หนีกรุง ไปล่องโขง สัมผัสธรรมชาติอันหลากหลายที่ “ตามุย”

The Active ชวนเดินทางออกจากเมืองกรุงหลีกหนีความวุ่นวายและมลพิษ ไปสูดอากาศบริสุทธิ์เข้าปอดแบบเต็ม ๆ ที่ บ้านตามุย อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี สัมผัสการเดินทางที่ไม่ใช่แค่การล่องโขงชมนกชมไม้ ปล่อยอารมณ์ไปกับการเอาเท้าแช่น้ำเท่านั้น แต่เราจะได้รู้จักกับวิถีชีวิตและหัวใจของของผู้คนที่เต็มเปี่ยมไปด้วยมิตรภาพ ทริปนี้เราลงเรือไปกับไกด์หนุ่ม วัย 25 ปี “ตอง ไกรศร ใต้โพธิ์” คนรุ่นใหม่ที่ตัดสินใจทิ้งเมืองกรุงกลับมาบุกเบิกธุรกิจท่องเที่ยวด้วยการใช้ฐานทรัพยากรที่หลากหลายอุดมสมบูรณ์ของบ้านเกิด สร้างงานสร้างรายได้บนพื้นฐานของความสุข
ทุกคนเชื่อไหมว่า เราสามารถดูพระอาทิตย์ขึ้นได้ถึง 3 ครั้ง ในวันเดียว พวกเราเริ่มลงเรือกันตั้งแต่ 6 โมงเช้าที่ท่าเรือบ้านตามุย “ไกด์ตอง” พาเรือหางยาวทวนน้ำขึ้นเหนือ ไปดักพระอาทิตย์ขึ้นครั้งแรกที่โผล่พ้นยอดเขาช่วง  7 โมงครึ่ง  พระอาทิตย์โผล่ทักทายพวกเราด้วยสีแดงสด  เรือแล่นต่อมาอีกไม่ถึง 5 นาที พระอาทิตย์ดวงเดิมที่เคยขึ้นไปแล้ว กลับโผล่พ้นยอดเขามาทักทายเหมือนพระอาทิตย์ขึ้นรอบที่สองบนยอดเขาลูกใหม่ด้วยสีส้ม  และ ครั้งที่ 3 ด้วยสีเหลือง จากยอดเขาลูกถัดไป เหมือนได้ดูพระอาทิตย์ขึ้นใหม่ถึง 3 ครั้งในเวลาไม่กี่นาที
จากที่เราได้คุยกับไกด์หนุ่มอายุ 25 ปี เขาเล่าว่านอกจากพระอาทิตย์จะขึ้นได้หลายครั้งแล้ว ตอนที่พระอาทิตย์ตกก็ไม่ต่างกันเลย เพราะเส้นทางแม่น้ำโขงที่นี่ มีภูเขาสูงที่เรียงรายตามแนวโขง ทำให้เวลาเราล่องเรือไปจะเห็นเหตุการณ์พระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตกในหลายมุม สำหรับคนในพื้นที่ นี่คือภาพคุ้นชิน แต่สำหรับพวกเรานี่สิ่งที่นานทีปีหนจะได้เห็น
“เก้าพันโบก” คือจุดหมายของทริป “ตามุย” ด้วยจุดเด่นของลานหินกว้างที่ถูกธรรมชาติกัดเซาะคล้ายจนเป็น ”หลุม” หรือที่คนในพื้นที่เรียกว่า “โบก” กลายเป็นจุดเด่นดึงดูดนักท่องเที่ยวให้แวะมาถ่ายรูปแล้วทำกิจกรรมช่วงเย็น ๆ  เขาจะมีโซนให้เราได้กางเต้นก่อกองไฟ ทำกับข้าว หาปลา เหมาะกับสายแคมป์ปิ้งสุดๆ 
ในการจัดทริปค้างคืนแต่ละครั้งจะมีการเตรียมอาหารมาไว้แล้วบางส่วน แต่เราก็สามารถหาปลาจากแม่น้ำโขงเพิ่มเติมได้ ถ้าโชคดีก็ได้กินปลาแม่น้ำโขง ย่างสดๆ เนื้อหวานๆ  ฟินกันไปเลย  แต่ทุกอย่างทุกกิจกรรมจะอยู่ในกฎกติกา การดูแลของทีมในพื้นที่เพื่อไม่เป็นการไปทำร้ายทรัพยากรในพื้นที่
ก็โดดไปเลยสิคะ... ไฮไลท์ ของ “ก้าวพันโบก” อยู่ที่วิวหินที่ธรรมชาติวิจิตรบรรจงแต่งแต้มให้มีทั้งโค้ง เว้า รู หลุม ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเลือกมุมถ่ายภาพตามจินตนาการและความชอบของแต่ละคน  งานนี้ “ไกด์ตอง” ในฐานะคนพื้นที่ชี้เป้าร่องหินยอดนิยมที่นักท่องเที่ยวมาแล้วต้องไม่พลาด “ช็อตเด็ด”  กระโดดลอยตัวอยู่ลานหินกว้างที่มีฉากหลังเป็นท้องฟ้าสีสด
จุดนี้เรียกว่า หาดซ่งซ้าง เป็นหาดทรายขนาดกว้าง สำหรับทำกิจกรรมและแคมป์ปิ้งอีกหนึ่งจุด ​ บริเวณใกล้ ๆ ​มีน้ำวน สามารถดูนก หรือดูพระอาทิตย์ขึ้นตอนเช้าๆ ได้  และที่ประทับใจที่สุดน่าจะเป็นทรายของที่นี่ที่ทั้งสะอาดและ นุ่มเท้ามาก
ล่องเรือออกมาจากจุดเดิมไม่ไกลมากนักเราจะเจอกับอีกจุดพักที่คนทั่วไปจะรู้จักในชื่อของ “ถ้ำทราย” แต่ “ไกด์ตอง” เรียกที่นี่ว่า “สวนหินต้นนาแซง” เพราะเป็นแหล่งเดียวที่จะพบต้นนาแซงได้ในละแวกนี้ เมื่อนั่งเรือผ่านเราจะเห็นวิวต้นนาแซงที่เอนไปตามทางไหลของน้ำ  แทรกตัวอยู่บนลาน กว้างๆ ที่สามารถใช้เป็นทำเลผูกเปลนอนกลางวันได้เลย   ไกด์ตอง วางแผนว่าจะปรับที่นี่​ให้เป็นจุดแคมป์ปิ้ง ของทริป 3 วัน 2 คืน ของตามุย   ​
มันอาจจะไม่แค่เรื่องการท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่มันคือเรื่องของการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ที่มีอยู่เพื่อสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนอย่างคุ้มค่ามากๆ แต่เงื่อนไขหลายอย่างก็เป็นข้อจำกัด​ ทั้งเรื่องความรู้ งบสนับสนุน และการใช้สื่อเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว สุดท้ายก็ทำให้ชาวบ้านยังต้องออกไปหางานที่อื่น โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวที่ทิ้งบ้านเกิดออกไปรับจ้างต่างถิ่น  จนหมู่บ้านขาดการพัฒนา
สถานที่สุดท้าย แต่เป็นที่ที่ประทับใจที่สุดคือการ ก่อไฟ  กินข้าวบนดอนแม่น้ำโขง มองเห็นดาวชัดมาก เราใช้เวลาที่นี่ในการพูดคุยถามไถ่ข่าวคราวกับชาวบ้านอย่างเป็นกันเอง พวกเราแลกเปลี่ยนความคิดความเห็นกันหลายอย่างโดยเฉพาะเรื่องที่พยายามผลักดันให้คนในชุมชนเห็นคุณค่าของพื้นที่ การสร้างความมั่นคง ให้กับอาชีพ เพราะนี่อาจเป็น”ทางเลือก” และ “ทางรอด” ให้คนในชุมชน  หากได้รับการสนับสนุนในสิ่งที่ชุมชนยังคงขาด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทุน ทักษะการสื่อสาร และการวางแผนเที่ยวอย่างเป็นระบบ ก็อาจทำให้พวกเขาไม่ต้องออกไปดิ้นรนขายแรงงานข้างนอกและต่อยอดสร้างรายได้จากทรัพยากรในพื้นที่อย่างยั่งยืน

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

ณัฐพล พลารชุน