ดูความเชื่อมโยง โรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ในประเทศไทย

ความเชื่อมโยง ไวรัส โควิด-19

ปลายปี 2562 ทางการจีนเปิดเผยเป็นครั้งแรก ถึงการแพร่ระบาดของ “โรคปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุ” ที่ต่อมาให้ชื่อว่า “ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019” มีศูนย์กลางการแพร่ระบาดที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยรายงานจำนวนผู้ป่วยโรคปอดอักเสบฯ ดังกล่าวเป็นครั้งแรก จำนวน 27 คน เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2562

13 มกราคม 2563 กระทรวงสาธารณสุขของไทย (สธ.) แถลงยืนยันพบผู้ป่วย “ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019” คนแรกในไทย เป็นหญิงชาวจีนอายุ 61 ปี เดินทางมาท่องเที่ยวในไทย โดยมีผลตรวจพบเชื้อตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม หลังจากนั้นอีก 4 วัน ในวันที่ 17 มกราคม สธ. แถลงพบผู้ป่วยไวรัสโคโรน่าฯ เป็นคนที่ 2 เป็นนักท่องเที่ยวหญิงชาวจีน อายุ 74 ปี

กระทั่ง 22 มกราคม สธ. แถลงว่าพบผู้ป่วยไวรัสโคโรนาฯ เป็นคนไทยคนแรก มีประวัติท่องเที่ยวที่เมืองอู่ฮั่น โดยเดินทางกลับถึงประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม จากนั้นเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล โดยแพทย์วินิจฉัยว่ามีเชื้อไวรัสโคโรนา และหลังรับการรักษานาน 9 วัน หายเป็นปกติและสามารถกลับบ้านได้ในวันที่ 24 มกราคม

12 กุมภาพันธ์ องค์การอนามัยโรค หรือ WHO ระบุชื่อใหม่อย่างเป็นทางการของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ว่า “COVID-19” โดยคำว่า CO ย่อมาจาก Corona คำว่า VI ย่อมาจาก Virus คำว่า D ย่อมาจาก Disease และตัวเลข 19 มาจากปีที่ไวรัสเริ่มระบาดครั้งแรก WHO ยังให้เหตุผลของการให้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะพาดพิงถึงที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อย่างเจาะจง, สายพันธุ์ต่าง ๆ ของสัตว์หรือกลุ่มคน ตามกรอบคำแนะนำสำหรับการตั้งชื่อ เพื่อหลีกเลี่ยงสร้างบาดแผลหรือมลทินให้แก่เมืองอู่ฮั่น นอกจากนี้ ชื่อใหม่ยังออกเสียงง่าย และมีความเกี่ยวข้องกับโรค ที่ทำให้คนนึกถึงเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ทันที

จากวันแรกที่มีการพบผู้ติดเชื้อในไทย จนถึงขณะนี้ (5 มีนาคม) เป็นเวลาเกือบ 2 เดือน ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อ “COVID-19” ทั้งหมด 47 คน เป็นคนไทย 20 คน คนจีน 26 คน และคนอิตาลี 1 คน มีผู้เสียชีวิต 1 คน รักษาหายแล้ว 31 คน และอยู่ระหว่างการรักษาตัว 15 คน โดยคัดกรองผู้เดินทางแล้วกว่า 4 ล้านคน เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคสะสม 3,852 คน ไม่พบเชื้อ 2,237 คน และอยู่ระหว่างรอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ 1,615 คน

เมื่อนำข้อมูลจากการแถลงของกระทรวงสาธารณสุข มาแสดงเพื่อให้เห็นความเชื่อมโยงของผู้ติดเชื้อ “COVID-19” จะพบว่า สามารถแบ่งที่มาของการติดเชื้อได้ 2 ประเภทใหญ่ คือ การติดเชื้อจากนอกประเทศและติดเชื้อในประเทศ โดยประเภทหลัง พบว่าเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดนักท่องเที่ยว และชาวไทยที่เดินทางกลับจากประเทศเสี่ยง คือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

ส่วนผู้ติดเชื้อฯ ชาวจีนในลำดับที่ 29, 30 และ 31 สธ. ระบุว่า เป็นกลุ่มผู้ที่ติดเชื้อฯ มาจากบุคคลในครอบครัว ที่มีการแถลงไปก่อนหน้า แต่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเป็นการติดเชื้อฯ จากลำดับที่เท่าไหร่

การติดเชื้อจากนอกประเทศ มีความชัดเจนถึงที่มาอย่างไม่มีข้อสงสัย เนื่องจากเป็นประเทศเสี่ยงที่มีการระบาดของ COVID-19 แต่หากดูจากผังความเชื่อมโยงนี้ จะเห็นได้ว่า มีผู้ติดเชื้อในประเทศไทยอย่างน้อย 5 คน ที่ข้อมูลจากการแถลงของกระทรวงสาธารณสุขนั้นไม่เพียงพอที่จะระบุว่า เป็นการรับเชื้อมาจากใคร เนื่องจากไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศ นั่นคือลำดับที่ 19, 25, 27, 37 และ 42 ที่มีอาชีพเป็นคนขับแท็กซี่ คนขับรถรับจ้าง และพนักงานขาย ทั้งหมด มีอาชีพสัมผัสใกล้ชิดกับชาวต่างชาติ โดยมีเพียงข้อมูลที่ระบุว่า “อาจ” ติดเชื้อจากนักท่องเที่ยว แต่จากการแถลงของ สธ. ไม่มีการยืนยันว่า อยู่ในกลุ่มผู้ติดเชื้อจากนอกประเทศ ตามที่ปรากฏในการแถลงข่าวหรือไม่

ส่วนเด็กหญิงอายุ 3 ปี ที่พบเป็นผู้ติดเชื้อเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ตามการแถลงของ สธ. นั้นพบว่า เป็นลูกสาวของผู้ติดเชื้อลำดับที่ 27 ซึ่งต่อมา เป็นผู้เสียชีวิตรายแรกในประเทศไทย ในการแถลงรายละเอียดวันที่ 1 มีนาคม ส่วนเด็กหญิงอายุ 3 ปี เวลานี้ รักษาหายและแพทย์ให้กลับบ้านแล้ว

ขณะที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4 คน ที่ สธ. แถลงในวันที่ 5 มีนาคม พบว่าเป็นคนไทย คนจีน และคนอิตาลี ที่เดินทางมาจากประเทศอิตาลี และอิหร่าน โดยทั้งหมดเป็นเพศชาย

จากความเชื่อมโยงนี้ หากนำมาใช้เพื่อประเมินสถานการณ์และลดความเสี่ยงในการทำกิจกรรม ก็อาจมีส่วนช่วยลดการแพร่ระบาดของ “COVID-19” ในประเทศไทยได้


หมายเหตุ

  • การเรียงลำดับของผู้ติดเชื้อไวรัสฯ อาจไม่ตรงกับการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นทางการของ สธ. แต่เป็นการเรียงลำดับจากการแถลงโดย สธ. ต่อสาธารณะ
  • ข้อมูลจากการแถลงข่าวของ สธ. ไม่ระบุว่า “หญิงไทย อาชีพแม่บ้าน” เป็นผู้สัมผัสกับผู้ติดเชื้อไวรัสลำดับใด มีเพียงระบุว่าอยู่ในครอบครัวของผู้ที่เดินทางกลับจากเมืองกวางโจว

ดูเพิ่ม

Timeline สถานการณ์ COVID-19 ธ.ค. 2019 – ก.พ. 2020
Coronavirus COVID-19 Global Cases by Johns Hopkins CSSE
พบอีก 1 คนติด COVID-19 คนที่ 43 ของไทย
Daily Report : จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา
ไทยพบป่วย COVID-19 เพิ่ม 4 คนมาจาก “อิตาลี-อิหร่าน”

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรุชิตา อุตมะโภคิน

ตามหาความเสมอภาคผ่านงานทั้งศาสตร์และศิลป์ พยายามทำความเข้าใจปรากฏการณ์รอบตัว

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์