เสียงเพลงจาก อุรักลาโวยจถึงชาวกรุง

“รองเง็งแม่จิ้ว คณะพรสวรรค์” คณะดนตรีชาติพันธุ์อุรักลาโวยจ รุ่นที่ 3 แห่งภูเก็ต

คณะพรสวรรค์ คือ คณะดนตรี แห่งเกาะสิเหร่ จ.ภูเก็ต มีอายุเก่าแก่กว่า 50 ปี สืบทอดโดยลูกหลานเจเนอเรชันใหม่ ที่ทันสมัย แต่ยังคงอัตลักษณ์วิถีดนตรีพื้นบ้านแบบจังหวัดชายแดนใต้ได้อย่างครบถ้วน

เมื่อรองเง็งถูกนำมาร้องรำคู่กับวงออร์เคสราแบบฝรั่ง ผสานเกิดเป็นขนบดนตรีวิถีใหม่ ที่งดงาม กลมกล่อม และลงตัว
“รองเง็งแม่จิ้ว คณะพรสวรรค์” กำลังฝึกซ้อมร่วมกับวงดนตรี “นิมมาน สตรีท ออร์เคสตรา” ก่อนการขึ้นแสดงจริงในงาน “เสียงชาติพันธุ์ ลือลั่นทั่วสยาม” ที่จัดขึ้นกลางสยามสแควร์ กรุงเทพฯ
โชค - นักร้องนำของวง กำลังซ้อมขับร้องบทเพลง “ลาฆูดูวา” ซึ่งเป็นภาษามาลายู เนื้อหาสำหรับการไหว้ครูบอกเจ้าที่เจ้าทางให้การแสดงราบรื่นไม่ติดขัด
ระหว่างการซักซ้อมคิวนักดนตรีในวง กลองหน้าเดียว หรือ “กลองรำมะนา” เครื่องดนตรีหลักที่ทำหน้าสร้างจังหวะพื้นฐานหลักในการร้องรำ ถือเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของดนตรีรองเง็ง
เสียงบรรเลงจากดนตรีเพลงพื้นบ้าน สอดประสานกับเครื่องดนตรีฝรั่งจนดังกึกก้องไปทั่วทั้งห้องซ้อม
“โชค - สมโชค ประโมงกิจ” วัย 24 ปี ผู้สืบทอดการแสดงรองเง็ง แห่งคณะพรสวรรค์  โชคมีแม่เป็นนางรำรองเง็ง และเป็นหลานของ ‘ย่าจิ้ว’ เจ้าของคณะดนตรี  โชค คลุกคลีอยู่ในคณะรองเง็งตั้งแต่เกิดจนปฏิเสธไม่ได้ว่า  “รองเง็ง” อยู่ในสายเลือดของเขา
โชคเริ่มรับหน้าที่เป็นผู้จัดการวงเต็มตัวในวัย 21 ปี  เขาเลือกปรับท่วงทำนองและภาษาร้องของรองเง็งจากภาษามาลายูเป็นไทย และปรับเนื้อหาให้ทันสมัยเข้าถึงง่ายมากขึ้น  แต่ยังคงท่วงทำนองและการร่ายรำไว้ตามวิถีชาวอุรักลาโวยจโดยไม่สูญเสียอัตลักษณ์เดิม
กว่า 6 บทเพลง ที่ขับขานบนเวที มีทั้งการขับร้องด้วยภาษามาลายูและภาษาไทยถิ่นใต้ (ตันหยง)  ไม่ว่าจะเป็น “ลาฆูดูวา” “ลาฆูเจะมินังซายัง” (เพลงไว้ครู) “ลาฆูตาเบ๊ะงีเจะ” (เพลงลาครู) “ลาฆูบุหรงตีมัง” “ลาฆูซีนาโน้ง”  และบทเพลงที่สนุกสนานปิดท้ายอย่าง “ลาฆูทะลักทัก” ที่บอกเล่าเรื่องราวช่วงเกิดภัยพิบัติสึนามิ เมื่อปี 2547
รำรองเง็งเป็นที่นิยมของกลุ่มชาวมุสลิมให้ร้องเล่นในงานมงคล ทั้งงานบุญ งานแต่งงาน หรือรำแก้บน  แม้จะไม่นิยมเล่นในงานอัปมงคล แต่อาจเห็นได้บ่อยครั้งในงานศพของผู้เฒ่าผู้แก่ที่ชื่นชอบและผูกพันธ์กับการแสดงรองเง็งเป็นชีวิตจิตใจ
“เวลาคนได้ยินคำว่าชาวเล อาจคิดว่ามีแต่คนที่อยู่ริมทะเลแบบเดียวเท่านั้น  แต่จริง ๆ ยังมีชนกลุ่มน้อยอุรักลาโวยจอย่างพวกเราอยู่ด้วย  สำหรับพวกเราแล้ว การที่เพลงรองเง็งของเราถูกส่งเสียงขึ้นมาใจกลางกรุงเช่นนี้ มันทำให้เราดีใจมาก ว่าอย่างน้อย ทุกคนก็ได้รู้ว่าพวกเรายังมีตัวตนอยู่” - โชคทิ้งท้าย

Author

Alternative Text
AUTHOR

ปุณยอาภา ศรีคิรินทร์

Transmedia Journalist

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

เชาวริน เกิดสุข

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

วราพร อัมภารัตน์