เข้าป่าเก็บมะแขว่น 1 วัน ได้เงิน 1 พัน

ไม่มีมะแขว่น ไม่ครบรสอาหารเหนือ!!! อากาศเย็น ๆ อย่างนี้ หากใครมีโอกาสเดินทางไปท่องเที่ยวภาคเหนือ ลองแวะตามกาดหรือตลาด จะเห็นมะแขว่น ทั้งดิบ ทั้งแห้ง ให้เลือกเยอะแยะเต็มไปหมด และหากใครยังไม่เคยเห็น หรือนึกหน้าตามะแขว่นไม่ออก ให้ลองนึกถึงกลิ่นและรสชาติของลาบเหนือ ที่มีกลิ่นหอมแรงและรสเผ็ดร้อนซ่า ๆ ที่ปลายลิ้น ทำให้รสชาติลาบเหนือมีเอกลักษณ์แตกต่างจากลาบในพื้นที่อื่น ๆ นั่นเป็นเพราะ “มะแข่น” หรือ “มะแขว่น” เครื่องเทศล้านนา ที่ขาดไม่ได้ในลาบพื้นเมืองนั่นเอง . ชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่ส้าน จ.ลำปาง ชวน The Active เข้าป่า ดูที่มาของรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์อาหารล้านนาที่คุณคุ้นเคย
ปลายฝนต้นหนาว ราว ๆ ต้นเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนมกราคมของทุกปี จะเป็นช่วงที่ต้นมะแขว่นออกผลให้ชาวบ้านได้เก็บ สร้างรายได้ให้ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านแม่ส้าน จ.ลำปาง รวมปีละกว่า 5 ล้านบาท
ตามครอบครัวพี่จงเข้าป่า บอกว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นไร่หมุนเวียนของครอบครัว เดิมทีชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่ส้านจะปลูกข้าวและพืชผักต่าง ๆ รวมทั้งมะแขว่นไว้ เมื่อหมดฤดูเก็บเกี่ยว จะย้ายไปทำไร่หมุนเวียนในพื้นที่อื่น ส่วนไร่เดิมตรงนี้ จะพักให้กลายเป็นไร่เหล่า หรือไร่ที่ปล่อยทิ้งไว้ให้ฟื้นคืนธรรมชาติ คืนสภาพป่าไม่น้อยกว่า 5 ปี 
.
ต้นมะแขว่นจึงเติบโตพร้อมกับการพักฟื้นไร่หมุนเวียน
ต้นมะแขว่นที่สามารถเก็บได้ จะมีอายุประมาณ 3 ปีขึ้นไป ต้นหนึ่งจะใช้เวลาเก็บราว 1-6 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับอายุ ความสูงและความดกของต้นนั้น ๆ ความยากในการเก็บนอกจากต้องปีนบนความสูงไม่น้อยกว่า 20 เมตร ต้องระวังหนามต้นมะแขว่น และแมลงต่าง ๆ ด้วย
บางครั้งชีวิตที่เร่งรีบในเมืองใหญ่ อาจจะทำให้เราหลงลืมความเรียบง่ายของความธรรมดา การเก็บมะแขว่นคือวิถีชีวิตของชาวบ้านแม่ส้าน ที่พยายามส่งต่อให้ลูกหลาน เราสังเกตเห็นความสัมพันธ์ในครอบครัว ที่ไปไหนก็ไปด้วยกัน
เราชวนพี่จง นั่งคุยกันหลังลงมาจากต้นมะแขว่น ถึงมูลค่าที่เป็นรายได้หลักของครอบครัว และเป็นเงินเก็บสำหรับการศึกษาของลูก ๆ ทั้ง 2 คน และเป็นผลกำไร ที่สะท้อนถึงคุณค่าของการดูแลรักษาป่า เนื่องจากมะแขว่น เป็นไม้ผลที่อ่อนไหวกับสารเคมีและไฟ ชาวบ้านที่นี่จึงช่วยกันดูแลปกป้องรักษาป่า ด้วยการคงวิถีทำเกษตรแบบไร่หมุนเวียนที่ไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี และยังได้พักฟื้นคืนพื้นที่ป่าให้สมบูรณ์ พร้อมทั้งทำแนวป้องกันไฟป่าทุกปี 
“หวังว่า มะแขว่นในไร่หมุนเวียน จะเป็นพื้นที่ความมั่นคงในชีวิตให้กับลูก ๆ หากเรียนจบแล้ว ไม่มีงานทำ”
ไม้ ลูกชายวัย 14 ปี ตั้งใจดูและฟังสิ่งที่ผู้เป็นพ่อสอน แนะนำถึงวิธีการปีนต้นมะแขว่น เพื่อเก็บผลผลิต ทั้งการเตรียมร่างกาย สิ่งที่ต้องระมัดระวัง ซึ่งไม้เองบอกว่า เคยลองปีนเก็บมะแขว่นแล้ว 2 ครั้ง ตั้งใจว่า หากปีนได้คล่องและมั่นใจกว่านี้ ก็จะช่วยพ่อเก็บทุกปี แม้วันหนึ่งต้องไปเรียนหรือทำงานที่อื่น วันหยุดก็จะมาช่วยสานต่อมรดกความมั่นคงนี้
วันนี้ใช้เวลาเก็บกันประมาณ 2 ชั่วโมง ได้เต็ม 2 กระสอบ พี่จงบอกว่านำไปขายจะได้ราว ๆ 1,000 บาท ซึ่งไม่ต้องหักต้นทุน เพราะแค่ลงแรง กับการดูแลรักษาป่าให้เท่านั้น
ในแต่ละปี จะมีช่วงเวลาให้เก็บมะแขว่นได้แค่ 4 เดือน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ว่างหลังการเกี่ยวข้าวไร่และผลผลิตในไร่หมุนเวียน
ช่วงประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน ชุมชนกว่าร้อยหลังคาเรือนในบ้านแม่ส้าน จะเต็มไปด้วยมะแขว่นที่ตากไว้บนหลังคา เพราะมะแขว่นแห้งขายได้ราคาสูงกว่ามะแขว่นสดถึง 3 เท่า สะท้อนแหล่งรายได้ที่มั่นคง และอีกแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญที่ขาดไม่ได้ในเมนูล้านนา

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

วาสนา ไซประเสริฐ

ฝึกฝนการเป็นนักเดินทาง ทั้งการเดินทางภายในและภายนอก... ออกไปเห็นโลกที่ใหญ่ขึ้น เพื่อเห็นตัวเองเล็กลง