“ชุมชนริมคลองวัดสะพาน” โอกาสในวิกฤตเปลี่ยนชุมชนให้เข้มแข็ง

ชุมชนริมคลองวัดสะพาน เป็นหนึ่งในชุมชนของพื้นที่คลองเตย ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นชุมชนแออัดขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย บริเวณชุมชนแห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของโรงฆ่าหมูมาก่อน แต่ภาพจำจากอดีตสู่ปัจจุบันนั้นได้เปลี่ยนไปแล้ว เหลือไว้เพียงคำบอกเล่าจากรุ่นสู่รุ่น แต่สิ่งที่ยังคงอยู่คือผู้คนในชุมชน ผู้มีความหวังอยากให้ชุมชนของตัวเองพัฒนาในหลาย ๆ ด้าน
เรื่องเล่าของชุมชนบริเวณคลองเตยที่เราเคยได้ยิน ก็คือ เรื่องการเป็นชุมชนแออัด แหล่งยาเสพติดและอาชญากรรม จนมีการลุกขึ้นมาต่อสู้ของคนในชุมชน เพื่อลบล้างภาพจำสีเทานี้ให้หมดไป โดยการสร้างระบบผู้นำที่กล้าจัดการกับปัญหาก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ชุมชนมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น
ภาพจำสีเทาของคลองเตยอาจเปลี่ยนไปแล้วจริง ๆ เพราะการลงพื้นที่ในครั้งนี้เราไม่ได้รู้สึกถึงบรรยากาศเรื่องราวสีเทาที่ผ่านมา แต่กลับเห็นภาพของชุมชนที่ผู้คนสนทนาอย่างเป็นกันเอง
ที่ผ่านมาชุมชนแห่งนี้เกิดวิกฤตหลายครั้ง ทั้งเรื่องการกลายเป็นผู้บุกรุกหลังหมดสัญญาเช่าพื้นที่กับการท่าเรือ ปัจจุบันยังคงเรียกร้องพื้นที่เพื่อการทำกิน และความอยู่รอดของตนเอง แต่มีอีกหนึ่งวิกฤตสำคัญที่ชุมชนก้าวผ่านมาได้จากการพึ่งพาคนในชุมชน คือ สถานการณ์โควิด-19
จากความยากลำบากของการมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากในชุมชน กลายเป็นบทเรียนครั้งสำคัญที่คนในชุมชนได้เรียนรู้เรื่องการจัดการระบบสุขภาพ แผนผังนี้คือตัวอย่างการวางระบบแบบเรียบง่ายที่สะท้อนวิธีการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินของชุมชน
สายทิพย์ อนันต์นิล หรือ ป้าติ๋ม เป็นเลขานุการ ชุมชนริมคลองวัดสะพาน ได้พูดถึงการสร้างครัวกลาง ซึ่งเป็นการริเริ่มจากชุมชน เพื่อทำอาหารรองรับผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ว่า เริ่มต้นจากการมีเงิน 7 พันกว่าบาท ที่ใช้ในการซื้อวัตถุดิบ หลังจากนั้นจึงเปิดรับบริจาควัตถุดิบต่าง ๆ แต่จะไม่ขอรับบริจาคเงิน เพราะ คณะกรรมการชุมชนมองว่าจะเกิดปัญหาตามมาภายหลัง ป้าติ๋มบอกว่าในแต่ละวันต้องคิดเมนูตามวัตถุดิบที่มี เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับบ้านที่กำลังกักตัว
ชลดา บุญมาก หรือ พี่นก ประธานชุมชนริมคลองวัดสะพาน อาจสามารถสะท้อนภาพภาวะผู้นำ ที่สามารถนำชุมชนผ่านวิกฤตครั้งใหญ่นี้ไปได้ อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน กลายเป็นการสร้างภาวะผู้นำให้กับทั้งกลุ่มเยาวชนและชาวบ้าน ซึ่งหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินในอนาคต คนในชุมชนก็จะสามารถทำงานได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องรอการเข้ามาของหน่วยงานภายนอก
จุฑามาศ ปิยะวงษ์ และทีมงาน นักวิชาการ สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้เข้ามาสำรวจในชุมชนเป็นเวลา 1 ปีกว่า ช่วยเหลือชุมชนในแง่ของการวางแผน ทำเครื่องมือ และแผนที่เดินดิน ซึ่งเป็นผลดีต่อคนในชุมชนอย่างมากที่ได้ร่วมลงมือสำรวจร่วมด้วย จากการทำงานร่วมกันของนักวิชาการและชุมชนทำให้เห็นจุดบอดของชุมชนหลายด้าน โดยเฉพาะการค้นพบกลุ่มเปราะบางที่ตกสำรวจ ค้นพบบ้านเรือนที่อยู่ตามมุมต่าง ๆ ของชุมชน พวกเขาเหล่านี้จึงได้รับการมองเห็น และได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนมากขึ้น
สภาพบ้านเรือนในชุมชนที่ใต้ถุนมีขยะลอยอยู่เหนือน้ำ อาจเป็นภาพที่ชินตาของคนในชุมชน การที่ชุมชนอยู่ใกล้ริมคลองต้องประสบกับปัญหาน้ำขึ้น น้ำลง ในแต่ละวัน และบ้านหลังนี้คือ บ้านอีกหนึ่งหลังที่อยู่เหนือน้ำและขยะ ทางกรรมการชุมชนเพิ่งค้นพบบ้านหลังนี้ ในตอนที่เดินสำรวจ ซึ่งทางเดินเข้าไปค่อนข้างไม่สะดวก ต้องเดินข้ามสะพานไม้เล็ก ๆ เข้าไป เมื่อพบว่ามีบ้านตกสำรวจ ทางกรรมการชุมชนจึงหาทางช่วยเหลือและได้ทำความรู้จักกันมากขึ้น
ระหว่างเดินไปตามซอกซอยของชุมชน สิ่งที่เห็นได้แทบจะทุกซอยคือ ‘ผู้สูงอายุ’ หลายบ้านที่เราเดินผ่านมักจะเห็น คุณตา คุณยาย นั่งอยู่ในบ้านหรือหน้าบ้าน เพราะจำนวนของผู้สูงอายุในชุมชนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คนหนุ่มสาวต้องออกไปทำงานนอกบ้านในตอนกลางวัน เราจึงได้เห็นผู้สูงอายุออกมานั่งเล่น พูดคุย กันอยู่หน้าบ้าน หลายต่อหลายคน
นอกจากผู้สูงอายุแล้ว ในชุมชนนี้ก็มี ‘เด็ก’ เยอะเช่นกัน ตามซอยจะมีเด็กวิ่งเล่น ทั้งเด็กโตและเด็กเล็ก บ้างก็อยู่บ้านกับตายาย ทางเดินในซอยแคบ ๆ มักมีเด็กเดินขวักไขว่ปะปนกับผู้ใหญ่ การมีเด็กเดินเล่นตามบ้านคงเป็นปกติของชุมชนนี้ ผู้ใหญ่ในชุมชนก็คอยเป็นหูเป็นตาไปด้วย
ไม่ว่าคนภายนอกจะมองภาพชุมชนนี้แบบไหน แต่เสียงสะท้อนของชุมชนหลังผ่านวิกฤตโควิด-19 คือ ชุมชนนั้นเปลี่ยนไปในแง่ของความสัมพันธ์ การที่คนในชุมชนได้ทำงานร่วมกัน ทำให้เกิดความสามัคคี รู้จักกันมากขึ้น กลุ่มเปราะบางในชุมชนได้รับความสนใจและถูกดึงตัวออกมาจากมุมแคบ ๆ ของตัวเอง หลังการทำงานร่วมกับนักวิชาการ ทางกรรมการชุมชนได้ก้าวข้ามขีดจำกัดเรื่องการทำงาน และทำให้ชุมชนมีการจัดการที่เป็นระบบในหลายเรื่อง ไม่เพียงแต่เรื่องสุขภาพ แต่มีทั้งเรื่องการเก็บขยะ และการดูแลสมาชิกอย่างทั่วถึงมากขึ้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

เมธาวี ทวีผล

เรียนมานุษยวิทยา สนใจเรื่องราวทางสังคม อยากปล่อยใจสู่เสรี

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

วราพร อัมภารัตน์