10 ปี บิลลี่ ‘สูญหาย’ เจตนารมณ์ไม่ ‘สูญสิ้น’

17 เมษายน 2567 เราได้เดินทางมาที่ “บ้านบางกลอย” ร่วมงานรำลึก 10 ปี ที่บิลลี่หายตัวไป ที่ด่านมะเร็ว อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี

ตลอด 10 ปีที่ 'บิลลี่' สูญหายไป ไม่ได้ทำให้เจตนารมณ์ของเขาสูญสิ้น ​เกิดการตื่นตัวของเครือข่ายชาติพันธุ์ ออกมาเรียกร้องสิทธิ และนำไปสู่การเรียกร้องจนออกเป็นกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและป้องกันบุคคลสูญหายซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว
17 เมษายน 2567 เราได้เดินทางมาที่ “บ้านบางกลอย” ร่วมงานรำลึก 10 ปี ที่บิลลี่หายตัวไป ที่ด่านมะเร็ว อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี
ทันทีที่ข้ามสะพานเข้าสู่หมู่บ้าน เด็ก ๆ ที่นี่วิ่งกรูมาหาและยกมือไหว้ กล่าวทักทายด้วยภาษาไทย
ในหมู่บ้านมีร้านค้าเล็ก ๆ อยู่ราว 2 ร้าน ขายเครื่องดื่มดับร้อน ทั้งน้ำแข็งไส น้ำอัดลม ลูกชิ้นปิ้ง ลูกชิ้นทอด ขนมกรุบกรอบ รวมไปถึงพืชผัก เครื่องปรุงอาหาร ที่พอได้ขายให้คนในหมู่บ้าน  แม่ค้าบอกว่า “อาศัยติดรถที่เขาลงไปซื้อมาขาย เพราะระยะทางที่นี่ไปถึงตัวเมือง ค่อนข้างไกลใช้เวลาเดินทางเกือบ 3 ชั่วโมง”
“ปู่คออี้”
เสียงดังฟังชัดจากเด็กตัวเล็ก ๆ วัย 5 - 6 ขวบ ที่แข่งกันตอบชื่อตามภาพได้อย่างมั่นใจ เมื่อถามว่ารู้ไหมว่าคนนี้เป็นใคร  ที่ลานกลางหมู่บ้านได้จัดพื้นที่เป็นลานฉายหนังสั้นแบบ “หนังกลางแปลง” และจัดนิทรรศการเล่าเรื่อง “ใจแผ่นดิน” ที่อธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับกลุ่มชาติพันธุ์ชาว “ปกาเกอะญอ” บรรพบุรุษที่ถูกขับไล่ลงมาจากบางกลอยบน หรือ ใจแผ่นดิน
กิจกรรม 3 เมนูโปรด ของบิลลี่  อย่างแรกคือ “หมาก” ที่นำเสนอโดย “ชิลลี่” อภิสิทธิ์ เจริญสุข เพื่อนของบิลลี่ ที่บอกว่า ในทุกวันเวลาว่างจากงาน เขามักจะล้อมวงกินหมาก คล้าย ๆ กับ “สภากาแฟ” และพูดคุยเรื่องราวที่ชาวบ้านถูกกระทำ หารือทางออก และวันนี้เขาจึงอยากนำเมนูนี้มาให้ทุกคนได้ลิ้มรส
“ล้อมกองไฟ เผามัน” อีกเมนูที่เป็นหนึ่งในความทรงจำระหว่าง “ไก่” หรือ เกรียงไกร ชีช่วง ประธานสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ที่เคยได้มีช่วงเวลาหนึ่งกับบิลลี่ เขาบอกว่าปกติเวลาพบเจอกันจะคุยกับในห้องประชุม เจอแต่เรื่องราวเครียด ๆ หนัก ๆ แต่มีครั้งหนึ่งที่ได้ล้อมวงคุยรอบกองไฟแบบนี้ และเรื่องที่คุยก็เป็นเรื่องสนุกสนาน ผ่อนคลาย ได้เห็นอีกมุมของบิลลี่ ก็ได้เอากล้วย และมัน มาปิ้งกินกัน
น้ำพริกตาละวี ผักต้ม - แกงหน่อไม้
เมนูโปรดประจำตัวของบิลลี่ ที่วันนี้ “มึนอ” พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของบิลลี่ ทำมาให้ทุกคนกินเป็นกับข้าวมื้อเย็น
มึนอ บอกว่า น้ำพริกใส่ปลาดุกและปรุงด้วยกะปิปลา (กะปิที่ทำจากเนื้อปลา) มีรสชาติเผ็ดเค็มกินคู่กับผักต้ม ผักสด
ส่วนอีกเมนูคือ “แกงหน่อไม้” รสชาติออกเปรี้ยว คล้ายแกงใต้ “ถ้าพี่บิลลี่ทำรสชาติจะอร่อยเข้มข้นกว่านี้ เขาจะเอาหมูไปย่างก่อนด้วย วันนี้มึนอทำแบบง่าย ๆ เร็ว ๆ อาจจะไม่อร่อยเท่าฝีมือพี่บิลลี่” มึนอเล่า
เมื่อตักอาหารเรียบร้อยแล้ว มึนนอกับลูกสาว “น้องเบญ” ลูกสาวคนที่ 4 นั่งกินข้าวเย็นด้วยกัน
พิธีรำลึกวันนี้ ได้นำรูปของ บิลลี่ ปู่คออี้ และกิ๊ป ซึ่งทั้ง 3 คน เป็นตัวแทนของการต่อสู้เพื่อนสิทธิชาวบางกลอย
โดยให้ครอบครัวร่วมกล่าวรำลึก ยืนสงบนิ่ง และพรมน้ำ โดยในพิธีมีร้องเพลงปกาเกอะญอด้วย
หนังสั้นเรื่องเล่าบางกลอย
เป็นอีกกิจกรรมที่เด็ก ๆ และคนในชุมชน ให้ความสนใจอย่างมาก โดยหนังที่นำมาฉาย มี 3 เรื่อง คือ
1.เรื่อง ‘ วิถีชีวิต’ เป็นหนังที่บิลลี่ทำขึ้นมาเพื่อเล่าเรื่องราวการถูกขับลี่ลงมาจากใจแผ่นดิน และความเป็นธรรมที่เกิดขึ้น  2. เรื่อง ‘Billy the way of life’  3. เรื่อง ‘The purple Kingdom’ เดินเรื่องโดย มึนอ และลูก ๆ ที่สามีสูญหายไป
“โพเราะจี รักจงเจริญ” แม่ของบิลลี่ ออกมาร่วมงานรำลึกครั้งนี้ด้วย และนั่งดูหนังสั้นอยู่หน้าจอฉายหนัง ก่อนเดินหายไปที่หลังจอเพื่อกลับเข้าที่พัก ในมือมีกล่องความทรงจำ ที่ทีงานมอบให้เพื่อใส่ของที่บอกเล่าความทรงจำ
เช้าวันต่อมาเราเดินสำรวจรอบ ๆ หมู่บ้าน อาหารเช้าของคนที่นี่ เกือบทุกบ้าน คือ น้ำพริกตาละวี ผักต้ม  “นิรันดร์ พงษ์เทพ” ผู้ใหญ่บ้านบางกลอย เล่าให้ฟังว่า ทุกวันนี้ชีวิตคนที่นี่ไม่ได้ดีขึ้นกว่าก่อน ยังมีปัญหาที่ดินทำกินไม่เพียงพอ ปลูกพืชผลไม่ขึ้น น้ำ ไฟ ไม่ได้มีใช้อย่างพอเพียง แม้จะมีหลายโครงการเข้ามาก็ตาม บางคนก็กำลังโดยให้รื้อบ้านออก เพราะสร้างบนที่ดินสิทธิ์คนอื่น  แม่บ้านต้องอาศัยการปักทอผ้าเป็นรายได้ ส่วนผู้ชาย ต้องออกไปหางานรับจ้างใช้แรงงานทำข้างนอก
ดินไม่ดี ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น  “กล้วยขั้นบันได” บนแปลงสาธิตเกษตร ที่ชาวบ้านเรียกให้คล้องกับ “นาขั้นบันได” ที่เคยมีโครงการให้ชาวบ้านปลูกข้าว แต่ไม่ได้ผล  พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ตัวแทนชาวบางกลอย เล่าว่า โครงการแปลงเกษตรสาธิตนี้เริ่มเมื่อปี 2562 ปลูกพืชหลายชนิด ด้วยสภาพดินทราย หน้าดินเป็นขั้นบันได ทำให้ปลูกรอดเพียงอย่างเดียวคือกล้วย เพราะ “น้ำไม่เพียงพอ”
ปี 2566 โครงการสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์จากแม่น้ำเพชร เพื่อใช้ในการเกษตร แต่ ก็ต้องสลับกันใช้วันเว้นวันอยู่ดี
ส่วนแทงก์น้ำประปาหมู่บ้าน 20 แทงก์นี้ ใช้ทุกครัวเรือนที่ใช้ดื่ม ใช้กิน 
ชาวบ้านบอกว่า เป็นการสูบน้ำขึ้นมาจากแม่น้ำเพชร เพื่กระจายตามท่อ ตามบ้านเรือน บ้านไหนมีมิตเตอร์จะเก็บค่าน้ำหน่วยละ 5 บาท
บ้านไหนไม่มีจ่ายเดือนละ 50 บาท เพื่อเป็นค่าบำรุงรักษา  ซึ่งความน่าเป็นห่วงคือ ไม่มีระบบกรองน้ำ ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพเมื่อนำไปดื่ม
“พะตีนอแอะ มิมี” ลูกชายปู่คออี้ อาศัยอยู่ที่นี่เช่นกัน บ้านที่อาศัยหลังคาผุพัง ฝาทรุดโทรม เขาบอกว่า ไม่ซ่อม เพราะที่นี่ไม่ใช่บ้าน  ยังมีความหวังในใจว่าจะได้กลับขึ้นไปทำเกษตรที่ใจแผ่นดินเหมือนเดิม เพราะที่บ้านมาเขาพยายามปลูกข้าวรอบ ๆ บ้านหลังนี้ เพื่อที่จะ “รักษาพันธุ์ข้าวเอาไว้”
คดีที่ต้องรู้…  ก่อนเดินทางกลับ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้จับกลุ่มเสวนา เพื่อเล่าเรื่อง “คดี” เพื่อให้เด็ก ๆ และชาวบ้าน ได้รับรู้และเข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดในพื้นที่  คดีอาญา “อุ้มฆ่า” ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาจำคุก 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา นายชัยวัฒน์  ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ส่วนข้อหาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและการอำพราง ศาลยกฟ้องซึ่งอยู่ระหว่างการยื่นอุทธรณ์  ครอบครัวบิลลี่ ยื่นฟ้อง คดีแพ่ง เรียกค่าเสียหายกับกรมอุทยาน 26 ล้านบาท  คดีที่ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย 28 คน ถูกอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานแจ้งความ จากการที่ชาวบ้านต่อสู้เพื่อกลับขึ้นไปทำกินที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน เมื่อปี 2564  พร้อมกับย้ำจุดยืนข้อเรียกร้องสำคัญของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย 38 ครอบครัว คือ “อยากกลับบ้านใจแผ่นดิน” ที่มองว่าเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมและความมั่นคงในชีวิต

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรอุษา พรมอ๊อด

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

วราพร อัมภารัตน์