มันนิ ใต้ป่า ภูผาเพชร

ใต้สุดชายแดนฝั่งตะวันตกของประเทศไทย ในเทือกเขาบรรทัด รอยต่อจังหวัดสตูล ตรัง พัทลุง และสงขลา คือถิ่นที่อยู่ของชาวมันนิ กลุ่มชาติพันธุ์เพียงไม่กี่กลุ่ม ที่ยังดำรงชีวิตใกล้เคียงกับวิถีเดิมมากที่สุด

ชาวมันนิกลุ่มภูผาเพชร เป็นมันนิเร่ร่อนกลุ่มท้าย ๆ ที่เหลืออยู่ ยังดำรงวิถีดั้งเดิมด้วยการหาของป่า ล่าสัตว์ เก็บพืชพรรณผลไม้เป็นอาหาร มีภูมิปัญญา ศิลปหัตถกรรม ตำนานและความเชื่อของตัวเอง ใช้ชีวิตอยู่ด้วยการพึ่งพาธรรมชาติ อพยพย้ายที่อยู่ในหุบเขาตามฤดูกาลและแหล่งอาหาร

แต่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย วิถีชีวิตของชาวมันนิกลุ่มนี้กำลังตกอยู่บนทางแยก ระหว่างศักยภาพในการพึ่งพาตนเองบนวิถีดั้งเดิม กับวิถีใหม่ที่คนภายนอกต่างพยายามหยิบยื่นให้ และเป็นคำถามว่าชาวมันนิแห่งป่าภูผาเพชรกลุ่มนี้ จะมีอนาคตเช่นไร มีสิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเองมากน้อยแค่ไหน

The Active ชวนสัมผัสวิถีชีวิต “มันนิ ใต้ป่า ภูผาเพชร”

ภาพ - กฤตานนท์ ทศกูล
เรื่อง - กฤตานนท์ ทศกูล, ทัศนีย์ ประกอบบุญ, วาสนา ไซประเสริฐ
เช้ามืด กองไฟถูกจุดขึ้น เพื่อให้ความอบอุ่นท่ามกลางอากาศเย็นยามเช้า ในกะท่อมเล็ก ๆ หรือที่ชาวมันนิเรียกว่า “ทับ” เป็นการเตรียมพร้อมเพื่อเริ่มกิจวัตรประจำวัน
ผู้ใหญ่ตั้งวงสนทนายามเช้า เรื่องที่คุยกัน มักเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวัน เช่น หาของป่า ล่าสัตว์ รวมถึงเรื่องสัพเพเหระทั้งหลาย เช่นเดียวกับเด็ก ๆ ก็จับกลุ่มตั้งวงสนทนารอบกองไฟ
ขี้เถ้าสีขาวที่ป้ายบนหน้าผากของเด็ก ๆ ไม่ใช่การเล่นเพื่อความสนุกสนาน สำหรับชาวมันนิ  ขี้เถ้าจากกองไฟ คือสิ่งที่ให้ความอบอุ่นและลดความหนาวเย็นยามเช้า
นอกจากเสียงของการพูดคุยแล้ว ยังมีเสียงเสียดสีกันของไม้และกองไฟ
เป็นเสียงที่มาจากการเตรียมอาวุธประจำกาย  ที่ชาวมันนิเรียกว่า “บาเลา” อุปกรณ์สำคัญในการดำรงชีวิตของคนทั้งกลุ่ม เพื่อให้ได้มาซึ่งอาหารหล่อเลี้ยงชีวิต
สิ่งที่ใช้คู่กับ “บาเลา” นั้นคือ ”บิละฮ์” ลูกดอกชุบยางไม้ที่มีพิษ การอาบยาพิษให้ลูกดอกมีอันตรายมาก ผู้ชายจะมีหน้าที่เป็นคนทำ จึงต้องเตรียมอุปกรณ์ชนิดนี้ให้ไกลจากเด็กและผู้หญิง ก่อนจะนำไปใช้ล่าสัตว์
“น้ำ” สำหรับชาวมันนิเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดแหล่งที่อยู่และแหล่งอาหาร
ชาวมันนิ จะใช้ภูมิปัญญาในการคัดเลือกแหล่งน้ำอย่างพิถีพิถัน โดยพวกเขาจะใช้ใบไม้ หรือกะลาตักน้ำใส่กระบอกไม้ไผ่ และจะใช้ใบไม้มาอุดปากกระบอก ก่อนนำน้ำกลับไปใช้ดื่มกิน ซึ่งการหาน้ำมาใช้ เป็นหน้าที่ของผู้หญิง
กระเป๋าสานที่ชาวมันนิเรียกว่า “จ็อง” เป็นงานหัตถกรรมของผู้หญิงในกลุ่ม ใช้สำหรับใส่หัวมัน และอาหารในป่า
นอกจากข้าวของเครื่องใช้ที่ชาวมันนิทำจากวัสดุธรรมชาติที่หาได้ในป่า ปัจจุบันยังมีของใช้ที่ได้รับมาจากชุมชนภายนอก เช่น ช้อน กาน้ำ หม้อต้ม และอุปกรณ์ทำครัวต่าง ๆ เป็นส่วนหนึ่งของวิถีแบบใหม่
ลูกดอกปลายแหลมอาบยาพิษเป็นของต้องห้ามและอันตรายสำหรับเด็ก ๆ 
.
การออก “ฮาลุ” เป่ากระสุนดินผ่านไม้ไผ่ จึงเป็นวิธีการที่ปลอดภัยที่จะทำให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้วิถี ซึ่งวันนี้ “แดน” นำทีมเพื่อน ๆ ออกฝึกเล็งเป้าบนยอดไม้
“ก้อนดิน” ถูกนำมาใช้เป็นกระสุนแทนลูกดอกอาบยาพิษ 
.
ถ้าก้อนดินใหญ่เกินไป อาจเป็นการยากต่อการเป่ากระสุนให้โดนเป้าหมาย เด็กจึงต้องเรียนรู้การทำกระสุนดินให้ได้ขนาดพอเหมาะ และฝึกเล็งเป้าเพื่อความแม่นยำ
ส่วนเด็กเล็ก ๆ ที่ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เล่นกันอยู่บริเวณทับ ไม่ห่างจากสายตาผู้ใหญ่
เมื่อมีโอกาส ชาวมันนิ มักแวะร้านค้าเพื่อซื้ออาหารและขนมขบเคี้ยว เงินเหล่านี้ได้มาจากการขายน้ำผึ้ง หาว่านยาดองสมุนไพร มาขายในราคาถูก รวมถึงรับจ้างในสิ่งที่พวกเขาถนัด เช่น ขึ้นสะตอ
.
เมื่อเงินเริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของชาวมันนิมากขึ้น แน่นอนว่าด้านหนึ่ง ก็ช่วยให้พวกเขาสามารถซื้อของจำเป็น รวมทั้งซื้ออาหาร ในยามที่อาหารจากป่าหาได้ยากขึ้น แต่อีกด้านการใช้เงิน อาจเปลี่ยนวิถีและอัตลักษณ์ของพวกเขาไปด้วย
ไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่ เด็ก ๆ ชาวมันนิ โปรดปรานการดูโทรทัศน์ เมื่อมีเวลาว่าง หรือได้เวลารายการโปรด พวกเขาจะลงมาจากเขา มุ่งตรงมายังบ้านของชาวบ้านที่สนิทสนมกัน เพื่อหาความบันเทิง โทรทัศน์เป็นหน้าต่างไม่กี่บาน ที่ทำให้พวกเขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับโลกภายนอก ที่ไกลเกินกว่ารถจะพาพวกเขาไปถึง
เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องแต่งกายจากการบริจาคที่เหมาะสมและจำนวนที่พอดี ช่วยตอบสนองความต้องการพื้นฐานด้านปัจจัย 4 ได้อย่างมาก  แต่หลาย ๆ ครั้ง เสื้อผ้าที่มากเกินจำเป็น เช่น เสื้อผ้าขาด ๆ เสื้อผ้าแฟนซี รองเท้าส้นสูง รองเท้าไม่มีคู่ หลายสิบกระสอบ กลายเป็นภาระที่กระจัดกระจายอยู่ในป่ารอบหมู่บ้านชาวมันนิแต่ละกลุ่ม
ปัจจุบันหมู่บ้านชาวมันนิหลายแห่ง กลายเป็นหนึ่งในจุดหมายการท่องเที่ยว ที่ผู้คนจะซื้อของไปบริจาคให้ ความหวังดีที่อาจไม่ได้มองไกลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รวมถึงความไม่ใส่ใจของไกด์นำทางบางคน ต่อสุขภาพของชาวมันนิและระบบนิเวศโดยรอบ ได้หยั่งรากลึกให้เกิดปัญหาและส่งผลกระทบตามมามากขึ้น 
.
เพราะจะมั่นใจได้อย่างไร ว่าอาหารอุดมไปด้วยน้ำตาล โซเดียม ไขมัน สารกันบูด สารแต่งสีและกลิ่น สารเติมแต่งแปลกปลอมมากมายเหล่านั้น จะปลอดภัยสำหรับกลุ่มคนที่อยู่ห่างไกลในป่าลึก

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ

Alternative Text
AUTHOR

วาสนา ไซประเสริฐ

ฝึกฝนการเป็นนักเดินทาง ทั้งการเดินทางภายในและภายนอก... ออกไปเห็นโลกที่ใหญ่ขึ้น เพื่อเห็นตัวเองเล็กลง