เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ผ่านเมนูเด็ดรอบหัวลำโพง

เดินไป กินไป พร้อมเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของย่านเป็นกับแกล้ม ในวันที่สถานีหัวลำโพงปรับเปลี่ยนเส้นทางเดินรถ ผู้คนที่เคยเดินทางมาในย่านเริ่มห่างหาย การเดินสำรวจย่านครั้งนี้ เพื่อชวนดูว่ายังมีอะไรหลงเหลืออยู่บ้าง เพราะทั้งหมดนี้คือโอกาสที่หลายคนในทริปมองว่า อาจเป็นต้นทุนสร้างอนาคตใหม่ของหัวลำโพง ชวนดูจุดหมายสำคัญเผื่อใครอยากมาเดินตาม รับรองว่า เดินย่านหัวลำโพง ไม่หิวลำพังแน่นอน
เมื่อ 50 ปีก่อนหน้านี้ ในยุคที่การเดินทางโดยรถไฟเฟื่องฟู และสถานีหัวลำโพงเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญ มีการขนส่งสินค้ามากมายมาในบริเวณย่านนี้ ทั้งของกิน ของใช้ หรือแม้แต่หมูตัวเป็น ๆ ก็เดินทางโดยรถไฟเช่นเดียวกัน
คนรุ่นใหม่ในนาม กลุ่มริทัศน์บางกอก และ Goethe institute ชวนคนเมืองร่วมเดินสำรวจย่านในทริปหัวลำโพงไม่หิวลำพัง ตอน ล้อ-ราง-เรือ สู่ Hub อาหาร ด้วยมุมมองที่เห็นว่าย่านนี้มีศักยภาพในการพัฒนา ทั้งในแง่ของการมีพื้นที่สาธารณะ และร้านอาหารรสเด็ดมากมาย ติดตามกันต่อว่าเราจะไปที่ไหนกันบ้าง…
ร้านขนมหัวผักกาดของอาม่าวัย 71 ปี ที่ขายมานานกว่า 40 ปี ในซอยพระยาสิงหเสนี อาม่าเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนย่านนี้คึกคักมาก มีโรงงานตีเหล็ก แรงงานมากมายเป็นลูกค้าของอาม่า แม้วันนี้ทางรถไฟสายเก่า และสถานีกรุงเทพ จะเป็นเพียงตำนาน แต่ทุกคนยังไปชิมขนมหัวผักกาดกันได้ทุกวันจันทร์-เสาร์ เวลา 11.00-16.00 น. (อ้อ! หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมชื่อขนมหัวผักกาดแต่ไม่มีผักกาดเลย นั่นเพราะว่าคนจีนเรียกหัวไชเท้าว่าผักกาดนั่นเอง)
ภาพถ่ายบอกเราว่าในอดีต บริเวณที่ตรงนี้ (ทางขึ้นทางด่วนข้างหัวลำโพง) เป็นที่ตั้งของโรงแรมตุ้นกี่ สถานที่นัดพบของบุคคลสำคัญ ว่ากันว่าแกนนำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์มักมาประชุมลับกันที่นี่ สิ่งที่น่าสนใจคือในโรงแรมมีเมนูอาหารแปลกใหม่ (ในตอนนั้น) เช่น เนื้อสันในทอด สลัดปูทะเล แกงกะหรี่ และเฟรนช์ฟรายส์ จุดขายคืออยู่ใกล้สถานีรถไฟหัวลำโพง เดินทางสะดวกที่พักสบาย
ขนมปากริมไข่เต่าที่พ่อค้าหาบเร่ในพื้นที่ย่านหัวลำโพง เดินขายในทุกวัน กลายเป็นแรงบันดาลใจของร้านคาเฟ่ในย่าน ให้รังสรรค์เมนูใหม่โดยผสมผสานกับไอศกรีมมะพร้าว ด้วยความตั้งใจของร้านที่อยากให้วัฒนธรรมเดิมของพื้นที่ยังอยู่รับกับความต้องการใหม่ สตอรี่กินแบบรู้ที่มาอร่อยมากพอ ๆ กับรสชาติ และที่สำคัญหากินไม่ได้จากที่อื่นเลยเชียว!
ในอดีตที่นี่เคยเป็นโรงงานทำกระดาษห่อสำลี แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นร้านคาเฟ่น่ารัก ๆ ที่เปิดรับกิจกรรมหลากหลาย จึงคล้าย ๆ ว่าเป็น public space อยู่กลาย ๆ ความน่าสนใจสะท้อนผ่านสีผนังที่สดใส เพ้นท์ลายดอกลำโพง สื่อถึงความเป็นย่านหัวลำโพงนั่นเอง
ก๋วยจั๊บเด็ดต้องที่ตรอกโรงหมู ส่วนที่มาของชื่อตรอกนี้ เพราะเมื่อก่อนหมูจำนวนมากถูกขนส่งทางรถไฟ และต้อนมายังตรอกนี้เพื่อเข้าโรงฆ่าสัตว์ ก่อนจะถูกทำเป็นอาหาร ย้ำการเป็นจุดกระจายสินค้าในอดีต
ระหว่างเดินทางเราก็แวะเล่นเกมทายภาพกันเล็กน้อย ภาพไหนมาก่อนหรือมาหลัง ลองทายด้วยกันไหม… 
1. ภาพแผนที่บริเวณหัวลำโพง ปี พ.ศ. 2439
2. ภาพคลองผดุงกรุงเกษมจากบริเวณหน้าวัดมหาพฤฒาราม มุมนี้เห็นตึก 7 ชั้นที่เคยสูงสุดในพระนคร ปล่องควันโรงน้ำแข็งนายเลิศ และห้างนายเลิศ สมัย ร.6 สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2470
3. ภาพแผนที่บริเวณหัวลำโพง ปี พ.ศ. 2475
4. ภาพคลองผดุงกรุงเกษม ปี พ.ศ. 2503 บริเวณใกล้วัดมหาพฤฒาราม มีสะพานนี้จงสวัสดีอยู่กลางภาพ โดย Matthew Wigham U.K.
5. ภาพแม่ค้าขนมจีนและส้มตำริมคลองผดุงกรุงเกษม  บริเวณหน้าโรงแรมกรุงเกษมศรีกรุง ปี พ.ศ.2527 โดยช่างภาพชาวญี่ปุ่น Doi Kuro
6. ภาพโรงแรมตุ้นกี่ ตุลาคม ปี พ.ศ. 2535 โดยคุณ Kiatchai Anitta
7. ภาพคลองผดุงกรุงเกษม ปี 2565
หลังจากที่เดินไปกินไปมาตลอดทั้งวัน เรามานั่งกินมื้อสุดท้ายกับ chef’s table ที่ปรุงเมนูจากธีมการเดินทางโดยรถไฟ 
1. เมนู "สวัสดีบางกอก" Welcom drink ที่เป็นกาแฟ ได้แรงบันดาลใจจากเครื่องดื่มบนรถไฟโบราณ เป็นแบบไม่มีคาเฟอีน เพื่อคลายร้อนและกระตุ้นการอยากทานอาหาร
เมนูที่ 2 "จากบ้าน.. เข้ากรุง" เป็นคอร์สแรกเริ่มด้วยอาหารพลังงานล้นเหลือจากข้าวเหนียวกะทิย่างห่อมาในใบตอง เสริฟพร้อมน่องเป็ดกงฟี (ตุ๋นในเนย) และซอสเลมอนบ๊วยสูตรพิเศษ 
เมนูที่ 2 "บุกกรุง!" อาหารว่างทานง่าย ๆ สำหรับการใช้ชีวิตในเมืองกรุง สำหรับคอร์สนี้เราเสิร์ฟมาในปิ่นโตเถาเล็กพร้อมกับเมนูทานเล่นทั้ง 3 อย่าง คือ ข้าวแคบห่อเส้นผัดกุ้งแห้ง (สุโขทัย) ไส้อั่วโฮมเมด (ลำพูน) และ ทาร์ตน้ำพริกอ่อง (ลำปาง)
เมนูสุดท้าย "จากกรุง.. กลับบ้าน" จากแนวคิดว่า เมื่อชีวิตที่วุ่นวายในเมืองกรุงถึงจุดพอดี การกลับบ้านพร้อมของติดไม้ติดมือน่าจะอบอุ่นใจสำหรับคนที่บ้านเช่นกัน จึงนำเสนอเมนู ขนมเปี๊ยะ สูตรโฮมเมดที่ได้จากชุมชนชาวจีนย่านเยาวราชใกล้ ๆ นี่เอง
บรรยากาศในร้าน recordoffee กับ เชฟตั้ม กิตติศักดิ์ เฮงพระพรหม  เจ้าของเมนูพิเศษ ที่พาเราเดินทางผ่านอาหารประกอบกับเสียงเพลงขับกล่อมจากแผ่นเสียงเก่า ของพี่บุ๊ค อลงกต เอื้อไพบูลย์ ซึ่งเพลงหนึ่งที่โดนใจหลายคนเป็นพิเศษ คือ เพลงมนต์ไทรโยค

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้