100 ปี ‘แท็กซี่ไทย’ คุณภาพชีวิต กับ คุณภาพบริการ

ในวันที่เดินทางมาถึง 100 ปี หากเทียบกับชีวิตคน ระบบขนส่งสาธารณะที่เรียกว่า “แท็กซี่” คงหมดอายุขัยไปนานแล้ว แต่สำหรับคนขับแท็กซี่ อาจจะเรียกได้ว่าพวกเขากำลังยื้อชีวิต ไม่ให้ล้มหายตายจากไปจากระบบขนส่งสาธารณะของไทย มีหลายความท้าทายที่พวกเขาต้องเผชิญ

แล้วพวกเขาจะยื้อชีวิตแท็กซี่ไปได้อีกนานแค่ไหน?

The Active ชวนค้นคำตอบ ไปกับ Photo Story 100 ปี Taxi ไทย คุณภาพชีวิต กับ คุณภาพบริการ

ภาพและเรื่อง โดย ณัฐพล พลารชุน
ครบ 100 ปีเต็ม นับตั้งแต่ประเทศไทย เริ่มมีรถแท็กซี่ให้บริการเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2466 เริ่มต้นจากรถแท็กซี่ 14 คัน คิดค่าโดยอัตราไมล์ละ 15 สตางค์ ปัจจุบัน ประเทศไทยมีแท็กซี่จดทะเบียนในระบบ มากกว่า 80,000 คัน แม้จะเป็นระบบขนส่งสาธารณะ ที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน แต่คนขับแท็กซี่กำลังเจอกับความท้าทาย ทั้งรูปแบบการเดินทางใหม่ ๆ และเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารได้ด้วยปลายนิ้ว การอยู่ในอาชีพนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป พวกเขาต้องเผชิญกับอะไร ในวันที่แท็กซี่ไทยเดินทางมาครบศตวรรษ
รูปแบบของแท็กซี่มิเตอร์ในปัจจุบัน เกิดขึ้นในปี 2535 ที่กฎหมายกำหนดให้รถแท็กซี่ที่จดทะเบียนใหม่ ต้องคิดราคาตามมิเตอร์ ซึ่งคงราคาเริ่มต้นไว้ที่ 35 บาท มาจนถึงทุกวันนี้ แม้ที่ผ่านมาจะมีการปรับอัตราค่าโดยสารมาแล้ว 5 ครั้ง แต่สำหรับคนขับแท็กซี่ ค่าโดยสารที่เพิ่มขึ้นยังไม่สะท้อนต้นทุนที่พวกเขาต้องจ่าย เพราะทันทีที่มีการปรับมิเตอร์ ค่าเช่าแท็กซี่ก็ปรับขึ้นตาม ค่าเชื้อเพลิงก็สูงขึ้น ยังไม่รวมค่าสินค้าอื่น ๆ ที่ขยับราคาแซงหน้าค่าโดยสารไปนานแล้ว
ค่าเชื้อเพลิง เป็นต้นทุนสำคัญของอาชีพแท็กซี่ โดยเฉลี่ยแต่ละวัน แท็กซี่ต้องเติมก๊าซวันละ 400-500 บาท ซึ่งราคาก๊าซก็มีแนวโน้มแต่จะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีภาระค่าเช่ารถ หรือค่างวดผ่อนในกรณีเช่าซื้อ วันละ 500-800 บาท แต่หากวันไหนที่รถเสีย ก็หมายถึงการสูญเสียโอกาสในการหารายได้ และยังอาจมีค่าใช้จ่ายในการซ่อมรถเป็นภาระที่เพิ่มขึ้นมา
"ต้องไปเติมแก๊ส" หรือ "แก๊สไม่พอ" ประโยคคลาสสิค ที่หลายคนเคยได้ยิน เมื่อโดนแท็กซี่ปฏิเสธ แต่สำหรับคนขับแท็กซี่หลายคัน นี่ไม่ใช่แค่ข้ออ้าง เพราะช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปั๊มแก๊สธรรมชาติ หรือ NGV จำนวนมากทยอยปิดตัวลง ทำให้แท็กซี่จำเป็นต้องคำนวณเส้นทางให้ดี และวิ่งหาปั๊มเติมแก๊สไกลมากขึ้น ซึ่งแต่ละครั้ง ก็ต้องเสียเวลาต่อคิวยาวเพื่อเติมแก๊ส
แหล่งอาหารราคาถูกข้างทาง คือที่ฝากท้องของบรรดาคนขับแท็กซี่ เพราะทั้งสะดวกและยังราคาประหยัด ช่วยให้พวกเขามีเรี่ยวแรงออกไปดิ้นรนหารายได้บนท้องถนนอีกครั้ง
หลังออกมาขับรถตั้งแต่เช้ามืด คนขับแท็กซี่หลายคนจอดงีบหลับเอาแรง เพราะวันนี้พวกเขายังจะต้องขับรถอีกหลายชั่วโมง เพื่อหารายได้ให้เพียงพอกับค่างวดรถ ค่าเชื้อเพลิง และค่ากินอยู่ในแต่ละวัน
ชุดยูนิฟอร์มสำหรับขับแท็กซี่ ครบทั้ง 7 วัน ถูกพับเก็บไว้ด้านหลังรถเป็นอย่างดี คนขับแท็กซี่หลายคนใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนท้องถนน มีรถเป็นดั่งบ้าน พวกเขาบางคนกลับบ้านเพียงอาทิตย์ละครั้ง
แม้จะอยู่ในอาชีพคนขับแท็กซี่มานาน 30 ปี แต่ ‘นพดล พิทักษา’ ตัดสินใจแล้วว่า เขาจะขับแท็กซี่เป็นปีสุดท้าย เพราะรถแท็กซี่ที่เขาขับจะครบอายุ 12 ปี ตามที่กฎหมายอนุญาต เมื่อรถก็เก่า กับคนขับที่เริ่มแก่ ก็ทำให้มาถึงจุดอิ่มตัวของอาชีพ
ร่างกายที่ร่วงโรยตามอายุ ทำให้ ‘ประเสริฐ เวียงยา’ ในวัย 64 ปี ไม่แข็งแรงเหมือนเมื่อ 25 ปีก่อน ตอนที่เขาเริ่มขับแท็กซี่ ทุกวันนี้ ประเสริฐ ต้องพกยารักษาโรค ทั้งความดัน ยาลดไขมัน ยาละลายลิ่มเลือด และยารักษาโรคเก๊า ติดรถไว้ตลอด แต่เขาก็ยังต้องขับรถวันละ 12 ชั่วโมง เพื่อหารายได้เป็นประจำ
ในช่วงกลางวัน ที่ไม่ค่อยมีผู้โดยสาร การขับรถตระเวนหาผู้โดยสารอาจเป็นทางเลือกที่ไม่คุ้มค่า แท็กซี่จำนวนมาก จึงมาอาศัยร่มเงาจากทางด่วน จอดพักรถอยู่ริมถนนกำแพงเพชร 2 จนเป็นแนวยาวตลอดสองข้างทาง  การพัฒนาของเทคโนโลยีและทางเลือกใหม่ ๆ ของระบบขนส่งสาธารณะ กำลังเป็นความท้าทายของรถแท็กซี่ในรูปแบบดั้งเดิม ผู้โดยสารหลายคนหันไปเรียกรถจากแอปพลิเคชันที่สะดวกสบายกว่า แม้คนขับแท็กซี่หลายคนจะปรับตัวใช้แอปพลิเคชัน เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงผู้โดยสาร แต่สำหรับคนขับแท็กซี่สูงอายุจำนวนไม่น้อย การใช้เทคโนโลยีก็ยังเป็นเรื่องยาก  แต่!!! ภาพของผู้โดยสาร ที่จำต้องเดินไปขึ้นรถแท็กซี่คันที่อยู่ถัดไปด้านหลัง เพราะโดนแท็กซี่คันหน้าปฏิเสธ ก็ยังเป็นเรื่องจริงที่ยังเกิดขึ้นเป็นประจำ แม้จะอยู่บนความท้าทายหลายด้าน ในวันที่อาชีพแท็กซี่เดินทางมาครบ 100 ปี ภาพจำในแง่ลบแบบนี้ก็อาจเป็นอุปสรรคสำคัญ ที่ทำให้มองไม่เห็นภาพเบื้องหลังที่คนขับแท็กซี่ต้องเผชิญ

Author

Alternative Text
AUTHOR

ณัฐพล พลารชุน