ผมโตมากับนายกฯ ชื่อ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” | ความรักแบบเด็ก ๆ ที่ตั้งต้นจาก Younger Movement

“เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน”

ห้วงเวลาที่บทกวีนิพนธ์เพื่อชีวิต ของ ‘วิสา คัญทัพ’ ดังกึกก้อง บนท้องถนนย่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่ประชาชนออกมาเคลื่อนไหวเมื่อ 14 ต.ค. 2563

อีกด้านหนึ่ง… มีเสียงเด็กนักเรียนวัยแตกหนุ่ม พุ่งผ่านลำโพงตัวน้อย จากมุมเล็ก ๆ ใต้ต้นไม้บนทางเท้าหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา กรุงเทพมหานคร ชวนคนนั้นคนนี้เสนอให้นายกรัฐมนตรี ฟังเสียงประชาชน

เขาชื่อ ‘เพชร’ เด็กวัย 16 ปี ที่ยังคงออกเดินทางไปกับม็อบในชื่อ ‘ราษฎร’ ตามถนนสายต่าง ๆ แทบทุกวัน ด้วยหวังว่าเสียงศรัทธาในประชาชน จะเป็นพลังให้คนรุ่นเขา มีโอกาสกำหนดอนาคตตัวเองแบบที่ไม่ถูกขังไว้กับอำนาจของรัฐบาล

เด็กนักเรียนที่เชื่อว่า “การเคลื่อนไหว” จะเป็นบันไดขั้นแรกของอนาคตที่ดีขึ้น

‘เพชร’ เล่าถึงเรื่องราวที่ทำให้เข้ามาร่วมผลักดันกับคนต่างวัยในกลุ่ม ‘ราษฎร’ ว่า

เขาเติบโตพร้อมกับการเข้ามาของนายกรัฐมนตรีชื่อ ‘พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ตอนนั้นเพิ่งจะ 10 ขวบ ดีใจสุด ๆ ที่ได้หยุดเรียนในวันที่ 22 พ.ค. 2557

“วันนั้นผมจำได้แม่น ตื่นขึ้นมาถามแม่ว่าทำไมวันนี้ไม่ปลุกผมไปโรงเรียน แม่บอกว่ารัฐบาลถูกรัฐประหาร ตอนนั้นยังไม่รู้เรื่องเลยว่ารัฐประหารคืออะไร แต่รู้สึกดีใจกับการหยุดเรียนวันนั้นมาก พอมาถึงตอนนี้ มันเป็นอะไรที่ค่อนข้างเลวร้ายมากกับการเข้ามาของนายกรัฐมนตรี”

เด็ก Gen-Z (Generation Z) แวดล้อมด้วยเทคโนโลยี ที่ความอยากรู้ หาคำตอบได้อย่างง่ายแค่ปลายนิ้ว แม้สำหรับ ‘เพชร’ ไม่ง่ายเกินไป แต่ก็ไม่ยากนักกับความสนใจเรื่องการเมือง

“ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งน่าชื่นชมนะครับในเด็กยุคใหม่ ที่กล้าออกมาพูดเรื่องการเมือง เพราะเขารู้สึกว่ามันกระทบกับเขาโดยตรง กระทบกับพ่อแม่ กับทุกคนด้วย แต่ก่อนผมรู้สึกว่า คำว่าการเมือง มันเป็นคำต้องห้ามเลยนะ แม้กระทั่งคนธรรมดาทั่วไป ชาวบ้าน ตาสีตาสา ทุกคนแทบไม่อยากพูดถึงการเมือง มันถูกทำให้มองเป็นเรื่องไกลตัว ยิ่งเด็กยิ่งแล้วใหญ่ เขามองว่าเด็กมีหน้าที่เรียน ต้องเรียนให้จบก่อนค่อยมาพูดถึงการเมือง ผมว่ามันไม่จริงเลย เด็กก็คือประชาชนคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเมืองด้วย นั่นคือระบบการศึกษา”

ร่วมชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 14 ต.ค. 2563

ตั้งใจ ≠ ประสบความสำเร็จ อนาคตมาจากสมการ “ตั้งใจ + ระบบคุณภาพ”

ทุกคนเสียภาษีตั้งแต่เกิดมา ย่อมมีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของผู้นำ ไม่ใช่เพียงแค่ ‘พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ เท่านั้น แต่ต้องคุยได้ตรง ๆ กับรัฐบาลทุกชุด ‘เพชร’ มองแบบนั้น

“ต่อให้ผมตั้งใจเรียนทุกวัน แต่สุดท้ายระบบมันยังแย่อยู่ มันไม่มีทางที่ชีวิตในอนาคตจะดีขึ้นได้เลย ดังนั้น เราต้องออกมาเรียกร้อง นั่นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด”

ย้อนยาวไปสมัยประถมศึกษา ‘เพชร’ อยู่กับตายายในชนบทเล็ก ๆ ทางภาคอีสาน ผ่านการศึกษามาหลายโรงเรียน ตั้งแต่โรงเรียนที่มีเด็ก 70 กว่าคน กับครู  4 คน เขาเรียกมันว่า โรงเรียนทุรกันดาร ไม่ใช่เพราะคนกระจิดริด แต่อุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการพัฒนาความเป็นมนุษย์ แทบจะไม่มีอะไรนอกจากกระดาน ก่อนที่ช่วง ม.1 จะได้เข้าเรียนในโรงเรียนประจำอำเภอที่มีคอมพิวเตอร์ มีเพื่อนร่วมห้องเหยียบ 40 คน ต่อมาได้ย้ายเข้าไปเรียนในตัวจังหวัด โลกของเด็กคนนี้ก็กว้างขึ้น จากโรงเรียนที่ก้าวหน้า ทั้งที่อยู่ห่างที่เดิมไม่กี่สิบกิโลเมตร

“มันแตกต่างกับโรงเรียนเดิมผมมาก เราแปลกใจ ไม่ได้รู้สึกอิจฉา แต่สงสัยว่าทำไมโรงเรียนที่เป็นแหล่งบ่มเพาะวิชาเหมือนกัน ถึงมีความไม่เหมือนกันเกิดขึ้น ตอนเด็กไม่ได้คิดอะไรมาก ได้แต่สงสัยว่าอาจเป็นเพราะว่าโรงเรียนนี้มีคนเรียนเยอะหรือเปล่า เราไม่ได้มองในเง่บริหารของกระทรวงศึกษาธิการเลย”

เมื่อ กระจายอำนาจ ยังเป็นแค่ตัวหนังสือ การยกระดับ คุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก ที่ใกล้ชิดเด็กและชุมชนที่สุด เลยยังเป็นนโยบายขายฝัน เพราะทุกวันนี้ การจัดสรรงบฯ กระทรวงศึกษาธิการ ยังนับเด็กรายหัว อาจจะถึงเวลาที่สังคมต้องเผื่อใจ ถ้าเด็กรุ่นนี้จะนัดกันลงถนน เพราะไม่อยากให้ที่เกิดเหตุ เป็นพื้นที่แห่งการต่อต้าน  

“มันชอบมีคำนี้ เรียนที่ไหนก็เหมือนกัน เป็นเหมือนคำปลอบใจ เราเรียนมาหลายโรงเรียน เราเห็นว่า ทุกโรงเรียนมันไม่เหมือนกันจริง ๆ ถ้าเปรียบเทียบโรงเรียนรัฐบาลกับเอกชนก็ต่างกันแล้ว เอกชนกับโรงเรียนเมืองนอกก็ต่างกันมาก รัฐมนตรีเขายังไม่ส่งลูกเรียนในระบบการศึกษาที่ตัวเองทำเลย ยิ่งเป็นสิ่งยืนยันให้เราออกมาขับเคลื่อนเรื่องการศึกษาให้มันเปลี่ยนแปลง”

ปฏิรูปการศึกษา เพื่อล้มล้างความเหลื่อมล้ำ

‘เพชร’ เป็นเด็กรุ่นหลังที่ประเทศใช้คำว่า ปฏิรูปการศึกษา จนติดปาก นับตั้งแต่พุทธศักราช 2540 แต่การกระจายอำนาจที่หลายฝ่ายหวังให้เป็นหัวใจการแก้ปัญหา ยังจับต้องได้ยากในเด็กรุ่นเขา กลิ่นไอความแตกต่างทางสังคมยังคงคละคลุ้ง จนน่าเบื่อหน่ายกับมัน ที่เด็กบ้านจนเท่านั้นจะคุยกันรู้เรื่อง

จบการศึกษาขั้นพื้นฐาน เขาขึ้นมาเรียนกรุงเทพฯ กับแม่ที่มารับจ้าง เพราะส่งเงินค่าหอพักกับค่าเดินทางให้ลูกอยู่ต่อโรงเรียนดังที่บ้านเกิดไม่ไหว และมันก็ทำให้เด็กคนนี้ได้ออกมาเป็นเด็กม็อบ ที่มีเพื่อนใหม่เยอะแยะ

“ผมเชื่อว่าถ้ากระทรวงศึกษาฯ เปิดโอกาสให้เด็กเข้าไปบริหารงานด้วยจะดีมาก เพราะว่าเด็กคือคนได้รับผลกระทระทบโดยตรง เป็นคนอยู่กับปัญหา ทำไมโรงเรียนที่จะเด่นดังต้องเป็นโรงเรียนในตัวเมือง ในจุดที่เป็นศูนย์กลางความเจริญ ทำไมโรงเรียนเล็ก ๆ ถึงไม่มีโอกาสเลยที่จะสู้เขาได้ นั่นแสดงว่าระบบการศึกษาไทยยังไม่มีการพัฒนาที่แท้จริง ถามว่าหวังเปลี่ยนแปลงการศึกษาอย่างเดียวไหม คำตอบคือไม่ใช่ อยากให้เปลี่ยนทั้งระบบ แต่สิ่งที่อยู่ใกล้ตัวที่สุดคือระบบการศึกษา แต่จริง ๆ อย่างอื่นก็ใกล้ การเดินทาง ที่อยู่อาศัย เกี่ยวข้องกันหมด”

คนอาจคิดว่า ‘เพชร’ เป็นเด็กหัวแข็งที่ออกมาต่อต้านการทำงานของผู้ใหญ่ แต่เขาคือเด็กตัวท็อปที่มีเกรดสูงตามความคาดหวังของระบบการศึกษา แต่เด็กคนนี้ก็ยังมองไม่ออกว่าอนาคตจะไปได้ไกลกว่าบรรพบุรุษหรือเปล่า

“ผมอยู่ในครอบครัวชนบท คุณยายเป็นชาวนา ทำนากันหลังขดหลังแข็ง ทุกคนทำงานกันเหนื่อยมาก ทำไมเราทำงานหนักขนาดนี้แต่ยังอยู่ในภาวะเดิม ๆ คือ ยากจน ผมเห็นยายทำนามาตั้งแต่ผมเด็กมาก ตอนนี้เขาก็ยังยากจนอยู่ เราเคยคิดว่าถ้าได้เรียนโรงเรียนดัง ๆ เหมือนที่ทุกคนเคยโดนปลูกฝังว่าถ้าเรียนโรงเรียนติดท็อปประเทศ เราก็จะสามารถเข้ามหาวิทยาลัยดี ๆ มีอาชีพที่ดี มีอนาคตที่ดี แต่พอดูค่าใช้จ่ายมันน่าจะไม่ไหวสำหรับผม”

เด็กรุ่นใหม่ อดทนน้อย คอยนานไม่ได้ ?

“เด็กรุ่นใหม่ ไม่มีความอดทน” อยากประสบความสำเร็จง่าย น่าจะเป็นคำตีตราเด็ก Gen-Z ไปแล้ว แต่ถ้าลองเปิดใจฟังเหตุผล เด็ก – เยาวชน ก็เป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ณ เวลานี้ นั่นอาจหมายถึงถ้าทุกอย่างดีขึ้นได้ในวันนี้ พรุ่งนี้พวกเขาก็ได้ประโยชน์จากมัน แล้วทำไมจะต้องรอ ถ้าทุกวันจะเป็น รันเวย์ ในการส่งเสียงเพื่อตัวเอง  

“การที่บอกว่าทำไมพวกผมไม่รอให้เรียนจบก่อน ผมอยากจะบอกว่าเสียงของพวกผมมันมีความหมายมาก เมื่อเรารู้ปัญหาเราจะเพิกเฉยต่อไปได้อย่างไร พวกคุณก็บอกอยู่แล้วว่าเด็กคืออนาคตของชาติ แล้วทำไมพวกคุณถึงไม่อยากให้พวกผมออกมากำหนดอนาคตของพวกผมเองหละ ผมอยากให้มันจบที่รุ่นพวกผมตรงนี้ ไม่อยากให้รุ่นหลังต้องมาเหนื่อยเหมือนพวกผม อยากเห็นอนาคตที่มันดีขึ้น”

‘เพชร’  ทิ้งท้ายกับเราว่า นี่คือ “ความรักแบบเด็ก ๆ” ที่อยากให้การเคลื่อนไหวโดยคนอายุน้อย มีส่วนผสมกับความหวังดีจากผู้ใหญ่ เคลื่อนประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้น เมื่อรัฐสภายังไม่เปิดโอกาสให้คนอายุน้อยกว่า 25 ปี เข้าไปเป็นผู้แทน และท้ายที่สุด ถ้าเสียงจาก ม็อบเด็ก หรือ เด็กม็อบ จะไม่ถูกนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในนโยบายสำคัญ

เด็กอย่างพวกเขาก็คงต้องกลับมารักตัวเองหละมั้ง… ดังคำปลอบใจที่ว่า อกหัก ดีกว่ารักไม่เป็น

หมายเหตุ

The Active ได้รับความยินยอมให้ปิดบังอักษรย่อชื่อโรงเรียน บนเครื่องแบบนักเรียนของผู้ให้สัมภาษณ์แล้ว

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์