รอยยิ้ม-ภาพถ่าย…ยาใจคนจร

“เสียงของพวกเขาไม่เคยมีใครได้ยิน พวกเขาเรียกตัวเองว่า ’ผี’ แต่เราอยากทำให้รู้ว่า เขาก็เป็นมนุษย์เหมือนเราทุกคน”

เป็นความตั้งใจของ “ธำรงรัตน์ บุญประยูร” อดีตช่างภาพสตูดิโอแฟชั่น ที่ผันตัวเองมาสู่ “สตูดิโอข้างถนน” ริมตรอกสาเก กับ เหล่านางแบบ-นายแบบ “คนไร้บ้าน”

เพียงเพราะอยากให้ทุกคนมองเห็นความงดงามของคนตัวเล็ก ๆ ผ่าน “รอยยิ้ม” โปรเจกต์ “Real Life Real Image” คืนตัวตนให้คนไร้บ้านอีกครั้งผ่านภาพถ่าย จึงเกิดขึ้น

The Active ชวนย้อนดูภารกิจช่างภาพอิสระ ที่ใช้ “ภาพถ่าย” ช่วยเยียวยาใจ คืนคุณค่าในตัวตน คืนความสุขเล็ก ๆ ให้กับใครบางคน ที่ทั้งชีวิตแทบไม่เคยได้รับมาก่อน

แม้ของขวัญชิ้นนี้ ไม่ใช่อาหาร เสื้อผ้า หรือปัจจัยดำรงชีวิต แต่ "ภาพถ่าย" กลับเป็นเหมือนยาใจให้คนไร้บ้าน เพราะแท้จริงแล้ว พวกเขาทุกคนมีสิทธิที่จะมีเสียงหัวเราะ มีรอยยิ้ม และมีความสุขได้ไม่ต่างจากคนอื่น ๆ


“ธำรงรัตน์ บุญประยูร” ช่างภาพอิสระ วัย 65 ปี เตรียมตัวลงพื้นถ่ายรูปย่านตรอกสาเก ถิ่นรวมตัวของ “คนไร้บ้าน” กับ โปรเจกต์ “Real Life Real Image”
เมื่อถึงเวลานัดหมาย เขา พร้อมด้วยผู้ช่วย ขนย้ายอุปกรณ์ถ่ายภาพ เพื่อติดตั้ง “สตูดิโอเคลื่อนที่”  ทั้งคู่มาถึงริมคลองหลอด ตรอกสาเก ก่อนเวลานัดหมาย 2 ชั่วโมง เพื่อเตรียมสถานที่ และรอการมาถึงของกลุ่มคนไร้บ้าน
“สตูดิโอเคลื่อนที่” ถูกติดตั้งและทดสอบระบบ พร้อมแล้วสำหรับการสร้างเรื่องราวดี ๆ ให้กับคนไร้บ้าน
“ป๊อป - สุวรรณ วนวัฒนาวงศ์” คือ ผู้ช่วยคนสำคัญ ที่นั่งทำงานของตัวเองในมุมเล็ก ๆ เงียบ ๆ จนแทบไม่มีใครสังเกตเห็น  บางครั้งเราจะเห็นเขาจะออกมาขยับไฟหรือยกรีเฟล็กซ์บ้าง ตามสถานการณ์แล้วก็หลบจากฉากไป แต่เมื่อมองหาความช่วยเหลือครั้งใด จะเห็นเขานั่งอยู่เคียงข้างเสมอ  ธำรงรัตน์ พูดถึงป๊อปอย่างตรงไปตรงมาว่า “เขาคือคนที่ทำให้ผมทำงานได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง ทุกครั้งที่มีปัญหา ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ผมเชื่อว่าจะผ่านไปได้เสมอ เพราะมีคนสำคัญอย่างป๊อปอยู่ข้าง ๆ”
ที่ริมกำแพงบริเวณตรอกสาเก สตูดิโอเคลื่อนที่พร้อมแล้ว แต่อากาศที่ร้อนก็ทำให้กลิ่นไม่พึงประสงค์ข้างกำแพงโชยหนักขึ้น  “ผมคุ้นเคยกับมันแล้ว กลิ่นนี้มันเป็นส่วนหนึ่งของเราทุกคนนั่นแหละ เราก็มี เขาก็มี เขาก็คนเหมือนกับเรานี่แหละ” ธำรงรัตน์ โชว์ความเป็นมืออาชีพ
นางแบบคนแรกที่ให้ช่างภาพอิสระได้ลั่นชัตเตอร์ คือ ‘ทาทา - ศิริ นิลพฤกษ์’ นักสิทธิมนุษยชน และนักเคลื่อนไหวด้านความเท่าเทียมทางเพศ วันนี้เธอมาช่วยเหลือ ดูแลคนไร้บ้านพร้อมกับมูลนิธิอิสรชน
“คุณยิ้มโคตรสวยเลย ไหนบอกยิ้มไม่เป็น พอยิ้มแล้ว คุณหน้าตาดีจะตาย..”  คำพูดเสียงดังฟังชัด ปนด้วยรอยยิ้มที่ช่างภาพ สื่อสารกับนายแบบมือใหม่
เสียงกดชัตเตอร์รัว ๆ จนกว่าจะได้โมเมนต์ที่งดงามที่สุดสำหรับนายแบบคนนี้  ภาพที่เผยให้เห็นแววตา และรอยยิ้มที่สดใส ก็ได้ถูกปรินท์ออกมาใส่กรอบ  นี่คือรอยยิ้ม ที่ตอกย้ำว่า พวกเขามีตัวตน และเป็นมนุษย์เหมือนเราทุกคน แม้จะจะอยู่ในสถานะคนไร้บ้านก็ตาม
“ปกติผมเป็นคนไม่ค่อยได้ยิ้ม เพราะชีวิตมีเรื่องเครียดหลายอย่าง แต่วันนี้ พี่เขาบอกให้ผมไม่ต้องคิดอะไรแล้ว แค่ยิ้มออกมา 
พอลองทำแล้ว มันรู้สึกดีเหมือนกันนะ”
“ผมคิดมาตลอดว่าเราเป็นคนตัวเล็ก ๆ ที่ไม่มีสิทธิออกเสียง แต่วันนี้เหมือนมีคนที่อยู่สูงกว่ามองเห็นค่าในตัวเรา มันทำให้ผมปลดล็อกอะไรบางอย่าง”  “จากนี้จะเก็บภาพใส่กระเป๋าไว้เลย ไปกิน ไปนอนที่ไหน ก็จะพกไปด้วยกันตลอด..” คนไร้บ้านคนนี้ บอกกับเราอย่างภาคภูมิใจ
“วันนี้รู้สึกเหมือนตัวเองเป็นนางแบบเลย ใฝ่ฝันอยากมีรูปสวย ๆ แบบนี้มาตั้งนานแล้ว เดี๋ยว จะเอาไปอวดให้น้อง ๆ คนไร้บ้านที่อยู่ด้วยกันได้ดู”
“ผมถ่ายรูปครั้งสุดท้ายก็เมื่อ 10 ปีที่แล้ว วันนี้เป็นวันแรกที่ผมได้อยู่ต่อหน้ากล้องแล้วยิ้มออกมาจริง ๆ ผมไม่เคยเห็นหน้าตาของตัวเองแบบนี้มาก่อน มันพิเศษสำหรับผมมาก”
สำหรับคนไร้บ้านบางคนแล้ว นี่อาจเป็นครั้งแรกที่พวกเขาได้มีรูปถ่ายเป็นของตัวเอง นอกเหนือจากรูปในบัตรประชาชน
ธำรงรัตน์ ย้ำว่า “เสียงของพวกเขาคือ เสียงที่ไม่เคยมีใครได้ยิน หรือ voice of no voice พวกเขาเรียกตัวเองว่า ผี แต่เราอยากทำให้เขารู้ว่าเขาคือคนเป็น ไม่ใช่คนตาย เขาเป็นมนุษย์เหมือนทุกคน”
ธำรงรัตน์ ย้ำว่า “เสียงของพวกเขาคือ เสียงที่ไม่เคยมีใครได้ยิน หรือ voice of no voice พวกเขาเรียกตัวเองว่า ผี แต่เราอยากทำให้เขารู้ว่าเขาคือคนเป็น ไม่ใช่คนตาย เขาเป็นมนุษย์เหมือนทุกคน”
“พวกคุณก็เป็นคน มีหน้าตาเหมือนทุกคนที่นี่ แต่ทำไมเราต้องถูกกดทับไว้แบบนี้ ผมจะทำให้รูปพวกนี้ยืนยันให้คนภายนอกเห็นว่า พวกคุณทุกคนก็ยิ้มได้ หัวเราะได้ และมีความสุขได้ไม่ต่างจากคนอื่น..” ช่างภาพอิสระ ทิ้งท้ายด้วยความมุ่งมั่น