เสน่ห์ ‘ท่าฉลอม’ ความกลมกล่อม ผู้คน-ชุมชน ร่วมสมัย

“ไม่ได้ใช้การท่องเที่ยวนำ แต่ดึงอัตลักษณ์ การมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นหลัก ซึ่งโจทย์ใหญ่ คือ ใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือ และต้องตอบให้ได้ว่า ชาวบ้านได้อะไร ชีวิตดีขึ้นอย่างไร”

ฉากหลังของบ้านเรือนเก่าแก่ใน “ชุมชนท่าฉลอม จ.สมุทรสาคร” แอบซ่อนความทันสมัยของหลักคิดการท่องเที่ยว จากผู้นำในท้องถิ่น จนทำให้ ท่าฉลอม มีจุดเชื่อมร้อยคนรุ่นเก๋า และ คนยุคใหม่ ด้วยการท่องเที่ยววิถีชุมชนที่ทุกคนมีส่วนร่วม

ชุมชนท่าฉลอม จึงไม่ได้มีเสน่ห์แค่เพียง อาหารทะเลอร่อย สถานที่ถ่ายรูปชิค ๆ แต่ยังเต็มไปด้วยคุณค่าทางใจที่พร้อมส่งมอบให้ผู้มาเยือน

The Active พาเที่ยว One Day Trip ยลวิถีชุมชนเก่าแก่ไม่ไกลกรุง ไปพร้อม ๆ กับคณะจาก “หลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาความสามารถทางนวัตกรรมสำหรับกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ภาครัฐและเอกชน (PPCIL) รุ่นที่ 6” สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA

ลองไปทำความรู้จักแนวคิดขับเคลื่อนเมืองของผู้คนที่ท่าฉลอมกัน ว่าทำยังไง ? จึงจะออกแบบ พัฒนาเมืองให้ตรงกับความต้องการ และทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกัน ไปหาคำตอบกันได้เลย…


รอยยิ้มของคนถีบสามล้อ เชื้อเชิญให้พวกเรามาทำความรู้จัก ต.ท่าฉลอม จุดกำเนิดของเมืองสมุทรสาคร ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มีชาวจีนมาค้าขาย และอพยพอยู่ในบ้านท่าจีน (ท่าฉลอม) และพัฒนาเป็นเมืองท่าสำคัญจนกลายเป็นเมือง “สุขาภิบาล” แห่งแรกของประเทศไทย
ตลอดสองข้างทางภายในชุมชน บ้านท่าฉลอม เต็มไปด้วยบ้านเรือนเก่าแก่ ร้านค้า ร้านอาหารเล็กๆ ของคนในชุมชน ศาลเจ้าจีน มีให้เห็นตลอดเส้นทาง คู่ขนานไปกับความพยายามจะทำให้เมืองมีชีวิตชีวาร่วมสมัย ด้วยผนัง กำแพง ที่ถูกรังสรรค์ด้วยศิลปะ ภาพวาดสตรีทอาร์ทที่เป็นเอกลักษณ์  ภาพสตรีทอาร์ทท่าฉลอม อยู่ที่ ถนนถวาย ถนนสายประวัติศาสตร์ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นงานศิลปะบนกำแพง จากนักศึกษา ภาคเอกชน รวมถึงศิลปินชื่อดัง ภาพส่วนใหญ่บอกเล่า สะท้อนเรื่องราว และวิถีชีวิตของผู้คนที่นี่ เช่น ภาพเรือประมง สถานีรถไฟ สามล้อ  ไกด์ท้องถิ่นเล่าให้เราฟังว่า “ภาพต้นไม้สีเขียวที่มีคุณตาถีบสามล้อ” เป็นภาพของคนที่อยู่อาศัย และประกอบอาชีพนี้ในชุมชนมานานแล้ว บ่งบอกว่า คนในชุมชนยังคิดถึง และระลึกถึงเสมอ
ตลอดเส้นทางในชุมชน บ้านท่าฉลอม ยังเต็มไปด้วยการเรียนรู้ จะสังเกตได้ว่า ร้านค้าชุมชน กิจกรรมเวิร์คชอปต่าง ๆ ถูกนำโดย  “คนวัยเก๋า” หรือ คนเถ้าคนแก่ในชุมชน พยายามสะท้อนความเป็นชุมชนคนจีนได้อย่างดี เช่น “ร้านอื้อตั้งเฮง” เปิดขายน้ำสมุนไพรนานาชนิด โดยเฉพาะ “จับเลี้ยง” สรรพคุณดับกระหาย ปรับสมดุลให้กับร่างกาย ดีต่อสุขภาพ ที่นี่เปิดขายมายาวนานกว่า 50 ปี แต่ราคาก็ยังย่อมเยาว์ไม่เปลี่ยนแปลง
สำหรับสายกิจกรรมที่ชื่นชอบการลงมือปฏิบัติ ก็มาลองทำ "ลูกประคบ" ไว้นวดผ่อนคลาย กับ “ป้าแป๊ว” ได้ เธอเป็นคนท่าฉลอม ที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาการรักษาตามตำราแพทย์แผนไทยจากบรรพบุรุษ ตั้งแต่รุ่นก๋ง ซึ่งเคยถวายงานในวังหลวงสมัยรัชกาลที่ 5 และได้รับพระราชทานนามสกุลว่า “แพทย์ประเสริฐ” นับเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ของประสบการณ์คนวัยเก๋า ที่มีอาชีพ มีรากของความเป็นคนดั้งเดิม และพยายามรักษาให้ศาสตร์ที่ได้รับถ่ายทอดคงอยู่ ไม่ว่าวันเวลาจะเปลี่ยนไปขนาดไหน
สำหรับสายกิจกรรมที่ชื่นชอบการลงมือปฏิบัติ ก็มาลองทำ "ลูกประคบ" ไว้นวดผ่อนคลาย กับ “ป้าแป๊ว” ได้ เธอเป็นคนท่าฉลอม ที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาการรักษาตามตำราแพทย์แผนไทยจากบรรพบุรุษ ตั้งแต่รุ่นก๋ง ซึ่งเคยถวายงานในวังหลวงสมัยรัชกาลที่ 5 และได้รับพระราชทานนามสกุลว่า “แพทย์ประเสริฐ” นับเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ของประสบการณ์คนวัยเก๋า ที่มีอาชีพ มีรากของความเป็นคนดั้งเดิม และพยายามรักษาให้ศาสตร์ที่ได้รับถ่ายทอดคงอยู่ ไม่ว่าวันเวลาจะเปลี่ยนไปขนาดไหน
เห็นรถรางสีชมพู นั่นไหม ? มองทั่วไปก็เป็นรถธรรมดา ๆ แต่จริง ๆ แล้ว รถรางถูกคิดสร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็น “พาหนะสาธารณะชุมชน” ทดแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว ช่วงแรกนักท่องเที่ยวบางส่วนอาจไม่สะดวกสบาย แต่ระยะยาว นักท่องเที่ยวและชุมชนจะค่อยๆๆ เรียนรู้ว่า นี่คือ “การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน” โดยเริ่มต้นจากพัฒนาโครงสร้างขนส่งสาธารณะที่เป็นมิตรกับชุมชน
“ธนชัย เรืองชัยสิทธิ์” กรรมการพัฒนาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร ให้ข้อมูลกับเรา ว่า “สมุทรสาคร มีเสน่ห์ เพราะไม่ได้ใช้การท่องเที่ยวนำ แต่ใช้การดึงอัตลักษณ์ การมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นหลัก โจทย์ใหญ่ก็คือ เราต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่โดยใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือ ต้องตอบให้ได้ว่าการพัฒนาเหล่านั้น…ชาวบ้านได้อะไร และชีวิตดีขึ้นอย่างไร”
ธนชัย ยังเล่าว่า ในอดีต จ.สมุทรสาคร ไม่มีสถาบันการศึกษา ขาดองค์ความรู้ ขาดพื้นที่การเรียนรู้ จึงประสานสถาบันการศึกษาภายนอก มาช่วยทดลองวิจัยในพื้นที่จริง และจัดตั้ง “ศูนย์การท่องเที่ยวและกิจกรรมชุมชน” ทำแผนยุทธศาสตร์ร่วมกันกับผู้เกี่ยวข้องผ่านกลไก อาสาสมัคร คณะกรรมการหมู่บ้าน และตัวแทนผู้ประกอบการ ต.ท่าฉลอม ทำให้ท่าฉลอมมีทิศทางพัฒนาเมืองที่ชัดเจน มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ที่พร้อมจะประสานความร่วมมือทำข้อมูลในหลายมิติ  ปัจจุบัน ต.ท่าฉลอม อ.เมืองสมุทรสาคร เข้มแข็งมากขึ้น เพราะได้จัดทำ รวบรวมข้อมูลฐานชุมชน, มีสถาบันการศึกษามาร่วมออกแบบเชิงสถาปัตยกรรม, ประวัติศาสตร์, ผังเมือง, และการท่องเที่ยว รวมถึงเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาลงพื้นที่สำรวจ และทดลองงานวิจัยเพื่อสร้างความตื่นตัวในชุมชน ขณะเดียวกันผู้มาเยือนก็ยังได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับชุมชนด้วย โดยผู้สนใจยังสามารถติดตามข้อมูลการท่องเที่ยวของ จ.สมุทรสาคร ได้ทางเว็บไซต์ http://www.visitsk.org/
ความน่าสนใจของชุมชนท่าฉลอม ยังดึงดูดให้ คณะผู้อบรม “หลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาความสามารถทางนวัตกรรมสำหรับกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ภาครัฐและเอกชน (PPCIL) รุ่นที่ 6” จาก สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ลงพื้นที่มาแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกับชุมชน  วาระสำคัญ คือการเสวนาพูดคุยเพื่อขับเคลื่อนเมืองให้ตรงกับความต้องการของคนในพื้นที่ ตลอดจนการสร้างองค์ความรู้ ผ่านข้อมูล การแลกเปลี่ยน การพัฒนาและวิจัย ที่มีผลต่อการพัฒนาเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึง การสร้างฐานข้อมูลของเมือง (City Data) เพื่อผลักดันสู่นโยบายสาธารณะที่ตอบโจทย์ความต้องการสังคมและเทรนด์การพัฒนาที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน อีกด้วย
กลไกการพัฒนาเมืองที่นี่ จึงไม่ใช่ใช้เงินเป็นตัวชี้นำ แต่ต้องการให้ ชุมชนท่าฉลอม เป็นโมเดล เป็นพื้นที่กลาง เพื่อสร้างความรู้รักษ์ในท้องถิ่น สร้างความเข้มแข็งให้กับพื้นที่ ไปสู่การรองรับคนวัยเกษียณ ที่ตั้งใจจะกลับมาใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่ที่บ้านเกิดได้อย่างยั่งยืน
กลไกการพัฒนาเมืองที่นี่ จึงไม่ใช่ใช้เงินเป็นตัวชี้นำ แต่ต้องการให้ ชุมชนท่าฉลอม เป็นโมเดล เป็นพื้นที่กลาง เพื่อสร้างความรู้รักษ์ในท้องถิ่น สร้างความเข้มแข็งให้กับพื้นที่ ไปสู่การรองรับคนวัยเกษียณ ที่ตั้งใจจะกลับมาใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่ที่บ้านเกิดได้อย่างยั่งยืน
การพัฒนาเมืองไม่ได้มีแค่การท่องเที่ยว ค้ากำไร แต่ต้องมองรอบด้านทุกมิติทั้งโครงสร้างขั้นพื้นฐาน, โครงสร้างเชิงสถาปัตยกรรม, ประวัติศาสตร์, วัฒนธรรม, คุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่น ฯลฯ จึงจะช่วยให้เมืองนั้นพัฒนาได้อย่างยั่งยืน 
สิ้นสุดภารกิจ 1 วัน สำหรับทริปนี้ จึงเข้าใจแล้วว่า เสน่ห์ของท่าฉลอม มาจากหลายองค์ประกอบ ที่ชุมชนท้องถิ่น พยายามประกอบสร้างขึ้น เพื่อความประทับใจของผู้มาเยือน และความสุขของคนบ้านท่าฉลอมทุกคน อย่างแท้จริง

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน