“Cabin Fever” อาการเบื่อหน่ายที่ต้องอยู่ในพื้นที่จำกัด แก้ได้อย่างไร?

“Cabin Fever” อาการเบื่อหน่ายที่ต้องอยู่ในพื้นที่จำกัด แก้ได้อย่างไร?

หากต้อง “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ต่อเนื่องนาน ๆ หลังการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมโรคโควิด-19 และประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ รวมถึงมาตรการอื่น ๆ ที่จำกัดการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า ความจำเจและอาการเบื่อหน่ายที่ต้องอยู่ในพื้นที่จำกัด และทำกิจกรรมเดิม ๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจนำไปสู่ความรู้สึกกดดันทางจิตใจ หรือที่นักจิตวิทยาเรียกว่า “Cabin Fever”

The Active รวบรวมวิธีแก้อาการเบื่อหน่ายแบบง่าย ๆ จากนักจิตวิทยาหลายสถาบัน

Cabin Fever มักถูกพูดถึงอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และมีความจำเป็นต้องใช้ชีวิตอยู่ในบ้านเป็นเวลาหลาย ๆ วัน เช่น ผู้ที่อาศัยอยู่ในแถบอเมริกาเหนือ ที่ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในกระท่อมช่วงฤดูหนาว โดยไม่ใช่อาการทางจิตแต่เป็นอารมณ์ความรู้สึก ตั้งแต่ความเบื่อหน่าย หงุดหงิดใจ กระสับกระส่าย แต่ในเวลานี้ที่หลาย ๆ คนจำเป็นต้องกักตัวอยู่บ้าน หรือทำงานในบ้าน เป็นเวลาหลายวัน โดยที่ไม่ได้ออกไปไหน ก็อาจทำให้เกิดความรู้สึกนี้ได้ CNN health รวบรวมคำแนะนำจากนักจิตวิทยาจากหลาย ๆ สถาบันเอาไว้

Establish a routine – สร้างกิจวัตรประจำวัน

จัดระเบียบชีวิต มีตารางเวลาในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในแต่ละวัน ตั้งแต่ตื่นนอน รับประทานอาหาร และกิจวัตรอื่น ๆ ให้วันที่ดูเหมือนว่าง ๆ กลายเป็นวันที่มีภารกิจ และสร้างความรู้สึกว่านี่คือการพักผ่อน ไม่ได้กักตัวเองเฉย ๆ

Mix up your space a bit – จัดบ้านใหม่

ปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมรอบตัวเพื่อสร้างความรู้สึกใหม่ ๆ หรือเปลี่ยนบรรยากาศได้โดยที่ไม่ต้องเดินทางไปไหน การจัดระเบียบสิ่งของยังช่วยจัดระเบียบความคิดความรู้สึกไปพร้อมกัน และอาจทำให้เกิดความรู้สึกแปลกใหม่ หากพบของเก่า ๆ ที่คิดว่าเคยหายไปแล้ว หรือของที่เก็บจนลืม

Stay physically and mentally active – ออกกำลังกายและออกกำลังใจสม่ำเสมอ

ที่จริงแล้วการออกกำลังกายไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่มากมาย แค่เพียงให้กางแขนกางขาก็สามารถออกกำลังกายได้จนเหงื่อท่วมตัว การเลือกแนวทางการออกกำลังกายต่าง ๆ ยังสัมพันธ์กับการออกกำลังใจ เช่น โยคะ ที่ช่วยยืดเหยียด ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และสร้างสมาธิได้ไปในตัว

Connect with others – ติดต่อพูดคุยกับเพื่อนฝูง

ถึงจะห่างตัว แต่ไม่ห่างจากใจ และไม่หายไปจากความสัมพันธ์ของกันและกัน แค่เพียงใช้สื่อสังคมออนไลน์ให้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนความคิดความรู้สึกแต่คนสนิท ไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบ ก็จะช่วยให้คลายเหงาและรู้ว่าตัวเราไม่ได้อยู่คนเดียว และยังมีคนอีกมากที่ต้องใช้ชีวิตในแบบเดียวกัน

But find time to separate, too – หาเวลาความเป็นส่วนตัว

การอยู่ในพื้นที่จำกัดอาจทำให้เกิดความรู้สึกด้านลบอยู่แล้ว หากสมาชิกในบ้านคนอื่นที่มีความรู้สึกด้านลบเช่นกัน อาจจะทำให้เกิดการปะทะอารมณ์ได้ง่าย ดังนั้นจึงควรให้เวลากับการทำกิจกรรมดี ๆ ร่วมกัน แต่ก็ต้องหาเวลาที่จะแยกตัวเพื่ออยู่กับตัวเอง หรือพื้นที่ส่วนตัวด้วย

Embrace discomfort – ทำความเข้าใจกับสถานการณ์

ความคิดสัมพันธ์กับอารมณ์ หากสมองสร้างความเข้าใจกับสถานการณ์ได้ดี รู้เหตุและผลของการกระทำ ก็จะช่วยควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น แต่หากตั้งต้นด้วยความหงุดหงิด สถานการณ์ต่าง ๆ ก็อาจแย่ลง เช่น การฝืนออกไปยังพื้นที่เสี่ยง ถึงจะได้ไปในที่ชอบ แต่ก็อาจได้โรคกลับมาด้วย

ยังไม่มีใครบอกได้ว่าการระบาดของโควิด-19 จะหยุดเมื่อไหร่ และมาตรการกักตัว หรือจำกัดพื้นที่จะดำเนินต่อไปอีกนานแค่ไหน แต่หากปรับตัวได้การใช้ชีวิตในสถานการณ์แบบนี้ก็คงจะไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไป และ Cabin Fever ก็อาจจะกลายเป็น Happy Over (There) ก็ได้

📌 ดูเพิ่ม
– https://edition.cnn.com/2020/03/19/health/coronavirus-cabin-fever-definition-quarantine-wellness/index.html

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้