะพ่อแม่ไม่มีรายได้ ศูนย์เด็กเล็กปิด เช่น เด็ก ๆ ในคลองเตย แต่ สุนี ไชยรส จากเครือข่ายเด็กเท่ากัน บอกว่าปัญหานี้ไม่ใช่สิ่งที่แก้ยากและทำได้เลย โดยเสนอให้ผู้ว่าฯ กทม. เติมงบฯ อุดหนุนเด็ก 0-6 ปี ในกทม. คนละ 600 บาท แทนในส่วนของรัฐบาล ซึ่งปัจจุบันยังพบว่ามีกว่า ร้อยละ 40 ที่ไม่เข้าเกณฑ์

อีกข้อเสนอ คือ ศูนย์เด็กเล็กที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ กทม. หลายแห่ง ทุกวันนี้เด็กในกรุงเทพฯ เข้าโรงเรียนอนุบาล และศูนย์เด็กเล็กยังไม่ครบถ้วน อาจจะไปอยู่ในศูนย์ที่ชุมชนเลี้ยงดูกัน 3-5 คน ไม่มีงบประมาณใด ๆ สนับสนุน ครูไม่มีเงินเดือน นม อาหารกลางวันไม่ได้ เพราะไม่ได้จดทะเบียนกับ กทม. ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญที่ระบุว่าต้องดูแลทุกคนเท่ากัน จึงเสนอว่าควรที่จะต้องเร่งคลี่คลายสถานการณ์นำไปสู่การดูแลศูนย์เด็กเล็กทุกแห่ง ในกรุงเทพฯ อย่างเท่าเทียม

“คนทำงานจะไปทำงานได้อย่างไร ในเมื่อคลอดลูกเสร็จก็ไม่รู้จะเอาลูกไปไว้ตรงไหน จะไปเนิร์สเซอรีก็แพงมาก ถามว่าเด็กพวกนี้อยู่ตรงไหน เราขอให้ผู้ว่าฯ กทม. คนต่อไป ขยายศูนย์เด็กเล็กที่ยังไม่ได้ดูแล เปิดใจกว้าง ๆ แล้วก็เปิดโอกาส อาจจะคิดเป็นรายหัวแบบที่ให้โรงเรียนอนุบาล ซึ่งทั้งสองข้อเสนอยังสัมพันธ์กับการช่วยลดภาระผู้ปกครอง ที่ต้องทำงานหาเช้ากินค่ำอีกด้วย”

ขณะที่ภาคประชาชน เสนอ จัดระบบ กฎหมาย และนโยบายของ กทม. ที่ไม่ทันสมัยและเป็นอุปสรรค ที่นำมาสู่ความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม เป็นคนไม่เท่ากัน การตรวจสอบหน้าที่ การทำงานของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ให้ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ หนุนเสริมการทำงานระหว่าง ส.ก. และองค์กรชุมชนชาวบ้านที่มีความเข้มแข็งอยู่แล้ว ด้านที่อยู่อาศัย เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สิ่งแวดล้อม หรือด้านอื่น ๆ อย่างเป็นรูปธรรม ให้เกิดสภาคู่ขนานภาคประชาชน ได้หรือไม่ การมีศูนย์กายภาพ บำบัด ฟื้นฟู ในระดับเขต รวมถึงการมีพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหายาเสพติดในกลุ่มเยาวชน

นโยบายเมืองเป็นธรรม จาก 4 ผู้สมัครใน Bangkok Active

เมืองเป็นธรรม ผู้ว่าฯ กทม.

น.ต. ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคไทยสร้างไทย หมายเลข 11 ในฐานะเคยเป็น ส.ส.เขตคลองเตยมาก่อน คุ้นเคยกับกระบวนการ NGOs คือ การร่วมใจ ร่วมคิด และร่วมทำงานกับชาวบ้านมาตลอด โดยส่วนตัวมองว่า การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยด้วยการไล่รื้อ กำลังเดินมาผิดทาง แม้ที่ผ่านมารัฐจะจัดที่อยู่อาศัยในชาญเมือง แก้ปัญหาการไล่รื้อ แต่สุดท้ายชาวบ้านก็ยอมแลกค่าเช่าบ้านแพง ห้องเช่าเล็ก ๆ เหมือนเดิม เพื่อให้ได้อยู่ใกล้แหล่งงาน พร้อมยกตัวอย่างพื้นที่คลองเตยว่า เป็นที่ดินไม่มีใครเป็นเจ้าของมาตั้งแต่สมัยโบราณ ชาวบ้านมีสิทธิการครอบครองมานาน 50-70 ปี ขณะที่รัฐก็อาศัยข้อกฎหมายมาจำกัดสิทธิการอยู่อาศัยของคนในชุมชน

ศิธา ระบุว่า “คลองเตย” เป็นพื้นที่ของการท่าเรือ มีหลายพื้นที่ไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้ ถูกปล่อยให้รกร้าง ว่างเปล่า ตลาดคลองเตยที่ปล่อยให้เช่า มีพื้นที่รวมกว่า 2,000 ไร่ ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ด้านเหนือสุดเป็นสุขุมวิท ถัดมาคือพระราม 4 และชุมชนแออัดคลองเตย ถ้าตรงนี้นำพัฒนาให้ดี ก็จะเป็นที่อยู่อาศัยใกล้ที่ทำงาน เช่น การแบ่ง 300-500 ไร่ ให้คนทำงานใจกลางเมือง ไม่ต้องเสียค่าเดินทาง

“หากมีการไล่รื้อชาวบ้าน เจอกับ ศิธาแน่ครับ… สิทธิการอยู่อาศัยสำคัญ ส่วนของพรรคการเมือง ที่จะขอทำสัญญาเช่า 30 ปี น้อยไป คนที่อยู่ในชุมชน 50-60 ปีไม่สามารถไล่เขาได้ เราจะมีการพูดคุยใหม่เช่น คลองเตย 2,000 ไร่ ตัดให้ชาวบ้าน 300 ไร่ ขึ้นทะเบียน และแบ่งสัดส่วน ให้คนเหล่านี้เป็นลมหายใจของเมือง “

เขาทิ้งท้ายว่า ผู้ว่าฯ กทม. สามารถแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ผ่านระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน แต่หากยังไม่คิดนอกกรอบ ก็จะแก้ปัญหาได้เพียงแกน ฝ่ายบริหารจำเป็นต้องคิดกรอบใหม่ ๆ และเข้าใจวิถีชีวิตชุมชน เขาเปรยว่า ที่ผ่านมารัฐลับกรรไกรคมด้านเดียว ค่อย ๆ นำนโยบาย งบประมาณไปหาชาวบ้าน แต่ไม่เคยลับกรรไกรด้านล่าง คือ ไม่เคยนำความคิดของชุมชน NGOs ปราชญ์ชาวบ้าน มาใช้ประโยชน์

เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ หัวหน้าทีมนโยบายเศรษฐกิจ ในฐานะตัวแทน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระ หมายเลข 8 มองว่าการลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการศึกษา การสาธารณสุข ตั้งแต่เกิด จนแก่ โดยการศึกษานั้นต้องเป็นการศึกษาที่เท่าเทียมกัน และสอดรับกับบริบทในพื้นที่ โดยเฉพาะโรงเรียนในสังกัด กทม. ต้องมีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน

เมื่อเด็กเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ ควบคู่กับการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กในชุมชน เพื่อลดภาระของผู้ปกครองในชุมชนให้สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้โดยไม่ต้องกังวล เมื่อเด็กเรียนจบต้องสร้างความร่วมมือกับเอกชน และคนในชุมชนสร้างงานใกล้บ้าน เพื่อความมั่นคงของคนในพื้นที่ เกษรา มองว่า การบริการสาธารณสุขในชุมชนต้องมีคุณภาพเพียงพอ และสามารถรักษาได้ทันทีโดยไม่ต้องเดินทางด้วยการจัดหารถสาธารณสุขเคลื่อนที่เข้าถึงชุมชน ใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมเข้ามาช่วย

“กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีความเหลื่อมล้ำ อันดับต้น ๆ ของเอเชีย มิติของความเหลื่อมล้ำ และเมืองที่เท่ากันที่อยากให้เป็น เราต้องทำให้คนทุกคน มีจุดเริ่มต้นที่เท่ากัน แน่นอนว่าคนขยันกว่า เรียนหนังสือเก่งกว่าเขามีสิทธิได้ผลตอบแทนมากกว่า แต่ไม่ใช่วันนี้ ที่คนบางคนเกิดมาใกล้เส้นชัย แต่บางคนกลับอยู่หลังเส้นชัย ถึงขยันแทบตายก็ไม่มีวันชนะ… “

สำหรับการมีส่วนร่วมของประชาชน เกษรา กล่าวว่า ทีมชัชชาติมีนโยบายให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบการทำงานของผู้บริหาร กทม. และผู้บริหารเขต ที่ต้องบริหารจัดการและถูกประเมินได้ตลอดเวลา และที่สำคัญต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำงบประมาณแบบฐานศูนย์ (Zero Budgeting) คือ จัดทำงบประมาณใหม่ทุกปี โดยพิจารณาจากความต้องการและความจำเป็นในพื้นที่นั้น ๆ เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจด้วยตนเอง

ไซราม ประกายกิจ ผู้สมัคร ส.ก. เขตคลองเตย พรรคก้าวไกล ในฐานะตัวแทน วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคก้าวไกล หมายเลข 1 ระบุว่า กว่า 30 ปีแล้ว ปัญหาในคลองเตยไม่เคยเปลี่ยนไป เขาย้ำว่าคนคลองเตยไม่ได้บุกรุก แต่เป็นผู้บุกเบิกพื้นที่ ไซรามย้ำว่า พรรคอนาคตใหม่ตั้งขึ้นมา เชื่อว่า ทุกอย่างเป็นไปได้ถ้าตั้งใจทำ เราต้องการคนที่กล้าจะแก้ปัญหาเหล่านี้ ต้องการคนที่กล้าคุยกับการท่าเรือ ในฐานะผู้ว่าฯ ของประชาชน เข้าไปชนกับ ประชาชน เราคุยกับการท่าเรือมานาน และปัญหาก็ยังอยู่ พื้นที่ก็ยังไม่มีศักยภาพ 

“คนเท่ากัน คืออะไร หมายถึงวันใดวันหนึ่ง นักเรียนที่คลองเตย ไปสมัครงานแล้วไม่โดนถามว่ามาจากไหน ไม่มองภูมิหลัง เหยียดดูถูก วันนั้นสังคมไทยจะเท่ากัน การเมืองเท่ากัน ทุกคนมีสิทธิ มีโอกาสพูด และมีโอกาสเศรษฐกิจเท่ากัน”

ไซราม มองว่าการนับ 1 แก้ปัญหาต้องเริ่มจากการแสดงท่าทีที่ชัดเจน และแข็งกร้าว ขอที่ 200 ไร่ให้ชาวบ้านจัดการกันเอง เพราะปัญหาในคลองเตยเป็นปัญหาที่ทุกคนรู้ แต่ไม่มีใครกล้าพูดตรง ๆ ชัด ๆ ว่าจะแก้ เพราะปัญหาเป็นเครือข่ายใยแมงมุม แต่จิตวิญญาณการใช้อำนาจของประชาชนต้องมี ซึ่งหากมีผู้ว่าฯ และ ส.ก. จากพรรคก้าวไกล ยืนยันว่าจะแก้ปัญหานี้

ส่วนประเด็นอื่น พรรคก้าวไกล ก็ยังยืนยันที่จะเดินหน้าการมีสวัสดิการถ้วนหน้าให้กับประชาชน 3 ส่วน แบ่งเป็น เบี้ยผู้สูงอายุ 1,000 บาททั่วกรุงเทพฯ เงินอุดหนุนเด็กเล็ก 1,200 บาท ตั้งแต่ 0-6 ปี และเบี้ยคนพิการ 1,200 บาท ต่อปี โดยนำเงินมาจาก ภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างของเจ้าของที่ดินใน กทม. มาจัดสรรเพื่อเป็นสวัสดิการของประชาชนกลุ่มเปราะบาง

นอกจากนั้นยังรวมถึงนโยบายการพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก ที่ให้อาสาสมัครในชุมชน ได้รับการบรรจุเป็นลูกจ้างประจำของ กทม. และมีบุคลากร เจ้าหน้าที่เฉพาะในการดูแลเด็กและเยาวชน ให้ไม่ต้องตกเป็นภาระของครู โดยจะใช้งบประมาณ 5 ล้านบาท ใน 4 ปี จัดการกับศูนย์เด็กเล็กก่อนวัยเรียนใน กทม. อย่างเต็มศักยภาพ

เช่นเดียวกับ สว่าง ศรีสม ทีมนโยบายของ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 6 มองว่า การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยใน กทม. ต้องรักษาและจัดการพื้นที่ให้ชาว กทม. ใช้ประโยชน์มากกว่านำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งผู้ว่าฯ ต้องเข้ามาประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำสัญญาเช่าให้กับชาวบ้าน ในขณะที่ความเหลื่อมล้ำจะลดลงไปได้ ต้องทำให้ประชาชนไม่ว่าอยู่ในชุมชนต้องสามารถเข้าถึงบริการทุกอย่างได้อย่างเท่าเทียม

“ความเท่ากัน อยากใช้คำว่า ความเท่าเทียม นิยามของมัน คือ การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่มีมาแต่กำเนิดของทุกคน จะเคารพได้ เราต้องปฏิบัติต่อทุกคนบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน ถ้าอยากเรียนต้องได้เรียน กทม. ต้องช่วยเหลือให้เขาสามารถทำสิ่งนั้นได้ ต้องเข้าถึงอย่างเท่าเทียมกัน”

สว่าง กล่าวว่า นโยบายด้านสวัสดิการของทีมอัศวินนั้น ตั้งใจเพิ่มการจดทะเบียนศูนย์เด็กเล็กให้ครอบคลุมทุกชุมชน และพัฒนาศูนย์ที่มีอยู่แล้วให้มีศักยภาพมากขึ้น เปลี่ยนเวลาเปิด ปิดทำการให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิตของผู้ปกครอง ในส่วนของการรักษาพยาบาลนั้น เพิ่มช่องทางให้ประชาชนสามารถหาหมอทางไกลแบบ Telemedicine พัฒนาบริการสาธารณสุขใกล้บ้านให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงได้ และเร่งสร้างศูนย์พัฒนาผู้สูงอายุ โดยให้มีการจ้างงาน สร้างอาชีพในชุมชน และผลักดันนโยบาย Online Public Forum ให้ประชาชนสามารถนำเสนอแนวทางบริหารจัดการ กทม. ร่วมกับผู้ว่าฯ ได้

เมืองเป็นธรรม ปลุกกรุงเทพฯ

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน

Alternative Text
VISUAL NOTE TAKER

วรรวิสาข์ อินทรครรชิต

นักออกแบบ และนักการศึกษา ผู้สนุกกับประเด็นและเรื่องราวรอบโลก ชอบทำเรื่องยากให้เข้าใจได้ง่าย ผ่านศิลปะและการสื่อสารด้วยภาพแบบ Visual note, Visual Recording และวิดีโอ เป็นนักเจื้อยแจ้วแห่ง FB: Mairay May