แผนที่จัดการเชิงระบบ นวัตกรรมปิดวาล์วท่อน้ำ

“นอกจากภาครัฐแล้ว ผู้นำองค์กร ทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนต่าง ๆ สามารถช่วยกันทำงานเพื่อให้วงจรการควบคุมโรคในแต่ละจุด มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อย่างไร?”

Public Policy Talk : Borwornsom Leerapan

แผนที่จัดการเชิงระบบ นวัตกรรมปิดวาล์วท่อน้ำ หากจะหยุดยั้งการระบาดและการเสียชีวิต รัฐและเราควรทำอะไร?

ผศ.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ป้องกันสาขาระบาดวิทยา และนักวิจัยระบบสุขภาพ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล นำเสนอ 2 บทเรียนที่ได้รับจากการพัฒนาแบบจำลองระบบบูรณาการเพื่อรับมือวิกฤตการณ์เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งสามารถใช้เป็นแผนที่นำทางให้สังคมช่วยกันหามาตรการและนวัตกรรมช่วยหยุดการแพร่เชื้อและควบคุมโรคและเพื่อลดอัตราผู้เสียชีวิตในอนาคต ได้แก่ (1) การใช้แบบจำลองสถานการณ์เพื่อเตรียมเตียงผู้ป่วยวิกฤต (ICU) และ (2) การบูรณาการระบบการแก้ไขปัญหาโควิด-19

ไม่อยากให้การ “เลือกรักษา” เกิดขึ้นกับประเทศไทย

การประยุกต์ใช้แบบจำลองสถานการณ์ในประเด็นแรก คือ ใช้แบบจำลองเพื่อประมาณจำนวนผู้ป่วย เพื่อเตรียมทรัพยากรให้เพียงพอ โดยเฉพาะสำหรับผู้ป่วยวิกฤต เช่น ห้อง ICU สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง การจากจำลองสถานการณ์ตามข้อมูลที่ได้รับจากสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ที่ชี้ว่าระบบสุขภาพไทยมีเตียง ICU ประมาณ 8,500 เตียงซึ่งต้องใช้ร่วมกับผู้ป่วยโรคอื่น ๆ และใช้สมมติฐานผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 1 คน สามารถแพร่กระจายเชื้อให้คนอื่นได้อีก 1.8 คนโดยเฉลี่ย ซึ่งเป็นสมมติฐานเดียวกับฉากทัศน์ที่ 2 ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งไม่ใช่ฉากทัศน์ที่แย่ที่สุด แต่เป็นสถานการณ์ตรงกลาง ได้ผลเป็นตัวเลขคาดการณ์ว่าจุดสูงสุดของสถานการณ์ (ช่วงพีค) คือปลายปี 2563 จะมีผู้ติดเชื้อในประเทศประมาณ 300,000 กว่าคน

ตามโมเดลนี้ หากพิจารณาจากวันที่ 4 ม.ค. 2563 นับเป็นวันแรกของการพบผู้ติดเชื้อรายแรกในประเทศไทย จุดพีคของสถานการณ์อยู่ช่วงวันที่ 308 คือ ประมาณต้นเดือน พ.ย. 2563 จะมีผู้ป่วยวิฤตต้องการห้อง ICU ประมาณ 19,000 คน ขณะที่มีเตียง ICU เพียง 8,500 เตียง วันนั้นเราอาจจะมีจำนวนผู้ป่วยหนัก แต่ไม่มีเตียง ICU รองรับราว 10,000 คน ส่วนหนึ่งอาจรักษาโดยเครื่องช่วยหายใจนอกห้อง ICU ได้ แต่ผู้ป่วยเหล่านี้อาจจะไม่มีโอกาสได้รับการรักษาตามมาตรฐานที่ควรเป็น ทำให้คาดการณ์ว่าอาจมีคนเสียชีวิตประมาณ 8,000 คน จากจำนวนคนที่ติดเชื้อทั้งหมดในเวลาต่อมา

สถานการณ์ของการ ‘เลือกรักษา’ ผู้ป่วยให้มีชีวิตรอดมากที่สุดในช่วงที่มีทรัพยากรจำกัด เป็นหลักสากลในการช่วยเหลือผู้ป่วยในภาวะสงคราม ภัยพิบัติ หรืออุบัติเหตุหมู่ แต่ตอนนี้กำลังเคยเกิดขึ้นในประเทศอิตาลีแล้ว และมีโอกาสเกิดขึ้นกับประเทศไทยได้เช่นกัน แม้ว่าแพทย์พยาบาลไม่ต้องการทางเลือกนั้น ผศ.นพ.บวรศม ยืนยันหนักแน่น “ไม่อยากให้ภาพนี้เกิดขึ้นกับสังคมไทย”

การทำนายสถานการณ์ที่เลวร้าย เพื่อวางแผนใช้ทรัพยากรและหยุดยั้งคนเสียชีวิต

เป็นที่มาของการประยุกต์ใช้แบบจำลองสถานการณ์ในประเด็นสอง คือ การนำเสนอ “โครงสร้างพื้นฐานของแบบจำลองบูรณาการระบบการแก้ไขปัญหา COVID -19” ซึ่งพัฒนาต่อยอดจากแบบการจำลองการแพร่ระบาดโควิด-19 ของกรมควบคุมโรค เป็นแผนที่ในการทำงานการบูรณาการระบบการแก้ไขปัญหาโควิด-19

จากแนวโน้มวิกฤตการรับมือของระบบสุขภาพที่อาจมีผู้ป่วยเสียชีวิตจำนวนมาก นพ.บวรศม อธิบายว่า ในเวลานี้ ตัวเลขแนวโน้มของผู้ติดเชื้อจำนวนมากตามที่คาดการณ์ไว้หรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ประเด็นที่สำคัญมากกว่าคือ เราจะทำให้แนวโน้มนั้น ไม่เป็นจริงด้วยวิธีการใดได้บ้าง? และเราต้องการนโยบายหรือนวัตกรรมอะไรเพิ่มเติมอีกบ้าง?

“โครงสร้างพื้นฐานของแบบจำลองบูรณาการระบบการแก้ไขปัญหา COVID -19” สามารถแสดงได้ด้วยแผนภาพแบบจำลองการจัดการเชิงระบบที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของโรคติดเชื้อ ซึ่งในวงการแพทย์และสาธารณสุขมีความรู้เรื่องเหล่านี้มีมานานเกือบ 100 ปี โดยนำมาอธิบายเป็นภาพที่มีความสัมพันธ์ให้เข้าใจง่ายขึ้น นอกจากจะใช้คาดการณ์หรือทำนายสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างเลวร้ายที่สุด ยังช่วยให้วางระบบการป้องกัน ควบคุมโรค และวางแผนการใช้ทรัพยากรทางการแพทย์ได้อย่างมีทิศทางและมีประสิทธิภาพควบคุมโรคได้มากขึ้น

นพ.บวรศม อธิบายโดยสรุปคือ โรคติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 ไม่ต่างจากโรคติดเชื้ออื่นขึ้นอยู่กับว่า “ประชากรที่มีโอกาสติดเชื้อได้” กลายเป็น “ประชากรผู้สัมผัสเชื้อ” และเมื่อติดเชื้อแล้ว กลายเป็น “ประชากรผู้ติดเชื้อและแพร่เชื้อได้” เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากหรือน้อย และระบบบริการสุขภาพจะช่วยรักษาให้ “ประชากรผู้ติดเชื้อและแพร่เชื้อได้” นั้นให้ฟื้นตัวหายจากโรค หรือทางตรงข้าม โรคติดเชื้อได้พัฒนาให้ผู้ป่วยเสียชีวิต ได้มากน้อยเพียงใด และการเปลี่ยนผ่านของประชากรแต่ละกลุ่มเป็นไปด้วยอัตราความเร็วแต่ละระยะอย่างไร

ร่วมสร้างนวัตกรรมเพื่อปิดวาล์วท่อน้ำ หากจะหยุดยั้งการระบาด

ในภาพโครงสร้างพื้นฐานนี้ เขียนเหมือนอ่างน้ำ 4 อ่าง คือ

(1) อ่าง “ประชาการที่มีโอกาสติดเชื้อ”

(2) อ่าง “ประชากรผู้สัมผัสเชื้อ”

(3) อ่าง “ประชากรผู้ติดเชื้อและแพร่เชื้อได้” และ

(4) อ่าง “ประชากรผู้หายจากโรคและฟื้นตัว” ถ้าไม่ต้องการให้คนไปอยู่ที่ อ่าง “ผู้เสียชีวิต” เพราะฉะนั้น สังคมต้องการคนช่วยคิดและออกแบบทั้งมาตรการเชิงนโยบายและนวัตกรรม เพื่อไป ‘ปิดวาล์ว’ ของท่อน้ำแต่ละจุดได้อย่างไร

หลักการของการควบคุมโรค หากไม่ต้องการให้มีผู้เสียชีวิตมาก จำเป็นต้องควบคุมด้วยนโยบายและนวัตกรรมต่าง ๆ อย่างเข้มข้น โดยจัดการ 3 วงจรสำคัญ คือ ตัดวงจรที่ 1 หรือ “วงจรการแพร่เชื้อ” ของ “กลุ่มประชากรที่ีมีโอกาสติดเชื้อ” และ “กลุ่มประชากรผู้สัมผัสเชื้อ” จากนั้น ให้ความสำคัญในการรักษาพร้อมกับการกักโรคและแยกโรค เพื่อให้ “กลุ่มผู้ติดเชื้อและแพร่เชื้อได้” ไม่กลับมาอยู่ในวงจรการแพร่เชื้อ และให้อยู่ใน วงจรที่ 2 หรือ “วงจรการฟื้นตัว” มากที่สุด เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยที่แสดงอาการ และเตรียมทรัพยากรสุขภาพให้เพียงพอ เพื่อไม่ให้เข้าสู่วงจรที่ 3 หรือ “วงจรการเสียชีวิต” ซึ่งวงจรสุดท้ายนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐบาลออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 2563 เป็นต้นมา

เมื่อพิจารณาตาม “โครงสร้างพื้นฐานของแบบจำลองบูรณาการระบบการแก้ไขปัญหา COVID -19” รัฐบาลได้ออกมาตรการเข้มข้นระยะสั้นไปแล้ว คือ การปิดเมือง/ปิดประเทศ (containment) โดยห้ามการเดินทางในและระหว่างประเทศ เพื่อไม่ให้มีเชื้อเพิ่มเข้ามา แต่ไม่สามารถทำเรื่องนี้ได้ระยะยาว เนื่องจากส่งผลเสียให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก ในที่สุดมาตรการเหล่านี้จะถูกผ่อนปรน ดังนั้น ควรหามาตรการเชิงนโยบายและนวัตกรรมอื่นเข้ามาเสริมให้การกระจายเชื้อน้อยลง หยุดการแพร่ระบาดให้ได้ในระยะยาว หลังพ้นระยะการใช้มาตรการเข้มข้นระยะสั้นไปแล้ว

มาตรการในการตัดวงจรการแพร่เชื้อที่มีทั้งนโยบายและมาตรการออกแล้ว คือ 1) การเพิ่มระยะห่างทางสังคม (social distancing behaviors) ซึ่งควรถูกปรับใช้ในเป็นสองมาตรการทางสังคม คือ (1.1) การปรับพฤติกรรมส่วนบุคคล เช่น ขอให้ประชาชนอยู่บ้าน ทำงานที่บ้าน การให้สุขศึกษาแก่สาธารณะ (1.2) การลดความหนาแน่นของชุมชน ซึ่งสามารถทำได้โดยนโยบายต่าง ๆ เช่น การปิดโรงเรียน มหาวิทยาลัย ปิดสถานประกอบการ/ที่ทำงาน ปิดห้างร้าน (ยกเว้นบริการฉุกเฉิน ร้านชำขนาดเล็ก ร้านสะดวกซื้อ) ปิดร้านอาหาร/สถานบันเทิง ปิดสโมสรกีฬา สนามกีฬา ห้ามจัดประชุม/งานแสดงสินค้า เป็นต้น และ 2) มาตรการในการกักโรคและการแยกโรค (Quarantine & Isolation) โดยระบบการแพทย์และสาธารณสุข ขณะนี้พยายามอย่างยิ่งในการตัดวงจรการแพร่เชื้อและเร่งให้กลุ่มผู้ติดเชื้อฟื้นตัวเร็วที่สุด

ปรับพฤติกรรม เครื่องมือทรงพลังของประชาชน

สิ่งที่ชวนคิดต่อจากแผนภาพนี้, นอกจากภาครัฐแล้ว ผู้นำองค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนต่าง ๆ สามารถช่วยกันทำงานเพื่อทำให้วงจรการควบคุมโรคในแต่ละจุดมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อย่างไร? ขณะนี้มีพลเมืองตื่นรู้ (active citizen) และอาสาสมัครจำนวนมากอยากมีส่วนร่วมในการช่วยควบคุมโรคให้ได้ผลเชิงบวกมากขึ้น แผนผังนี้จะช่วยเป็นแผนที่แบ่งงานกันทำโดยไม่ซ้ำซ้อนกัน และกลายเป็นชุมชนพัฒนานวัตกรรมและศักยภาพสู่กับโควิด -19

นพ.บวรศม ยกตัวอย่างเช่น ทำอย่างไรให้ “ประชากรที่มีโอกาสติดเชื้อได้” ลดการสัมผัสเชื้อ เพื่อลดอัตราการแพร่เชื้อ จำเป็นต้องปรับพฤติกรรมส่วนบุคคลและลดความหนาแน่นของชุมชน จึงมีการออกมาตรการเพิ่มระยะห่างทางสังคม แต่ในระยะยาวจะเป็นเรื่องยากขึ้นในชีวิตประจำวัน จำเป็นที่องค์กรภาคเอกชนต้องเข้ามามีส่วนร่วม เช่น แทนที่จะเรียกร้องให้ประชาชนรักษาระยะห่างเวลาขั้นรถเมล์หรือรถไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว ขสมก. หรือ บริษัทรถไฟฟ้าควรเพิ่มจำนวนรถให้มากขึ้นมากและถี่ขึ้นมาก ก็จะทำให้ผู้โดยสารสามารถเพิ่มระยะห่างต่อกันได้มากขึ้นทันที ลดความแออัดของคนเดินทางลง ส่วนผู้ประกอบการอื่น ๆ ก็อาจมีมาตรการและนวัตกรรมเข้ามาสนับสนุนให้พนักงานสามารถทำงานที่บ้านได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มาตรการเหล่านี้ ไม่ได้อยู่ที่ภาครัฐฝ่ายเดียว แต่ภาคเอกชนต้องเข้ามาสนับสนุน

สำหรับมาตรการหรือนโยบายระดับชุมชน สามารถออกแบบวิถีของชุมชนเพื่ออยู่ร่วมกันในสถานการณ์โควิด -19 นี้ได้ เช่น ในระยะยาว จะจัดการงานบวช งานแต่งงาน และงานศพอย่างไร ที่ลดความหนาแน่น ลดโอกาสสัมผัสโรค เพราะมีการรวมกลุ่มของคนจำนวนมาก

สถานการณ์เช่นนี้ เปิดให้มีการสร้างสรรค์นวัตกรรมเรียนรู้ไปพร้อมกันทั่วโลก แต่การเรียนรู้จากที่อื่นก็ต้องมาปรับเข้ากับบริบทของสังคมไทยอยู่ดี เช่น กรณีการกักโรคของคนที่มีความเสี่ยง หรือการกักโรคในกรณีคนที่ติดเชื้อและแพร่เชื้อได้ คำถามคือ ถ้าให้คนที่เสี่ยงติดเชื้อกักตนเองอยู่ที่บ้าน คนเหล่านี้จะอยู่ได้นานเท่าใด อาจจะทำได้สำหรับคนชนชั้นกลาง มีรายได้ มีฐานะ แต่คนที่มีรายได้น้อยที่จำเป็นต้องออกไปหารายได้รายวันเลี้ยงปากท้อง และที่พักอาศัยอยู่รวมกันหลายคนในบ้าน อาจจะไม่สามารถกันบริเวณที่จำกัดเพื่อแยกกักตัวเองได้ จะทำอย่างไร ในบางประเทศจึงมีการจัดสถานที่ให้คนกลุ่มเสี่ยงนี้รวมตัวกันในสถานที่จำเพาะที่ถูกออกแบบเพื่อรองรับการกักตัว โดยไม่ให้เขาแพร่เชื้อให้คนในบ้านได้ เช่น โบสถ์ อาคารสาธารณะ โรงแรม เป็นต้น

ดึงสหวิชาชีพ ร่วมปกป้องกลุ่มเสี่ยง ลดอัตราการเสียชีวิต

ขณะนี้ เชื้อโควิด-19 กระจายจากเมืองสู่ชนบท ในพื้นที่ที่ผู้คนอยู่รวมกันเป็นครอบครัวขยาย หลายคน หลายวัย ที่มีผู้สูงอายุรวมอยู่ด้วยในบ้านเดียวกัน ต่างจากการอยู่กรุงเทพฯ หรือเขตเมือง ที่อยู่เป็นครอบครัวเดี่ยว ดังนั้น ต้องช่วยกันคิดออกแบบนวัตกรรมเพื่อลดความหนาแน่นในแต่ละกิจกรรมของคนชนบท ในบริบทของสังคมไทย อาจจะแตกต่างกับตัวอย่างในประเทศตะวันตกซึ่งการจัดการป้องกันการติดเชื้อของกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุและคนป่วยโรคเรื้อรัง โดยเฝ้าระวังสถานดูแลผู้สูงอายุ (nursing home) แต่ในประเทศไทยคนสูงอายุส่วนใหญ่อยู่บ้าน เราจึงจำเป็นต้องพัฒนาระบบการควบคุมโรคในประชากรกลุ่มเสี่ยงแบบไทย ๆ ขึ้นมาเอง

ประเด็นเหล่านี้ ควรใช้สหวิชาชีพช่วยกันหาแนวทางลดความเสี่ยงผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น ระดมสมองจากมุมมองด้านสังคมวิทยา (sociology) พฤฒาวิทยา (gerontology) หรือเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ (geriatrics) ที่น่าจะเข้าใจผู้สูงอายุได้ดี หรือการพัฒนาแอปพลิเคชันดิจิทัลจะช่วยได้มากในลักษณะการตามรอยตัวผู้สัมผัสโรค (contact tracing) ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น กรณีคนสัมผัสเชื้อผ่านจุดคัดกรองและพบว่ามีไข้ จำเป็นต้องกักตัว แต่เชิงระบาดวิทยาต้องการทราบว่า ตลอด 14 วันที่ผู้สัมผัสเชื้อเดินทางไปที่ไหน เกี่ยวข้องกับใครบ้าง ขณะที่เทคโนโลยีให้ข้อมูลส่วนตัวดีที่สุดคือโทรศัพท์มือถือ ดังนั้น จำเป็นต้องมีการพัฒนานวัตกรรมการตามรอยของผู้สัมผัสเชื้อ ผู้ติดเชื้อและแพร่เชื้อต่อยอดจากโทรศัพท์มือถือได้ เพราะหากคุมประชากรติดเชื้อและแพร่เชื้อไม่ได้ ไปสู่การคุมผู้ป่วยที่มีอาการไม่ได้เพิ่มขึ้น จะเกิดวิกฤตและล้นขีดความสามารถของห้อง ICU ที่มีอยู่ในระบบสุขภาพทั้งหมด มีผลให้อัตราตายของผู้ป่วยสูงขึ้นอย่างน่ากังวล

นพ.บวรศม ยืนยันว่า ขณะนี้ ต้องการนวัตกรรมที่ช่วยหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อ เพราะหากคุมไม่อยู่ไทยจะเดิมตามรอยประเทศอิตาลี ในระยะสั้น, สังคมไทยต้องเพิ่มเป้าหมายมากกว่าการควบคุมการระบาด ไปที่ลดจำนวนคนตายด้วย โดยเฉพาะต้องช่วยกันเร่งเพิ่มทรัพยากรทางการแพทย์ รวมทั้งมีอุปกรณ์ในการป้องกันของบุคลากรทางการแพทย์ เพราะหากมีไม่พอ นอกจาก หมอพยาบาลมีโอกาสติดเชื้อแล้ว โรงพยาบาลจะกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อด้วย นั่นคือ แย่ระดับที่หนึ่ง และสถานการณ์จะวิกฤตขึ้น เมื่อหมอ พยาบาลที่ติดเชื้อ คนใกล้ชิดหมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่จะต้องถูกกักตัว ยิ่งทำให้ขีดความสามารถในการดูแลผู้ป่วยหนักผู้ป่วยวิฤตน้อยลง ก็ยิ่งเพ่ิมอัตราตายของผู้ป่วยโดยไม่จำเป็น นวัตกรรมบางอย่าง เช่น นำเครื่องพิมพ์สามมิติพิมพ์อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อให้บุคลากรทางการแพทย์กลายเป็นความจำเป็นเร่งด่วน ที่ต้องการนวัตกรอีกกลุ่มเข้ามาช่วยกันทำงาน

การเปิดเผยแนวโน้มหรือฉากอนาคตในกรณีเลวร้ายที่เป็นไปได้และสมเหตุสมผลข้างต้น นพ.บวรศม บอกว่า เพื่อเป็นการชวนคุยให้เกิดการคิดนวัตกรรมเพิ่มเติม ทั้งจากรัฐ จากระดับองค์กร และชุมชน ขณะนี้ประเทศไทย เพราะมาตรการปิดเมือง ปิดประเทศ เป็นเพียงมาตรการระยะสั้นที่ควบคุมการเดินทางของคนทั้งในและนอกประเทศ เพื่อไม่ให้มีเชื้อเพิ่มเข้ามา และลดการติดเชื้อในประเทศ แต่ก็ไม่สามารถทำเรื่องนี้ได้ระยะยาว ในที่สุดมาตรการเหล่านี้จะถูกผ่อนปรน ถ้ายังคงมีผู้ติดเชื้อเหลืออยู่ในประเทศไทย หรือเนื่องจากการระบาดครั้งนี้เป็นการระบาดทั่วโลก อาจมีผู้ติดเชื้อใหม่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้อีกเสมอ เราจึงควรหามาตรการเชิงนโยบายและนวัตกรรมอื่นเข้ามาเสริม เพื่อให้การกระจายเชื้อน้อยลง และหยุดการแพร่ระบาดให้ได้ในระยะยาว

“ที่ผ่านมา อาจจะเข้าใจว่าการตรวจโรคเป็นการตรวจเชื้อเพื่อวินิจฉัยและรักษาโรค แต่สิ่งหนึ่งที่ทำได้หากมีความพร้อมมากขึ้น คือ การตรวจเชื้อคนจำนวนมากเพื่อคัดกรองคนที่มีความเสี่ยงจากการสัมผัสกับคนติดเชื้อ เช่นเดียวกับ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน และเกาหลีใต้ที่ทำมากที่สุด จะช่วยเพิ่มการควบคุมโรคมากขึ้น โดยไม่พิึ่งมาตรการปิดเมือง ปิดประเทศเพียงอย่างเดียว และเมื่อพ้นสามสัปดาห์ มีการเปิดประเทศอีกครั้ง ประชาชนควรมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป และควรเตรียมมาตรการเพิ่มเติมเพื่อทำให้ผู้ติดเชื้อลดน้อยลงและระบบสุขภาพรับมือได้มากขึ้น”

“ครั้งนี้เป็นวิกฤตร่วมกันทั้งประเทศ ทุกคนมีผลกระทบหมด จึงชวนทุกคนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา โดยมีแผนที่เดินทางไปด้วยกัน หาจุดคาดงัด ใช้แผนที่เป็นประโยชน์ ไม่แยกส่วนวิชาชีพ และแยกส่วนรัฐเอกชน”

📌 ดูเพิ่ม
– เปิดแผนที่นำทาง บูรณาการแก้ไขเชิงระบบ การระบาด COVID-19 : https://youtu.be/wljp2nbjAWQ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active