พร้อมหรือยัง? เมื่อไทยหันมาใช้แนวทาง Home Quarantine

หลังรัฐบาลยกเลิก State Quarantine หรือ ศูนย์กักตัวของรัฐ โดยทยอยส่งกลุ่มแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากประเทศเกาหลีใต้กลับภูมิลำเนา แม้จะยังคงอาคารรับรองสัตหีบ กองทัพเรือ ไว้เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ในอนาคตอยู่ก็ตาม

แนวทางการกักตัวในสถานที่ควบคุมเป็นที่พักอาศัย หรือ Home Quarantine จึงจะเป็นแนวทางที่แต่ละพื้นที่ท้องถิ่นใช้เพื่อเฝ้าระวังการระบาดของโควิด-19 จากผู้เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยง หรือ เขตติดโรคติดต่ออันตราย

กระทรวงสาธารณสุข ออกแนวทางการกักตัวในสถานที่ควบคุมเป็นที่พักอาศัย หรือการใช้บ้านและพื้นที่ในชุมชนเป็นสถานที่กักตัว 14 วัน ซึ่งแนวทางนี้ จะช่วยอำนวยความสะดวกให้สามารถกักตัวในสถานที่ที่คุ้นเคยและมีอิสระตามสมควร ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการตัดโอกาสการแพร่กระจายเชื้อ โดยมีครอบครัว ชุมชน และเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ที่หมายถึง เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและสาธารณสุขในพื้นที่ คอยเฝ้าระวัง

#พนักงานควบคุมโรคติดต่อ หรือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและสาธารณสุขในพื้นที่ ควรจัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็น คือ แบบรายงานอาการ ปรอท เจลล้างมือ และหน้ากากอนามัย มอบให้ผู้ถูกกักตัว จากนั้น ประเมินสภาพบ้าน และเตรียมสิ่งแวดล้อมในบ้านให้เหมาะสม พร้อมอธิบายวัตถุประสงค์ ความจำเป็นในการกักตัว ขั้นตอน รวมถึงการปฏิบัติตัวทั้งผู้ถูกกักตัวและสมาชิกในบ้าน

นอกจากนี้ ยังต้องกำกับติดตามอาการ และบันทึกในรายงานเป็นประจำทุกวัน พร้อมให้ช่องทางติดต่อ เพื่อให้ผู้ถูกกักตัวและครอบครัวสามารถติดต่อขอข้อมูล ข้อเสนอแนะ หรือความช่วยเหลือต่าง ๆ ได้โดยสะดวก รวมถึงมีความพร้อม ในการประสานส่งต่ออย่างเหมาะสม กรณีผู้ถูกกักตัวมีอาการป่วย

#ผู้กักตัว กับ 10 แนวปฏิบัติระหว่างกักตัว เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่คนในครอบครัว หากมีการติดเชื้อ คือ

1) ต้องไม่ออกจากที่พักอย่างน้อย 14 วัน นับจากวันเดินทางมาจากพื้นที่ระบาด ซึ่งหมายความว่า ผู้ถูกกักตัวจะต้องหยุดเรียน หยุดงาน และไม่เดินทางออกนอกบ้าน

2) แยกการกินอาหารจากผู้อื่น โดยใช้ภาชนะ ช้อนส้อม และแก้วน้ำส่วนตัว

3) ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว

4) ล้างมือบ่อย ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ความเข้มข้นอย่างน้อย 60%

5) สวมหน้ากากอนามัย และอยู่ห่างจากคนอื่นในบ้านประมาณ 1-2 เมตร

6) หลีกเลี่ยงการใกล้ชิด พูดคุยกับบุคคลอื่นในที่พักอาศัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ

7) ทิ้งหน้ากากอนามัย โดยใส่ถุงพลาสติก ปิดปากถุงให้สนิท ก่อนทิ้งลงในถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด

8 ) ปิดปากจมูกทุกครั้งที่ไอจาม โดยใช้ทิชชู หรือแขนเสื้อ จากนั้นต้องทำความสะอาดทันที

9) ทำความสะอาดที่พัก ด้วยน้ำยาฟอกขาว 5% โซเดียมไฮโปคลอไรท์ (น้ำยาฟอกขาว 1 ส่วนต่อน้ำสะอาด 99 ส่วน

10) ทำความสะอาดเสื้อผ้า ผ้าปูเตียง ผ้าขนหนู ฯลฯ ด้วยสบู่หรือผงซักฟอกธรรมดาและน้ำ หรือซักผ้าด้วยน้ำร้อนที่อุณหภูมิน้ำ 70-90 °C

#เฝ้าระวังสังเกตตัวเอง หากมีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก หายใจลำบาก หรือมีอุณหภูมิร่างกายตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ติดต่อเจ้าหน้าที่ทันที โดยผู้กักตัวต้องวัดอุณหภูมิร่างกายทุกวัน ส่วนเจ้าหน้าที่ ต้องติดตามอาการผู้ถูกกักตัวทุกเช้า และบันทึกรายงาน รวมทั้งติดต่อประสานงานการส่งต่อหากพบว่ามีอาการป่วย

แนวปฏิบัติสำหรับ #ครอบครัว หรือ #ผู้อาศัยร่วมบ้าน จะต้องปฏิบัติแทบไม่แตกต่างจากผู้ถูกกักตัว คือ ล้างมือบ่อย นอนแยกห้อง แยกสำรับอาหาร และแยกข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวกับผู้ถูกกักตัว พร้อมหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดในระยะ 1 เมตร ทำความสะอาดที่พัก สิ่งของ เสื้อผ้า ตามคำแนะนำ พร้อมเฝ้าระวังอาการเจ็บป่วยของผู้ถูกกักตัวเป็นเวลา 14 วัน

การกักตัวในสถานที่ควบคุมเป็นที่พักอาศัย เป็นแนวทางสำคัญ ที่ประชาชนทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการชะลอหรือควบคุมโรคได้ ที่นอกจากจะยืดเวลาให้ประเทศไทยเข้าสู่การระบาดในระยะ 3 ได้ช้าที่สุด ยังอาจช่วยให้ภาพอนาคตของการระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-19 ส่งผลกระทบกับสุขภาพและประชาชนคนไทยน้อยที่สุด

หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 หรือ ติดต่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่อาศัยอยู่ และดูคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กรมควบคุมโรค https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/introduction.php

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active