รายจ่ายครัวเรือน และเบี้ยชราของ สว. (สูงวัย)

คนทั่วไป เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ โอกาสเข้าถึงงานและรายได้ก็ลดน้อยลง แต่หากเป็นข้าราชการ นายทหาร ฯลฯ ยังมีเงินบำเหน็จบำนาญเอาไว้ใช้ยามเกษียณ หรือหากเป็นมนุษย์เงินเดือน อย่างน้อยก็มีเงินชดเชยหรือเงินกองทุนต่าง ๆ ตามสิทธิและสวัสดิการที่กำหนดไว้ในกฎหมายและระเบียบขององค์กรนั้น ๆ

หลังกระทรวงมหาดไทย ออกระเบียบใหม่ ปรับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของผู้มีสิทธิจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพ ที่จะต้อง “เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามที่กฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด” เป็นไปได้ว่า อนาคตผู้สูงอายุในประเทศไทยอาจต้องพิสูจน์ความจน เหมือนเมื่อครั้ง “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” หรือ “บัตรคนจน” ที่ได้ยินเสียง “คนจนจริง” จำนวนไม่น้อยที่ตกหล่นจากการพิสูจน์ “ความจน”

เมื่อผู้สูงวัย มีความเสี่ยงที่ช่องทางรายรับจะลดลง แต่รายจ่ายในครัวเรือนยังเท่าเดิมและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น The Active ชวนสำรวจค่าใช้จ่ายของผู้สูงอายุ 2 ครอบครัว ย่านคลองเตย กรุงเทพฯ กับความจำเป็นของเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบขั้นบันได ซึ่งเป็นสิทธิจากรัฐเพียงไม่กี่สิทธิที่พวกเขาได้
‘มาเรียม ป้อมดี’ อายุ 61 ปี และ ‘วันชัย ป้อมดี’ อายุ 62 ปี ปัจจุบัน ทั้งสองอาศัยอยู่ที่บ้านย่านคลองเตยร่วมกับลูกหลาน เมื่อถึงวัยเกษียณ สองสามีภรรยาจึงไม่มีงานประจำทำ แต่จำเป็นต้องหารายได้มาเพื่อใช้จ่ายในครอบครัว
รายได้แรก มาจากร้านชำเล็ก ๆ ที่ลูกเปิดให้ขายของในชุมชน ‘มาเรียม’ เล่าว่ารายได้ส่วนนี้ เมื่อหักต้นทุนแล้ว อยู่ที่เดือนละประมาณ 1,000 บาท
รายได้ที่ 2 มาจากการทำริบบิ้นใช้สำหรับทำพวงมาลัย รายได้ตกเดือนละประมาณ 1,300 บาท
รายได้ที่ 3 เบี้ยผู้สูงอายุและอื่น ๆ ซึ่งถือเป็นรายได้ประจำตามสิทธิของผู้สูงอายุ เมื่อรวมของเธอและสามี รายได้ส่วนนี้จะอยู่ที่เดือนละ 1,200 บาท  ส่วนรายได้อื่น ๆ คือ เงินจากลูก ๆ และการขายของเก่า เช่น ลังกระดาษ
เมื่อรวมรายได้ของเธอและสามีในแต่ละเดือน จะตกอยู่ที่ประมาณ 5,000 - 6,000 บาท ในจำนวนนี้ต้องจ่ายค่าน้ำประมาณ 1,000 บาท/เดือน และค่าไฟฟ้าประมาณ 3,000 บาท/เดือน ส่วนที่เหลือจะต้องแบ่งจ่ายค่ากับข้าว ‘มาเรียม’ เล่าว่าแต่ละเดือน เธอต้องแบกรับรายจ่ายมากกว่ารายรับ
‘เสาร์ พิมพิมาย’ อายุ 77 ปี ผู้สูงอายุอีกคนในชุมชน เล่าว่า เธอยังพอมีรายได้จากการเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) เดือนละ 1,000 บาท, จากค่าเฝ้าตู้ยาประจำชุมชนประมาณ 1,400/เดือน และเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ อีก 700 บาท  ซึ่งรายได้ 2 ส่วนแรกเป็นรายได้ที่ไม่มั่นคง เธอเล่าว่า ไม่รู้ว่าเมื่ออายุมากขึ้นแล้วเธอจะยังมีรายได้จากการทำงานส่วนนี้ได้ไหม เพราะสุดท้ายเธออาจจะต้องพึ่งเงินผู้สูงอายุจากรัฐ และอาจลำบากลูกหลานที่ต้องมาเลี้ยงดู
‘เสาร์ พิมพิมาย’ เล่าว่าแม้เงินจำนวน 700 บาท ที่ได้จากรัฐเป็นจำนวนที่ไม่ได้มากนัก แต่อย่างน้อยหากเธอไม่สามารถทำงานได้แล้ว ก็ยังพอให้ได้เอาไปจ่ายค่ากับข้าว ค่าน้ำ ค่าไฟได้บ้าง และเธอเชื่อว่าไม่ใช่แค่เธอที่จำเป็นต้องพึ่งเงินเบี้ยยังชีพส่วนนี้ แต่มีผู้สูงอายุหลายคนที่จำเป็นต้องใช้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกหลาน
หลังการออกระเบียบ หลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุฉบับใหม่ของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพ โดยมีข้อความระบุว่า “เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามที่กฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด” ผู้สูงอายุทั้ง 2 ครอบครัวเห็นตรงกันว่า อาจจะทำให้ผู้สูงอายุหลายคนไม่ได้รับเงินส่วนนี้ และมีความกังวลว่าการพิสูจน์คุณสมบัติที่เปลี่ยนใหม่จะซ้ำรอยบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่พบว่ามีคนจนจำนวนไม่น้อยตกหล่นจากการพิสูจน์ความจน และพวกเขาก็เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ตกหล่นในตอนนั้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

วราพร อัมภารัตน์