หวนคิดถึงและหายคิดถึง “ดนตรีชาติพันธุ์”

“ดนตรีชาติพันธุ์” การแสดงผสมผสานระหว่างดนตรีชาติพันธุ์กับดนตรีไทย สากล และวงออร์เคสตรา เป็นสิ่งที่ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์กว่า 60 กลุ่มในประเทศไทยตั้งใจสะท้อนว่า "ดนตรีที่หลากหลาย ก็เหมือนผู้คนที่มีทางความหลากหลายในสังคมไทย ที่แม้จะมีความแตกต่าง ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเข้าใจ"

นอกจากจะเป็นเวทีที่กลุ่มชาติพันธุ์ได้ออกมาแสดงตัวตน นำเสนอความงดงาม คุณค่าของวิถีวัฒนธรรม และสิ่งที่พวกเขาเผชิญอยู่ ผ่านดนตรีและการแสดงแล้ว เวทีนี้ยังทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่จากบ้านมาทำงานในเมืองใหญ่ ได้หวนคิดถึงและหายคิดถึงบ้านและวิถีวัฒนธรรมที่ห่างมา

TheActive ชวนฟังเสียงชาติพันธุ์ผ่านอัลบั้มภาพ “หวนคิดถึง และ หายคิดถึง“ เมื่อชาติพันธุ์แรงงานในเมืองใหญ่ ร่วมชมดนตรีในสวน ตอน “ดนตรีชาติพันธุ์”
“ตั้งแต่เกิดมา นี่เป็นครั้งแรกที่ได้มาแสดงที่กรุงเทพ“ เสียงสะท้อนจากแม่หลวงอะหมี่ ‘จิรประภา อักษรอริยานนท์’ ศิลปินชาวลีซู บ้านขุนแจ๋ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ หลังร่วมบรรเลงชือบือ หรือซึง 3 สาย ดนตรีที่มีความเฉพาะ ได้สร้างความเพลิดเพลินและความประทับใจให้กับผู้ชมใจกลางเมือง ณ สวนลุมพินี แม่หลวงอะหมี่ ยังขอบคุณทุกฝ่าย ที่ทำให้ตนและกลุ่มชาติพันธุ์จากหลายพื้นที่ ได้มาแสดงตัวตน เรื่องราวของวิถีวัฒนธรรมผ่านการแสดงดนตรีครั้งนี้ และรู้สึกดีใจที่ผู้คนแม้จะอยู่ต่างทิศต่างถิ่น ก็ร่วมเต้นรำสนุกสนาน ยินดีฟังเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ ผ่านบทเพลงและดนตรีชาติพันธุ์อย่างเข้าใจ
“ได้หวนคิดถึง และหายคิดถึงไปพร้อมกัน“ เมื่อการแสดงที่ใช่ชื่อว่า “ปีรีรีแร่ว“  ที่หมายถึงการเฉลิมฉลอง โดยมีการเต้นรำประกอบกลองยาว ดนตรีและบทเพลงของกลุ่มชาติพันธุ์ปะโอ จาก อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน เริ่มขึ้น กลุ่มชาติพันธุ์ปะโอที่มาทำงานในเมืองหลวง หลายคนเต้นรำตาม
พวกเขาบอกว่าการแสดงนี้ทำให้คิดถึงและทำให้หายคิดถึงไปพร้อมกัน ที่บอกว่าหายคิดถึง เพราะบรรยากาศการเต้นรำเป็นเอกลักษณ์แบบนี้มีเฉพาะใน จ.แม่ฮ่องสอน ไม่มีที่อื่น หลายคนจากบ้านมานาน มาทำงานในกรุงเทพฯ เมื่อได้ชมการแสดงชุดนี้ ทำให้คิดถึงบ้านจับใจ แต่อีกด้านก็ทำให้หายคิดถึง เพราะพวกเขาได้นำเอาวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ติดตัวมาด้วย ซึ่งการได้เห็นการแสดงของชาวปะโอบนเวทีวันนี้ พอทำให้ได้หายคิดถึงบ้านบ้าง
ชาวปะโอหลายคน บันทึกภาพการแสดงบนเวทีเก็บไว้ เมื่อคิดถึงบ้านจะได้เปิดขึ้นมาดู พวกเขายังบอกว่า ตอนนี้มีกลุ่มชาติพันธุ์ปะโอ กว่า 1,000 คน ที่เข้ามาทำงานในเมืองหลวง หลากหลายอาชีพ ทั้งรับจ้างทั่วไปและทำงานก่อสร้าง เป็นฟันเฟืองเล็ก ๆ ขับเคลื่อนเมืองใหญ่
สาเหตุที่พวกเขาหลายคนต้องจากบ้านมาไกล เพราะปัญหาสำคัญ คือ พื้นที่ทำกินลดน้อยลง จากการประกาศเขตอุทยานทับซ้อนที่ดินทำกิน ขณะที่บางคนยังไม่มีบัตรประชาชน การเข้ามาทำงานก็เป็นไปอย่างยากลำบาก ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่าง ๆ โดยกลุ่มชาติพันธุ์ปะโอ ถือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่คนในสังคมไม่ค่อยรู้จัก การแสดงของเพื่อน ๆ ชาวปะโอครั้งนี้ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ เพื่อให้สังคมได้รู้จักกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มนี้ - ภาพโดย ณพงษ์ สีสด
‘อารยา กุลเลิศลักษมี’ หรือโคล่า ชาวปกาเกอะญอ จากบ้านจกปิ อ.แม่ระมาด จ.ตาก รีบวิดีโอคอลหาแม่ทันที เมื่อได้รับชมการแสดงดนตรีของกลุ่มชาติพันธุ์ เธอบอกว่า ดูแล้วคิดถึงแม่ คิดถึงครอบครัวชาวปกาเกอะญอที่จังหวัดตาก และอยากย้ำให้พ่อแม่ไม่ต้องเป็นห่วงตน ไม่ต้องกังวลว่าตนจะถูกบูลลี่จากภายนอก เพราะสังคมทุกวันนี้เปิดรับและความเข้าใจเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์มากขึ้น ไม่มองอคติเหมารวมว่าเป็นผู้ทำลายป่าเช่นในอดีต - ภาพโดย ณพงษ์ สีสด
การแสดงดนตรีของกลุ่มชาติพันธุ์ครั้งนี้ ก็เป็นอีกส่วนสำคัญที่สร้างความเข้าใจต่อสังคมมากขึ้น และดีใจที่มีกิจกรรมดี ๆ แบบนี้ ได้มาเจอเพื่อชาวปกาเกอะญอ และชาติพันธุ์ต่าง ๆ ทำให้หายคิดถึงบ้าน เพราะเธอต้องห่างบ้านมาร่ำเรียนในเมืองใหญ่ ซึ่งตอนนี้เธอเรียนอยู่ที่วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการภูมิสังคม จ.นครนายก
‘แก้ว บุญทอง’ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะ จากจังหวัดแม่ฮ่องสอน  เขาบอกว่ามาทำงานในสวนกล้วยไม้ และรับจ้างทั่วไปในเขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ มานานกว่า 20 ปี เขาต้องห่างบ้านมาทำงานในเมืองใหญ่ เพราะที่ดินทำกินถูกจำกัด ไม่สามารถทำไร่ในระบบเกษตรแบบดั้งเดิม ที่ปลูกพืชหมุนเวียนหลากหลายได้เช่นเดิม ตอนเข้ามาทำงานแรก ๆ ถูกเหยียด ดูถูกว่าไม่ใช่คนไทย แต่ทุกวันนี้สังคมมีความเข้าใจกลุ่มชาติพันธุ์มากขึ้น และดีใจที่มีการจัดกิจกรรมการแสดงดนตรีเช่นนี้ ที่กลุ่มชาติพันธุ์ได้มีเวทีสะท้อนตัวตน วิถีวัฒนธรรม และเรื่องราวต่าง ๆ ต่อสังคม
“ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ชาติพันธุ์ใด ก็จับมือล้อมวงเต้นรำด้วยกัน“ 
ช่วงหนึ่งที่สร้างความประทับใจ คือ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้ชมได้ประสานมือล้อมวงเต้นรำกันอย่างสนุกสนาน สะท้อนความเป็นหนึ่งเดียว ไม่มีกำแพงกั้นความแตกต่างของชาติพันธุ์ เป็นการหลอมรวมความหลากหลายที่เป็นหนึ่งเดียว อยู่ร่วมกันได้ด้วยการยอมรับและเข้าใจ

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์