“New Normal” ชีวิตปกติด้วยวิถีแบบใหม่ ที่ยากเกินจะหลีกเลี่ยง


ตื่นจากฝันร้ายด้วยการยอมรับความจริงว่าเราไม่ได้ฝันไป และโควิด-19 จะยังอยู่ ไม่ไปไหน จนกว่าจะผลิตวัคซีนมารักษาได้ แล้วจะทำอย่างไรในวิกฤตโรคระบาดที่กำลังจะกลายเป็นพิษต่อเศรษฐกิจปากท้อง นี่คือเส้นทางที่พาพวกเรามาพบกับนิยามของคำว่า “New Normal” หรือ ชีวิตปกติด้วยวิถีแบบใหม่ ในสภาวการณ์ของโลกที่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ประเทศไทยในยุคกึ่งล็อกดาวน์ จากมาตรการควบคุมพื้นที่หรือกิจกรรมหลายอย่างของสังคม กำลังฉายภาพความสำเร็จจากสถานการณ์ที่เริ่มคลี่คลาย ด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ลดน้อยลงทุกวัน ทว่าต้นทุนทางเศรษฐกิจและสังคมที่เสียไป ถูกประเมินว่าจะส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้มีรายได้น้อยจำนวนมาก สร้างหนี้สินครัวเรือนให้สูงขึ้น และอาจเพิ่มอัตราคนตกงานมากถึงราว 5-7 ล้านคน หากรัฐจะเยียวยาก็ต้องใช้เงินจำนวนมากในการช่วยเหลือ ซึ่งเป็นภาระที่หนักอึ้ง

ฉากทัศน์ หรือ ทางเลือกแห่งอนาคต ถูกร่างขึ้นมา 2 รูปแบบ โดยนักวิชาการทางการแพทย์และอดีตผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ดังนี้

#ฉากทัศน์ที่1

ใช้มาตรการปิดเมือง-ล็อกดาวน์ ระยะยาว ปูพรมค้นหาผู้ติดเชื้อ โดยจำกัดเขตเฉพาะพื้นที่เสี่ยง พร้อมกำหนดระยะเวลา เช่น ตลอด 3 เดือน คล้ายแบบจำลองพื้นที่ควบคุมขนาดใหญ่ แต่รูปแบบนี้ถูกมองว่าอาจต้องใช้ทรัพยากรมหาศาลจนกว่าจะหยุดเชื้อได้ทั้งหมด และทำได้ยาก

#ฉากทัศน์ที่2

การยอมรับว่าอย่างไรก็ไม่สามารถหยุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ และเน้นไปที่การควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในระดับต่ำ (low transmission) มีจุดประสงค์เดียวกับนโยบายในปัจจุบัน ที่ต้องการชะลอจำนวนผู้ติดเชื้อ เพื่อให้หน่วยงานสาธารณสุขสามารถรองรับได้ แต่ความต่าง คือ การให้ผู้คนสามารถทำงาน สานต่ออาชีพ เดินหน้าสายพานเศรษฐกิจต่อไป ผู้คนกลับมาใช้ชีวิต นักเรียนได้เรียนหนังสือ คนได้ทำงาน สังคมไม่หยุดนิ่ง หรือ ที่เรียกว่า “ชีวิตปกติด้วยวิถีแบบใหม่ : New Normal”

ฉากทัศน์ที่ 2 นี้ สามารถทำให้เป็นจริงได้ด้วยองค์ประกอบ 5 ประการ

1) เพิ่มความเข้มข้นในมาตรการทางสาธารณสุขและการแพทย์ ขยายการตรวจให้ครอบคลุมทุกจังหวัด มีการตรวจวินิจฉัยที่รวดเร็ว มีแยกรักษาผู้ป่วย สร้างระบบเฝ้าระวัง/ค้นหาผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยง เช่น ชุมชนในพื้นที่แออัด เรือนจำ บ้านคนชรา เป็นต้น และมีระบบติดตามผู้ป่วย สร้างสถานที่รับรองผู้ป่วยที่มีมาตรฐานประจำอยู่ทุกจังหวัด

2) สร้างมาตรการด้านสุขลักษณะ หรือ มาตรฐานทางสังคม เช่น ล้างมือบ่อยครั้ง สวมหน้ากากอนามัยอยู่ตลอดเมื่อออกจากบ้าน เว้นระยะห่างทางสังคม และงดทำกิจกรรมรวมหมู่ อาจคล้ายการรณรงค์แบบเดิมแต่ต้องรัดกุมและปฏิบัติจริงจัง

3) อนุญาตให้ธุรกิจกลับมาเริ่มเดินหน้าได้ภายใต้การควบคุม โดยมีการประเมินความเสี่ยงขององค์กรธุรกิจนั้น ๆ และวางมาตรการดำเนินงานภายในองค์กรให้มีมาตรฐานความเสี่ยงต่ำที่จัดการได้ เช่น มีมาตรการตรวจวัดไข้ และปรับรูปแบบการทำงาน ลดภารกิจที่มีการติดต่อระหว่างคน โดยนำเทคโนโลยีก้าวหน้ามาใช้ประโยชน์แทน

4) ยังคงปิดแหล่งแพร่โรคที่มีความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ธุรกิจบริการหรือกิจการที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งถูกสอบสวน/ประเมินว่าเป็นแหล่งแพร่ระบาด เช่น ผับ บาร์ คาราโอเกะ เห็นควรสั่งให้ปิดระยะยาว ส่วนที่เปิดได้คือกิจการที่มีความเสี่ยงต่ำ และใช้วิธีพิจารณาให้เปิดแบบจำเพาะราย (selective measures)

5) มีระบบเฝ้าระวังตรวจจับและคาดการณ์ความรวดเร็วของการแพร่ระบาดในระดับพื้นที่และระดับประเทศ โดยทีมวิเคราะห์สถานการณ์ภาพรวม เพื่อสร้างทางเลือกในการบริหารจัดการตนเอง

รวมถึงระบบการเตือน การเพิ่มมาตรการควบคุม การลดหรือผ่อนคลายมาตรการควบคุม เป็นรายพื้นที่ จัดให้มีทีมเฝ้าระวังโดยภาคประชาชนและท้องถิ่น ตั้งแต่ในพื้นที่ในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล

“ชีวิตปกติด้วยวิถีแบบใหม่ : New Normal” ที่เกิดขึ้นแล้ว

หากจะยกตัวอย่างการปรับตัว หรือ สิ่งที่เรียกว่าชีวิตปกติแบบใหม่ ก็จะเห็นว่าหลายสิ่งเกิดขึ้นแล้ว และคาดว่าจะยังคงดำเนินต่อไป แม้การระบาดของโควิด-19 จะจบลง

ภาคธุรกิจ เอกชน และผู้ประกอบการที่ต้องปรับตัวอย่างกะทันหัน อาจกลายเป็นปฐมบทใหม่ของการทำงานโดยสิ้นเชิง ที่เห็นได้ชัด คือ การสลับวันหยุดของพนักงาน จากการรณรงค์ให้ทำงานที่บ้าน หรือ work from home ยังไม่มีรายงานจากผู้บริหารรายใด ที่บอกว่าค่าไฟฟ้าและค่าน้ำของเดือนนี้เป็นอย่างไร แต่รับประกันได้ว่าต้นทุนที่บริษัทต้องแบกรับลดน้อยลงแน่นอน สิ่งนี้อาจนำไปสู่โมเดลของการเป็นออฟฟิศขนาดเล็ก หรือ ออฟฟิศให้เช่า (Rental office) ที่จะมีขนาดเล็กลง

เกิดการลงทุนกับผลิตภัณฑ์บนโลกออนไลน์มากขึ้น อย่างที่เห็นว่ายอดการเข้าใช้งานของโปรแกรมประชุมออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด แม้ช่วงแรก ๆ หลายคนเสียเวลากับการเรียนรู้วิธีการใช้ แต่ภายหลังกลับกลายเป็นเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกได้อย่างดี มากกว่านั้น โทรศัพท์ในมือที่เคยซื้อมาเกือบครึ่งแสนอาจถูกใช้อย่างคุ้มค่ากับราคามากขึ้น มีโอกาสที่ทุกคนจะก้าวสู่ยุค 4.0 อย่างเต็มขั้น

หน้าร้านอาจมีความสำคัญน้อยลง เพราะการจับจ่ายใช้สอยทำได้ด้วยระบบขนส่ง และการจ่ายเงินผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ ก็รวดเร็วกว่าเวลารอเงินทอนที่หน้าร้านเสียอีก ร้านค้าต่าง ๆ จึงต้องหันมาพึ่งพาแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งจะเป็นต่อในแง่ของการนำฐานข้อมูลลูกค้าที่บันทึกได้ มาสังเคราะห์ให้เกิดประโยชน์ใหม่ และสร้างยอดขายให้เท่าทวีคูณ วิชาการตลาดของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ คงต้องเพิ่มเนื้อหาในส่วนนี้มากขึ้น ที่เห็นแล้ววันนี้ คือ โปรแกรมสอนการตลาดออนไลน์ที่หลายหน่วยงานเริ่มจัดทำ

สุขพลานามัยที่เคยเป็นแค่ตำราในวิชาสุขศึกษา ถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างที่อาจารย์ต้องภูมิใจ และหลักคิดเชิงสิ่งแวดล้อม ที่ไม่เคยร่ำเรียนก็กลายเป็นเรื่องที่ผู้คนขวนขวายหาความรู้ เพื่อที่จะหาวิธีการหลบเลี่ยงการเผชิญกับความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19

ที่สำคัญ คือ นวัตกรรมการผลิตที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมากมายเพื่อตอบโจทย์ความต้องการเรื่องของความสะอาด ความปลอดภัยในชีวิต การคิดค้นเครื่องไม้เครื่องมือในรูปแบบใหม่ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ระดับโรงพยาบาลและระดับครัวเรือน และจนอาจเรียกได้ว่าใครคิดได้ ก็เป็นโอกาสทั้งสร้างงานอาชีพ หรือการเป็นฮีโร่ที่ช่วยเหลือคนอื่นได้ในชีวิตจริง

บทส่งท้าย

นับตั้งแต่ไวรัสโคโรนา 2019 ถูกค้นพบในร่างกายของมนุษย์ ปฏิกริยาของมันสร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลก กลายเป็นศัตรูที่มองไม่เห็น และส่งผลร้ายต่อทุกคนทั้งทางตรงและทางอ้อม กลวิธีเดียวที่จะเอาชนะได้ คือ วัคซีนป้องกัน แต่ในระหว่างที่รอการผลิต หลายประเทศก็พิชิตชัยชนะด้วยมาตรการด้านต่าง ๆ ทั้งมาตรการทางด้านสาธารณสุขและการแพทย์ มาตรการด้านสังคม และมาตรการทางกฎหมาย เช่น ประเทศจีน ที่เข้มงวดต่อการควบคุม จนดูเหมือนจะสามารถควบคุมโรคได้แล้ว แม้ไม่มียารักษา

แต่นักวิชาการจากนานาชาติกลับมองว่า จะไม่มีพื้นที่ไหนที่ปลอดภัย หากว่ายังไม่มีวัคซีน หรือยังมีคนป่วยอยู่มุมใดมุมหนึ่งของซีกโลก เพราะเชื้อที่สามารถแพร่กระจายถึงกันได้อยู่ดี

นับถอยหลังจนกว่าจะถึงเวลาที่วัคซีนผลิตได้สำเร็จ คือความท้าทายที่ทุกคนจะหาคำตอบว่า เราจะอยู่กันอย่างไร ใน “ชีวิตปกติด้วยวิถีแบบใหม่” ให้รอดตายจากโควิด-19 โดยที่ไม่ตายไปจากพิษเศรษฐกิจเสียก่อน


📌 ดูเพิ่ม
– การเปลี่ยนผ่านจากมาตรการ “กึ่งล็อกดาวน์” เข้าสู่มาตรการ “ สร้างเสถียรภาพ” : https://isranews.org/article/isranews/download/18018/87762/18.html
– 5 ข้อเสนอจากหมอก่อน “ปลดล็อกดาวน์” สู้ COVID-19 : https://news.thaipbs.or.th/content/291386
– ความปกติใหม่ ( New Normal ) เชิงพฤติกรรมของเมืองและโลกใบนี้ หลังจบ COVID-19 : https://www.terrabkk.com/articles/197696
– Coronavirus Will Change the World Permanently. Here’s How. : https://www.politico.com/news/magazine/2020/03/19/coronavirus-effect-economy-life-society-analysis-covid-135579

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้