เยาวรุ่น ทัวร์มหานคร สัมผัสปัญหาเมือง

"ออกไปเดินเท้า ขึ้นรถ ลงเรือ พูดคุยกับผู้คนระหว่างทางตลอดเส้นทางร่วมกัน...เพื่อให้ทุกสัมผัสที่เกิดขึ้น ประสบการณ์ร่วมที่จะเกิดขึ้น นำเราทุกคน ไปสู่การมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนเมืองแห่งนี้ ด้วยข้อเสนอเชิงนโยบายที่เราจะร่วมกันเป็นเจ้าของ”

'อินทิรา วิทยสมบูรณ์' ผู้รับผิดชอบโครงการสาธารณะศึกษา หรือ Feel Trip ผู้เชื่อว่า การเดิน คือ เครื่องมือหนึ่งของการเห็นและเปลี่ยนเมืองได้ เล่าถึงภาพรวมของการเดินในครั้งนี้ว่า สะท้อนถึงปัญหาของเมือง ที่ซุกซ่อนปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยตั้งคำถามถึงคำว่า การมีส่วนร่วมของเมือง อยู่ตรงไหนในพื้นที่ความเจริญของเมืองหลวงบ้าง โดยพวกเขาจะนำข้อเสนอทั้งหมดนี้ส่งตรงถึงเวทีการมีส่วนร่วม หวังให้เสียงสะท้อนของเด็กและเยาวชน เป็นพลังสำคัญของการเปลี่ยนเมืองใหญ่

The Active รวบรวมบรรยากาศการเดินเมืองครั้งนี้มาฝากกัน
เยาวชน คนรุ่นใหม่ และบางคน คือ New Voter ใช้เวลาช่วงวันหยุด ออกเดินทางสำรวจปัญหาเมืองก่อนถึงวันเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม.
'ตังเม' สาวน้อยจากเครือข่ายบางกอกนี้...ดีจัง มาร่วมเดินทางหาคำตอบด้วยว่า 350 บาท ต่อ 1 วัน จะเพียงพอต่อการใช้ชีวิต และราคาข้าวของที่แพงขึ้นในยุคเศรษฐกิจแบบนี้หรือไม่
350 บาท เท่ากับค่าแรงขั้นต่ำ มีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ การมองปัญหาเชิงโครงสร้าง และมองความเป็นไปได้ของการใช้ค่าแรงว่าตอบโจทย์คนเมืองมากแค่ไหน
จุดเริ่มต้นแรกของการเดินทาง คือ "สถานีรถไฟหัวลำโพง" เพราะเป็นแหล่งรวมการเดินทางของผู้คนทุกเพศ ทุกวัย ก่อนจะกระจายตัวไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของเมือง
สถานีรถไฟ ใจกลางกรุงเทพฯ จุดนี้จุดเดียว กลับสะท้อนความเหลื่อมล้ำที่หลากหลายของเมืองได้หลายมิติ
ออกเดินทางตั้งแต่ 9.00-18.00 น. โดยตั้งใจจะให้เยาวชนได้ใช้เส้นทางกรุงเทพมหานครเป็นแหล่งเรียนรู้ แสดงออกถึงการมีส่วนร่วม ความเป็นเจ้าของ การสานความร่วมมือ การร่วมออกแบบเมือง และพัฒนาไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย
“ออกไปเดินเท้า ขึ้นรถลงเรือ พูดคุยกับผู้คนระหว่างทางตลอดเส้นทางร่วมกัน…เพื่อให้ทุกสัมผัสที่เกิดขึ้น ประสบการณ์ร่วมที่จะเกิดขึ้นนั้น นำเราทุกคนไปสู่การมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนเมืองแห่งนี้ ด้วยข้อเสนอเชิงนโยบายที่เราจะร่วมกันเป็นเจ้าของ”
การพัฒนาเมืองต้องอาศัยความหลากหลายของวัย เพื่อฟังเสียงสะท้อนคนต่าง Gen ช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. กลุ่ม Feel Trip และเครือข่ายเยาวชนคนรุ่นใหม่เปิดห้องทดลอง 350 รับสมัครประชาชนที่สนใจร่วมเดินทางเปิดประสบการณ์ดูปัญหาที่ซุกซ่อนอยู่ในเมือง
การเดินทางครั้งนี้จะแบ่งเป็น 2 เส้นทางทั้งฝั่งพระนครฯ และฝั่งธนบุรี และวันนี้ The Active ได้มีโอกาสติดตามการเดินสำรวจเมืองของน้อง ๆ ไปที่ฝั่งพระนคร เริ่มตั้งแต่ หัวลำโพง-สามย่าน-บรรทัดทอง-สยาม และ Night Trail นานา เยาวราช
.
ส่วนอีกเส้นทาง คือ ฝั่งธนบุรี ตั้งแต่ คลองสาน–เจริญนคร–กรุงธนฯ– ตลาดพลู และ Night Trail สะพานพุทธ ปากคลองตลาด
หัวใจสำคัญไม่ได้อยู่ที่เป้าหมายของการเดินทางไปให้ถึงจุดหมายปลายทางเท่านั้น แต่คือปัญหาการพูดคุยร่วมกับชุมชน ระหว่างการเดินทาง หลังสิ้นสุดการเดินทาง
ห่างจาก "สถานีหัวลำโพง" เพียงไม่กี่กิโลเมตร ก็ถึงชุมชนวัดดวงแข ระหว่างทางเราสัมผัสได้ถึงความแออัดของเมือง แต่ขณะเดียวกันก็เห็นชุมชนพยายามสร้างศิลปะระหว่างการเดินทาง เช่น การวาดภาพบนผนังในชุมชน เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมเมือง-ลดความความเสี่ยงการก่ออาชญากรรมในชุมชน
ตลอดการเดินทาง สัมผัสได้ถึงความแออัด คู่ขนานไปกับ ความพยายามสร้างศิลปะในเมืองของคนในชุมชนเอง
'อินทิรา วิทยสมบูรณ์' ผู้รับผิดชอบโครงการสาธารณะศึกษา หรือ Feel Trip (โครงการเปลี่ยนวัฒนธรรมการเรียนรู้) ผู้เชื่อว่า การเดิน คือ เครื่องมือหนึ่งของการเห็นและเปลี่ยนเมืองได้ เล่าถึงภาพรวมของการเดินในครั้งนี้ว่า สะท้อนถึงปัญหาของเมือง ที่ซุกซ่อนปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยตั้งคำถามถึงคำว่า การมีส่วนร่วมของเมือง อยู่ตรงไหนในพื้นที่ความเจริญของเมืองหลวง
เส้นทางฝั่งพระนครฯ เริ่มต้นจาก สถานีหัวลำโพง-สามย่าน-บรรทัดทอง พบเจออุปสรรคการเดินทางที่ไม่เชื่อมต่อ เด็ก ๆ หลายคนเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทาง และสะท้อนว่าการเดินเมืองครั้งนี้ ไม่ตอบโจทย์ชีวิตคนสูงวัยเรียกว่า "สะดวก" แต่ยัง "ไม่สบาย"
ทดลองเดินทางด้วยรถเมล์
นอกจากนี้ยังพบเจอปัญหาสำคัญที่ซ่อนอยู่ในเมืองหลายมิติ ทั้งปัญหาผังเมืองที่ไม่สอดคล้อง กับ เงื่อนไขการเติบโตของเมืองในมิติต่าง ๆ ทั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความแออัดของเมือง ขณะที่คนในเมืองก็มีกิจกรรมทางสังคมมากขึ้น ต้องการพื้นที่ใช้สอยเพิ่มมากขึ้น คุณภาพชีวิตที่ดีหลายอย่างจึงต้องแลกมาด้วย ค่าใช้จ่ายที่แพง เช่น การเข้าถึงศูนย์การค้า พื้นที่สาธารณะ ฯลฯ
เราเดินทางมาถึง 'ชุมชนนางเลิ้ง' ผู้นำชุมชนเล่าว่า "นางเลิ้ง" มาจากคำว่า "อีเลิ้ง" ซึ่งหมายถึงตุ่มน้ำชนิดหนึ่งของมอญ เป็นตลาดแห่งแรกของประเทศไทย ในสมัยก่อนชาวบางกอกนิยมเดินทางเฉพาะทางน้ำ จึงยังไม่มีตลาดบกเป็นหลักแหล่ง แต่ล่าสุดการพัฒนาของเมืองที่รุกคืบเข้ามาในชุมชนกำลังทำลายความมั่นคงของที่อยู่อาศัย และสถานที่โบราณในชุมชนแห่งนี้
ทริปนี้จบลงด้วยความรู้สึกท้าทาย ที่ต้องการตั้งคำถามกับปัญหาที่หลากหลายของเมือง กับโจทย์ยากของฝ่ายการเมือง ที่ต้องพัฒนาเมืองไปในทิศทางที่เหมาะสมกับความต้องการของภาคประชาชนทุกกลุ่ม
หากต้องการพัฒนากรุงเทพฯ สู่การเติบโตอย่างเข้มแข็ง ทิศทางการพัฒนาจำเป็นต้องเปิดพื้นที่ให้ คนกรุงเทพฯ และคนต่างจังหวัดที่มีชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ ร่วมกันกำหนดหน้าตาของเมืองแห่งนี้อย่างมีส่วนร่วม บนความเข้าใจปัญหาของคนทุกกลุ่ม และชุมชน

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน