ข้อห้ามที่ควรรู้ หลังการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั่วราชอาณาจักร

วันแรกของการบังคับใช้ “พระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548” หากดูจากข้อกำหนด ฉบับที่ 1 ตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะพบว่ามีหลายข้อที่ให้อำนาจในการสั่งปิด ห้าม งด หรือไม่ห้าม แต่ให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค รวมถึงการระบุถึงสถานที่ที่ยังคงให้เปิดทำการได้

ขณะที่ผู้ว่าราชการหลายจังหวัด อาศัยอำนาจที่ได้รับตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สั่งห้ามบุคคลเข้าออกจังหวัด เพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 เช่น จังหวัดนราธิวาส ห้ามเข้าออกพื้นที่ ต.รือเสาะออก อ.รือเสาะ, ต.แว้ง อ.แว้ง, ต.มาโมง อ.สุคิริน, ต.ปาเสมัส อ.สุไหงโกลก และ ต.บูกิด อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส

ส่วนจังหวัดยะลา ห้ามบุคคลและพาหนะเข้าออกพื้นที่ จ.ยะลา ยกเว้น รถพยาบาล รถขนส่งสินค้าจำเป็น (สินค้าอุปโภค-บริโภค-อุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ และยานพาหนะของส่วนราชการ)

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายจังหวัด ที่ผู้ว่าราชการจังหวัด ออกคำสั่งปิดสถานที่ และห้ามเข้าออกอาคาร ซึ่งเป็นสถานที่เสี่ยงการระบาดของโรคโควิด-19 โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ เช่น พระนครศรีอยุธยา พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ลพบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี น่าน ลำปาง ฉะเชิงเทรา เชียงราย สมุทรสงคราม พังงา ฯลฯ

สำหรับรายละเอียดในข้อกำหนด ฉบับที่ 1 ตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่บังคับใช้ทั่วประเทศ แบ่งออกเป็น 5 ประเภท

#ห้ามหรืองด
(1) ห้ามเข้าสถานที่เสี่ยง ตามที่ กทม. หรือผู้ว่าราชการจังหวัดต่าง ๆ ประกาศ
(2) ห้ามกักตุนสินค้า
(3) ห้ามชุมนุม ทำกิจกรรมรวมตัว
(4) ห้ามเสนอข่าวเกี่ยวกับโควิด-19 ที่ไม่เป็นความจริง บิดเบือน ทำให้คนหวาดกลัว
(5) ให้กลุ่มคนเสี่ยงสูงอยู่แต่ในบ้าน คือ อายุ 70 ปีขึ้นไป / คนมีโรคประจำตัว (เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจ-สมอง ภูมิแพ้ ภูมิคุ้มกันต่ำ ฯลฯ) / เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี *ยกเว้นคนที่ต้องพบแพทย์ หรือทำธุรกรรมทางการเงิน สื่อสารมวลชน ซื้ออาหาร ฯลฯ
(6) งดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตจังหวัดโดยไม่จำเป็น ถ้าต้องเดินทาง ต้องรับการคัดกรองตามที่พื้นที่นั้น ๆ กำหนด

#ไม่ห้าม แต่…
– จัดพิธีกรรมหรือกิจกรรมตามประเพณีนิยม เช่น พิธีมงคงสมรส พิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ พิธีบำเพ็ญการกุศล พิธีศพ พิธีสงกรานต์ กิจกรรมภายในครอบครัว กิจกรรมหรืองานพิธีที่ทางราชการจัดขึ้น แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค

#ปิด
(1) ให้ผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ออกคำสั่งปิด
– สนามมวย สนามกีฬา สนามม้า สนามเด็กเล่น สนามแข่งขัน ทั่วประเทศ
– ปิดสถานบริการ สถานบันเทิง นวด สปา ฟิตเนส เฉพาะพื้นที่ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
– แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ พิพิธภัณฑ์ สวนสาธารณะ ศาสนสถาน สถานีขนส่ง ตลาด ห้างสรรพสินค้า (โดยอาจสั่งปิดบางส่วนหรือทั้งหมด)

(2) ให้ปิดช่องการเดินทางเข้าประเทศ ทั้งอากาศ น้ำ บก แต่มีข้อผ่อนผัน
– คนที่นายกฯ อนุญาตให้เข้า
– ผู้ขนส่งสินค้าที่จำเป็น (ให้เข้ามาแล้วกลับไปให้เร็ว)
– ผู้ควบคุมยานพาหนะ
– ทูต คณะกงสุล องค์กรระหว่างประเทศ ผู้แทนรัฐบาล, คนต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงาน, คนไทย โดยทั้งหมดต้องมีใบรับรองแพทย์ (fit-to-fly health certificates)

#เปิด โดยสถานที่ที่ยังให้เปิดทำการ
– โรงพยาบาล, สถานพยาบาล, คลินิกแพทย์รักษาโรค, ร้านขายยา
– ร้านอาหารในส่วนที่ไม่ใช่สถานบันเทิงและสถานบริการ
– แผงจำหน่ายอาหารที่ให้ซื้อกลับ
– โรงแรม เฉพาะส่วนที่พักอาศัยและร้านอาหาร
– ร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก
– ร้านค้าทั่วไป
– ห้างสรรพสินค้า เฉพาะแผนกซูเปอร์มาร์เก็ต แผนกขายยา แผนกอาหาร แผนกสินค้าเบ็ดเตล็ด
– โรงงาน
– ธุรกิจหลักทรัพย์
– ธุรกรรมการเงิน ธนาคาร ตู้เอทีเอ็ม
– ตลาดและตลาดนัด เฉพาะส่วนจำหน่ายอาหารสด อาหารแห้ง อาหารปรุงสำเร็จ อาหารสัตว์ เวชภัณฑ์
และสินค้าเบ็ตเตล็ดที่จำเป็น
– สถานที่จำหน่ายแก๊สหุงต้ม เชื้อเพลิง ปั๊มน้ำมัน ปั๊มแก๊ส
– การให้บริการขนส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้า
– บริการส่งสินค้าและอาหารตามสั่ง (Delivery Online)
– สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐ

#กำหนดให้มีมาตรการ
(1) ให้ผู้ว่า กทม. และผู้ว่าฯ จังหวัดอื่น ๆ เป็นผู้กำกับมาตรการรับสถานการณ์ในเขตท้องที่ / ประชาสัมพันธ์มาตรการลดผลกระทบ / โรงพยาบาลรัฐและเอกชนเตรียมพร้อม และเตรียมสถานที่กักกันหรือเตรียมเตียง โดยใช้ โรงแรม โรงเรียน มหาวิทยาลัย หอประชุม สถานที่ปฏิบัติธรรม ศาลาวัด อาคารเอกชน ให้เป็นโรงพยาบาลชั่วคราว
(2) มีมาตรการป้องกันโรค คือ ทำความสะอาดสถานที่ / สวมหน้ากากอนามัย / ล้างมือด้วยสบู่-เจลแอลกอฮอล์ / เว้นระยะนั่งหรือยืน / ควบคุมจำนวนคนไม่ให้แออัดและลดเวลาทำกิจกรรมให้สั้นคง

📌 ดูเพิ่ม
– ราชกิจจานุเบกษา ข้อกำหนด (ฉบับที่ 1) : https://bit.ly/2QLPnSI

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active