ชำแหละร่าง งบฯ กทม. 68 ไม่ใช่แค่ ‘คนกรุงเทพฯ’ ที่ต้องรู้!

“คาดว่าภายในสิ้นปีนี้ น่าจะจัดเก็บภาษีได้ถึง 97,000 ล้านบาท… ขณะนี้รายได้ที่ กทม. จัดเก็บเองประมาณ 19,000 ล้านบาท รายได้ที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้ ประมาณ 72,000 ล้านบาท ซึ่งมากที่สุด คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม 37,285 ล้านบาท โดยแบ่งตามจุดซื้อขายและแบ่งตามจำนวนประชากร ซึ่งประชากรที่ลงทะเบียนใน กทม. มีจำนวนหนึ่ง แต่ประชากรแฝงมีเกือบถึง 10 ล้านคน”

               ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. (ให้สัมภาษณ์ 4 ก.ย. 66)

สิ่งที่ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ย้ำเมื่อปีก่อน บ่งบอกชัดเจนว่า งบฯ ของ กทม. ไม่ได้ใช้แก้ปัญหาเฉพาะคนที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่งบฯ ยังต้องใช้ให้ตอบโจทย์การแก้ปัญหาให้กับผู้คนอีกจำนวนมากที่เข้ามาใช้ชีวิต อยู่อาศัย เรียน ทำงาน ในกรุงเทพฯ ด้วย เพราะทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่ง ที่ช่วยจ่ายภาษีเป็นรายได้ให้กับมหานครแห่งนี้

เข้าสู่ปีที่ 3 ของการทำงานผู้ว่าฯ ชัชชาติ การบริหาร กทม. ถูกกำหนดขึ้นภายใต้ยุทธศาสตร์ 9 ด้าน 9 ดี โดยมี 216 นโยบาย ในปี 2568 กทม. จัดทำร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 วงเงิน 90,000 ล้านบาท นี่คือเม็ดเงินมหาศาลที่จะเข้าช่วยคลายทุกข์ให้กับคน กทม. ได้แค่ไหน ?

ถ้าไม่ใช่แค่ปัญหารถติด… คิดว่ายังมีเรื่องไหนที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตของคน กทม. บ้าง ? แน่นอนหนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้นปัญหาน้ำท่วม เฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหน้าฝน บวกกับสถานการณ์น้ำเหนือที่กำลังมุ่งหน้าผ่าน กทม. ออกสู่ปากอ่าวไทย เป็นปัจจัยที่ทำให้คน กทม. เดือนร้อนจากน้ำท่วมทุกปี จนในบางพื้นที่ท่วมซ้ำซาก จนมองไม่ออกว่า อะไรคือการแก้ไขปัญหา ?  

The Active เคยสำรวจข้อมูลย้อนหลังงบประมาณที่ กทม. ใช้เพื่อแก้ปัญหาเรื้อรัง อย่าง ปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีปัญหาน้ำท่วมร่วมอยู่ด้วย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากงบประมาณ 3 สำนัก ที่ได้มากที่สุด คือ สำนักการโยธา, สำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักการระบายน้ำ รวมกันแล้วมากกว่าครึ่งหนึ่งของงบฯ ทั้งหมดของ กทม.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา : กทม. ทุ่มงบฯ ไปกับเรื่องอะไรมากที่สุด

จากแผนปฏิบัติราชการกรุงเทพมหานครประจำปี 2568 ตามนโยบาย  9 ด้าน 9 ดี ยังพบว่า ด้านที่ 1 คือ เดินทางดี จากงบประมาณทั้งหมด 25,382.62 ล้านบาท ใช้สำหรับการป้องกัน และแก้ปัญหาน้ำท่วมมากที่สุดถึง 16,977.51 ล้านบาท มุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัว และความยืดหยุ่นของเมืองในการระบายน้ำให้รวดเร็วขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบในการเดินทางและใช้ชีวิตประจำวัน อาทิ 

  • การลดจุดเสี่ยง จุดเฝ้าระวังน้ำท่วม โดยเพิ่มรางระบายน้ำ ปรับปรุงระบบระบายน้ำ 

  • การแก้ไขปัญหาพื้นที่ต่ำและแนวฟันหลอริมแม่น้ำ 

  • การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ โดยการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ ขุดลอกคูคลอง/เปิดทางน้ำไหล 

  • การจัดหาพื้นที่แก้มลิงเพิ่มเติม การก่อสร้างเขื่อนพร้อมทางเดิน 

  • การก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำและสถานีสูบน้ำ 

  • การเพิ่มเซนเซอร์สั่งการเครื่องสูบน้ำระยะไกลพร้อมระบบไฟฟ้าสำรองเครื่องสูบน้ำ 

  • การเพิ่มประสิทธิภาพการพยากรณ์อากาศและติดตามสถานการณ์น้ำ โดยพัฒนาระบบคาดการณ์และพยากรณ์ฝนล่วงหน้า และการเพิ่มระบบตรวจวัดน้ำท่วมถนนและระดับน้ำในคลอง

และหากลองเปิด “ร่างเอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 1 งบประมาณโดยสังเขป ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 กทม.” ที่มีรายละเอียดการใช้เงินทั้งรายรับ-รายจ่าย ภายใต้งบประมาณทั้งสิ้น 90,000 ล้านบาท พร้อมสรุปออกมาให้เข้าใจง่าย ว่าภาษีที่ทุกคนจ่าย ปี 2568 กทม. มีแผนเอาไปทำอะไร และตอบโจทย์ปัญหาที่คนกรุงฯ เจอมากน้อยแค่ไหน 

ปี 2568 กทม. มีงบประมาณรายรับอยู่ที่ 90,000,000,000 บาท ขณะที่งบประมาณรายจ่าย 90,000,000,000 บาท เพิ่มขึ้นจาก งบฯ ปี 2567 ที่มี 89,780,611,000 บาท โดยเพิ่มขึ้น 219,339,999 บาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.24 แบ่งเป็นตามกลุ่มงบประมาณ คือ

  • งบประมาณรายจ่ายกลาง 16,796,525,490 บาท (18.66%)

  • งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ 70,266,355,510  (78.08%)

  • งบประมาณรายจ่ายเพื่ออุดหนุนหน่วยงานในกำกับ 2,937,119,000 บาท (3.26%)

สำหรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 กทม. เป็นไปตาม ภารกิจ 8 ด้าน (ภารกิจหน่วยงานระดับสำนัก) และตามพื้นที่บริการของสำนักงานเขต จำนวน 70,266,355,510 บาท สอดคล้องกับ ยุทธศาสตร์ตามแผนปฏิบัติราชการ กทม. ประจำปี 2568  9 ด้าน 9 ดี ประกอบด้วย

  1. ด้านเดินทางดี

  2. ด้านปลอดภัยดี

  3. ด้านโปร่งใสดี

  4. ด้านสิ่งแวดล้อมดี

  5. ด้านสุขภาพดี

  6. ด้านเรียนดี

  7. ด้านเศรษฐกิจดี

  8. ด้านสังคมดี

  9. ด้านบริหารจัดการดี

ถึงคุณจะไม่ได้มีทะเบียนบ้านอยู่ในกรุงเทพมหานคร แต่เข้ามาอยู่อาศัยในฐานะประชากรแฝง ไม่ว่า จะเข้ามาทำงาน มาเรียนหนังสือ คุณก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมจ่ายรายได้ให้กับ กทม. ผ่านภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งสัดส่วนของรายได้ กทม. ที่มาจากภาษีมูลค่าเพิ่มสูงเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของรายได้ กทม.

เมื่อดูที่มาของรายรับ กทม. จะพบกว่า เกือบ 95% มากจากการจัดเก็บภาษีอากร ซึ่งมาจากที่ กทม. เก็บเอง และราชการอื่นเก็บให้ แบ่งได้ดังนี้

ส่วนที่ราชการอื่นจัดเก็บให้ 68,300,000,000 บาท ประกอบด้วย

  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม 33,800,000,000 บาท

  • ภาษีและค่าทำเนียมรถยนต์ 15,600,000,000 บาท

  • ภาษีสุราและสรรพสามิต 4,000,000,000 บาท

  • ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรรม เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ 11,000,000,000 บาท

  • ธุรกิจเฉพาะ 3,800,000,000 บาท

  • ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายสุรา 4,800,000 บาท

  • ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเล่นการพนัน 200,000 บาท

  • ค่าปรับผู้ละเมิดกฎหมายจราจร 65,000,000 บาท

ขณะที่ ภาษีอากรที่ กทม. จัดเก็บเอง พบว่าเกือบ 90% เป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ดังนี้

  • ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 15,200,000,000 บาท

  • ภาษีบำรุงท้องที่ 3,000,000 บาท

  • ภาษีโรงเรือนและที่ดิน 300,000,000 บาท

  • ภาษีป้าย 1,290,000,000 บาท

  • อากรฆ่าสัตว์ 1,000,000 บาท

  • ภาษีบำรุงกรุงเทพมหานครสำหรับน้ำมันฯ 200,000,000 บาท 

  • ภาษีการพนัน 11,000,000 บาท

รายรับ กทม. ยังมา จากค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต ค่าปรับ และบริการ จำนวน 2,500,000,000 บาท คิดเป็น 2.78% ของประมาณรายการรับของกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย

  • ค่าธรรมเนียม 2,170,000,000 บาท

  • ค่าใบอนุญาต 180,000,000 บาท

  • ค่าปรับ 90,000,000 บาท

  • ค่าบริการ 60,000,000 บาท

รายได้ กทม. ยังมาจากทรัพย์สิน อีกจำนวน 1,100,000,000 บาท (1.22% ของประมาณการรายรับของกรุงเทพมหานคร) ซึ่งประกอบไปด้วยค่าเช่าอาคารสถานที่ 100,000,000 บาท ค่าเช่าที่ดิน 24,965,000 บาท ค่าดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารและพันธบัตรของรัฐบาล 975,000,000 บาท เงินปันผลจากโรงพิมพ์อาสารักษาดินแดน 35,000 บาท

รายได้จากสาธารณูปโภคการพาณิชย์และกิจกรรมอื่น จำนวน 50,000,000 บาท (คิดเป็น 0.06% ) ประกอบไปด้วย รายได้จากสถานธนานุบาล 50,000,000 บาท 

รายได้เบ็ดเตล็ด อีกจำนวน 1,045,000,000 บาท (คิดเป็น 1.18%) ประกอบด้วยเงินเหลือจ่ายปีเก่าส่งคืน 150,000,000 บาท ค้าขายแบบประกวดราคา 5,000,000 บาท ชดใช้ค่าเสียหาย 15,000,000 บาท ค่าจำหน่ายทรัพย์สิน/วัสดุชำรุด 50,000,000 บาท ค่าปรับเกินสัญญา 70,000,000 บาท ค่าเบ็ดเตล็ดอื่นๆ 755,000,000 บาท

กว่า 3 ใน 4 ของรายได้ จำนวน 70,266,355,570 บาท จัดสรรเพื่อภารกิจ 9 ด้าน 

งบประมาณรายจ่าย ตาม 9 ภารกิจ เรียงจากด้านมากสุดไปน้อยสุด ดังนี้

  1. การจัดบริการของสำนักงานเขต 50 เขต  20,173,228,580 บาท (28.71%)

  2. ด้านบริหารจัดการและบริหารราชการ กทม. 17,427,324,200 บาท (24.80%)

  3. ด้านเมืองและพัฒนาเมือง 14,031,640,405 บาท (19.97%)

  4. ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 11,436,911,730 บาท (16.28%)

  5. ด้านสาธารณสุข 3,823,151,000 บาท (5.44%)

  6. ด้านพัฒนาสังคมและชุนเมือง 1,777,245,051บาท (2.53%)

  7. ด้านการศึกษา 1,049,965,373 บาท (1.49%)

  8. ด้านความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อย 313,596,590 บาท (0.45%)

  9. ด้านเศรษฐกิจและการพาณิชย์ 233,292,581 บาท (0.33%)

โดยพบว่างบประมาณถูกใช้ไปกับการจัดบริการของสำนักงานเขต 50 เขต มากที่สุด ขณะที่ ด้านเศรษฐกิจและการพาณิชย์ได้น้อยที่สุด

เมื่อดูรายละเอียดของงบประมาณภารกิจระดับสำนัก พบว่า สำนักการโยธาได้งบประมาณมากที่สุด และ สำนักเลขานุการผู้ว่าราชการ กทม. ได้น้อยที่สุด โดยเรียงตามลำดับดังนี้

  1. สำนักการโยธา 10,ุ614,070,800 บาท

  2. สำนักการระบายน้ำ 7,919,116,900 บาท

  3. สำนักการแพทย์ 6,348,351,900 บาท

  4. สำนักสิ่งแวดล้อม 5,754,637,100 บาท

  5. สำนักการคลัง 5,210,594,900 บาท

  6. สำนักการจราจรและขนส่ง 4,329,358,300 บาท

  7. สำนักอนามัย 2,564,235,700 บาท

  8. สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว 1,719,099,570 บาท

  9. สำนักการศึกษา 1,285,258,000 บาท

  10. สำนักปลัด กทม. 1,145,779,300 บาท

  11. สำนักพัฒนาสังคม 870,588,300 บาท

  12. สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 613,579,180 บาท

  13. สำนักยุทธศาสตร์และการประเมินผล 578,220,700 บาท

  14. สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการ กทม. 400,926,000 บาท

  15. สำนักเทศกิจ 185,315,500 บาท

  16. สำนักเลขานุการสภา กทม. 181,198,940 บาท

  17. สำนักงบประมาณ กทม. 87,167,000 บาท

  18. สำนักงานเลขานุการผู้ว่าราชการ กทม. 72,699,240 บาท

ขณะที่งบประมาณที่นำไปใช้ในภารกิจสำนักงานเขต รวมทั้งสิ้น 20,173,228,580 บาท แบ่งตามกลุ่มโซน จะพบว่า โซนกรุงเทพฯ ตะวันออก จำนวน 9 เขตพื้นที่ ได้รับงบประมาณรวมมากที่สุดคือ 4,781,606,810 บาท ขณะที่ โซนกรุงเทพฯ กลาง 9 เขตพื้นที่ ได้รับงบประมาณน้อยที่สุด อยู่ที่ 2,863,489,200 บาท

จากการสำรวจงบประมาณตามภารกิจ จากปี 2566, 2567 และ 2568 พบว่า งบฯ กลาง เพิ่มขึ้นจากปี 2567 มากที่สุด โดยเพิ่มขึ้น 18.12% หรือ เพิ่มขึ้นจำนวน 2,576,761,255 บาท

เมื่อดูจากจำนวนงบประมาณแต่ละด้านที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด ขณะที่งบประมาณด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลดลงมากที่สุด

ขณะที่ งบประมาณด้านการศึกษา มีสัดส่วนงบประมาณลดลงจากปีที่ผ่านมาถึง 45% โดย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เผยกับ The Active ว่า เหตุผลที่ดูเหมือนว่างบฯ ด้านการศึกษาลดลงเนื่องจากงบประมาณย้ายไปอยู่ในสำนักงานเขตซึ่งดูแลโรงเรียนเป็นหลัก นั่นทำให้งบฯ ด้านการศึกษาไม่โดดเด่นมากนัก

อย่างไรก็ตามหากไม่เพียงพอ จะมีการเพิ่มเติมในขั้นแปรญัตติงบประมาณต่อไป ส่วนงบประมาณด้านสุขภาพ เพิ่มขึ้นถึง 49.80% โดย ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ระบุว่า เพิ่มงบฯ เพื่อนำไปแก้ปัญหาระบบบริการปฐมภูมิ และสร้างอาคารโรงพยาบาล รวมทั้งสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ในพื้นที่ กทม. 

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธนธร จิรรุจิเรข

สงสัยว่าตัวเองอยากเป็นนักวิเคราะห์ data ที่เขียนได้นิดหน่อย หรือนักเขียนที่วิเคราะห์ data ได้นิดหน่อยกันแน่