Urban Lighting แสงแห่งนพรัตน์ราชธานี #เกาะรัตนโกสินทร์

ชวนล่องเรือชมสถาปัตยกรรมริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งพระนครและฝั่งธนฯ ที่สวยงามไม่แพ้กัน ยิ่งหากเพิ่มสีสันด้วย "แสง" ยิ่งจะทำให้สถานที่ต่าง ๆ สวยงามขึ้นกว่าเดิม มากกว่านั้น 'แสง' ยังช่วยสร้างความปลอดภัย ส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้งาน และการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะของเมือง

ลงเรือ เรียนรู้เรื่องการใช้แสงในยามค่ำคืน และจินตนาการด้วยกันว่า นักออกแบบแสงทำอะไรได้อีกบ้าง? กับ ผศ. จรรยาพร สไตเลอร์ ผอ.ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมการส่องสว่าง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) - KMUTT
"พระปรางค์วัดอรุณฯ" จุดหมายตาของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ แม้จะตั้งอยู่ที่ฝั่งธนบุรี แต่หากว่าจะชมพระปรางค์ในมุมที่สวยงามที่สุด คงจะต้องอยู่ฝั่งตรงข้าม คือฝั่งพระนคร โดยเฉพาะในยามเย็นพระอาทิตย์อัสดงหลังพระปรางค์พอดี ผู้คนจึงมักมาชมพระปรางค์และทำกิจกรรมต่างๆ ที่ฝั่งพระนครจนจรดค่ำ 
ในช่วงพลบค่ำ พระปรางค์ถูกสาดแสงสีโทนอุ่น สร้างความสวยงามในอีกช่วงเวลา แต่จะพบว่า แสงถูกจัดเพื่อให้ความสว่างของพระปรางค์โดยเฉพาะเจาะจง ใช้เทคนิคการสาดแสง แต่ไม่ได้ไฮไลท์ส่วนใดเป็นพิเศษ และส่วนประกอบสร้างอื่น ๆ โดยรอบไม่เห็นชัดเจนนัก 
นักวิชาการมองว่า หากมีการออกแบบไฟให้พระปรางค์มีความโดดเด่น สะท้อนลักษณะพิเศษของสถาปัตยกรรม และมีการจัดไปให้กับพื้นที่โดยรอบ น่าจะช่วยให้เห็นทัศนียภาพของวัดอรุณฯ ได้มากขึ้น
"กองบัญชาการทัพเรือ" พระราชวังเดิม เขตบางกอกใหญ่กรุงเทพมหานคร ที่ประทับของพระบรมราชานุสาวรีย์ และศาลสมเด็จ
พระเจ้าตากสินมหาราช ในยามค่ำคืนแสงไฟติดตั้งตามแนวกำแพง เพื่อให้เห็นความสวยงามของกำแพงเก่า แต่เนื่องจากพระบรมราชานุสาวรีย์มีสีเข้ม ทำให้จัดแสงสว่างได้ยาก
นักวิชาการ เสนอว่า สามารถใช้เทคนิคการให้แสงจากด้านล่างส่องขึ้นด้านบน หรืออัพไลท์ การสาดแสงไปยังต้นไม้ใหญ่ให้สะท้อนกลับ และเน้นการเล่นแสงในแนวดิ่งกับเสา ซุ้มประตู กำแพงบางส่วน อาจช่วยทำให้เกิดความสวยงามมากขึ้นกว่าเดิม
"สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า" เป็นฉากที่มองไปแล้วเห็นสะพานพระราม 8 ซ้อนทับกัน จนอาจทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน การใช้แสงของทั้งสองสะพานนี้ยังเป็นคู่สีที่ตัดกันสวยงามลงตัวอีกด้วย
ในส่วนของสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ให้แสงสีน้ำเงินโดดเด่น แต่จะเห็นดวงไฟยื่นออกมาจากสะพานไม่เป็นระเบียบนัก นักวิชาการยกตัวอย่างสะพานคล้ายกันในต่างประเทศ ซึ่งใช้เทคนิคการไล่สี เช่น ฟ้า-น้ำเงิน เพื่อทำให้มีมิติมากขึ้น และโครงสร้างของสะพานด้านล่าง อาจถูกตกแต่งร่วมกันด้วย
"วัดซางตาครู้ส" โบสถ์ซางตาครู้ส หรือ วัดกุฎีจีน เป็นโบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ในซอยกุฎีจีน รูปทรงที่โดดเด่นและสวยงาม ชวนให้สายตาจับจ้อง โดยเฉพาะเมื่อล่องเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา มีการใช้ไฟสีน้ำเงินหรือสีฟ้าเป็นส่วนใหญ่ ให้ความหมายเชิงศาสนา คือสรวงสวรรค์หรือความรักแห่งสวรรค์ สัจธรรม และยังเป็นสีประจำตัวของพระแม่มารีย์อีกด้วย ส่วนสีเหลืองหมายถึงแสงของพระอาทิตย์ และพระเจ้า
"วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร" สร้างขึ้นตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 3 พระอุโบสถหลังใหญ่โดดเด่นริมฝั่งแม่น้ำ ในวันปกติ เห็นการส่องแสงเพื่อความส่องสว่าง ปลอดภัยและเป็นประโยชน์สำหรับผู้ใช้งานในพื้นที่ 
นักวิชาการมองว่า หากจะจัดไฟเพื่อส่งเสริมความสวยงาม และการท่องเที่ยวทางน้ำด้วย ก็สามารถทำได้ โดยการเน้นไปที่พระอุโบสถ และองค์ประกอบต่าง ๆ โดยรอบ
"ท่าเรือแห่งหนึ่ง" ไม่สามารถระบุพิกัดจากภาพถ่ายได้ เนื่องจากไม่มีจุดแสดงตำแหน่งพื้นที่ หรือป้ายบอกสถานที่ ป้ายบอกท่าเรือ โดยเฉพาะยามค่ำคืนไฟสีส้มดวงเล็กที่ติดตั้ง ทำให้การมองเห็นไม่ชัดเจน นักวิชาการ เล่าว่า ในยุคก่อนมักติดตั้งหลอดโซเดียม เป็นไฟถนนยุคเก่าที่ให้แสงออกเหลือง ใช้พลังงานน้อย เปิดวันละ 12 ชั่วโมง อายุใช้งานต่อหลอดนาน 3-4 หมื่นชั่วโมง แต่คุณภาพไม่ดีนัก ส่องแล้วไม่ได้ให้ความสว่างพอต่อการเห็นวัตถุต่างๆ ชัดเจน แต่ในปัจจุบันมีการพัฒนาหลอดไฟหลากหลายแบบที่ส่งสว่างได้ดี เห็นชัดเจน แต่ประหยัดพลังงาน และทนทานต่อการใช้งาน
"เอเชียทีค" พื้นที่การค้าของเอกชนริมน้ำ เห็นได้ชัดเจนว่ามีการออกแบบแสงด้วย Lighting Designer และมีความพยายามคุมโทนสีในส่วนพื้นที่ราบ สำหรับชิงช้าสวรรค์ขนาดใหญ่ ใช้สีขาวสว่างไสว เพื่อดึงความสนใจจากผู้ที่พบเห็น นักวิชาการอธิบายว่า แสงสีขาวในยามค่ำคืน จะสะดุดตาผู้พบเห็นที่สุด แต่การใช้แสงสว่างมากๆ อาจต้องคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง
"สะพานพุทธยอดฟ้า" เปรียบเสมือนเกตเวย์เข้าเมืองเก่า อยู่ใกล้กับสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา สกายพาร์ค ซึ่งเป็นจุดท่องเที่ยวของเมืองเป็นทุนเดิม
ปัจจุบัน มีการประดับแสงไฟสีวอร์มไลท์ หรือโทนสีอุ่น ทางโครงการฯ มีแนวทางที่จะประดับไฟเพื่อแสดงความสวยงามตระการตา โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล สามารถเล่นแสงให้เป็นสีสันต่าง ๆ สร้างความตื่นตาตื่นใจ ปลุกชีวิตชีวาให้กับเมืองได้มากขึ้น
"สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช" สามารถออกแบบแสงได้มาก โดยอาจออกแบบร่วมกับพื้นที่ด้านข้าง ซึ่งเป็นท่าเรือสาทร จุดเดินเรือขนาดใหญ่ เพื่อให้เกิดการเข้าถึงพื้นที่มากขึ้น นักวิชาการ อธิบายว่า การออกแบบแสงนอกจากจะสร้างความโดดเด่น ทำให้ทราบสถานที่ ยังสามารถเป็นส่วนประกอบของการทำกิจกรรม กิจการได้อีกด้วย เรียกว่า Smart Lighting เช่น ใช้สีของแสงเป็นสัญลักษณ์เพื่อบอกว่า เรือกำลังจะเข้าท่า หรือกำลังจะออกจากท่า หรือแบ่งประเภทของเรือที่ใช้งาน การออกแบบจงใช้ความหมาย และสื่อสารได้
"โบสถ์กาลหว่าร์" หรือวัดพระลูกประคำ ใช้เทคนิคการสาดแสงจากด้านหน้าเข้ามายังอาคาร 
นักวิชาการมองว่า โดยส่วนใหญ่อาคารหรือสถาปัตยกรรมเก่า อาจไม่มีการติดตั้งแสงไฟ หรือสิ่งประกอบมากนัก เพื่อเลี่ยงความเสี่ยงทำให้ตัวอาคารเสียหาย แต่ในเชิงเทคนิคสามารถใช้วิธีการติดตั้งจากสิ่งประกอบอื่น ๆ ด้านข้าง เพื่อให้สะท้อนกลับมายังอาคาร ก็ให้ความสวยงามได้ไม่แพ้กัน
"ท่าเรือ กรมเจ้าท่า" มีการประดับไฟตกแต่งเป็นจุดๆ ให้แสงและเงา สวยงาม นักวิชาการมองว่า หากออกแบบเพิ่มเติม โดยเน้นส่วนของโครงสร้างอาคารมากขึ้น จะเป็นที่ดึงดูดใจ และการเข้าถึง โดยเฉพาะท่าเรือนี้ สามารถเดินทางต่อเนื่องไปยังตลาดน้อยได้ นับว่าเป็นจุดเชื่อมต่อที่น่าสนใจ

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

วราพร อัมภารัตน์

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์