รักษา-หมุนเวียน-ยั่งยืน วิถีชุมชน ‘คนอยู่กับป่า’

“เราไม่ได้คุ้มครองเพราะเราอยากให้เขาอยู่เหนือกว่าคนอื่น แต่จะคุ้มครองเพราะว่าสิทธิอันพึงมีพึงได้ไม่เท่ากับคนทั่วไป เพราะฉะนั้นการคุ้มครอง ก็เพื่อเติมเต็มช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางสิทธิตรงนี้”

นั่นคงเป็นเหตุผลทำให้ ชุมชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ บ้านแม่ปอคี อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ได้รับการยกระดับสถาปนาเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ แห่งที่ 22 ซึ่งชุมชนแห่งนี้ ได้ยืนยันตัวตน สะท้อนผ่านศักยภาพที่มี ด้วยวิถีภูมิปัญหาการจัดการพื้นที่ชุมชนอยู่ร่วมกับป่า

ภายใต้พื้นที่ชุมชนทั้งหมด 8,386 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ป่า 3,997.83 ไร่ และพื้นที่ใช้ประโยชน์ 4,388.17 ไร่ โดยแบ่งโซน เพื่อกำกับและควบคุม ภายใต้ธรรมนูญชุมชน บนฐานของภูมิปัญญการจัดการทรัพยากร

วิธีการเหล่านี้นำมาซึ่งการมีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่กลายมาเป็นต้นทุนสำคัญให้กับเยาวชนกลุ่มชอเดอ มีโอกาสต่อยอดและสร้างแบรนด์ที่อยู่บนฐานทรัพยากรชุมชน


เดลอ “จี้เหย่ปู่” แปลว่า เดลอหนีญี่ปุ่น เป็นพื้นที่ตั้งหมู่บ้านปัจจุบันซึ่งเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ พื้นที่อยู่อาศัย และโรงเรียน มีพื้นที่ทั้งหมด 149.78 ไร่ ขณะที่พื้นที่ของสำนักสงฆ์ คือ 29.80 ไร่
พื้นที่ป่าในชุมชนบ้านแม่ปอคี แบ่งออกเป็นป่า 4 ประเภท คือ พื้นที่ป่าตามความเชื่อ, ป่าอนุรักษ์ ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำ, ป่าใช้ประโยชน์ - ป่าชุมชน, พื้นที่ป่าตามโครงการของรัฐ  "น้ำตกแม่ปอคี" คือหนึ่งในพื้นที่ป่าความเชื่อ หรือพื้นที่จิตวิญญาณที่ประกอบพิธีกรรมขอพร ขอขมา รวมถึงการทำนายอนาคตชุมชน
มองชุมชนผ่าน "ไร่หมุนเวียน" เห็นพื้นที่โดนรอบเป็นพื้นที่ไร่เหล่า ที่กำลังพักฟื้น
ไร่เหล่า “โป๊ะรอเด” เพาะปลูกข้าวไร่เมื่อ ปี พ.ศ. 2564 มีพื้นที่จำนวน 807.90 ไร่ ซึ่งปัจจุบันเป็นไร่เหล่าปีที่ 3 ไร่เหล่า “ก่าหลู่” เพาะปลูกข้าวไร่เมื่อ ปี พ.ศ. 2566 มีพื้นที่จำนวน 592.20 ไร่ เป็นไร่เหล่าปีที่ 1 เก็บเกี่ยวเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา
ไร่หมุนเวียนปี 2567 (ปัจจุบัน) ชื่อพื้นที่ “อูยะเด” พื้นที่จำนวน 784.60 ไร่
ชาวบ้านกำลังนั่งพัก หลังจากเตรียมพื้นที่ในไร่หมุนเวียน ขณะที่ในช่วงฤดูฝน ต้นข้าวเริ่มโต ส่วนตอไม้ที่ถูกฟันก็งอกงามไปพร้อมกัน การทำไร่หมุนเวียนเป็นระบบภูมิปัญญาที่ออกแบบจากกลไกของธรรมชาติ ดังนั้นต้นไม้จะไม่ตายและงอกขึ้นมาใหม่ พร้อมกับผลผลิตข้าวไร่ที่หล่อเลี้ยงวิถีผู้คนบนภูเขา
ชาวบ้านมักจะเก็บพืชผักในไร่หมุนเวียน กลับไปทำอาหารเย็น เนื่องจากไร่หมุนเวียนมีพืชอาหารมากกว่า 50 ชนิด แต่ละชนิดโตช้าเร็วไม่เท่ากัน ดังนั้นจึงมีพืชผักที่สามารถเก็บกินได้ตลอดการทำไร่หมุนเวียน
"น่อเก่อหว่อ" หรือ "ผักอีหลึง" ธิดาชูรสแห่งไร่หมุนเวียน เครื่องปรุงรสที่ให้ความหอมละมุนสร้างความหอม และอร่อยเมื่ออยู่ในเมนูอาหาร จำพวก ต้ม แกง โดยเฉพาะแกงไก่ใส่ฟักทอง
ข้าวที่ตากแห้งไว้ เพื่อเตรียมเก็บไว้ในยุ้งฉาง เมื่อต้องการกินจึงนำออกมาตำเปลือกด้วยครกกระเดื่อง ซึ่งวิธีการนี้สามารถเก็บข้าวได้นานมากกว่า 3 ปี โดยข้าวไร่ ถั่ว งาขาว งาดำ คือผลิตผลส่วนสำคัญ เป็นความหลากหลายของธัญพืชบนผืนดินไร่หมุนเวียน นำไปสู่การเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารของชุมชน
ผลิตภัณฑ์ภายใต้ "แบรนด์ชอเดอ" ทั้งหมดนี้มีแหล่งวัตถุดิบที่มาจากไร่หมุนเวียน
"น้ำพริก" ได้วัตถุดิบที่มาจากไร่หมุนเวียน 
โดยน้ำพริกมี 2 แบบคือ "น้ำพริกตาดํา" และ "น้ำพริกข่า" หรือ ตะไคร้
การจัดการพื้นที่เพื่ออยู่ ดูแล รักษา และใช้ประโยชน์อย่างเกื้อกูลของชุมชน "บ้านแม่ปอคี" ด้วยกฏธรรมนูญชุมชน เป็นแนวทางปฏิบัติในการอยู่ร่วมกันและสร้างความเข้าใจต่อหน่วยงานรัฐว่า ชุมชนแห่งนี้สามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างเป็นรูปธรรม

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทินภัทร ภัทรเกียรติทวี

นักสื่อสารชาวปกาเกอะญอ เพจ โพควา โปรดักชั่น สนใจประเด็น ปรัชญาวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ มุ่งหวังสู่ สร้างกระบวนทัศน์ใหม่ทางชาติพันธุ์