เงินกู้ 4 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ยื่นของบฯ แล้ว 25,676 โครงการ

รอบแรก ยื่นโครงการทะลุ 2 หมื่นโครงการ

หลัง ‘เลขาธิการสภาพัฒน์’ หรือ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงความคืบหน้า การพิจารณาโครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ตามกรอบงบประมาณ 4 แสนล้านบาท ภายใต้ ‘พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท’ พร้อมเปิดตัวเว็บไซต์ Thai ME เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบและแสดงความคิดเห็นต่อโครงการ พบว่า มีการเสนอโครงการเบื้องต้น (Project Brief) เข้ามาแล้ว 25,676 โครงการ

The Active สำรวจรายชื่อและประเภทโครงการที่มีการขอใช้งบฯ พบโครงการที่มีคำว่า #ถนน อยู่ ถึง 10,150 โครงการ หรือเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนโครงการที่เสนอทั้งหมด เช่น การสร้าง ปรับปรุง ซ่อมแซมถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก, การพัฒนาเส้นทางขนส่ง, ถนนลาดยาง, ผิวจราจร ฯลฯ โดยส่วนใหญ่ มีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งระดับจังหวัดและระดับตำบลเป็นหน่วยรับงบฯ

ขณะที่คำว่า #ท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นกิจการและกิจกรรมที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 มีการใช้เขียนเป็นชื่อเพื่อเสนอโครงการ จำนวน 1,990 โครงการ โดยพบว่า เป็นการขอใช้งบฯ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ทั้งการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก พัฒนาฐานข้อมูล ประชาสัมพันธ์ รวมถึงโครงการเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการท่องเที่ยว

ส่วนคำว่า #เกษตรกร มีจำนวน 280 โครงการ ซึ่งนอกจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและส่วนราชการของจังหวัดต่าง ๆ ยังมีสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง ที่เสนอโครงการเพื่อพัฒนาระบบเทคโนโลยีสำหรับเกษตรกร ฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนของเกษตรกร ขณะที่คำว่า #ยั่งยืน มีการระบุชื่อในโครงการจำนวน 188 โครงการ

คำว่า #โควิด และ #โคโรนา ถูกใช้เป็นชื่อโครงการ 212 โครงการ เช่น โครงการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยระบบสหกรณ์ โครงการจ้างงานเร่งด่วน ฝึกอาชีพ และการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ ฯลฯ

แต่คำว่า #ยากจน #ว่างงาน #เหลื่อมล้ำ กลับมีผู้เสนอโครงการไม่ถึงสิบโครงการ โดยแบ่งเป็น “ยากจน” 8 โครงการ “ว่างงาน” 4 โครงการ และ “เหลื่อมล้ำ” จำนวน 2 โครงการ โดยพบว่า เป็นโครงการเดินสำรวจออกแนวที่ดินเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างศักยภาพการแข่งขันให้กับประชาชนที่ยากจนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และโครงการสร้างสัมมาชีพและลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ให้ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยภายใต้การขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดเชียงใหม่

เปิดช่องทางมีส่วนร่วมของประชาชน

สำหรับวิธีการใช้งานเว็บไซต์ http://nscr.nesdb.go.th/thaime/ เพื่อดูข้อเสนอโครงการและแสดงความคิดเห็น สามารถค้นหาได้ที่ ‘รายชื่อข้อเสนอโครงการที่อยู่ระหว่างการกลั่นกรอง’ โดยจะมีการแสดงข้อมูลที่ระบุชื่อแผนงานหรือโครงการ, วงเงินงบประมาณ , หน่วยงานรับงบฯ , กระทรวง, จังหวัด, วันเสนอโครงการ และรายละเอียดโครงการ ซึ่งเป็นข้อเสนอโครงการเบื้องต้น ตามแบบฟอร์มของ สศช. ที่มีการระบุถึงความสำคัญของโครงการ รวมถึงหลักการและเหตุผลในการใช้งบฯ นั้น ๆ

ขณะที่ ในวันที่ 15 มิ.ย. จะเป็นการเปิดรับข้อเสนอโครงการอย่างเป็นทางการ (Project Details) จากนั้น จะเข้าสู่ขั้นตอนคัดกรองโครงการเบื้องต้น วิเคราะห์โครงการ และรับฟังความคิดเห็น ก่อนคณะอนุกรรมการกลั่นกรองจะพิจารณา และเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองชุดใหญ่ ที่มีเลขาฯ สศช. เป็นประธาน จากนั้น เข้าสู่ขั้นตอนการอนุมัติโครงการโดยคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 2 หรือ 7 ก.ค. 2563

ส่วนการเปิดรับข้อเสนอโครงการรอบสอง หรือหน่วยงานที่เสนอโครงการเข้ามาหลังวันที่ 5 มิ.ย. จะสามารถเสนอโครงการได้ถึงวันที่ 9 ก.ค. และผ่านการกลั่นกรองเช่นกัน ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนอนุมัติโครงการรอบที่สองในเดือน ส.ค.

ต้องสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มศักยภาพชุมชน!

สำหรับกรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ภายใต้กรอบแผนงาน/โครงการที่ 3 งบประมาณ 4 แสนล้านบาท ถูกแบ่งออกเป็น 4 แผนงาน คือ 3.1) แผนงานลงทุนและกิจกรรมการพัฒนาที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 3.2) แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน 3.3) แผนงานส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคครัวเรือนและเอกชน 3.4) แผนงานสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนกระบวนการผลิต

โดยโครงการทั้งหมด จะผ่านการกลั่นกรองโครงการ (Project Scrutinize) ก่อนนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดย สศช. นอกจากต้องสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ข้อ 13 ของ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินฯ แล้ว จะต้องยึดหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี คำนึงถึงประสิทธิภาพประสิทธิผล ตอบสนองความต้องการของประชาชนและชุมชน กระจายทรัพยากรอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม รวมถึงความยั่งยืนของการดำเนินการ และต้องโปร่งใสตรวจสอบได้

นอกจากนี้ สศช. ยังกำหนดว่าต้องมีคุณลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ สร้างการจ้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มมูลค่าและเชื่อมโยงผลผลิตของชุมชนกับตลาด, เพิ่มศักยภาพในการผลิตและการบริการ, กระตุ้นการบริโภคและการผลิตภายในประเทศ และโครงสร้างพื้นฐานที่ตอบสนองความต้องการของชุมชน

นายกฯ ย้ำ ต้องไม่ทับซ้อนกับงบฯ ปกติ

ขณะที่ ‘พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันว่า การใช้งบประมาณภายใต้วงเงิน 4 แสนล้านบาท ไม่ควรนำไปใช้ในโครงการที่เป็นการลงทุนหรือการพัฒนาภายใต้งบฯ ปกติ ซึ่งเป็นโครงการระยะยาวและอยู่ในแผนงานงบฯ ประจำปีอยู่แล้ว เพราะเป็นเงินที่ได้มาด้วยความยากลำบากจากการกู้เงิน ซึ่งงบฯ ฟื้นฟูดังกล่าว จะทำให้เกิดสภาพคล่อง แก้ปัญหาความเดือดร้อนของประขาชน ป้องกันไม่ให้เกิดการล้มเลิกกิจการและปัญหาการว่างงาน โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำถึงระบบการเปิดเผยข้อมูลผ่านเว็บไซต์ของ สศช. ว่า เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถตรวจสอบการใช้งบฯ ได้

“ขอให้มั่นใจในกรอบนโยบายของนายกรัฐมนตรีหัวหน้ารัฐบาล ผมไม่ต้องการการทุจริตโดยเด็ดขาด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบได้ทันที ทั้งตรวจสอบภายในและตรวจสอบภายนอก องค์กรอิสระ ตรวจสอบได้ทันที ทุกคนต้องให้ความสำคัญในเรื่องเหล่านี้ ไม่เดินกลับมาที่เก่า ดังนั้น ประชาชนก็ต้องมีส่วนร่วม คือ ให้เขาเสนอโครงการขึ้นมา แล้วส่วนราชการก็ไปพิจารณาร่วมกัน จะได้ตรงความต้องการประชาชน เพราะถ้าทำแล้วไม่ตรง ก็เป็นปัญหา มันก็ทำให้ตรวจสอบยาก”

บทสรุป

หากเป็นไปตามการกำชับของนายกรัฐมนตรี ที่อยากเห็นการใช้งบประมาณเพื่อฟื้นฟูผลกระทบจากโควิด-19 อย่างทันท่วงที ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ก็จะได้เห็นหน่วยงานต่าง ๆ ทยอยใช้งบฯ ตามคำขอโครงการที่ได้รับการอนุมัติในรอบแรก นั่นหมายความว่า เว็บไซต์ Thai ME ก็ต้องพร้อมเปิดข้อมูลเป็นสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนร่วมกำกับดูแลโครงการได้เช่นกัน

ขณะที่ หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าโครงการที่ส่วนราชการและจังหวัด ยื่นคำขอใช้เงินกู้เข้ามาแล้วมากกว่า 5 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ อาจเป็นโครงการที่นำมาปัดฝุ่นใหม่ คณะกรรมการกลั่นกรอง จึงอาจต้องลงลึกในรายละเอียด ทั้งความจำเป็นและเหมาะสมกับพื้นที่ พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบ

ฟากของประชาชน แม้ไม่มีช่องทางเสนอโครงการเพื่อใช้งบฯ ได้โดยตรง เพราะต้องผ่านหน่วยรับงบฯ ที่เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่การตรวจสอบและกำกับการใช้งบฯ ผ่านเว็บไซต์ ก็พอจะเป็นช่องทางให้ใช้เพื่อติดตามว่า โครงการภายใต้กรอบวงเงินกู้ 4 แสนล้านบาท จะครอบคลุมผลกระทบที่จำเป็นต้องฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการใช้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในระดับฐานรากได้จริงหรือไม่

ดูเพิ่ม

ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
ข้อเสนอโครงการเบื้องต้น (Project Brief) สำหรับโครงการภายใต้แผนงาน/โครงการ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม
จังหวัด-ราชการ ของบฯ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทะลุ 3.7 แสนล้าน
เปิดฟังความเห็นใช้เงิน 4 แสนล้าน ผ่านเว็บ thaime-area

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรุชิตา อุตมะโภคิน

ตามหาความเสมอภาคผ่านงานทั้งศาสตร์และศิลป์ พยายามทำความเข้าใจปรากฏการณ์รอบตัว

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์