ปิดฉาก 66 วันการปักหลักต่อสู้ ของ #ม็อบชาวนา เริ่มต้นเส้นทางเกษตรกรปลอดหนี้

กว่า 2 เดือนกับการที่กลุ่มเกษตรกรมาปักหลักรวมตัวหน้ากระทรวงการคลังเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาหนี้สิน จนในที่สุดคณะรัฐมนตรีมีมติ ให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ช่วยเหลือเกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ธนาคารของรัฐ ทั้ง 4 แห่ง ที่เป็นหนี้ NPLs เพื่อรักษาที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัย ตลอดจนได้พักเรื่องหนี้สินและฟื้นฟูตนเองได้ ก่อน “ที่ดินทำกิน” และ “ที่อาศัย” ของพวกเขาจะถูกยึดและส่งผลต่อความสามารถในการใช้หนี้ เป็นวงจรไม่สิ้นสุด ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ที่ผ่านมา เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย มีการนัดประชุมทำความเข้าใจกับม็อบชาวนาอีกครั้ง ก่อนที่จะมีการยุติการชุมนุม พร้อมทำข้อตกลงการเข้าสู่ขบวนการแกไขปัญหาหนี้สิน รวมถึงการฟื้นฟูอาชีพหลังจากนี้ต่อไป 
ภายหลัง ครม.มีมติเห็นชอบโครงการแก้หนี้สินชาวนา ล็อตแรก กว่า 50,000 รายชื่อ  และทางเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย ประชุมทำความเข้าใจกับกลุ่มเกษตรกรถึงการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู เป็นที่เรียบร้อย จากนั้นทั้งหมดจึงเริ่มทยอยเก็บของ พร้อมทำความสะอาดพื้นที่เพื่อเตรียมเดินทางกลับบ้าน
เกษตรกรทยอยแบกถุงที่บรรจุเสื่อปูนอน หมอน มุ้ง ขึ้นรถเพื่อเตรียมขนกลับบ้าน หลังจากปักหลักชุมนุมอยู่บริเวณหน้ากระทรวงการคลังมานานกว่า 2  เดือน  ซึ่งตลอดการปักหลักที่นี่ เครื่องนอนถือเป็นอุปกรณ์ ที่สำคัญมาก​โดยเฉพาะมุ้งที่กันแมลงและยุง และเสื่อที่ปูเพื่อลดแรงกดของร่างกายกับพื้นแข็ง ๆ แม้จะลำบากแต่พวกเขาก็ต้องอยู่สู้ จนได้มาซึ่ง มติ ครม.ที่แก้ไขปัญหาให้ชาวนา
ชาวบ้านแต่ละจังหวัดรวมกลุ่ม เพื่อทำเอกสารแจ้งความประสงค์เข้าร่วมกระบวนการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร  เนื่องการจะเข้าสู่โครงการแก้หนี้จำเป็นจะต้องแจ้งความจำนงเพื่อทำความเข้าใจกับเงื่อนไขของกองทุนฟื้นฟูฯ และทำข้อตกลงกันระหว่างตัวเกษตรกรทุกคนที่ได้สิทธิ  ทั้งเรื่อง หนี้ และ กระบวนการฟื้นฟูอาชีพ ​
“ครั้งนี้ถือว่าเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่มากที่เราสามารถจัดการหนี้ก้อนใหญ่ได้ถึง 320,000 ราย จะไปอย่างไรต่อ ผมว่าเมื่อเกิดการจัดการได้และมีประสิทธิภาพสะท้อนชัดเจนว่าสามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน การแก้ปัญหาหนี้ในอนาคตของเกษตรกรไทยก็จะเดินไปตามแนวทางนี้”
ชรินทร์ ดวงดารา ที่ปรึกษาเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย
“ไม่มีใครอยากอยู่ต่อหรอก มีแต่คนอยากกลับไปทำอาชีพที่บ้าน มีความหวังกับ มติ ครม.ครั้งนี้จริงๆ ว่าเขาจะช่วยเราได้  ...ท้ายที่สุดแล้วไม่มีใครอยากจะต้องจากบ้านเกิดเมืองนอน มาอยู่ในที่ ๆ ไม่คุ้นเคยเช่นนี้ แต่ด้วยความจำเป็นที่ผลักให้พวกเขาจำนน"
หม้อหุงข้าว กระติกน้ำ ถูกขนเก็บขึ้นบนรถ หลังจากถูกใช้งานที่หน้ากระทรวงการคลัง ตลอด 2 เดือน ถือเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ชาวนาแต่ละกลุ่มต้องนำมาจากบ้าน ที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการกินอยู่ที่ต้องปักหลักชุมนุมโดยไม่รู้ว่าจะต้องยุติเมื่อไหร่
ชาวนาเริ่มทะยอยเดินทางกลับบ้าน​ซึ่งแต่ละคน แต่ละเครือข่ายมาจากทุกสารทิศ ​ซึ่งเป็นการเดินทางมาด้วยตัวเอง​ ต้องควักกระเป๋าจ่ายค่าเดินทาง บางคนอาจช่วยกันหารค่ารถทั้งรถกระบะ รถตู้ ไปจนถึงรถโดยสาร  ทั้งหมดล้วนแต่เป็นค่าใช้จ่ายที่ เกษตรกรนักสู้ทั้งหลายต้องจ่าย

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ