คลองแม่ข่า อนาคตร่วมของ เมือง-คน-คลอง


วันนี้การพัฒนาคลองแม่ข่าของเมืองเชียงใหม่มาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้ง จากคลองน้ำเสียที่ดูสิ้นหวังในอดีต เริ่มต้นที่จะกลับมามีความหวังใหม่อีกครั้ง น้ำไหล ไร้ขยะ ภูมิทัศน์ริมคลองที่ได้รับการปรับปรุง  แม้จะยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้นระยะทางสั้น ๆ แต่ก็มีผู้คนให้ความสนใจในฐานะโครงการต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่ริมคลองแห่งใหม่ของเมือง
The Active พาไปพูดคุยทำความรู้จักกับผู้คนริมคลองแม่ข่า ผู้คนที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับคลองประวัติศาสตร์ของการพัฒนาเมืองสายนี้ เพื่อค้นหาว่าการพัฒนาที่มีหน้าตาเป็นมนุษย์ ที่คนจะอยู่ร่วมกับคลองจะเป็นเช่นไร
เส้นสายที่คดเคี้ยวอิสระของคลองที่ลัดเลาะผ่านบ้านเรือนขนาดกะทัดรัดรูปทรงต่าง ๆ โดยมีสะพานโค้งสีเหลืองอยู่ในระยะหน้า 
ทำให้คลองแม่ข่าส่วนนี้กลายเป็นสถานที่ถ่ายรูปสวย ๆ ของนางแบบ นายแบบ หรือบล็อกเกอร์ ที่รีวิวกันจนทำให้คลองนี้เป็นที่รู้จักในฐานะภาพลักษณ์ใหม่ของเมือง
เย็นวันศุกร์ที่อากาศดีแบบนี้ วัยรุ่นหลายคู่ต่างมาเดินเล่นกันที่นี่ ถ่ายรูปมุมแปลก ๆ กันอย่างเพลิดเพลิน น้ำในคลองถูกผันมาจากคูเมืองและล้นฝายหินเล็ก ๆ ที่ทางเทศบาลทำไว้ ช่วยทำให้บรรยากาศริมคลองรื่นรมย์จากเสียงน้ำไหลและกิจกรรมยามเย็นของผู้คน
บ้านหลายหลังอาจจะเป็นภาพน่ารักที่ปรากฏอยู่ในเลนส์หรือจอมือถือ แต่น้อยคนนักที่จะรู้จักชีวิตของผู้เป็นเจ้าของบ้านในภาพถ่าย ชีวิตที่ผูกติดกับคลองมาหลายรุ่นและอาจจะเห็นและรู้จักคลองแม่ข่าในมุมที่ต่างไปจากสถานที่ท่องเที่ยว
ภูมิทัศน์แห่งใหม่ของเมืองนี้อาจจะไม่ได้เป็นพื้นที่สาธารณะของเมืองเสียทั้งหมด แต่อาจจะเป็นสนามเด็กเล่น แปลงปลูกผักสวนครัว ทางเดินไปโรงเรียน หรือห้องนั่งเล่นขนาดใหญ่ที่คนในชุมชนใช้ร่วมกัน แม้สภาพอาคารบางส่วนอาจจะไม่สวยงาม มั่นคงหรือใหญ่โต แต่คนที่นี่เรียกมันว่า “บ้าน”
ซอกซอยเล็ก ๆ ที่หลบออกมาจากทางเดินหลักริมคลองที่สวยงาม คือเส้นทางที่เชื่อมโยงบ้านของผู้คนที่นี่เข้ากับเนื้อเมืองส่วนอื่น ๆ ทางเดินเล็ก ๆ ที่จะพาเราไปรู้จักชีวิตของคลอง ผ่านเรื่องราวชีวิตของกลุ่มคนที่หลากหลาย ทั้งชาติพันธุ์ อาชีพ รวมทั้งความคิดความฝันที่อยากเห็นการพัฒนาคลองเส้นนี้ให้ดีขึ้น โดยมีชีวิตของพวกเค้าอยู่ในโจทย์ของการพัฒนานั้น
โบ (อนงค์ แลเชอะ) อาศัยอยู่ในชุมชนวัดหัวฝายมามากกว่า 10 ปีแล้ว เมื่อก่อนเธอเป็นผู้เช่าบ้านหลังนี้ แต่พอมีอาชีพและตั้งหลักได้ เธอจึงซื้อสิทธิ์ต่อจากเจ้าของสิทธิ์เดิมในราคา 300,000 กว่าบาท เมื่อเจ็ดปีก่อน และเสียค่าเช่าที่ดินให้กับเทศบาลปีละ 190 บาท บ้านปูนสีฟ้าสองชั้นขนาดเล็ก ๆ ที่ดูมั่นคงนี้ เป็นที่พักของแม่เธอ สามีและลูก ๆ รวมกัน 5 คน วันนี้หลังจากกลับมาจากขายผลไม้สดที่วิทยาลัยใกล้ ๆ 
เธอเตรียมอาหารอาข่าให้ลูก ๆ และสามี ในขณะที่ลูกสาวเธอกำลังรีบสวมรองเท้าไปเข้าร่วมกิจกรรมของมูลนิธิคริสต์ศาสนา ที่เข้ามาสนับสนุนคุณภาพชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ในชุมชนริมคลอง
ชายแก่ผิวดำแดดที่นั่งตกปลาริมตลิ่งบล็อกนี่คือ ลุงสมชาย สามีของป้านิ่ว (สุมาลี สุวรรณดี) หลายปีก่อนลุงสมชายประสบอุบัติเหตุจนทำให้ไปทำงานไม่ได้ แกอาศัยอยู่กับป้านิ่วพร้อมด้วยลูกสาว หลานสาวและแมวอีกสามตัวในบ้านริมคลองแม่ข่า ป้านิ่วเล่าให้ฟังว่าก่อนย้ายมาอยู่บ้านหลังนี้ แกเคยอยู่ใกล้โรงเชือดหมูไม่ไกลจากชุมชน และขายสิทธิ์บ้านเช่าเดิมให้กับชาวมูเซอ (ลาหู่) ราคาสองแสนบาท เพื่อที่จะมาปรับปรุงบ้านหลังนี้ที่เป็นของญาติให้มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ปัจจุบันรายได้หลักของบ้านมาจากลูกสาว ส่วนป้านิ่วมีรายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ มาจากการรับหั่นหูหมู  สำหรับป้านิ่วที่เห็นคลองสายนี้มาตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ ที่ที่แกอยู่ในอดีตคือลำเหมืองสำหรับทำนาที่ตอนนี้ไม่มีผืนนาแล้ว บ้านนี้จึงอยู่ในที่ดินสาธารณะของรัฐที่ยังไม่แน่ชัดว่าจะถูกพัฒนาอย่างไร  ความกังวลใจเดียวของป้านิ่ว คือหากหน่วยงานรัฐ จะทำการพัฒนาเมืองหรือต้องมีการพัฒนาที่อยู่อาศัย เพื่อทำให้ชุมชนที่อยู่ อยู่ได้อย่างถูกกฎหมาย แกจะได้กลับมาอยู่บนพื้นที่เดิมตรงนี้หรือไม่
บ้านไม้ชั้นเดียวขนาดประมาณ 4 x 5 เมตร ที่สร้างมาเกือบ 40 ปีหลังนี้อยู่กันได้ถึง 9 คน ช่วงเย็น ๆ แบบนี้พี่ตู่ (พิมพ์ผกา ดุลยภากร) ใช้โอกาสของการปรับภูมิทัศน์ทางเดินเลียบคลอง เปิดพื้นที่เล็ก ๆ หลังบ้านขายไส้ย่างให้กับคนในชุมชน และคนที่เริ่มมาเดินเที่ยวเพื่อเป็นรายได้เสริม  พี่ตู่ตั้งใจเก็บเงินไว้วันละ 50 บาท เพื่อเป็นทุนรอนเตรียมไว่ในการปรังปรุงบ้านใหม่ หากรัฐมีนโยบายให้เช่าที่ดินราชพัสดุได้ยาวขึ้น  พี่ตู่เล่าว่าสมัยสาว ๆ ได้ร่วมกับลุงทีป (ประทีป บุญมั่น) แกนนำอาวุโสของชุมชนริมคลองแม่ข่าซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว พัฒนาสิ่งแวดล้อมริมคลองและขยับบ้านที่เคยอยู่ในคลองขึ้นมาอยู่บนฝั่ง แกเคยไปดูงานพัฒนาที่อยู่อาศัยคนมีรายได้น้อยหลายที่ในต่างจังหวัด รวมทั้งยื่นหนังสือเรียกร้องการพัฒนาที่อยู่อาศัยริมคลองร่วมกันกับภาคีต่าง ๆ หลายเวที
ที่ดินเกือบทั้งหมดของชุมชนกำแพงงามนี้เป็นที่ดินราชพัสดุที่ดูแลโดยกรมธนารักษ์ คนภายนอกทั่วไปที่เข้ามาเดินเล่นริมคลองแม่ข่า น้อยคนนักจะรู้ว่าริมคลองแม่ข่านั้นมีกำแพงเมืองชั้นนอกของเมืองเก่าเชียงใหม่เลาะเลียบอยู่ไปตลอดแนวคลองแม่ข่าและลำคูไหว  พี่เอ๋ (กาญจนา กองเกิด) มาอยู่ในชุมชนนี้ 20 ปีแล้ว บ้านหลังเล็กแต่ร่มรื่นที่ใช้ผนังร่วมกันกับบ้านพี่ตู่นั้น เช่าที่ดินกับกรมธนารักษ์แบบปีต่อปี ค่าเช่าที่ดินปีละ 500 กว่าบาท ตรงข้ามบ้านพี่เอ๋จะเป็นแนวกำแพงดินยาวต่อเนื่องที่เห็นได้ชัด โดยมีบ้านพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์อาข่าสร้างอยู่ตรงฐานดินของกำแพงใหญ่
ในมุมมองของรัฐ แนวกำแพงดินนี้อาจจะเป็นพื้นที่ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานของกรมศิลปากรในฐานะสมบัติของชาติ แต่สำหรับคนที่นี่ โบราณสถานอาจจะไม่ได้มีความหมายมากไปกว่าพื้นที่ปลูกใบยาสูบ ลานตากพริก ที่เลี้ยงไก่ ทางเดินลัดเพื่อเชื่อมไปอีกฝั่งถนน และที่สำคัญคือเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าปู่กำแพงดินที่ชาวบ้านที่นี่ให้ความเคารพนับถือ สำหรับคนนอกที่อาจจะไม่ได้มีความสัมพันธ์กับชุมชนมากนัก สิ่งที่เห็นได้ชัดเลยคือแนวต้นไม้ใหญ่ทั้งจามจุรี ขะจาว และข่อย ที่ช่วยยึดแนวกำแพงดินไม่ให้พังทลายลงมาจากการชะล้างของฝน
ช่วงเย็น หมี่จู อาเคอ นั่งถักด้ายและปักกระเป๋าผ้าที่มีลายสวยเตรียมไปเดินเล่ขายในย่านไนท์บาซ่าร์หลังนักท่องเที่ยวเริ่มกลับมา ชีวิตหมี่จูก็คล้าย ๆ กับพี่น้องชาวอาข่าคนอื่น ๆ ที่ย้ายถิ่นฐานจากเชียงราย อำเภอแม่ฟ้าหลวง มาอยู่ที่นี่ตามคำชักชวนของญาติ บ้านที่ชิดริมกำแพงเมืองเกือบทั้งหมด จึงเป็นบ้านของตระกูลอาเคอ เกือบทุกหลังแม้จะอยู่ในที่ดินราชพัสดุแต่ก็ไม่มีสัญญาเช่า
หมี่จูอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าบ้านของเธอคือพื้นที่ประกาศเขตโบราณสถาน พอครอบครัวเริ่มขยาย บ้านของเธอจึงเริ่มขยายตามไปในทิศทางที่พอจะค่อย ๆ ขยายออกไปได้ ทั้งครัวไฟและเตาถ่าน รวมทั้งห้องน้ำผนังสังกะสีที่ขุดอยู่บนฐานกำแพงโบราณของเมือง
อาดอ อาเคอ ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่มาอยู่ที่นี่ตั้งแต่ปี 2542 เธออยู่บ้านที่ซื้อสิทธิ์ต่อมาจากคนอื่น ๆ อาดอไม่มีงานเป็นชิ้นเป็นอันมาพักใหญ่แล้วหลังโควิด-19 ระบาด การเป็นคนงานก่อสร้างรายวันปูอิฐบล็อกทางเดินเลียบคลอง ยังพอให้เธอมีเลี้ยงปากท้องได้จนโครงการเสร็จในอีกไม่กี่สัปดาห์
ป้าจันทร์ฟอง สายเดช เป็นคนเก่าคนแก่ของชุมชนกำแพงงามอีกคน ก่อนย้ายมาอยู่ที่นี่ในปี 2524 แกอยู่แถว ๆ ป่าช้าช้างคลาน แต่ที่นั่นน้ำท่วมบ่อย เลยขยับขยายมาอยู่ที่นี่ บ้านสังกะสีเล็ก ๆ ที่หน้าบ้านติดคลองและหลังบ้านพิงกำแพง ทำให้ไม่สามารถขยับขยายได้อีกแล้ว  ป้ามีอาชีพพับถุงกระดาษ แต่ก็เริ่มมาขายต้นไม้เป็นอาชีพเสริมหลังมีการปรับทางเดินเลียบคลอง สิ่งที่กวนใจทุกครั้งคือเวลาฝนตกหนัก น้ำจากตัวบ้านไม่สามารถระบายลงคลองได้อย่างเคย เพราะบ้านอยู่ต่ำกว่าระดับทางเดินที่ถูกกำหนดจากระยะความเอียงของท่อรวมน้ำเสีย แต่ในเชิงการค้าขายแล้ว แกเห็นโอกาสจากการเปิดพื้นที่นี้ ในขณะเรื่องที่อยู่อาศัยในอนาคตก็เป็นโจทย์ใหญ่ เป็นความฝันราคาแพง
ความทรงจำของเด็ก ๆ รุ่นนี้ที่ได้วิ่งเล่นกันอย่างสนุกสนานบนทางเดินใหม่ริมคลอง อาจจะคล้าย ๆ กับความทรงจำดี ๆ ของคนรุ่นปู่รุ่นย่าที่คนกับคลองยังมีความสัมพันธ์กัน แต่ความสัมพันธ์นั้นขาดหายไปช่วงคนรุ่นพ่อแม่ในช่วงที่เมืองกำลังเติบโตและพัฒนาอย่างไร้ทิศทาง จะเป็นอย่างไร ถ้าพวกเขาได้เติบโตขึ้นมาในชุมชนที่มั่นคงขึ้น พร้อมกับเมืองที่ได้รับการพัฒนาสำหรับทุกคน  เขาจะเล่าถึงประวัติชีวิต ประวัติชุมชนของพวกเขาเพื่อประกอบส่วนเป็นความทรงจำใหม่ของเมืองในอนาคตอย่างไร
หากพญามังรายเลือกสร้างเมืองเชียงใหม่ให้เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนาที่ยิ่งใหญ่จากความหลากหลายของผู้คน เพราะมีลำน้ำแม่ข่าที่เป็นหนึ่งในชัยภูมิที่เป็นมงคล  จิตวิญญาณของคลองแม่ข่าในวันนี้ก็อาจจะไม่ได้ต่างจาก 720 กว่าปีที่ผ่านมา ที่ดึงดูดผู้คนมากหน้าหลายตาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเมืองทั้งแง่สังคมและเศรษฐกิจ  สิ่งที่ท้าทายคือเราจะสร้างการพัฒนาในยุคสมัยของเราไปสู่อนาคตอย่างไร บนความหลากหลายของผู้คน เพื่อจัดสมดุลใหม่ ๆ บนลมหายใจของอดีตที่มีชีวิต

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active