“คนไร้บ้าน” ปลายทางปัญหาสังคม

กรุงเทพมหานคร เมืองที่มีรายได้มวลรวมมากที่สุด แต่ขณะเดียวกันก็มีคนไร้บ้านเยอะที่สุดในประเทศ

The Active ชวนสำรวจสภาพความเป็นอยู่ สาเหตุของการเป็นคนไร้บ้าน รู้จักภาวะเปราะบาง และแนวทางในการให้ความช่วยเหลือพวกเขา เพราะ "คนไร้บ้าน" ไม่ได้เกิดขึ้นจากปัญหาส่วนตัว แต่เป็นปลายทางปัญหาสังคม
'ทิวแถวธารน้ำใจ'
ทุกวันอังคาร ตรอกสาเก เขตพระนคร จะมีผู้คนทั่วไปและคนไร้บ้าน ราว ๆ 500 คน  มาต่อแถวรับของบริจาค  ทัั้ง อาหารพร้อมรับประทาน เสื้อใส่จำเป็นอย่างหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ โดยมูลนิธิอิสรชน  แม้ว่าจะเป็นการช่วยเหลือเฉพาะหน้า แต่ก็ถือเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นที่ต้องการของคนไร้บ้าน
'นักแสดงงิ้ว-ลิเกตกงาน'
ไม่ใช่คนไร้บ้านแต่อยู่ในกลุ่มเปราะบางเพราะมีปัญหาทางการเงินในครัวเรือนจากผลกระทบของโควิด-19  สองสามี-ภรรยา เล่าว่า บ้านที่อยู่ปัจจุบันเป็นเพิงไม้ เอียงกระเท่เร่ ใกล้จะพังไม่พังแหล่ แต่ไม่มีเงินพอจะซ่อมบ้าน หากทราบว่าที่ใดมีของแจกก็จะไปรับ เช่น การมารับอาหารและของใช้ในวันนี้
เธอบอกว่าวันนี้เอาชุดเก่าที่ไม่ได้ใส่มานานแล้วกลับใส่อีกครั้ง ทุกวันนี้เธอมีที่พักประจำ เป็นม้านั่งข้างคลองหลอด  ซึ่งถือหนึ่งในผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะเป็นทั้งที่ทำงาน พักผ่อน และอาศัย
'รถขนเงินของคนชราไร้บ้าน'
อายุ 86 ปีแล้ว แต่ยังต้องออกมาทำงานหาเงินเลี้ยงตัวเอง มีพาหนะประจำตัวคือรถเข็น เก็บขวด กระป๋อง และสิ่งของใด ๆ ที่คนทิ้งแล้วนำไปขายได้ ป้าน้อยบอกว่า เธอเดินไปเรื่อยๆ บริเวณถนนราชดำเนินใน สัก 2-3 วัน นำขยะไปขาย ได้ร้อยกว่าบาท แม้ลูกของเธอจะมีบ้าน แต่นานๆ ทีจะได้กลับไปหา
'ชราไร้บ้าน'
คนไร้บ้านช่วงวัยอื่น ๆ อาจมีแรงเดินไปได้ไกล ๆ พอหาโอกาสให้ตัวเองได้บ้าง แต่คนแก่ไม่มีเรี่ยวแรงจะทำอะไร  "คนชราไร้บ้านจึงเป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วง" อาสาสมัครเพื่อสังคมคนหนึ่งให้ความคิดเห็น  คนชราหลายคนถูกทอดทิ้งด้วยเหตุผลที่ว่า "ทางบ้านมีภาระเยอะเกินรับไหว"  สวัสดิการที่ทั่วถึง และระบบคัดกรองสุขภาพคนไร้บ้าน จึงเป็นข้อเสนอสำคัญสำหรับคนกลุ่มนี้
'คนเลี้ยงเป็ดไร่ทุ่ง'
บาดแผลที่เท้าของเขา ได้รับการดูแลจากอาสาสมัคร มูลนิธิอิสรชน สัปดาห์หนึ่งจะมาทำแผลสักครั้ง วันนี้เลยยิ้มอารมณ์ดี เพราะมีคนดูแล  เขาเล่าว่า แผลนี้เกิดขึ้นเพราะนายจ้างทำร้ายเขา โดยหลอกให้ไปเลี้ยงเป็ดไร่ทุ่ง แต่ให้ค่าแรงน้อยกว่าที่ตกลง ถูกใช้งานทั้งวัน เมื่อนั่งพักก็ถูกทำร้ายร่างกาย จึงหนีมาเป็นคนไร้บ้านเหมือนเดิม  แต่เนื่องจากบัตรประชาชนหายนานแล้ว จะไปทำงานก็ไม่มีใครรับ จะไปหาหมอก็ยังไม่ได้รับสิทธิรักษา โชคดีมีภาคประชาชนที่ทำงานด้านนี้ พอเป็นที่พึ่งได้บ้าง
'เตียงหญ้าใต้เพดานสีเขียว'
น่าจะเป็นที่พักพิงที่ผ่อนคลายที่สุดในพื้นที่เมือง ถ้าเทียบกับคอนกรีตทางเท้าทั่ว ๆ ไป การอยู่อาศัยในที่สาธารณะ โดยไม่ได้รับการดูแลด้านสุขภาวะ ย่อมมีผลต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต โดยเฉพาะการอยู่อาศัยในที่สาธารณะนาน ๆ ย่อมมีความเสี่ยงที่จะมีอาการป่วยทางสมองเพิ่มเติมด้วย ดังนั้นการช่วยเหลือคนไร้บ้านหน้าใหม่ให้ตั้งตัวและกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมได้ จึงเป็นเรื่องจำเป็น
'ในวันฝนพรำ' บรรยากาศวันฝนตกของคนไร้บ้าน ซึ่งอาศัยในที่สาธารณะ  ถือเป็นความยากลำบากที่เพิ่มเติมเข้ามา  โดยก่อนหน้านี้ กทม. จัดตั้ง "บ้านอิ่มใจ" แต่ก็ไม่พอรอบรับคนไร้บ้านใน กรุงเทพฯ ที่มีเกือบ 2,000 คน ทั้งในแง่ของสถานที่ บุคลากร และงบประมาณค่าใช้จ่าย ประกอบกับคนไร้บ้านจำนวนหนึ่งประสงค์ที่จะมีชีวิตอิสระ  ในแผนการช่วยเหลือที่มูลนิธิอิสรชนเสนอ คือการจัดตั้งจุด drop-in ให้ความช่วยเหลือ ตามที่คนไร้บ้านต้องการ และส่งเสริมให้มีสวัสดิการพื้นฐานตามที่ควรได้รับ
'นักเดินทางไร้จุดหมาย'
คงไม่มีใครคิดว่าสุดท้ายปลายทางต้องออกมาเร่ร่อนไร้บ้าน แต่ระหว่างการเดินทางของชีวิต ก็อาจมีเหตุให้จำเป็นต้องกลายเป็นคนที่อยู่ริมทาง  จากการเก็บข้อมูลของมูลนิธิอิสรชน ชี้ให้เห็นว่า บางคนมาจากต่างถิ่นฐานแต่ไม่มีเงินพอจะเช่าที่พักอยู่ จึงต้องอยู่ในที่สาธารณะชั่วคราว  บางคนมาจากต่างประเทศ แต่ถูกขโมยหรือโกงเงินจนไม่สารถกลับประเทศได้  หรือบางคนอาจเป็นแรงงานรับจ้างทั่วไป ต้องย้ายงานไปเรื่อย ๆ จึงอาศัยหลับนอนในที่สาธารณะ
เป็นที่รู้กันว่าแหล่งน้ำทั่วไปในเมือง เช่น คูคลองสายต่างๆ เปรียบเหมือน 'ห้องน้ำสาธารณะ' ของคนไร้บ้าน บางคนใช้อาบ ทำความสะอาดร่างกาย รวมไปถึงการขับถ่าย  เหมือนสมัยโบราณที่คนใช้ชีวิตอยู่ริมน้ำ เพียงแต่สถานการณ์ในวันนี้แตกต่างออกไป
'อาสาสมัคร มูลนิธิอิสรชน'
เป็นที่รู้จักในกลุ่มคนไร้บ้าน เพราะทำงานให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ รวมถึงเป็นเสมือนประชาสัมพันธ์ให้ผู้คนรู้จัก เข้าใจคนไร้บ้านมากขึ้น  เธอมีรายได้หลักมาจากทำงานอาสา เพียงพอในการเช่าห้องราคาถูก (พันบาทต่อเดือน) แต่พยายามทำงานหารายได้อย่างอื่นทั่วไป  เธอบอกว่า ตัวเองก็เปรียบเหมือนคนไร้บ้าน เพราะไม่มีที่พักเป็นหลักและมั่นคง สถานการณ์ทางการเงินก็สั่นคลอน ครอบครัวไม่มีทุนรอนจะสนับสนุนให้
'คณะทำงานด้านคนไร้บ้านตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร' 
ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการแต่งตั้ง โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แต่ปัจจุบันได้เดินหน้าทำงาน บูรณาการร่วมกันระหว่าง หน่วยงานรัฐ กทม. และภาคประชาสังคม  พวกเขาวางแผนเก็บข้อมูล เพื่อวิเคราะห์ปัญหา ที่มา ที่ไป ความต้องการของคนไร้บ้านทั้งรายบุคคลและในภาพรวม เพื่อวางแผนแก้ปัญหา ฟื้นฟู และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไร้บ้านให้ดีมากยิ่งขึ้น  ด้วยความหวังอยากจะคืนศักดิ์ศรีของคนไร้บ้าน และให้ทุกคนได้รับสวัสดิการของรัฐอย่างเท่าเทียม

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

วราพร อัมภารัตน์

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์