เปิดขุมทรัพย์ “อ่าวบ้านดอน” จ.สุราษฎร์ธานี ไม่ได้มีแค่ “หอยใหญ่ ไข่แดง”

“หอยใหญ่ ไข่แดง” ของดีเมืองสุราษฎร์ฯ

“เมืองร้อยเกาะ เงาะอร่อย หอยใหญ่ ไข่แดง แหล่งธรรมะ” คือ คำขวัญประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงไม่แปลก ที่เมื่อถามถึงของดีจังหวัดสุราษฎร์ธานี ผู้คนมักจะนึกถึง “หอยใหญ่ ไข่แดง”

ประกอบกับเวลานี้ ปัญหาบุกรุกเลี้ยงหอยในพื้นที่สาธารณะอ่าวบ้านดอน ที่ว่ากันว่า มีมูลค่าหลักหมื่นล้านบาท ยิ่งย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของ “หอย” ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจของที่นี่

แต่เมื่อลงพื้นที่สำรวจ พูดคุยกับนักท่องเที่ยว รวมทั้งเจ้าของร้านอาหารชื่อดังลำดับต้น ๆ ของจังหวัด กลับพบเมนูขายดี หรือเมนูยอดนิยม ที่หลากหลายมากกว่า “หอย” เรียงรายเสิร์ฟบนโต๊ะอาหาร ชวนน้ำลายสอ เช่น กุ้งเผา กุ้งราดซอสมะขาม กั้งทอดกระเทียม ปลากระพงนึ่งมะนาว ฯลฯ

ขุมทรัพย์ อ่าวบ้านดอน ไม่ได้มีแค่หอยใหญ่

ข้อมูลศึกษาปริมาณการเก็บหาและมูลค่าการใช้ปะะโยชน์ของทรัพยากรชายฝั่ง กลุ่มประมงพื้นบ้านรอบอ่าวบ้านดอน ปี 2558 – 2559 โดย ‘ดร.ประวีณ จุลภักดี’ อาจารย์พิเศษสาขาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี และประธานมูลนิธิป่า-เล เพื่อชีวิต ยิ่งแสดงให้เห็นว่าขุมทรัพย์อ่าวบ้านดอน มีมากกว่าแค่มูลค่าทางเศรษฐกิจของหอยนานาชนิด แต่ยังหมายถึงความหลากหลายของทรัพยากรทางทะเลอ่าวบ้านดอนอีกด้วย

ดร.ประวีณ ทำการเก็บข้อมูลจากประมงพื้นบ้าน ที่ออกเรือหาสัตว์ทะเลในอ่าวบ้านดอน จำนวน 500 คน พบสัตว์เศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าอย่างน้อย 20 ชนิด

มากที่สุด คือ ปู มูลค่า 67,087,194 บาท รองลงมา คือ ปลากระบอก 26,507,125 บาท, ปูดำ 16,317,387, กุ้งแม่น้ำ 16,109,979 บาท, ปลาดุก 14,152,672, กั้ง 13,513375 บาท, กุ้งขาว 13,005,386, ปลากด 3,613,775,ปลาขี้ตัง 3,165,082, ปูแสม 2,744,136, ปลากระเบน 2,621,996, กุ้งกุลาดำ 2,267,110, หอยแครง 1,809,296, กุ้งเคย 1,553,898, ปลากระพง 1,075,945, ปลาทราย 799,336, หอยแทงฝั่ง 760,535, หมึก 730,184, หอยขาว 381,494 และหอยกัน 109,253 รวมมูลค่า 1 ปี 188 ล้านบาท

ดร.ประวีณ บอกว่า ตัวเลขนี้มาจากฐานของประมงพื้นบ้านซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่าง 500 คนเท่านั้น หากคำนวนจากตัวเลขประมงพื้นบ้านรอบอ่าวบ้านดอน 3,000 ครัวเรือน หรือราว 30,000 คน จึงคาดการณ์ว่า มูลค่าการเก็บหาสัตว์ทะเลเศรษฐกิจที่นี่รวมแล้ว จะตกหลักหมื่นล้านเช่นเดียวกันกับหอยและอาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ

“นี่จึงสะท้อนความหลากหลายและความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งการกระจายรายได้ที่ไม่กระจุกตัวอยู่ที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะไม่ใช่แค่ประมงพื้นบ้านรอบอ่าวบ้านดอน แต่ยังกระจายรายได้ให้กับผู้คนอีกหลายอาชีพ ทั้งผู้ประกอบการ ลูกจ้างในกิจการขายและขนส่งอาหารทะเล รวมถึงผู้บริโภค ที่ได้รับประทานอาหารทะเลที่มีคุณภาพและหลากหลาย”

การเลี้ยงหอยในที่สาธารณะ กระทบสิทธิเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียม?

“อ่าวบ้านดอน” มีพื้นที่ประมาณ 300,000 ไร่ ครอบคลุม 6 อำเภอ ตั้งแต่ ไชยา ท่าฉาง พุนพิน เมืองสุราษฎร์ธานี กาญจนดิษฐ์ และดอนสัก เป็นพื้นที่สาธารณะสมบัติของแผ่นดินที่ประมงใช้ประโยชน์ร่วมกันประมาณ 260,145 ไร่

ขณะที่พื้นที่อนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยง หรือเลี้ยงหอย ที่ อ.ไชยา มีจำนวน 4,680 ไร่, อ.ท่าฉาง 10,300 ไร่, อ.กาญจนดิษฐ์ 21,675 ไร่, อ.ดอนสัก 3,000 ไร่ และนอกอ่าวบ่านดอน ที่เกาะสมุยอีก 200 ไร่ รวมพื้นที่อนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงทั้งหมดเพียง 39,855 ไร่ ส่วนเขต อ.พุนพิน และ อ.เมืองสุราษฎร์ธานี ไม่อนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยง

แต่กลับพบการบุกรุก ประกอบการเลี้ยงหอยแครงมากถึง 110,300 ไร่ และซึ่งรวมถึงพื้นที่ไม่อนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงในอำเภอเมืองและอำเภอพุนพินด้วย

จากการลงพื้นที่พูดคุยกับประมงพื้นบ้าน ส่วนใหญ่สะท้อนว่า การบุกรุกยึดครองพื้นที่ทางทะเลทำฟาร์มเพาะเลี้ยงหอยแครงในพื้นที่สาธารณะของปัจเจคบุคคล ที่มีการสร้างขนำและปักไม้เป็นรั้วล้อมอาณาเขตเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ ส่งผลให้ประมงพื้นบ้านได้รับความเดือดร้อน ถูกกีดกันออกจากพื้นที่การทำประมง พวกเขาจึงมีพื้นที่จำกัด ไม่สามารถจับหาสัตว์ทะเลอื่น ๆ ในพื้นที่สาธารณะได้ ทั้งที่ในทะเลไม่ได้มีแค่หอย และต้องจำยอมถอยออกมาจับสัตว์น้ำใกล้ชายฝั่งมากขึ้น แม้รู้ดีว่าทะเลชายฝั่งมีความสำคัญ เพราะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน ซึ่งควรเป็นพื้นที่อนุรักษ์และฟื้นฟู แต่เพราะไม่มีทางเลือกก็ต้องออกเรือจับสัตว์น้ำบริเวณดังกล่าว จึงส่งผลกระทบต่อปริมาณสัตว์น้ำที่ลดลง รายได้ก็ลดลงตามไปด้วย

ข้อมูลการศึกษาเรื่องการพัฒนารูปแบบการจัดการประมงร่วมของชุมชนประมงในพื้นที่อ่าวบ้านดอน โดย ‘ชนัญชิดา ทิพย์ญาณ’ อาจารย์ประจำหลักสูตรการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ที่ทำการศึกษาเรื่องการพัฒนารูปแบบการจัดการประมงร่วมของชุมชนประมงในพื้นที่อ่าวบ้านดอน พบครัวเรือนประมง มีหนี้สินกว่าครึ่ง หรือร้อยละ 57 จากจำนวนครัวเรือนประมงทั้งหมดในพื้นที่อ่าวบ้านดอน โดยมีผลหรือความเปราะบางของครัวเรือน ที่เกิดจากการได้รับผลกระทบจากการรุกพื้นที่ทำกินทางทะเล คิดเป็นร้อยละ 60.3

“ประมงพื้นบ้านเขาเปราะบางทั้งเรื่องของเศรษฐกิจ และเขาเปราะบางในเรื่องของธรรมชาติ คือ ไม่สามารถเข้าถึงทุนธรรมชาติได้ ที่สำคัญพอชาวบ้านไม่สามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่สาธารณะได้ ก็ต้องปรับตัวเอาตัวรอด เช่นไปทำงานก่อสร้าง รับจ้างต่าง ๆ เป็นงานที่พวกเขาไม่มีความถนัด ทำได้ไม่เต็มที่ รายได้น้อยลง หนี้สินก็ตามมา”

เลี้ยงหอยในพื้นที่สาธารณะ กระทบระบบนิเวศ

ด้วยความสมบูรณ์ของระบบนิเวศที่หลากหลายของอ่าวบ้านดอน ที่นี่จึงเป็นหนึ่งในพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติ หรือแรมซาไซต์

การบุกรุกยึดครองเลี้ยงหอยในพื้นที่สาธารณะของปัจเจกบุคคล ซึ่งวิธีและขั้นตอนการเลี้ยงหอยแครง ต้องมีการใช้ตระแกรงคราดหน้าดินเพื่อทำความสะอาด ก่อนปล่อยลูกหอยแครง และเมื่อโตเต็มวัยถึงเวลาเก็บเพื่อจำหน่าย ก็ต้องใช้ตระแกรงคราดหอยอีกครั้ง ทำให้มีผลกระทบต่อระบบนิเวศใต้น้ำ สัตว์ทะเลหน้าดิน เช่น สัตว์จำพวกไส้เดือนทะเล หรือที่ชาวประมงพื้นบ้าน เรียกเหยื่อรัง รวมถึงหอยชนิดต่าง ๆ ที่มีความสำคัญในระบบนิเวศ อย่างหอยกระพง ที่เป็นอาหารของสัตว์ทะเลอื่น ๆ ตามห่วงโซ่อาหาร ซึ่งหอยกระพง เป็นหอยประจำถิ่น ที่พบในอ่าวบ้านดอนแค่ 3 พื้นที่เท่านั้น คือ บางส่วนใน อ.กาญจนดิษฐ์ อ.พุนพิน และ อ.เมือง ซึ่งไม่อนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยง การบุกรุกเลี้ยงหอยแครงในพื้นที่สาธารณะที่ไม่อนุญาต จึงส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อระบบนิเวศ

แต่ไม่ได้หมายความว่าการเพาะเลี้ยงหอยบางชนิด ที่อาจส่งผลต่อระบบนิเวศใต้น้ำจะทำไม่ได้เลย หากแต่ต้องอยู่ในพื้นที่อนุญาตตามกฎหมายให้ทำการเพาะเลี้ยง ซึ่งผ่านการศึกษาบนฐานวิชาการมาแล้ว ว่าเป็นพื้นที่เหมาะสม

คำถามสำคัญ คือ การบุกรุกเลี้ยงหอยในพื้นที่ไม่อนุญาต ซึ่งพบความหลากหลายของระบบนิเวศ หากเกิดผลกระทบ จะคุ้มค่ากับทรัพยากรทางทะเลที่สูญเสียไปหรือไม่ ทั้งยังสวนทางกับหลักเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDGs ที่ต้องอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน

เมื่อทะเล เป็นของทุกคน จึงมีสิทธิเข้าถึงอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม และยั่งยืน

‘เตือนใจ ดีเทศน์’ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ซึ่งเคยติดตามตรวจสอบประเด็นปัญหานี้ ตั้งแต่ปี 2561 ย้ำถึงมติ กสม. ชี้ว่ากิจการเลี้ยงหอยในที่สาธารณะของเอกชนพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ละเมิดสิทธิชุมชน กระทบวิถีประมงพื้นบ้าน และเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้บังคับใช้กฎหมายจริงจัง-ร่วมดูแลทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมย้ำว่าการเข้าถึงจะต้องคำนึงถึงความมั่นคงและความยั่งยืนระบบนิเวศ ที่ต้องกระจายการใช้ประโยชน์ที่ต้องเป็นธรรมเท่าเทียม และการทำธุรกิจใด ๆ ต้องไม่กระทบสิทธิมนุษยชน

“การลงทุนใด ๆ ต้องอยู่บนฐานความถูกต้องและเป็นธรรม จะมาอ้างว่าลงทุนซื้อหอยมาเลี้ยงไปแล้ว ต้องถอนทุนคืนไม่ได้ เพราะการลงทุนนั้นผิดกฎหมายตั้งแต่ต้น เพราะเป็นการลงทุนในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งมีความสำคัญ ทางระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และความมั่นคงทางอาหาร และสิทธิที่จะใช้ประโยชน์ร่วมกันของคนหลากหลายอาชีพ ที่จะต้องมีการแบ่งปันอย่างเป็นธรรม สมดุล และยั่งยืน และทำให้ทรัพยากร ไม่ถูกใช้ไปอย่างล้างผลาญ จนเสียสมดุล การลงทุนของผู้ประกอบการและนักธุรกิจ จึงต้องคำนึงถึงการ ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน”

แนวทางสำคัญของการแก้ปัญหานี้ จึงต้องมีการรื้อถอนคอกหอยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายให้กลับคืนสู่สภาพเดิมตามธรรมชาติ และอนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแล ป้องกันทรัพยากรทางทะเล รวมถึงจัดการการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำให้เป็นไปอย่างยั่งยืน

บทส่งท้าย

แม้จะไม่ใช่ชาวประมง ผู้ประกอบการ ผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ แต่ในฐานะผู้บริโภค และมีสิทธิในพื้นที่สาธารณะ ทำให้ประเด็นนี้อยู่ในความสนใจและการจับตาของผู้คนในสังคม ว่าสุดท้ายปัญหานี้ ที่หมักหมมเป็นเวลานาน จะถูกแก้ไขสู่ความยั่งยืนได้หรือไม่ หรือจะเป็นเพียงคลื่นซัดฝั่ง ที่สุดท้ายเสียของ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ

Alternative Text
AUTHOR

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์