Social Distancing “ระยะห่างทางสังคม” ยับยั้ง – ชะลอการแพร่ระบาดของโรค เข้าระยะ 3 อย่างไร ให้ประเทศไทยมีผู้ป่วยน้อยที่สุด
การประกาศให้ ‘โควิด-19’ เป็นภาวะการระบาดใหญ่ หรือ Pandemic โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ทำให้รัฐบาลและหน่วยงานสาธารณสุขของแต่ละประเทศ ต้องเตรียมความพร้อมรับมือการระบาดอย่างเข้มข้น
แม้ประเทศไทยมีความพยายามในการควบคุมโรค และการระบาดยังอยู่ในระยะที่ 2 แต่มีความเสี่ยงสูง ที่ประเทศไทยจะพบการระบาดในวงกว้าง ด้วยหลายสาเหตุ
The Active นำบางช่วงบางตอนของการสัมภาษณ์ ‘นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร’ ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค ในรายการ บ่ายโมง ตรงประเด็น สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ที่ได้อธิบายถึงการคาดการณ์อนาคตการระบาดของโควิด-19 วิเคราะห์โดยศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค ที่ทำให้เห็นจำนวนผู้ป่วยคาดการณ์ 3 แบบ หากประเทศไทยมีแผนรับมือในระดับที่แตกต่างกัน
ไทยจะไม่ขึ้นไปถึงเส้นสีแดง
สำหรับเรื่องฉากทัศน์ ในประเทศที่มีนักระบาดวิทยา และมีคนที่มีความสามารถในการทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ก็จะมีการสร้างแบบจำลองขึ้นมา เพื่อช่วยในการวางแผนการดำเนินงานในอนาคต
เส้นสีแดง ดูเป็นฉากอนาคตที่เลวร้ายที่สุด เป็นเส้นที่เกิดขึ้นในประเทศอื่น ถ้าดูประสบการณ์ของประเทศจีนช่วงที่เกิดการระบาดที่เมืองอู่ฮั่น อันนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะว่าเมืองนั้นเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก และไม่ได้มีการเตรียมตัววางแผนอะไร จึงมีการระบาดที่รุนแรง ในเวลาอันสั้น
หากเอาภาพจำลองนี้มาเทียบกับวันเวลาการระบาดและจำนวนที่มีโอกาสจะเป็นไปได้ในอัตราส่วนของคนไทย ตอนนี้ ถ้าหากว่าเราไม่ได้ควบคุมอะไรเลย ก็ประมาณ 1 ใน 4 หรือประมาณ 16.78 ล้านคน ที่จะมีการติดเชื้อ แต่เนื่องจากไทยไม่ได้เกิดเหตุการณ์แบบนั้น ก็จะถือว่านี่เป็นตัวเลขที่แย่ที่สุด
แต่เหตุการณ์นี้จะไม่เกิดขึ้นกับประเทศไทย เพราะเราได้เตรียมตัวและดำเนินการในเรื่องการเฝ้าระวังและป้องกันมาตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ตอนนี้ผ่านไปแล้ว 8 สัปดาห์ จะเห็นว่าเราไม่ได้อยู่ในสถานการณ์แบบนี้ และไทยจะไม่ขึ้นไปถึงเส้นสีแดง เพราะหากเทียบกับประสบการณ์ของประเทศจีน ที่นั่นเพียงแค่ 2 – 3 สัปดาห์ก็มีผู้ป่วยเป็นหลักหมื่น ซึ่งขณะนี้เรายังอยู่ในช่วงที่จะต้องทำการควบคุมให้อยู่ในฉากทัศน์ที่ 2 หรือ 3
‘สงกรานต์’ ต้องคุมให้ได้ ไม่ซ้ำรอย ‘ตรุษจีน’
ถามว่าหลังเทศกาลสงกรานต์จะมีโอกาสเป็นอย่างนั้นไหม ตอบว่าจะเป็นอย่างนั้นได้ ต้องมีความจำเพาะมากๆ เช่น ณ เวลานั้น ต้องมีผู้ป่วยจำนวนมากแล้ว เพราะว่าการที่จะติดเชื้อได้ต้องมีผู้ป่วยเริ่มต้นก่อน แต่หากดูสถานการณ์ปัจจุบัน เรามีผู้ป่วยเพียงแค่ 75 ราย(วันที่ 13 มี.ค.) และความพยายามของเราในขณะนี้ คือ การควบคุมโรค ทั้งป้องกันการเข้ามาในประเทศไทยของผู้ติดเชื้อ และในประเทศไทยก็พยายามเฝ้าระวังและสอบสวนควบคุมผู้ป่วยรายใหม่
ดังนั้น แม้จะผ่านเดือนมีนาคม เมษายน แต่จากการที่เรามีผู้ป่วยน้อย ถึงแม้จะมีการเดินทาง แต่คนเดินทางส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดไม่มีเชื้อ ก็จะไม่ใช่จังหวะของการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วย ซึ่งตรงข้ามกับจีน เพราะจังหวะก่อนที่จะเข้าสู่เทศกาลตรุษจีนวันที่ 25 ม.ค. ตอนนั้นผู้ป่วยในจีนเยอะแล้ว มีหลักหลายร้อยหรืออาจจะเป็นพันคนแล้ว และตอนนั้นการตรวจแลปยังทำได้ยาก
แต่หากเราดำเนินการได้ในระดับปัจจุบันด้วยปัจจัยความร่วมมือของประชาชนในการที่จะช่วยกันเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค กับอีกอันคือ ขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ซึ่งเรามีโรงพยาบาล มีบุคลากรที่ครอบคลุมทุกอำเภอในประเทศ เราน่าจะสามารถที่จะทำให้การเพิ่มของผู้ป่วยมันช้าไปได้อีก พูดง่าย ๆ คือ แม้เป็นช่วงขาขึ้น แต่ขึ้นไม่มาก
ต้องคุมให้มีผู้ป่วยต่ำกว่า 4 แสนคนในเวลา 2 ปี
เส้นที่สอง คือ การประมาณการ ถ้าหากจำนวนผู้ป่วยในประเทศไทยเพิ่มขึ้นถึงจุดหนึ่ง จะมีผู้ป่วยตกสัปดาห์ละประมาณ 4 แสนคน กรณีนี้ก็จะเป็นอีกหนึ่งปีข้างหน้า เพราะจะเห็นว่ามันเลย 52 สัปดาห์ไปแล้ว คือ ต้องสะสมผู้ป่วยไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงจุดที่การแพร่ต่อระหว่างคนที่ป่วยคนแรกๆ กับคนถัดไปป็นไปอย่างรวดเร็ว กรณีนี้ก็จะมีคนป่วยประมาณ 1 ใน 6 ของประชากร
อย่างไรก็ตามเรามีความหวังว่า ถ้าเราทำดีกว่านั้นอีก เราจะสามารถทำให้เกิดการป่วยที่น้อยกว่านั้น คือ ควบคุมให้การป่วยอยู่ในระดับต่ำที่ 4 แสนคนในเวลา 2 ปี แต่จะมี 2 ระลอก ตามธรรมชาติของโรค อย่างจีนหรืออิตาลีหากไม่ทำอะไร การระบาดก็จะสงบเมื่อไปถึงจุดที่ประชากรประมาณร้อยละ 60 ติดเชื้อแล้ว
เนื่องจากเราสามารถควบคุมได้ดี อันนี้เป็นความหวังของเรารวมทั้งเป้าหมายของประเทศด้วย เราจะเห็นผู้ป่วยไม่มากในปีแรก แต่เพราะการที่ยังมีผู้ป่วยจำนวนไม่มาก ก็จะมีคนที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันอีกเยอะ ก็จะมีโอกาสเกิดขึ้นในระยะต่อไป ซึ่งก็คล้ายกับที่ขณะนี้เรามีไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เกิดขึ้นทุกปี บางปีพบน้อยก็เป็นการระบาดน้อย บางปีพบมากก็เรียกว่าระบาดมาก
หากระบาดใหญ่ ต้องป้องกันไม่ให้มีผู้เสียชีวิต
ส่วนการรับมือหากถึงเวลานั้น จริง ๆ ตอนนี้ไทยมียาต้านไวรัสแล้วที่ชื่อ ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) เป็นยาที่ได้ผล เพราะในกลุ่มยาต้านไวรัสที่มีการใช้ในจีนมาก่อน ตัวนี้ได้ผลดีมาก ซึ่งประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาก็ได้ให้ยาตัวนี้กับผู้ป่วยรายใหม่ ซึ่งถ้าเรามีผู้ป่วยน้อยการให้ยาก็จะเพียงพอ หากใครมีอาการเยอะก็ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ต้องเข้า ICU
จริง ๆ แล้ว การติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการเหมือนเป็นไข้หวัด คือ มีไข้ ไอ มีน้ำมูก อาจจะเจ็บคอในบางรายซึ่งเป็นส่วนน้อย รวมทั้งจะมีปอดอักเสบ ซึ่งถ้าเราสามารถควบคุมได้ดี เราก็หวังว่าจำนวนผู้ป่วยจะไม่มาก
ตอนนี้เราอยู่ระหว่างเส้นสีเขียวกับสีฟ้า ซึ่งถ้าเราทำเต็มที่ทั้งประชาชน ภาครัฐ และเอกชนร่วมมือกัน เราน่าจะกดเส้นสีฟ้าให้ต่ำลง เพื่อหวังว่าจะกลายเป็นเส้นสีเขียว
แต่หากเส้นสีฟ้าที่มีคนประมาณ 9.9 ล้านคนเกิดขึ้นจริง ในจำนวนนี้ร้อยละ 80 ก็จะเป็นผู้ป่วยที่มีอาการน้อย เหมือนผู้ป่วยที่มารับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอก ที่เหลืออีกร้อยละ 15 – 20 ก็จะเหมือนผู้ป่วยในที่ต้องการนอนโรงพยาบาล หากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ก็จะใกล้เคียงที่เราเกิดไข้หวัดใหญ่ 2009 ตอนนั้นระบบบริการต้องมีการปรับตัว เช่น มีระบบโรงพยาบาลสนาม
สาระสำคัญจะอยู่ที่การป้องกันไม่ให้มีผู้เสียชีวิต ซึ่งก็แปลว่าเราจะต้องแบ่งกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงนำเข้าสู่การรักษาในโรงพยาบาลที่ออกแบบไว้เฉพาะ เช่น มีระบบไอซียู มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และมียาต้านไวรัสที่เพียงพอ หากทำได้ ถึงจะมีผู้ป่วยมากในช่วงเวลาดังกล่าวก็จะป้องกันการเสียชีวิตได้
ขอความร่วมมือ สร้าง “ระยะห่างทางสังคม”
สำหรับข้อเสนอของศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน ระบุว่า หากจะทำให้สถานการณ์ของประเทศไทย เดินไปตามฉากทัศน์ที่ 3 ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคมและมาตรการควบคุมโรคที่เข้มข้น จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเดินไปสู่ภาพอนาคตที่ “สามารถควบคุมโรคได้ดี” โดยต้องตั้งเป้าหมายเพื่อลดโอกาสการสัมผัสโรคของประชาชนลงให้ได้มากที่สุด เว้นวรรคกิจกรรมทางสังคม ห้ามเดินทางไปในพื้นที่ระบาด และสร้างมาตรการทำงานที่บ้าน เพื่อป้องกันและควบคุมการเกิดการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ ทั้งการระบาดในโรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงงาน หรือในสถานที่ทำงาน
ดูเพิ่ม
– เปิดภาพอนาคตสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทย : https://www.facebook.com/1PMThaiPBS/videos/209014273670315/
– เปิด 3 ฉากอนาคต คาดการณ์การระบาดระยะที่ 3 : https://bit.ly/2wXx71B